ผู้เขียน : หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

(บทความนี้จะถูกตีพิมพ์ในนสพ.คมชัดลึกฉบับอังคารที่ 9 และพุธที่ 10 กันยายนนี้  ต้องตัด 2 ตอนจบเนื่องจากความยาว จึงขออนุญาตนำมาลงในนี้ด้วยเพื่อความต่อเนื่องของผู้อ่านและทันต่อเหตุการณ์)

 

จะเล่าแบบไม่ Take Side ไม่ Bias ใคร
เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้มาถามไถ่ให้ผมเล่าให้ฟังตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้งเพื่อน ญาติ ลูกค้าและผู้หลักผู้ใหญ่ ต่อไปใครถามอีกผมจะยื่นบทความนี้ให้อ่านแทนการเล่าเพื่อประหยัดเสียงซึ่งได้เรียบเรียงให้เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว 🙂

  1. กสทช. เปิดประมูลคลื่นเพื่อทีวีดิจิทัลนำสู่การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยโทรทัศน์ไทยไปสู่สัญญาณที่คมชัดขึ้น (โดยการออกอากาศแบบภาคพื้น ชักเสาแล้วดูได้เลย ไม่ใช่ยิงมาจากฟ้าด้วยดาวเทียมที่ต้องติดจานรับชม) การประมูลนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิด Player รายใหม่ ๆ บ้าง หลังจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถานีฟรีทีวีเพียง 6 ช่องมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษและดูเหมือนผูกขาด ตลอดมามีเสียงบ่นจากคนดูเป็นระยะๆถึงความน้ำเน่าและไม่มีตัวเลือกมากนัก (อึดอัดกันแค่ไหนก็ให้ไปดูจำนวนช่องดาวเทียมและเคเบิ้ลที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด) ข่าวการประมูลนี้พูดถึงในวงการอย่างกว้างขวางนานกว่า 5 ปีที่รอคอยมา กสทช.มีการทำประชาพิจารณ์หลายครั้งทั้งกับกลุ่มผู้ประกอบการเองและประชาชนที่สนใจ ใบอนุญาตที่ประมูลกันได้ในครั้งนี้จะมีระยะเวลาประกอบการได้ถึง 15 ปี (เริ่มนับจากมิถุนายน 2557) และจะไม่มีจำนวนช่องมากกว่านี้อีกแล้วในกลุ่มเพื่อการพาณิชย์
  2. กสทช. กำหนด 4 ประเภทช่อง (รวมทั้งสิ้น 24 ช่อง) ให้ประมูลกันตามกรอบกติกา ราคาตั้งต้นและการเคาะผ่านระบบ คอมพิวเตอร์ที่รัดกุม มีกติกาหนึ่งที่กำหนดให้ 1 องค์กรประมูลได้สูงสุด 3 ช่อง ห้ามคนประมูลช่อง HD มาประมูลช่องข่าวคู่กันเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดที่อาจครอบงำความคิด ในระหว่างที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆนี้ ช่อง 3 ส่งบุคลากรระดับ‘ลูกเจ้าของมาเอง’ สู่ที่ประชุมแทบทุกครั้ง และคุณประวิทย์ มาลีนนท์เองก็เข้าร่วมเรียนหลักสูตรพิเศษ (เพื่อให้ความรู้และกระชับสัมพันธ์กลุ่มผู้ประกอบการ) ที่ กสทช. จัดขึ้น ผู้ร่วมเรียนด้วยเผยว่าคุณประวิทย์ Discuss ในคลาสเรียนว่า “ไม่น่ามีช่องเยอะขนาดนี้ ฐานคนดูก็กระจายออกหมด ไม่ส่งผลดี” (ไม่ใช่ประโยคเป๊ะ ๆ เพราะฟังมาอีกที)
  3. ช่อง3 (ในนามของบริษัทลูก) ให้ความร่วมมืออย่างดี ซื้อซองใบละ 1,070,000.- ร่วมลงแข่งในสนามประมูลด้วยถึง 3 ประเภทช่อง (ช่องเด็ก/ช่องSD/ช่องHD) ถูกต้องตามกติกาและประมูลได้ทั้งหมด คว้าใบอนุญาตมากที่สุดในบรรดา Player ทุกราย โดยทุ่มเงินประมูลสูงสุดทั้งช่องเด็ก/ช่องHD จึงได้สิทธิ์เลือกเลขช่องก่อนใคร นั่นคือเลข “13″ และ “33″ ตามกลุ่มประเภทช่อง จะเซ็งก็ตรงไม่ชนะในประเภทช่อง SD จึงถูก WorkPoint ผู้ชนะในกลุ่มนี้เลือกเลข 23 ตัดหน้าไป (ใจจริง WP คงไม่ได้อยากได้เลขนี้นักหรอก แต่เพื่อสะกัดดาวรุ่งช่อง 3 ไม่ให้สมอารมณ์หมาย เดี๋ยวจะโปรโมตง่ายไป) ช่อง3 จำใจต้องเลือกเลข 28 ในกลุ่มประเภทช่อง SD ออกแบบโลโก้สถานีใหม่เหมือนลูกฟุตบอลตั้งชื่อช่องต่างๆว่า 3Family(13) 3SD (28) และ 3HD(33) โดยแสดงบทบาททางธุรกิจชัดเจนว่าช่อง 3 ในคลื่นสัญญาณ Analog เดิม (ซึ่งได้สิทธิ์แพร่ภาพต่ออีก 5 ปี นับถอยหลังจากมิถุนายน 2557) จะถูกคงไว้ในชื่อ  “3 Original” โดยยังคงผังรายการลักษณะเดิมไว้ เช่นละคร, ข่าว, เกมโชว์ฟอร์มยักษ์ ฯลฯ สรุปช่อง 3 ตอนนี้”มี 4ช่อง”
  4. ช่อง 3 เริ่มแพร่ภาพสัญญาณช่องดิจิทัลใหม่ๆทั้ง 3 ช้ากว่าใคร โดยเน้นผลิตรายการใหม่ใน 2 ช่องแรกก่อนนั่นคือ 3Family และ 3SD เน้นรายการข่าวโดยคนข่าวที่คุ้นเคยแต่ผังรายการส่วนมากก็เป็นการนำละครจีน/ฮ่องกง/เกาหลีเก่า ๆ ละครไทยยุค’80 มาฉายตลอดวัน และไม่ได้ออกอากาศ 24 ชม. ช่วงเปิดสถานีตอนเช้าได้ย้ายรายการ “แจ๋ว”​ ที่มีอายุอานามนานแล้ว (ไม่นับอายุพิธีกร) จากช่อง 3Original มาจัดในช่อง 3Family ส่วน 3SD และได้ปั้นรายการใหม่ ๆ โดยใช้ผู้ประกาศดัง ๆ ที่เดิมแทบจะขี่คอกันอ่านข่าวอยู่แล้วบน 3Original ออกมาจัดรายการใหม่ในพื้นที่ตัวเอง เช่น ไก่ ภาษิต, หมวย อริศรา, กรุณา บัวคำศรี, ซี ฉัตรประวีณ์ ฯลฯ ส่วนช่วงค่ำ 1 ทุ่ม ช่อง 3 ปั้นรายการใหญ่ “กาละแม” วาไรตี้ทอล์กโชว์ดูดีมีการลงทุนสูง ในช่อง 3HD เพื่อหยั่งกระแส กาละแมมาจัดสดทุกวัน อดปาร์ตี้บ้างอะไรบ้าง 🙂 4 ทุ่มมีการนำ”กาละแม”ของค่ำนั้นมารีรันทันทีเพื่อช่วงชิงเรตติ้ง (ที่ยังไม่ค่อยจะมี) ณ จุดนี้มีคนดูถามเยอะว่าทำไมไม่เอา ละครมาลงช่อง HD จะได้ดูชัด ๆ แบบช่อง 7HD (ซึ่งเขาทำชีวิตง่ายกว่าเยอะ เพียงทำ Simulcast ออกอากาศคู่ขนาน และออกโฆษณาอั้มฝาแฝดมาอธิบาย ง่ายโพด ๆ )
