กำลังเป็นกระแสเลยสำหรับกฏหมาย PDPA หรือพรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่พึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา หลายคนอาจสังสัยและเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA ไปหลายอย่างทั้งการถ่ายรูปติดคนอื่น หรือแม้แต่กระทั่งการติดตั้งกล้องวงจร การถ่ายรูปคนกระทำผิดกฏหมาย วันนี้แบไต๋ขอสรุปและรวบรวมความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA มาให้สามารถติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ
ข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ PDPA มีอะไรบ้าง?
ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป
- ชื่อ-นามสกุล
- วันเดือนปีเกิด สัญชาติ น้ำหนักส่วนสูง
- เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน
- เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขใบอนุญาตขับขี่
- ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์
- ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน
- ข้อมูลบนอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username /password, Cookies IP address, GPS Location
ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว
- เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์
- ความคิดเห็นทางการเมือง
- ความเชื่อ ศาสนา
- พฤติกรรมทางเพศ
- ประวัติอาชญากรรม
- ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์
- ข้อมูลสหภาพแรงงาน
- ข้อมูลพันธุกรรม
- ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา
ประเด็นแรกเลยเวลาเราถ่ายรูปแล้วติดบุคคลอื่นตัวนี้ผิด PDPA หรือไม่?
ไม่ผิดเพราะกฏหมายฉบับนี้รองรับสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเรามีสิทธิ์ตรวจสอบ เพราะมีข้อยกเว้นว่าประชาชนใช้สิทธิส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพราะมาตรา 1 เว้นวรรค 4 ระบุชัดเจนว่าการเซลฟีแล้วติดคนอื่นไม่ผิดกฏหมาย ตราบใดที่เราไม่เอาภาพที่ติดคนอื่นนั้นไปแสวงหาผลกำไรและทำให้เขาเดือดร้อน
ต้องติดป้ายบอกหรือไม่หากเราติดตั้งกล้องวงจรปิดและกล้องหน้ารถยนต์และการถ่ายทำรายการ
สำหรับกล้องหน้ารถยนต์ประเด็นนี้คือไม่ต้องติดป้ายบอก รวมทั้งกล้องวงจรปิดที่ติดตามบ้านด้วย เพราะเป็นของส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่กล้องวงจรปิดในสถานที่สาธารณะส่วนนี้ต้องมีป้ายแจ้งเตือนเนื่องจากไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัวแล้ว
ในส่วนขอสื่อมวลชนที่ต้องเข้าไปทำข่าวถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ส่วนนี้เป็นข้อยกเว้นด้วยเพราะสื่อมวลชนสามารถเข้าไปถ่ายภาพได้โดยไม่ผิด PDPA ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อประมวลจริยธรรม
แต่ถ้าเป็นสื่อแบบใหม่ Youtuber ส่วนนี้ถือว่าไม่ใช่สื่อแล้วเพราะถือเป็นบุคคลทั่วไปที่มีคนติดตามเยอะแต่ไม่มีประมวลจริยธรรมเลยเพราะขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ๆ เพราะฉะนั้นยังมีส่วนที่ไม่ยกเว้นซึ่งไม่เหมือนกับกรณีสื่อมวลชนที่ยกเว้นทั้งฉบับเพราะสื่อมวลชนมีตัวตนมีหัวกำกับ แต่ Youtuber ก็ยังสามารถถ่ายได้เหมือนเดิมหากใช้ส่วนตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่ไม่ใช้ส่วนตัว จะได้รับข้อยกเว้นคือ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตัวอย่างเช่นเจอคนกระทำผิดกฏหมายแล้วถ่ายไว้ตรงนี้จะได้รับข้อยกเว้น (ถ่ายได้โดยไม่ต้องเบลอใบหน้า) หรือ Youtuber ที่ต้องถ่ายทำในสถานที่คนเยอะ ๆ เราสามารถติดป้ายแจ้งเตือนการถ่ายทำได้ เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดและแจ้งให้บุคคลอื่นสบายใจ
Live Facebook?
ถ้าเป็นสื่อมวลชนสามารถทำได้ ถ้าเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวไม่สามารถทำได้
การจัดอีเว้นต์คอนเสิร์ตผู้จัดสามารถถ่ายคนดูได้หรือไม่?
สามารถถ่ายได้แต่มีเงื่อนไข อย่างแรกเลยคือต้องติดป้ายแจ้งเตือนก่อนว่าบริเวณนี้มีกล้องเพื่อประกาศให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน โดยเขาสามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเราไว้ได้ไม่ผิดแต่ไม่สามารถนำไปขายต่อหรือห้ามทำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นหลุดด้วย แต่ถ้าในกรณีที่ถูกแฮกข้อมูลผู้ที่จัดเก็บข้อมูลของผู้อื่นก็ไม่ผิดเช่นเดียวกัน แต่จะมาอ้างลอย ๆ ไม่สามารถทำได้ต้องมีหลักฐานการถูกแฮก และถ้าถูกแฮกต้องแจ้งภายใน 72 ชั่วโมงเท่านั้น
ประชาชนควรปรับตัวอย่างไรเมื่อกฏหมาย PDPA บังคับใช้
ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม ถ้าเราไม่ได้ถ่ายไม่ได้เก็บข้อมูลคนอื่นโดยแสวงหาผลกำไร และไม่ได้ทำให้เขาเสียหาย แต่ถ้าเป็นส่วนขององค์กรหรือบริษัทต้องมีส่วนรับผิดชอบเพราะองค์กรหรือบริษัทมีข้อมูลของลูกจ้าง ข้อมูลลูกค้า ส่วนนี้กฏหมายจะคุ้มครองประชาชนมากขึ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส