โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ประเทศไทย วันที่ 14 พ.ค. 2566 ก็จะเป็นวันเลือกตั้งแล้ว แบไต๋สรุปให้ ‘5 พรรคการเมืองดัง’ มาตอบ ‘6 คำถาม’ ด้านนโยบายไอทีจากสมาชิกสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ในโอกาสเลือกตั้งใหญ่ปี 66 จะเป็นอย่างไรติดตามได้ในบทความนี้
ระบบความมั่นคงทางข้อมูล Cyber Security หรือภัยทางไซเบอร์ การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเราจะสามารถกำหนดแนวทางในการแก้ไขได้อย่างไร
คำถามจากคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ : ปัญหาการหลอกลวง มีมาโดยตลอดทั้งโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ อาจจะเป็นเพราะเรามีการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตทำให้คนร้ายสรรหาวิธีเพื่อที่จะหลอกเอาเงินไป ผมคงจะบอกว่าไม่ให้มีเลยก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะทุกวันนี้อาชญากรรมต่าง ๆ ก็มีอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันจับตนร้ายดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อปราบปรามคนเหล่านี้ออกไป
ที่สำคัญคือเรื่องของการวางระบบเพื่อป้องกันและลดปัญหาที่ทำให้ประชาชนถูกหลอกลวง เช่นการแจ้งเตือน การยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารและทางกระทรวงดิจิทัลมีการประสานงานกันอยู่ตลอดเพื่อวางระบบให้ดีขึ้น สุดท้ายทำให้เรามีการออก พรก. ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์โดยให้อำนาจธนาคารสามารถสั่งระงับบัญชีที่ผิดปรกติหรือบัญชีต้องสงสัย และการเพิ่มให้มีโทษสำหรับการรับจ้างเปิดบัญชี
ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พรรคก้าวไกล : ถ้าวิเคราะห์สาเหตุในการเกิดปัญหาการถูกหลอกลวงทางด้านไซเบอร์แบ่งได้เป็น 2 ด้าน ด้านแรกคน คนที่ไม่รู้เท่าไม่รู้ทันทำให้ถูกหลอกลวง อีกด้านคือความบกพร่องในด้านกฏหมาย การบังคับใช้กฏหมายอย่างล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน
เรื่องของคน เราจำเป็นต้องพัฒนาคนของเราให้มีความรู้เท่าทันเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยี รวมทั้งเรื่องของการแยกข้อมูลข่าวสารเท็จบนโลกออนไลน์ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะต้องปลูกฝั่งตั้งแต่เล็ก ๆ และควรมีอยู่ในตำราเรียนเพราะเป็นหลักสูตรที่จำเป็น นอกจากเราพัฒนาครูและนักเรียนให้มีภูมิคุ้มกันทางด้านดิจิทัล สิ่งที่สำคัญบุคลากรของภาครัฐเองจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความสามารถให้เท่าทันไม่เป็นเหยื่อของไซเบอร์เช่นกัน
เรื่องของกฏหมาย พรก. การป้องกันอาญชกรรมทางเทคโนโลยีสิ่งเดียวอาจจะไม่พอ เราจำเป็นต้องมีการแก้ไข พรบ. คอมพิวเตอร์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกิดบนโลกออนไลน์โดยแท้จริงไม่ใช่เอามาใช้เพื่อปิดปากหรือป้องกันการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี และการบังคับใช้กฏหมายเพื่อให้เกิดประสิ?ธิภาพสูงสุดควรที่จะต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องของอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะในหน่วยงานบังคับกฏหมายตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล เพื่อให้เกิบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด การประสานงานระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อสร้างกรอบความมือระหว่างประเทศเพื่อติดตามผู้ร้ายในการรับโทษ
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย : อาชญากรรมทางไซเบอร์ในไทยคิดเป็น 2 แสนกว่าคนต่อปีคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 4 หมื่นกว่าล้าน ซึ่งยังไม่รวมกับพวกเว็บพนันที่ใช้ AI ในการหลอกลวง ซึ่งรัฐบาลต้องมีกลไกในการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขแบบง่าย ๆ เลยคือการทำ Single Gateway ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำได้เพราะประชาชนไม่ยอมเพราะเป็นการไปล้วงข้อมูลเขาทำให้รู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัว แต่ในต่างประเทศสามารถทำได้โดยเป็นแบบกึ่ง ๆ ที่ใช้เหมือน Single Gateway แต่มีระบบตรวจสอบที่ชัดเจนและไม่มีใครสามารถไปล้วงข้อมูลได้นอกจาก AI จะจับพฤติกรรมว่าการใช้แบบไหนคือการเล่นเว็บพนันหากเข้าข่ายและตรวจสอบได้ก็จะทำการบล็อกอัตโนมัติโดยไม่มีใครสามารถไปล้วงข้อมูลเขาได้
ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ : การออกพรก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ โฟกัสไปที่การปราบปรามบัญชีม้ามันพึ่งเริ่มได้ไม่กี่เดือน จากการที่ออกกฏหมายนี้มาทำให้อัตราการแจ้งความในส่วนของบัญชีม้าลดลง เพราะฉะนั้นในระยะยาวเราจะเห็นว่ากฏหมายตรงนี้ใช้ได้ผล สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือประชาชนต้องลุกขึ้นมาแจ้ง ทำให้ประชาชนอาจจะไม่อยากทำมันเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน เราต้องช่วยกันจัดการพวกรับจ้างเปิดบัญชีม้าให้สิ้นซาก และกระบวนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสถาบันทางการเงินซึ่งต้องทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในเรื่องของความรวดเร็วในการระงับบัญชีม้าเพื่อไม่ให้ไปหลอกลวงข้อมูล การจะเอาผิดกับเรื่องพวกนี้ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกัน
วรวุฒิ อุ่นใจ พรรคชาติพัฒนากล้า : สิ่งที่ยากสำหรับเรื่องนี้คืออาชญากรมักไปทำที่ต่างประเทศโดยผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์หรือระบบธุรกรรมออนไลน์เข้ามา ผมคิดว่าภาครัฐวันนี้เราขาดเจ้าหน้าที่ที่เก่งเรื่องนี้ ถ้าเราไปคุยกับภาคเอกชนที่เก่ง ๆ ที่เขารู้แนวทางในการป้องกันว่าจะสามารถทำได้อย่างไร แต่ผมว่าภาครัฐยังไม่ทันเกม และสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากคือธนาคารพาณิชย์ที่เป็นแหล่งการถ่ายโอนเงินไปยัเหล่าอาชญากรเหล่านี้ปัดความรับผิดชอบมากเกินไป และธนาคารต้องเป็นคนกลั่นกรองป้องกันธุรกรรมต่าง ๆ แทนประชาชนในระดับหนึ่ง แต่วันนี้กฏหมายเปิดช่องให้ธนาคารปัดความรับผิดชอบไปที่ประชาชนได้อย่างเต็มที่ อันนี้เราต้องย้อนกลับไปถามธนาคารพาณิชย์ที่เป็นแหล่งของการโอนเงินทั้งหมดว่าคุณมีคุณมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคดีเพียงพอแล้วหรือยังไม่ใช่ผลักภาระเข้าประชาชนง่าย ๆ แบบนี้
คิดอย่างไรหากรัฐบาลจะแจกโน้ตบุ๊กให้นักเรียนไทยเพื่อการศึกษาทุกคน
คำถามจากคุณเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานสภาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย : เจอกันตรงกลางซึ่งที่โรงเรียนรัฐบาลต้องจัดหากเราต้องจัดให้นักเรียนทุก ๆ คนถ้าผ่านไป 2-3 ปี ตัวฮาร์ดแวร์อาจจะเกิดความเสื่อมสภาพและอาจจะไม่ได้รับการรองรับและอาจจะส่งผลต่อการใช้งานได้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องจัดระบบโดยแบ่งตามช่วงวัยเพื่อให้ใช้สเปกที่เหมาะสมและส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ ตามขั้นบันได ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูแลติดตามค่าใช้จ่ายในตรงนี้ด้วย ถ้าเราทำเป็นระบบบริษัทก็จะสามารถทำการล็อกการใช้งานไม่ให้เข้าเว็บที่อาจจะโดนภัยทางไซเบอร์ อาจจะค่อย ๆ ปรับไปให้มีที่โรงเรียนก่อนไม่ได้เอากลับบ้าน
ถ้าเกิดเราสอนเด็กให้เข้าใจและไม่ปิดกั้นความรู้เรื่องของภัยไซเบอร์ เพื่อถึงเวลาไปสู้กับโลกภายนอกได้อย่างแข่งแกร่งได้ เพราะฉะนั้นภาครัฐและผู้ปกครองต้องร่วมมือกัน
ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พรรคก้าวไกล : เป็นเรื่องที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กหรือแท็บเล็ต เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการและลักษณะการใช้งานไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่รัฐจะสนับสนุนได้คือการให้โอกาสนี้อย่างเท่าเทียม และแปลงนโยบายรัฐให้เป็นความต้องการในประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคของรัฐในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่น ถ้ารัฐจะสนับสนุนให้ทุกคนมีอุปกรณ์สำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการเรียนรู้ รัฐควรจะต้องสร้างความต้องการในประเทศขึ้นให้เกิดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผลิตในประเทศให้เด็ก ๆ สามารถที่จะเลือกซื้ออุปกรณ์ของตัวเองได้ไม่ใช่การแจก รัฐไม่ควรที่จะเอาอุปกรณ์ไปแจกเด็กแต่ให้เด็กเลือกผู้ผลิตในประเทศ รัฐอาจจะจัดเตรียมคูปองผ่านสวัสดิการของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการเติบโตทางอุตสาหกรรมสร้างซัปพลายเชนใหม่ ๆ ขึ้นมา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมไทยกับโลกได้อีกด้วย
อีกประเด็นคือเรื่องของการทำซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมการเข้าถึง เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยจะมีเนื้อหาที่เหมาะสมไม่เท่ากัน ซึ่งก็ควรที่จะได้รับความคุ้มครองจากผู้ใหญ่ ซอฟต์แวร์เหล่านี้ควรจะเกิดขึ้นจากฝีมือคนไทยแล้วใช้นโยบายของภาครัฐเป็นตัวสร้างความต้องการในประเทศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถคนไทยให้ควบคู่กันไปด้วย
วรวุฒิ อุ่นใจ พรรคชาติพัฒนากล้า : จริง ๆ ควรสนับสนุน ในอดีตที่เคยแจกแท็บเล็ตถือว่าเป็นความบกพร่องของรัฐบาลชุดนั้นคือแจกแท็บเล็ตแต่ไม่มีเนื้อหาซัปพอร์ต ในวันนี้ถ้าเราพัฒนาระบบ E-lerning เรามีมาร์เก็ตเพลสความรู้ทางวิชาการแล้ว วันนี้แจกดีไวซ์แล้วมีซอฟต์แวร์สนับสนุนถือว่าสมเหตุสมผล และเด็กไทยไม่ต้องพกหนังสือแบบเมื่อก่อนไม่ต้องแบกหนักสือหนักการเรียนมันจะได้พัฒนาไปอีก
ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ : เห็นด้วยและจากนี้ไปเราคงปฏิเสธเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือเหล่านี้ในวัยเยาวน์ไม่ได้ เราต้องให้เขาในวัยที่เหมาะสมเพราะในเรื่องของทางการแพทย์เด็กเล็กอาจจะไม่เหมาะสมเพราะจะให้มีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น สายตา การควบคุมอารมณ์ แต่ในระยะเวลาที่เหมาะสมเราสามารถให้เด็กใช้งานเพื่อสร้างเด็กให้มีความฉลาดและความเก่งได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของเวลาว่าเราจะให้เขาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ในช่วงไหน และผู้ปกครองก็ต้องมีทักษะดูแลลูกหลานในยุคดิจิทัล และภาครัฐต้องเข้าไปให้ความสนับสนุนเพื่อเด็กทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