  5. ณ จุดปล่อยตัวดิจิทัลทีวีในเดือนเมษายน กสทช.ได้ออกกฎ Must Carry ที่แปลง่าย ๆ ว่า “ต้องขนขึ้นดาวเทียม” เพื่อให้การรับชม 24ช่องใหม่เป็นไปได้ในทันทีกับบ้านที่ติดจานดาวเทียมแล้วกว่า 70% ในประเทศนี้ (คิดดูแล้วกันว่าในอดีต สัญญาณ Analog มันแย่แค่ไหน? ใครๆเขาเลยต้องติดจานดาวเทียมที่โฆษณาว่า “ชัดล้าน%”) ทั้งนี้กสทช.ตั้งกรอบเวลาไว้นาน 4 ปี กว่าเสาส่งสัญญาณดิจิทัลจะครอบคลุม 90% ของประเทศ เสาต่างๆนี้ลงทุนโดยผู้ให้บริการ MUX ที่กสทช.แต่งตั้งขึ้น อันได้แก่ ททบ.5, อสมท,ไทยพีบีเอส และช่อง11 (ซึ่งไม่มีใครไปเช่าใช้เลย..โถ)  แต่ละสถานีมีอิสระในการไปเช่า MUX ให้ใครยิงแพร่ภาพให้ก็ได้ (ส่วนใหญ่เลือกเช่ากับ อสมท. และททบ.5)
  6. ช่อง 3 แอบเปรี้ยว แอบยิงสัญญาณช่อง 3 Original ขึ้นดิจิทัลทีวีด้วยโดยต่อท้ายช่อง 36 PPTV สัญญายิงมาโดย “อสมท.” กสทช. ตรวจสอบพบทันทีในไม่กี่วันนั้นได้ออกหนังสือเตือนแรง ๆ ให้เลิกทำทันที (ใครคิดแผนนี้ควรจับมารับโทษนะครับ) แต่ทั้งนี้จะด้วยช่อง 3 แอบเปรี้ยว หรือ อสมท. ทำให้เอง คนที่ทำ “รู้อยู่แก่ใจ” ครับ
  7. จุดแปลกประหลาดที่นำมาสู่ดราม่าในตอนนี้คือ กสทช. ในตอนนั้นดันไปออกประกาศอนุญาตให้ “ผู้ผลิตกล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ล” ทุกรายสามารถเช็ตเลข 10 ช่องแรกบน กล่องได้เองอิสระ เซ็ตเป็นช่องของใครก็ได้ จากนั้นจึงค่อยนำช่อง 1-36 จากทีวีดิจิทัลไปต่อท้ายเลข 10 ซึ่งได้ทำชาวบ้านงงตายห่านไปเป็นแถบ เนื่องจากเลข 13-36 (24 ช่องพาณิชย์) เป็นเลขที่ประจำช่องอย่างเป็นทางการ ประกาศไปแล้วและใช้พูดหน้าจออยู่ทุก วัน แต่บนกล่องดาวเทียมกลับถูก “บวกไปอีก10” จึงจะเป็นช่องนั้น ๆ ได้ (เช่น “33” ของช่อง 3HD ที่ทุ่มประมูลมาด้วยเงิน 3,530ล้าน กลับกลายเป็นเลข “43″ บนกล่องดาวเทียมซะงั้น) ส่วนช่อง 1-12 ดิจิทัลที่เป็นทีวีสาธารณะก็ยังมี สถานีไม่ครบตามจำนวน (“1″คือ ททบ.5 “2” คือช่อง11 “3” คือ ThaiPBS และ “4” ThaiPBS ขอจองไว้ก่อนจะทำช่องเด็ก ..เด็กแบบเด็กสาธารณะอ่ะนะ) ส่วน 5-12 ยังไม่มี เว้นว่างไว้ บางกล่องฉลาดหน่อยก็กระโดดข้ามเลขให้ บางกล่องทำไม่ได้ก็แสดงภาพ “อยู่ระหว่างเตรียมการออกอากาศ”​ ให้ชาวบ้านคิดว่า “หมดช่องดูแล้ว” และมักไม่กดไปต่อimage1111
  8. 10 เลขช่องแรกที่ กสทช. ใจดีให้ผู้ผลิตกล่องดาวเทียมเลือกสรรช่องรายการกันเองกลายเป็น “มหกรรมขายเลขช่องครั้งมโหฬาร” มีการขายเลขเดี่ยว ๆ ให้สถานีที่มี ศักยภาพจับจอง อย่างที่เราเห็นการโปรโมทไปแล้ว “เวิร์คพอยท์ช่อง 1” คุณปัญญามั่นใจว่าด้วยสูตรนี้ “ชนะแน่” เพราะโลกยุคอนาล็อค ช่อง 3 ก็เป็น “เลข 1 เสมอ” บนกล่องดาวเทียมเช่นกัน แต่ตอนนี้เกมพลิก …”ไทยรัฐทีวี” ก็ทุ่มไม่อั้น ซื้อเลข 3 ใน 3 กล่องดัง PSI, GMMZ และ RS Sunbox ,ยังมี “ไทยทีวี” ของพี่ติ๋ม ทีวีพูลที่ซื้อเลข 7 ล่าสุด PPTV กระโดดมาซื้อ “เลข 6” บ้างแล้ว ไม่งั้นเงิบ เลข 46 ของเขามันอยู่ไกลเหลือเกิน (น้องคงกดไปไม่ถึงงงงง)
  9. น่าสังเกตที่บางกล่องอย่าง GMMZ และเคเบิ้ลท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังจัดให้ “ช่อง 3 Analog” อยู่บน “เลข 1” ต่อไป ทั้งนี้เป็นเพราะสัมพันธภาพที่ผูกพันกันมาและเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าด่า ซึ่งต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ช่อง 3 เขาก็แน่จริง เล่าข่าวก็แซ่บ ทำละครก็ติดกันงอมแงม
  10. กสทช. เริ่มสังเกตแล้วว่าถ้าปล่อยให้ Must Carry เป็นแบบนี้ต่อไป “ช่อง3 Analog” ก็จะไม่มีทางย้ายฐานมาออกคู่ขนานกับช่อง 33 ทางดิจิทัลได้ และฐานคนดูจำนวนมหาศาลก็จะไม่เข้าสู่ดิจิทัลทีวี “จึงออกประกาศใหม่” ให้ผู้ผลิตกล่องดาวเทียมและเคเบิ้ลจัดช่อง 1-36 ดิจิทัลไว้ในชุดแรก โดยยกเลิก 10 ช่องแรกที่เคยใจดีให้จัดกันเอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตกล่องรายใดปฏิบัติตาม เบะปากร้องว่า “มาบอกอะไรเอาป่านนี้!?” คนเขารับทรัพย์กันอยู่เดือนละหลายล้านแล้ว
  11. กสทช. แสดงท่าทีชัดเจนให้ช่อง 3 Original ออกอากาศคู่ขนานกับ 3HD แบบที่ช่องอื่น ๆ เขาทำกันเพื่อโยกฐานผู้ชมมาชมดิจิทัลทีวีมาก ขึ้น คุณสุภิญญา หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ถึงกับลงทุนทำ Ice Bucket Challenge ถึงคุณประวิทย์ มาลีนนท์ให้รับคำท้า “ทั้งราดน้ำแข็งและออกอากาศคู่ขนาน” ..ปรากฏคุณประวิทย์ไม่รับคำท้า
  12. ช่อง 3 อ้างว่าบริษัทที่ประมูลช่องดิจิทัล เป็นคนละชื่อบริษัทกับช่อง 3 Analog ซึ่งติดสัญญาผูกพันอยู่กับ อสมท. (สัญญาสัมปทาน) จึงไม่สามารถออกคู่ขนานได้ แต่ทั้ง อสมท.และกสทช.บอก “ยินดีแก้ไขสัญญาให้” ..ช่อง 3 กลับไปคิด
  13. ช่อง 3 ออกมาชี้แจงสังคมว่าเขามีสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจในคลื่น Analog เดิมเพราะเหลืออีกตั้ง 5 ปี และเขาก็ทำช่องดิจิทัลทีวีใหม่นี้ด้วยอีก 3 ช่องซึ่งเป็นจำนวนช่องที่มากกว่าทุกบริษัทที่กำลังทำอยู่  (อยากมี 4 ช่องน่ะจะทำไม?)
  14. คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดาแสดงทัศนะในงานครบรอบ 10 ปีครอบครัวข่าวว่า “ผมเชื่อมั่นใน Analog” เพื่อให้ผู้ฟังคือมีเดียเอเจนซี่และผู้ลงโฆษณาทราบเจตนารมณ์ว่ารายการเรื่องเล่าเช้านี้ไม่ย้ายแน่ ๆ 126414564565 ที่มา: YouTube
  15. สถานการณ์ขณะนี้ราคาโฆษณาในดิจิทัล ทีวียังไม่สูงเท่าช่อง Analog เดิม เพราะฐานคนดูยังไม่มาก และผู้เล่นมีมาก การแข่งขันมันสูง ลดแลกแจกแถมกันสะบั้นหั่นแหลก แต่ช่อง 7 เขาก็ยังขายได้ราคาดีดังเดิมเหตุเพราะเขา Simulcast คือ “มีให้ชมทั้งคู่”​ ไม่ว่าจะชมด้วยทีวีแบบใด
  16. ช่อง 3 Original มีสิทธิ์ 100% ที่จะไม่ออกอากาศคู่ขนาน เพราะเขายังมีสัญญากับ อสมท. และ กสทช.ก็บอกไว้แต่ต้นว่า “ให้ออกอากาศต่อไปได้อีก 5 ปีสำหรับทีวี Analog”  แต่ทั้งนี้ ช่อง 3 ไม่มีสิทธิ์ออกอากาศด้วยกระบวนการ ”ผ่านดาวเทียม” และ “เคเบิ้ลท้องถิ่น” เนื่องจากไม่อยู่ในสถานะทีวีดาวเทียมหรือทีวีบอกรับสมาชิก ซึ่งหากต้องการจะอยู่ก็ต้องยอม “ลดนาทีโฆษณาลงเหลือชม.ละ 6 นาที” ตามกติกาของทีวีประเภทนี้
  17. เวลานี้พ้นกรอบการผ่อนผัน 100 วันแล้ว (หลัง 1 กันยายน) ช่อง 3 ยังออกอากาศและโฆษณาชม.ละ 10 นาทีได้อย่างปกติสุขบนดาวเทียมและเคเบิ้ล (ทั้งนี้ผู้ผลิตกล่องไปสอยสัญญาณ เขาไปให้บริการเอง ช่อง 3 บอกเขาอยู่ของเขาเฉย ๆ ) ไม่มีใครกล้านำช่อง 3 ออก เว้นแต่ PSI ที่ดีดช่อง 3 กระเด็นออกไปเป็นเลข 330 ตั้งแต่เริ่มทำ Must Carry เดือนเมษายน (คนดูลำบากกดรีโมทย้อนกลับจากช่อง 0 มาดูได้)22222
  18. ต้นตอที่แท้จริงคือ “บริษัทไทยคม” ยังรับยิงสัญญาณภาพขึ้นสู่ดาวเทียมให้ช่อง 3 อยู่ ต้นตอนี้ยังไม่มีใครไปไล่บี้ แต่กำลังงัดกันเองอยู่เพื่อเตะถ่วงให้เกิดความงงงวยกันทั้งผอง
  19. บริษัทไทยคมไม่มีสิทธิ์รับยิงสัญญาณให้สถานีใด ๆ ที่ กสทช.ไม่อนุญาต (สมัยก่อนที่ยังไม่มีองค์กร กสทช. สถานีทีวีดาวเทียมต่าง ๆ ต้องไป “ผ่านหน้าบิล” บริษัทในเขมร, ลาว เพื่อเช่าไทยคมเลยนะคิดดู) เรื่องนี้ยังไม่มีใครเอ๊ะ แต่ผมจะเอ๊ะให้ก่อน
  20. กสทช. ยังไม่แจกคูปองให้ประชาชนแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวีเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชมตามที่สัญญา (นึกถึงเพลง คสช. จัง) สัญญากันตั้งแต่ “พฤษภาคม” เพื่อเร่งให้ทุกช่องเปิดสถานีออกอากาศไปก่อนในเดือนเมษายน แต่สุดท้ายก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก โดยอ้างว่า “รอสรุปราคาคูปอง” พอสรุปได้แล้วว่า 690.- แน่ก็อ้างต่อ “พิมพ์คูปองไม่ทัน” ถามจริงๆ “พิมพ์หรือยัง???”
  21. การผัดผ่อนเหมือนผัดก๋วยเตี๋ยวนี้ส่งผลเสียอย่างมาก สถานีใช้เงินผลิตรายการดี ๆ กันวันละเป็นล้าน ๆ แต่กลับไปไม่ถึงผู้ชมทั่วทั้งประเทศ (ไปได้ด้วยดาวเทียม แต่เลขช่องมันไกลเหลือเกิน) “เรตติ้งไม่มาโฆษณาก็ไม่เข้า” ผู้ชมตอนนี้คือกลุ่มเมืองที่มีความสนใจและกำลังซื้อด้วยตัวเองแต่ไม่ใช่ “คนไทยทั้งประเทศ”
  22. เดือนที่เคยกำหนดว่าจะแจกคูปองคือ “พฤษภาคม” “มิถุนายน” “สิงหาคม” หรือแม้กระทั่งกำหนดวันแล้วอย่าง “15 กันยายน” ยังถูก “เลื่อนล่าสุด” มาเป็น “15 ตุลาคม” และระบุว่ากว่าประชาชนจะนำคูปองไปแลกได้คือวันที่ 25 ตุลาคมไปแล้ว  จัดส่งได้ก่อนเพียง 11 ล้านหลังคาเรือน ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะดำเนินการให้ได้ภายใน 2 ปี (เฮือกกกก) เงินจากการแจกคูปองหาใช่เงินภาษีที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเงินจากผู้ประกอบการที่จ่ายผ่านการประมูลกันมาอย่างห้ำหั่น
  23. ทุกฝ่ายกำลังเรียกร้องให้ช่อง 3 Original เสียสละออกอากาศคู่ขนานกับ 3HD เพื่อหวังว่าฐานคนดูช่อง 3 จะกระโจนลงมาสู่ดิจิทัลทีวี ..แต่ช่อง 3 บอก “ไม่” เขามีสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแยกกัน เขามั่นใจดีว่าฐานคนดูส่วนใหญ่อยู่ กับตัวก็เกิดความรู้สึก “ไม่อยากแชร์” เป็นธรรมดามนุษย์ เขาเป็นหนึ่งในตองอู (6ช่อง) เขาก็ย่อมกลัวบ้างว่าจะเป็นหนึ่งในกรุงศรี (24ช่อง) ได้ด้วยไหม? ในเมื่อสถานีอื่น ๆ ก็กำลัง “จัดเต็ม” รายการคุณภาพแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์รายการทีวีเมืองไทย
  24. ลองคิดกันดูดีๆ ถ้ากสทช.ทำ “สนามให้น่าเล่น” ใครเล่าจะปฏิเสธ? “เรตติ้ง” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจฟรีทีวีเพราะเขาต้องขายโฆษณาเพื่อเลี้ยงองค์กร
  25. สรุปปิดท้าย “ช่อง 3 จะทำผิดกฏหมาย” ถ้ายังออกอากาศด้วยดาวเทียม “การไม่อยากแชร์ฐานคนดูสู่ดิจิทัลทีวี” ไม่มีใครว่า (เขาแค่อิจฉาและถามหาสปิริต) แต่ยังไงต้อง “ปฏิบัติตามกฏหมาย” หากเลือกจะออกคู่ดาวเทียมก็ต้องลดนาทีโฆษณาลงและไปขอใบอนุญาตทีวีดาวเทียม/เพย์ทีวีซะ แต่ถ้าเด็ดเดี่ยวมากก็ออกเฉพาะสัญญาณ Analog ไปซะก็จะหล่อเลย วันนึงข้างหน้าดิจิทัลทีวีเกิดมีคนดูมากขึ้น ถึงตอนนั้นค่อยย้ายรายการดังๆมาลงช่อง 3HD/SD/Family ที่ตัวเองมีอยู่ก็ยังได้กสทช.เองก็จงเลิก “คิดต่าง..อย่างไม่เข้าใจ” (ในหมู่ 5 กรรมการ กสท.) แล้วเร่งทำเรื่องสำคัญของตัวเองคือ “ขยายฐานผู้ชมทีวีดิจิทัล” เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมนี้ไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่สมบรูณ์ …ไปทำตามสัญญาเถอะจ้ะ นะ นะ (จะมาตีมึนร้องต่อว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็ไม่ยอมแล้วล่ะ)

================จบนะ=================