และอีกเรื่องนึงเรามีนักพัฒนาฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์เราต้องผลิตอุปกรณ์ให้มีความประหยัดและเหมาะสมสำหรับการให้การศึกษาและช่วงวัย และการเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ เราต้องมีกลไกมีข้อจำกัดว่าเด็ก ๆ สามารถใช้ได้นานกี่ชั่วโมงต่อวัน ครูและผู้ปกครองต้องรับรู้ว่าเด็ก ๆ กำลังเข้าถึงเนื้อหาไหน และซอฟต์แวร์และโปรแกรมก็ต้องมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับความรู้ด้วยเช่นกัน
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ : ผมเห็นด้วยโดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีรายได้น้อยและไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะไปซื้อคอมพิวเตอร์รัฐควรจัดสรรงบประมาณให้เด็กเหล่านั้น ซึ่งอาจจะไม่สามารถซื้อให้ได้ทุกคน อย่างเด็กที่บ้านพอมีกำลังทรัพย์หลายคนก็มีอยู่แล้ว
มีแผนอย่างไรในการทำให้สวัสดิการรัฐเป็นดิจิทัล 100% ไปพร้อม ๆ กับการที่ประชาชนบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง
คำถามจาก ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท รองประธานสภาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ : ในเรื่องของระบบการให้บริการประชาชน หน่วยงานภาครัฐวันนี้เราเข้าสู่ยุคดิจิทัลก็จริง แต่ส่วนหนึ่งคือเราต่างคนต่างทำ หากเราสามารถยุบรวมให้สิ่งเหล่านั้นให้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันได้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องให้เวลากับเจ้าหน้าที่ หากใครได้เป็นรัฐบาลก็ควรที่จะมีแพลตฟอร์มกลางให้ประชาชนเข้าถึงและครอบคลุมทุกมิติในแอปเดียว
วรวุฒิ อุ่นใจ พรรคชาติพัฒนากล้า : อาจจะต้องใช้เป็นศูนย์เทคโนโลยีชุมชนสำหรับประชาชนที่อยู่ห่างไกลและไม่มีอุปกรณ์ในการเข้าถึง ให้ประชาชนเข้ามาที่ศูนย์เทคโนโลยีแห่งนี้แล้วลิ้งก์เบอร์กับไอดีเพื่อให้เขาได้รับสิทธิ์ทุกอย่างตามไอดีที่มี ซึ่งทางพรรคมองว่าการพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีชุมชนเป็นสิ่งจำเป็น ตามนโยบายของพรรคคืออยากจะเน้นออนไลน์ทั่วประเทศอยู่แล้ว
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย : ต้องว่ามีคนที่ยังเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ไม่เยอะ บางพื้นที่มีอุปกรณ์แต่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีตัว Backboan (เส้นทางหลักของระบบเน็ตเวิร์ก) มากกว่าความจำเป็นที่ต้องการ ถ้าเรามีการบริหารงานที่ถูกต้องภาครัฐดูแลในเรื่องของ Backboan ให้ดีแล้วให้เอกชนมาแข่งตรง Last mile (ปลายทาง) อย่างนี้จะได้ประโยชน์เพื่อให้ขยายไปสู่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พรรคก้าวไกล : ทางพรรคมีนโยบายที่จะทำให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล และสวัสดิการก็ต้องเป็นสวัสดิการผ่านดิจิทัล เราจะทำบริการของภาครัฐให้เป็นบริการปกติ เพราะว่าบริการภาครัฐที่ให้บริการผ่านดิจิทัลทำได้ตรงเป้ามีประสิทธิภาพใช้ต้นทุนที่ต่ำ กำจัดปัญหาคอรัปชั่นสามารถทำให้บริหารจัดการมีการโปร่งใสมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญคือ Security & Privacy ด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ระบบของภาครัฐมีความน่าเชื่อถือในด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือจากประชาชนในด้านการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ซึ่งจะต้องยกระดับบุคลากรของภาครัฐให้มีความพร้อมในการให้บริการ
ประเทศเรามีประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เราจำเป็นจะต้องดูประชาชนที่อยู่ในกลุ่มนี้อย่างดีโดยจะต้องจัดหาช่องทางปกติเป็นทางเลือกให้บริการกับประชาชนกลุ่มนี้ หรืออาจจะจัดหาอาสาสมัครจากชุมชนช่วยกันดูแลเพื่อให้เขาสามารถเรียนรู้และเข้าถึงบริการดิจิทัลของภาครัฐได้
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ : นี่เป็นนโยบายสำคัญของภาครัฐในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงการใช้งานแอป ฯ ต่าง ๆ ในโดยเฉพาะด้านการเงินอย่างแอปเป๋าตังก็ทำให้คนไทยทุกคนมีความเข้าใจคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่นค้าขายออนไลน์ ในระยะต่อไปต้องทำให้ทุกภาคส่วนสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งด้านการเกษตร ด้านการรักษา และการศึกษา
ทำไมประชาชนยังคงต้องถ่ายสำเนาเอกสารและส่งให้หน่วยงานรัฐเพื่อขอรับบริการ ทั้งที่บัตรประชาชนยังคงมีชิปการ์ด หรือ Smart Card ID และมีนโยบายยกเลิกการขอสำเนาแล้ว โครงการ Smart Card ID และการยกเลิกขอสำเนาอย่างยั่งยืนจะเป็นอย่างไร
คำถามจากคุณธง ตั้งศรีตระกูล รองประธานสภาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
วรวุฒิ อุ่นใจ พรรคชาติพัฒนากล้า : ทำได้เพียงแต่ว่าภาครัฐต้องเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน อย่างหลาย ๆ ประเทศสามารถลงทะเบียนได้ผ่านสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว สิ่งเหล่านี้ถ้าจะทำต้องแกกฏหมายให้มีการบริการข้อมูลภาครัฐ ซึ่งผมคิดว่าควรทำและจำเป็นต้องทำถ้าเราอยากให้ประเทศไทยเป็น Digital Goverment
ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ : แยกออกเป็น 2 ประเด็นในเรื่องของการยืนยันตัวตนซึ่งวันนี้ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนแล้วเพียงแค่แสดงดิจิทัลไอดี แต่ในส่วนราชการยังไม่ได้พร้อมให้ใช้ในทุก ๆ แห่งนี่ไม่ใช่ปัญหาของดิจิทัลไอดีแต่เป็นปัญหาของกระบวนการของหน่วยงานนั้น ๆ
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ : ในเรื่องของการใช้บัตรประชาชนยังเป็นเรื่องที่จำเป็นในการยืนยันตัวตน ในเรื่องของดิจิทัลไอดีซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย สามารถใช้แทนบัตรประชาชนได้เลยซึ่งเป็นก้าวสำคัญให้ประชาชนติดต่อออนไลน์ ยืนยันตัวตนต่าง ๆ
ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พรรคก้าวไกล : การแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนทางพรรคมีนโยบายที่จะเสริมการทำ Digital Goverment คือประชาชนทุกคนจำเป็นต้องมีดิจิทัลไอดีเพื่อเวลาที่เราไปติดต่อกับหน่วยงานราชการเราสามารถที่จะยืนยันตัวตนผ่านดิจิทัลได้ การเข้าถึงบริการต่าง ๆ ก็สามารถใช้ดิจิทัลไอดียืนยันตัวตนได้ เพราะฉะนั้นดิจิทัลไอดีก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลได้
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย : สามารถทำได้ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอุปกรณ์ที่สามารถดึงข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และต้องทำระบบให้รัดกุม
มีนโยบายในการดึงดูดสตาร์ทอัป นักลงทุน และสร้างประเทศไทยให้กลายเป็นฮับด้านดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
คำถามจาก ผศ. ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัปไทย
ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พรรคก้าวไกล : ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้สตาร์ทอัปต้องลังเลหรือเปลี่ยนไปทำที่ประเทศอื่นเพราะติดอุปสรรค 2 ด้าน ด้านแรกคือด้านทรัพยากรณ์มนุษย์ที่มีทักษะขั้นสูงของดิจิทัล และอีกเรื่องคือข้อจำกัดทางด้านกฏหมาย ถ้าเราปลดล็อกทั้ง 2 ด้านนี้ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะในการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกับต่างประเทศ หากพัฒนาไม่ทันสิ่งที่เราทำได้ก็คือปลดล็อกการนำเข้าทรัพยากรมนุษย์ที่เก่ง ๆ เข้ามาแล้วการทำงานร่วมกับคนเก่งจะได้ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้กับคนไทยได้
เราต้องปลดล็อกด้านกฏหมายที่เป็นกำแพงในการนำคนต่างประเทศเข้ามาอยู่ เช่นสัดส่วนของการจ้างคนต่างชาติและคนไทยมีกฏหมายที่กำหนดไว้ ทำให้เขาอาจจะติดปัญหาตรงนี้เเพราะไม่สามารถที่จะหาคนไทยที่มีทักษะตามความต้องการได้ในสัดส่วนที่กำหนดไว้ด้วยกฏหมาย และทุนจดทะเบียนก็เป็นอุปสรรคเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐสามารถลื้อเพื่อทำใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย : ในการส่งเสริมของภาครัฐก็จะมีหลายส่วนหนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมเรื่อง infrastructure เพื่อทำให้ประเทศเราให้เป็น Digital Friendly ก่อน เราต้องรู้ก่อนว่าแต่ละบริษัทที่เขาจะไปลงทุนทำซอฟต์แวร์หลาย ๆ ล้านเริ่มลดลงแล้วเพราะมีคนที่ลงทุนกับซอฟต์แวร์แต่ละอย่างเป็นพันล้าน แล้วมาขายเป็นระบบ Subscrib เต็มไปหมด เพราะคนเหล่านั้นเขาสามารถควบคุมโดยไม่ต้องมีออฟฟิศที่ใหญ่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ และเมืองไทยเป็นประเทศในฝันของต่างชาติ เพราะหลาย ๆ อย่างของประเทศไม่ว่าจะเป็นอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ล้วนเป็นจุดเด่น แต่การโครงสร้างหลาย ๆ อย่างไม่เอื้ออำนวยให้กับสตาร์ทอัป เพราะฉะนั้นเราต้องเอื้อประโยชน์ให้กับสตาร์ทอัปต่างชาติให้เขาทำงานง่าย
ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ : วันนี้ประเทศไทยเรามีกองทุนเยอะมาก แต่กองทุนเหล่านั้นไม่ได้นำมาจัดสรรให้กับสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพ พรรคเรามีนโยบายในภาพกว้างใน SME 3 แสนล้าน ในขณะเดียวกันถ้าจะโฟกัสที่สตาร์ทอัปที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี เรายังมีหน่วยงานต่าง ๆ และหน่วยงานเหล่านี้ต้องปรับเกณฑ์เพื่อสนับสนุนทุนให้กับสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพเพื่อเอื้อต่อการเติบโตของเขาให้มากขึ้น
กฏหมายในปัจจุบันอนุญาติให้บริษัทใหญ่ ๆ เข้าถึงแหล่งเงินเงินกู้ อย่างในตลาดหลักทรัพย์เรามีหุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นการกู้ไปก่อนโดยออกหุ้นกู้ให้เมื่อบริษัทเติบโตเจ้าของเงินกู้สามารถแปลงสภาพเป็นผู้ถือหุ้นได้แต่กรณีแบบนี้ไม่สามารถเกิดกหุ้นกู้แปลงสภาพกับบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัปได้เพราะฉะนั้นจะต้องแก้กฏหมาย เพื่อให้ดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างชาติ
เรื่องการจดลิขสิทธิ์สตาร์ทอัปมีไอเดียดี ๆ เยอะมากเราต้องรักษาความเป็นเจ้าของความเป็นไอเดียของเขา กลไกในการเข้าถึงการจดลิขสิทธิ์ต้องเอื้ออำนวยให้สะดวกมากขึ้น และสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพเราต้องไปเผยแพร่และหาตลาดให้กับพวกเขา
วรวุฒิ อุ่นใจ พรรคชาติพัฒนากล้า : นี่คือจุดแข็งของพรรคเรา ต้องบอกอย่างนี้สตาร์ทอัปไทยต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและต้องเน้นไปที่คุณภาพ สิ่งเราคิดว่าจะมีประโยชน์กับสตาร์ทอัปไทยคือสิ่งที่เรียกว่า Corperate Venture Capital คือการหนุนให้บริษัทใหญ่มาลงทุนในสตาร์ทอัปแล้วเอาฐานตลาดของบริษัทใหญ่ เอาความสามารถในการบริหารจัดการมาช่วยบริหารให้สตาร์ทอัปแต่เราจะได้ นวัตกรรม เทคโนโลยีจากบริษัทสตาร์ทอัปเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านั้นมีเทคโนโลยีมีฐานตลาด และแหล่งทดลองให้สตาร์ทอัปได้เต็มที่ ขณะเดียวกันสตาร์ทอัปก็มีแหล่งเงินทุนมีตลาดที่จะใช้บริการ
และต้องเปลี่ยนหน่วยงานรัฐเป็น Goverment Venture Capital คือรัฐต้องทำตัวเป็นลูกค้าสตาร์ทอัป ซึ่งมีหลายแอปพลิเคชั่นที่สามารถช่วยให้ภาครัฐใช้งานได้สะดวก และประเทศไทยต้องพัฒนาสตาร์ทอัปไทยให้เป็น Hub ของเอเชียให้ได้ ซึ่งจะทำให้ตลาดสตาร์ทอัปเหล่านี้จะไม่อยู่แค่ประเทศไทยเราต้องนำเทคโนโลยีดี ๆ เหล่านี้ไปใช้กับต่างประเทศและแหล่งเงินทุนก็เช่นเดียวกัน และสิ่งหนึ่งที่รัฐต้องมีคือหากสตาร์ทอัปต่างชาติมาลงทุนในไทยต้องร่วมทุนกับคนไทย
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ : หัวใจสำคัญของสตาร์ทอัปคือการหาแหล่งเงินทุน คนลงทุนก็จะมองเรื่องภาษีเป็นหลักด้วยซึ่งวันนี้เรามีการแก้กฏหมายซึ่งเมืองไทยก็จะไม่มีการเสียภาษีด้านนี้แล้วลุงทุนในหุ้นที่เป็นสตาร์ทอัปเวลาไปขายหุ้นมีกำไรก็ไม่ต้องเสียภาษี ที่สำคัญเราต้องสร้างบรรยาการศที่เอื้อต่อการเกิดธุรกิจในการทำสตาร์ทอัปยิ่งขึ้น เช่นมีแรงงานที่มีคุณภาพสามารถอัปสกิลให้คนไทยมีความรู้ความสามารถมากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้คนต่างชาติที่เก่งด้านเทคโนโลยีมาอยู่เมืองไทยเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้และธุรกิจใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลต้องเป็นกำลังสำคัญในการหาเงินทุน
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะบรรจุหลักสูตรวิชาทักษะคอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับ
คำถามจากคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ : หลักสูตร Coding เป็นหลักสูตรที่กระทรวงศึกษารับเป็นหลักสูตรหลักและหลายโรงเรียนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยแล้ว ทางกระทรวงดิจิทัลมีงบประมาณส่งเสริมซื้ออุปกรณ์และฝึกครูผู้สอนให้กับโรงเรียนด้วย ตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมแต่หัวใจสำคัญคือต้องต่อเนื่องไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยด้วยคือให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนด้านคอมพิวเอตร์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญที่เป็นจุดอ่อนคือคนไทยจบการศึกษาที่เกี่ยวกับ Science Technology Engineering Mathematics น้อยมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศทำให้เราทรัพยากรมนุษย์ในด้านนี้น้อย และอยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้ตั้งใจศึกษาสิ่งเหล่านี้กันเยอะ ๆ เพราะสายอาชีพนี้มีรายได้ดีและมีงานทำแน่นอน
ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พรรคก้าวไกล : ทางพรรคก้าวไกลมีนโยบายสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องที่สนใจได้ฟรี และเป็นแพลตฟอร์มที่จะจับคู่ระหว่างประชาชนที่พัฒนาทักษะกับตลาดแรงงานได้อีกด้วย เรื่อง Coding ก็ควรจะใส่เข้าไปตั้งแต่ประถมวัยและเป็นวิชาเลือกในการเรียนระดับอุดมศึกษาต่อไป เพราะในอนาคตทักษะของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะ Coding ขั้นพื้นฐานคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย : จำเป็นอย่างยิ่ง และต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยปรับตัวไม่ทัน เพราะตำราเรียนสมัยนี้กับสมัยก่อนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและต้องอัปเดตอย่างถี่ ๆ เพื่อให้ทันตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลักสูตรวิชาบังคับของเด็กต้องลดลงแล้วนำหลักสูตรที่สามารถแปรเปลี่ยนได้เข้ามาและโรงเรียนต้องรู้ว่าสามารถสอนอะไรกับเด็ก ๆ ได้ และในขณะเดียวกันภาครัฐต้องสนับสนุนให้ได้ว่าอนาคตการสร้างงานสร้างรายได้ต้องการประชากรที่มีทักษะแบบไหน เราต้องสามารถผลิตบุคลากรในแต่ละด้านจำนวนเท่าไหร่ โดยให้เด็กสามารถเลือกได้ในกรอบที่ตั้งไว้คร่าว ๆ แต่ไม่ระบุให้เป็นวิชาที่ต้องบังคับ
ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ : การเรียน Coding เริ่มแล้วในระดับอนุบาลเราได้ผลักดันให้มีคณะการ Coding แห่งชาติและได้มีการอบรมให้ครูในสังกัด สพฐ. จำนวน 4 แสนคนให้มีทักษะมีความเข้าใจว่า Coding ไม่ใช่เรื่องของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่ต้องรอให้เด็กโต สามารถให้เด็กเรียน Unplug Coding ได้ตั้งแต่อนุบาล
วรวุฒิ อุ่นใจ พรรคชาติพัฒนากล้า : นโยบายพรรคชาติพัฒนากล้าในเรื่องของการศึกษาเราบอกว่าเด็กไทยต้องมี 3 ภาษา ภาษาที่ 1 คือภาษาไทย ภาษาที่ 2 คือภาษาอังกฤษ/จีน/ญี่ปุ่น ภาษาที่ 3 คือภาษา Coding เเพราะโลกธุรกิจข้างหน้าแข่งกันที่เทคโนโลยี ถ้าเด็กไทยไม่มีทักษะเหล่านี้เราแข่งกับต่างชาติลำบาก และอีกอย่างสถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นตลาดวิชาการ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว โดยเป็นการเรียนแบบบุฟเฟ่ต์คือจ่ายค่าเทอมแล้วเลือกวิชาที่ต้องการเรียนเอา ซึ่งทำให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริง เช่นอยากเปิดร้านกาแฟ ต้องลงเรียนวิชาทำกาแฟ เรียนการทำธุรกิจ วิชาที่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย เก็บหน่วยกิตครบก็ได้ปริญญาตรีกาแฟ ถ้าเป็นอย่างนี้จะไม่มีคำว่าเรียนไม่ตรงกับอาชีพ แต่ว่าสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเยอะ ๆ ด้วยเช่นกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส