คุณเคยสังเกตกันบ้างไหมว่าเรื่องราวในวิดีโอเกมแม้จะมีเนื้อเรื่องที่ไม่ซ้ำกัน แต่ในโครงเรื่องเนื้อหาหลักนั้นกลับมีเรื่องราวที่เอามาใช้ซ้ำกันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกอนาคตที่ล่มสลายซอมบี้ ไปจนถึงตัวละครเจ้าหญิงที่ถูกจับตัวไปต้องให้เราไปช่วย สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่าโครงเรื่องหลักที่เป็นหัวใจของการแต่งเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นนิยายภาพยนตร์ไปจนถึงวิดีโอเกม ที่ถ้าขาดโครงเรื่องหลักเราก็จะไม่สามารถสร้างเรื่องราวได้ ซึ่งโครงเรื่องหลักนี่ละคือสิ่งที่เป็นจุดเด่นที่ทำให้คนเล่นเห็นภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมด โดยเฉพาะวิดีโอเกมที่ต่างกับสื่ออื่น ๆ ที่เราต้องโชว์โครงเรื่องหลักให้คนเล่นเห็นเพื่อการตัดสินใจซื้อเกม ว่าเกมนี้คือเกมซอมบี้ เกมนี้คือเกมแนวเอาชีวิตรอด เกมนี้เราต้องไปช่วยเจ้าหญิง จนเราก็จะได้ยินคนเล่นเกมบ่นว่าซอมบี้อีกแล้วหรอ ไม่ก็โลกอนาคตที่ล่มสลายเหมือนเกมนั้นเลยแบบนี้ตลอด วันนี้เราจึงอยากหยิบยกเนื้อหารายละเอียดตรงนั้นมาดูกัน ว่ามีโครงเรื่องอะไรบ้างที่ถูกใช้ซ้ำจนคนเล่นบ่น โดยเราจะขอแบ่งเป็นยุคเก่ากับยุคใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ถ้าพร้อมแล้วก็มาดูกันเลย

เรื่องราวที่ใช้ซ้ำในวิดีโอเกมยุคเก่าโดยจะนับตั้งแต่ Famicom มาจนถึง PlayStation 1

ช่วยใครบางคนที่ถูกจับตัวไป

Super Mario

เริ่มต้นเรื่องราวแรกที่ดูเหมือนจะเป็นวิธีคิดเรื่องแบบ Classic ที่นักพัฒนาในยุค 80s -90s ชอบหยิบมาใช้กัน นั้นคือการไปช่วยคนสำคัญที่ถูกลักพาตัวไป โดยตัวพ่อของเกมแนวนี้จะเป็นเกมอะไรไปไม่ได้นอกจากซีรีส์ Super Mario ที่ตั้งแต่ภาคแรกมาจนถึงภาคล่าสุดอย่าง Super Mario Odyssey ตัวของ Mario ก็ยังไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกจับ ไปจนถึงเกม Dragon Quest ภาคแรกที่ราชามังกรจับเจ้าหญิงไป หรือจะเป็นเกมต่อสู้อย่าง Art of Fighting 2 ตัวละคร Yuri Sakazaki ที่หลายคนรู้จักในเกม The King of Fighters ก็เคยเป็นสาวน้อยอ่อนแอที่ไร้ทางสู้มาก่อน หรือจะเป็น Hudson’s Adventure Island ที่เราต้องไปช่วยแฟนสาวที่ถูกมนุษย์ต่างดาวจับไป เรียกว่าเยอะมาก ๆ เพราะวิดีโอเกมในยุคนั้นยังไม่สามารถใส่รายละเอียดเนื้อหาได้มาเท่ากับยุคนี้ ดังนั้นการโยนเรื่องราวง่าย ๆ เพื่อให้ตัวละครไปทำภารกิจจึงไม่ควรซับซ้อน เรื่องราวนี้จึงถูกเอามาใช้บ่อยในวิดีโอเกมยุคเก่านั่นเอง

Dragon Quest Art of Fighting 2  Hudson's Adventure Island

คุณคือผู้ถูกเลือกให้ปกป้องโลก

Dragon Quest

อีกหนึ่งเรื่องราวที่เรามักจะได้เห็นในเกมยุคเก่า นั่นคือการโยนภาระให้ตัวละครผู้เล่นอย่างเราไปทำภารกิจปกป้องโลกจากเหล่าร้าย อย่างเกม Dragon Quest ที่มักจะหยิบมาใช้บ่อย ๆ ตั้งแต่ภาคแรก ๆ ของซีรีส์มาจนถึงภาคล่าสุดเราก็ยังคงเจอเนื้อหาแบบนี้ หรือบางทีก็ไม่ต้องเป็นผู้ที่ถูกเลือกแต่เป็นคนแกร่งที่สามารถลุยเดี่ยวบุกรังศัตรูอย่าง Contra หรือ Ninja Gaiden ที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่สร้างตัวละครขึ้นมาแล้วบอกว่าตัวละครตัวนี้มีเป้าหมายที่ต้องปกป้องโลก เพียงเท่านี้ก็มากพอที่จะทำให้คนเล่นเกมในยุคนั้นสนุกได้ โดยที่หลายคนก็ไม่ได้สนใจเนื้อเรื่องเสียด้วยซ้ำ แต่พวกเขาก็สนุกกับเกมเหล่านี้ได้ไม่เชื่อลองไปถามคนเล่นเกมยุคนั้นดูว่า Contra กับ Ninja Gaiden มีเนื้อเรื่องยังไง ทุกคนคงจะตอบว่าก็พระเอกถูกส่งไปปราบเอเลี่ยนช่วยโลกหรือบุกรังศัตรูปราบปีศาจ ซึ่งความจริงมันมีเนื้อเรื่องมากกว่านี้แต่เรามักไม่สนใจกัน และบางครั้งมันก็ไม่จำเป็นที่คนเล่นต้องรู้ก็ได้ ไม่เหมือนเกมในยุคนี้ซึ่งเน้นเนื้อเรื่องพอ ๆ กับระบบการเล่น ซึ่งเราจะว่าทีมพัฒนาเกมไม่ใส่ใจก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะ Contra ก็มีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจแต่น้อยคนที่จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วทั้งสองคนนั้นถูกส่งมาทำไม ไม่ใช่แค่เริ่มเกมมาเราก็ลงมายิง ๆ ศัตรูเลยเหมือนที่เราเข้าใจ แต่มีการหักมุมและเนื้อหาที่เยอะพอ ๆ กับเกมยุคนี้เลย

Contra กับ Ninja Gaiden

ตัวร้ายเดิม ๆ ออกมาสร้างความวุ่นวาย

RockMan

RockMan ภาคใหม่ออกมาแล้ว เสียงดีอกดีใจของคนเล่นเกมเมื่อทราบว่าเกมที่ตัวเองชอบจะออกภาคใหม่ แต่ก็จะมีคนพูดออกมาขัดว่าตัวร้ายก็คงจะเป็น Dr. Wily คนเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะการเอาตัวร้ายตัวเดิม ๆ มาใส่นั่นถ้ามองในแง่ของเนื้อเรื่องมันก็ดูจำเจน่าเบื่อ แต่ถ้ามองอีกมุมการใช้ตัวร้ายเดิม ๆ ก็ทำให้คนเล่นรู้สึกผูกพันกับตัวละครนั้น ๆ แบบที่ว่าเจอกันอีกแล้วนะแกอะไรแบบนั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในวงการเกมแต่ในวงการการ์ตูนหรือในภาพยนตร์ก็มักจะทำแบบเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ในภาษานักเขียนเขาจะเรียกสิ่งนี้ว่าคู่ปรับตลอดกาล ที่ยิ่งบวกกับเนื้อหาซ้ำ ๆ ด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นสูตรสำเร็จที่คนในยุคก่อนรู้กันดี ซึ่งแทนที่มันจะไม่ดีจนคนเล่นเกมเบื่อกลับตรงข้าม เพราะการใช้ตัวร้ายเดิม ๆ มันก็ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของตัวร้ายว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน หรือคราวนี้จะมีแผนร้ายอะไรมาเล่นงานอีก และเมื่อใดที่ทั้งคู่มาร่วมมือกันมันก็จะยิ่งมีความหมายให้กับเนื้อเรื่องเกมภาคนั้น ๆ มากขึ้นไปอีกด้วย

RockMan Mario

สร้างจากการ์ตูนชื่อดัง

Saint Seiya

ถ้าการคิดเนื้อเรื่องของเกมมันยุ่งยาก ไหนจะต้องออกแบบตัวละครคิดเรื่องฉาก ถ้าอย่างนั้นก็เอาเนื้อเรื่องจากการ์ตูนมาทำเป็นเกมเลย แต่แทนที่จะเอาเนื้อเรื่องการ์ตูนทั้งเรื่องมาทำเป็นเกม  เราก็แค่หยิบเนื้อเรื่องบางส่วนของเกมมาดัดแปลง เปลี่ยนเนื้อหาเล็กน้อยแล้วก็ใช้ชื่อเสียงของการ์ตูนเรื่องนั้น ๆ เป็นตัวช่วยส่งเสริมการขายก็พอ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักพัฒนาเกมยุคนี้ทำกัน ยิ่งถ้าเป็นในยุคอดีตที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เด็กหนวดหลายคนในยุคนั้นหลงคิดว่าเกม Dragon Quest lll คือเกม Dragon Ball ภาคใหม่จนหลงซื้อมาเล่นกันก็มี ซึ่งวิธีเอาเนื้อเรื่องจากในการ์ตูนมาสร้างเป็นเกมนั้นก็มีมากมายตั้งแต่ Doraemon, Saint Seiya, Dragon Ball จนถึงตอนนี้ก็ยังมีอยู่จนหลายคนต่างบ่นกันว่าเกม Dragon Ball ภาคใหม่อีกแล้วหรอแบบนี้ก็มี

Dragon Quest lll  Dragon Ball Saint Seiya

สร้างจากภาพยนตร์

Sweet Home

ในเมื่อมีการหยิบเรื่องราวของการ์ตูนมาทำเป็นเกมแล้ว ในวงการเกมยุคเก่าก็มีการหยิบเรื่องราวของภาพยนตร์มาทำเป็นเกมด้วย โดยส่วนมากจะเป็นการหยิบยกเนื้อหาหลัก ๆ ของภาพยนตร์มาทำเป็นเกม หรือบางทีก็เอามาแค่ชื่อกับตัวละครอย่างเกม RoboCop บนเครื่อง Famicom ในปี 1989 ที่อ้างอิงเรื่องราวจากในภาพยนตร์มาสร้าง หรือจะเป็น Teenage Mutant Ninja Turtles หรือนินจาเต่าที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงไปในปี 1989 จนถึงเกมของเหล่าซุปเปอร์ฮีโรอย่างเกม Batman ที่สร้างตามภาพยนตร์ก็มี หรือจะเป็นฝั่งเอเชียเราก็มีอย่างต้นแบบเกม Resident Evil อย่าง Sweet Home เกมที่สร้างจากภาพยนตร์สยองขวัญชื่อเดียวกัน ซึ่งการหยิบภาพยนตร์มาทำเป็นเกมก็ใช้เหตุผลเดียวกับการเอาการ์ตูนมาทำเป็นเกม เพราะต้องการใช้กระแสความโด่งดังของภาพยนตร์มาเป็นตัวกระตุ้นให้ขายได้นั่นเอง และสองวิธีนี้ก็เป็นการเอาโครงเรื่องจากภาพยนตร์มาเป็นจุดขายแทนการใช้โครงเรื่องที่คิดเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นักพัฒนายุคนั้นชอบทำกันที่ในยุคนี้ก็ยังคงมีแต่น้อยลงมาก ๆ

RoboCop Teenage Mutant Ninja Turtles Batman

เอาตัวละครมารวมกันแข่งรถ

Rockman Battle & Chase

อีกหนึ่งความนิยมที่นักพัฒนาเกมยุคนั้นชอบใช้กัน ที่เมื่อหมดมุกที่จะทำภาคต่อของเกมในซีรีส์ต่าง ๆ พวกทีมพัฒนาก็มักจะหยิบตัวละครในเกมที่มีอยู่มากมายมาแข่งรถกัน ซึ่งถ้าจะว่ากันจริง ๆ เกมแข่งรถแบบรวมดาวของตัวละครเกมครั้งแรก ๆ นั้นต้องเริ่มมาจากเกมในซีรีส์ Mario Kart ที่เป็นการนำตัวละครในซีรีส์ต่าง ๆ ของ Nintendo มาร่วมกันแข่งรถพร้อมกับการแกล้งกันในสนามด้วยไอเทมต่าง ๆ ที่เก็บได้ หลังจากนั้นเราก็จะเห็นหลายเกมที่ยึดแนวทางนี้มาใช้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นนกเหลืองที่ขนตัวละครจากเกมในซีรีส์ Chocobo’s Dungeon มาเป็นเกม Chocobo Racingอ หรือจะเป็นตัวละครยอดนิยมอย่างซีรีส์ Rockman ที่ก็มีเกมแข่งรถอย่าง Rockman Battle & Chase ไปจนถึงเกมบนมือถืออย่างตำนานนกโกรธในเกม Angry Birds ก็ทำเกมแข่งรถในชื่อ Angry Birds Car Racing ให้เราได้เล่น แถมส่วนมากก็ใช้รูปแบบการเล่นเหมือน Mario Kart อีกด้วย เกมนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นักพัฒนามักจะหยิบมาใช้ซ้ำจนคนเล่นเกมในยุคก่อนเบื่อกันเลยทีเดียว

 Angry Birds  Angry Birds Car Racing

เกมแนวยานยิงเอเลียนบุกโลก

Alien Predator

ย้อนกลับไปในยุคที่เครื่องเกม Famicom กำลังครองตลาดในตอนนั้น เกมแนวยานอวกาศหรือเอเลียนบุกโลกเป็นแนวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราก็จะเห็นเกมแนวนี้วางขายหรือเปิดตามร้านเกมมากมาย ไม่ว่าเป็นเกม Action เดินยิงอย่าง Contra เกมยานยิงชื่อดังอย่าง Galaxian หรือแนว Action ยานยิงอย่าง Gradius ที่เป็นแนวอวกาศเอเลี่ยนบุกโลก เพราะในตอนนั้นถ้าเราจะนับรวมกระแสความโด่งดังของภาพยนตร์ StarWars ที่เป็นตัวจุดประกายเรื่องของสัตว์ประหลาดมนุษย์ต่างดาวและยานยิงกัน ที่เหมือนเป็นการชี้แนวทางให้นักพัฒนาเกมยุคนั้นทำตาม จนมาถึงยุคที่ภาพยนตร์เรื่อง  Alien กับ Predator และ ID4 โด่งดังเราก็จะได้เห็นแนว ๆ มนุษย์ต่างดาวในวิดีโอเกมกลับมาอีกครั้งจนมันกลายเป็นเรื่องปกติของคนเล่นเกมยุคนั้นคุ้นเคย

Contra  Gradius

ฮีโร่ปกป้องโลก

Captain Commando

ถ้าพูดถึงเกมแนว Hero ปกป้องโลกเราต้องแยกกับเกมที่เอาตัวละคร Super Hero มาทำเป็นเกม เพราะเกมแนว Hero ปกป้องโลกจะเป็นเกมแนวใหม่เนื้อเรื่องใหม่ที่กล่าวถึงเหล่าผู้มีพลังพิเศษที่มาปกป้องโลก ไปจนถึงเหล่าตัวละครในเกมแนว RPG ที่ก็ทำหน้าที่ปกป้องโลกเหมือนกัน ซึ่งแนวทางการเป็นฮีโรปกป้องนั้นถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็มีมากมายหลายเกม ไม่ว่าจะเป็นเกม Captain Commando เกมแนว Action เดินหน้าอัดศัตรูที่เราจะได้รับบทเป็นเหล่า Hero ที่มีความสามารถต่าง ๆ ในการเล่น หรือจะเป็นเกมแนว RPG อย่าง Chrono Trigger หรือ Final Fantasy ที่ก็ถูกจัดเป็นกลุ่ม Hero ปกป้องโลกที่เรียกว่าใช้ซ้ำกันเยอะมาก ๆ ในยุคอดีต เพราะแค่การเดินทางไปช่วยคนที่ถูกจับมันกดูจะธรรมดาไปแล้ว แต่การเดินทางที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อนจะทวีความยิ่งใหญ่จนกลายเป็นการปกป้องโลกมันทำให้คนเล่นเกมอินและชื่นชอบได้ และถ้ามีเนื้อเรื่องดี ๆ ระบบการเล่นที่เข้าท่ารับรองว่าเกมเหล่านั้นต้องเป็นตำนานอย่างแน่นอน

 Captain Commando  Chrono Trigger

เกมแนวจีบสาว

Tokimeki Memorial

ถ้านับกันจริง ๆ เกมแนวจีบสาวก็เคยเป็นที่นิยมในยุคที่เกม Tokimeki Memorial วางจำหน่ายบนเครื่อง Super Famicom ในปี 1994 นับจากนั้นก็มีค่ายเกมเริ่มทำเกมแนวนี้ออกมาวางจำหน่าย ที่มีตั้งแต่เกมจีบหนุ่ม Angelique ที่เป็นต้นแบบเกมแนวจีบหนุ่มเพื่อเอาใจสาว ๆ หรือจะเกมจีบสาวที่ออกมาในยุคนั้นอย่าง Doukyuusei ที่เป็นคู่แข่งของ Tokimeki Memorial หรือจะเป็นเกมในซีรีส์ Tokimeki เองที่ก็ออกภาคแยกภาคเสริมภาคต่อออกมามากมาย จนแทบจะกลบเกมอื่น ๆ ที่เป็นแนวจีบสาวจีบหนุ่มของค่ายอื่นจนเกือบหมด แต่ก็ยังมีเกมแนวจีบสาวหลาย ๆ ค่ายออกมาท้าสู้ อย่างเกมจีบเจ้าหญิงใน Princess Maker จนมาถึงยุคของ PlayStation 1 ที่เป็นหนึ่งในช่วงเฟื่องฟูของเกมแนวนี้ จนตัวเกมที่ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมจนแทบไม่มีแล้วในตอนนี้

Doukyuusei 
Princess Maker

ไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง

Duck Hunt

ปิดท้ายกับเรื่องราวใช้ซ้ำในยุคอดีต ที่ถ้าทุกอย่างที่กล่าวมาทั้ง 9 อย่างนั้นมันช่างดูยุ่งยากก็ไม่ต้องใส่เนื้อเรื่องมันลงไปเลยง่ายที่สุด อย่างเกม Duck Hunt ที่เป็นเกมยิงเป็ดกับการเปิดเรื่องราวมาง่าย ๆ ด้วยการให้น้องหมากระโดดเข้าไปในพงหญ้าเพื่อล่อเป็ดให้บินออกมา ซึ่งไม่ต้องมีเนื้อเรื่องอะไรให้ยุ่งยาก หรือจะเป็นเกมง่าย ๆ อย่าง Bomberman ภาคแรกที่เปิดเกมมาก็ให้เราไปกำจัดศัตรูให้หมด ไปจนถึงเกม Pac-Man ที่ไม่ต้องใช้เนื้อเรื่องอะไรกับคนเล่น แต่ก็เป็นกระแสจนบางเกมกลายเป็นตำนานก็มี ซึ่งเหตุผลที่เกมในยุคนั้นหลายเกมไม่มีเนื้อเรื่องก็เพราะความจุของตลับเกมที่มีน้อยมาก ๆ การใส่เนื้อเรื่องลงไปมันจะเกินความจุแม้จะเป็นเพียงแค่ภาพนิ่งก็ตาม แต่บางเกมก็จะเอาเนื้อเรื่องไปในในคู่มือที่แถมมากับตลับแท้ไปจนถึงใส่เนื้อหาในฉบับหนังสือคู่มือหรือนิตยสารเกมแทน แต่หลายเกมก็จงใจไม่ใส่ลงไปก็มี ซึ่งถ้าให้เด็กยุคนี้มาเล่นเกมเก่า ๆ ที่ว่ามา พวกเขาคงจะถามเราแน่ ๆ ว่าพวกที่วางระเบิดคือใครตัวเหลือง ๆ ทำไมต้องกินจุดอย่างแน่นอน แต่เกมเหล่านี้ในภาคหลัง ๆ ก็จะมีเนื้อเรื่องมารองรับแล้ว เพราะตัวเกมมีความจุมากขึ้นจึงใส่เนื้อหาเหล่านี้ได้

Bomberman 
Pac-Man

เรื่องราวใหม่ที่เพิ่งเอามาใช้ในวิดีโอเกมขอนับตั้งแต่ PlayStation 2 ขึ้นมาจนถึง PlayStation 5

ดิ้นรนเอาชีวิตรอด

The Last of Us Part II

มาต่อกันที่แนวทางเกมยุคใหม่ที่ถูกเอามาใช้บ่อย ๆ กันบ้าง โดยเริ่มจากเกมแนวแรกที่นักพัฒนาเกมยุคใหม่ชอบเอามาใช้กัน นั่นคือเกมแนวเอาชีวิตรอดที่เป็นแบบกระเสือกกระสนหาทางเอาตัวรอด ประมาณว่าตัวละครเริ่มต้นจากจุดต่ำสุด ก่อนจะพยายามเอาตัวรอดที่แม้เส้นทางที่จะพยายามเริ่มต้นก็ยังยากจนคนเล่นต้องลุ้นเอาใจช่วย ยกตัวอย่างเกม Sekiro Shadows Die Twice ที่เริ่มต้นจากตัวเอกที่แขนขาดไร้ทางเอาชนะ หรือจะเป็น The Last of Us Part II กับ Ghost of Tsushima ที่ใครซึ่งเคยเล่นคงจะทราบดีว่าตัวเกมเริ่มต้นจากเรื่องอะไร ก่อนจะกลายเป็นแรงผลักดันให้ตัวละครต้องต่อสู้ ซึ่งสิ่งที่ผลักดันให้ตัวละครต้องกระเสือกกระสนตั้งแต่ต้นนั้นก็เพื่อให้คนเล่นรู้สึกเอาใจช่วย และพยายามควบคุมตัวละครพร้อมความสงสัยว่าตัวละครเหล่านี้จะหาทางเอาชนะหนทางที่ย่ำแย่แบบนี้ไปได้อย่างไร ซึ่งมันก็ได้ผลในหลาย ๆ เกมที่ทำแบบนี้ แต่อย่าลืมว่ามันต้องมีเนื้อเรื่องที่ดีและเหตุผลรองรับที่เหมาะสมด้วย ไม่อย่างนั้นจะโดนคนเล่นเกมว่าเอาได้ ซึ่งก็มีหลายเกมที่โดนว่าไปแล้ว

Sekiro Shadows Die Twice 
 Ghost of Tsushima

คนดวงซวยอยู่ผิดที่ผิดเวลา

Silent Hill Origins

อีกหนึ่งโครงเรื่องที่มักจะเอามาใช้ซ้ำในวิดีโอเกมยุคใหม่ นั่นคือการให้ตัวละครไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา เช่นการใช้ทางลัดส่งของกับตัวเอกในเกม Silent Hill Origins ที่ไปอยู่ถูกที่ถูกเวลาจนเกิดเรื่องราวในเกม หรือจะเป็นแค่การเดินเล่นในป่าจนหลงมาในหมู่บ้านผีสิงในเกม Fatal Frame II Crimson Butterfly ไปจนถึงแค่การนั่งเครื่องบินอยู่ดี ๆ เครื่องก็ตกลงบนบนทะเลจนพบเมืองใต้น้ำในเกม BioShock ซึ่งโครงเรื่องแบบนี้มักจะถูกเอามานำเสนอให้คนเล่นดูผ่านทางตัวอย่างใน YouTube เพราะมันจะทำให้คนเล่นรู้สึกตกใจหรืองุนงงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ที่เมื่อเกมวางจำหน่ายคนที่เล่นก็จะได้ลุ้นและรู้สึกเหมือนเป็นตัวละครในเกม ที่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อย ๆ เกมก็จะบอกกับเราว่าเหตุผลที่ทำให้ตัวละครเหล่านี้มาอยู่ตรงนี้มันมีเหตุผลรองรับ มันจะยิ่งสร้างความพึงพอใจให้คนเล่นรู้สึกสนุกมากกว่าเรื่องราวแนวปกติ แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยเนื้อเรื่องที่ดีและสมเหตุผลที่คนเล่นพอใจ เพราะถ้าจบแบบด้วน ๆ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือจบแบบง่าย ๆ รับรองโดนด่าแน่นอน

Fatal Frame II Crimson Butterfly BioShock

โลกอนาคตที่ล่มสลาย

Days Gone

ถ้าเป็นในยุคอดีตการสร้างเกมแนวโลกอนาคตที่ล่มสลายนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก เพราะด้วยขีดจำกัดของเครื่องเกมในสมัยก่อน ที่ไม่สามารถแสดงฉากกราฟิกโลกอนาคตที่ล่มสลายได้แบบในยุคนี้ที่ เมื่อการมาถึงของ PlayStation 4 ก็เหมือนเป็นการเปิดโลกของเกมแนวนี้อย่างแท้จริง(สมัย PlayStation 2-3 ก็มีแต่ไม่ยิ่งใหญ่น่าสนใจเท่ายุคนี้) ที่ถ้าให้เรานับรายชื่อเกมที่ทำแนวนี้ก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกมแนวซอมบี้โลกอนาคตล่มสลายอย่าง Days Gone หรือ The Last of Us ll ที่ทำโลกอนาคตออกมาได้หดหู่สิ้นหวังเมื่อโลกปกครองไปด้วยซอมบี้ หรือจะเป็นโลกอนาคตแบบแฟนตาซีอย่าง Horizon Zero Down ที่สัตว์กลายเป็นเครื่องจักร ซึ่งเริ่มต้นเรื่องราวจากอนาคตที่ไกลแสนไกล นี่ยังไม่นับ Far Cry New Dawn หรือ Rage 2 ที่ก็เป็นอนาคตที่ล่มสลายเหมือนกัน และด้วยความกว้างของเกมแนวโลกล่มสลายที่ไม่ได้จำกัดแค่แนวซอมบี้ เราจึงได้เห็นเกมแนวอนาคตล่มสลายอยู่มากมายหลายแบบ แต่ทุกเกมก็มีโครงเรื่องเดียวกันที่คนเล่นจะได้รับรู้ตั้งแต่ก่อนซื้อเกมนั่นเอง

Horizon Zero Down 
Far Cry New Dawn

เนื้อเรื่องแนวสงครามโลก

Battlefield

สงครามโลกอีกแล้วนั่นคือหนึ่งในวลีของนักเล่นเกมบ่นกันเมื่อได้ยินว่าเกมชื่อดังอย่าง Battlefield หรือ Call of Duty ประกาศภาคใหม่ออกมา(บ่นแต่พอเกมออกก็เล่น) จนหลายคนถึงกับพูดออกมาเลยว่า ถ้ามีการสอบเรื่องประวัติศาสตร์สงครามโลกนักเล่นเกมคงได้คะแนนเต็ม เพราะเกือบทุกสงครามในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้นถูกเอามาทำเป็นเกมเกือบหมดแล้ว และไม่ใช่แค่ 2 เกมหัวใหญ่ที่หยิบสงครามโลกทั้งสองครั้งมาทำ แต่ยังมีเกมค่ายเล็ก ๆ อีกหลายเจ้าหันมาทำด้วย จนกลายเป็นว่าเกมแนวสงครามโลกมีเยอะมาก ๆ จนเรียกว่าเยอะเกินไปเสียด้วยซ้ำ ส่วนเหตุผลที่ทีมพัฒนาชอบหยิบเรื่องราวสงครามโลกมาใช้ ก็เพราะมันคือวัตถุดิบชั้นดีที่มีทุกอย่างครบหมดให้ทีมพัฒนาหยิบมาใช้ ทั้งเนื้อหาฉากเพียงแค่ใส่เนื้อเรื่องลงไปเพียงเท่านี้คุณก็ได้เกมสงครามโลกแล้ว แต่ด้วยการทำที่ซ้ำและเยอะไปทางทีมพัฒนาจึงต้องดัดแปลงเนื้อหาออกไป จนบางทีมันก็บิดเบื้อนจากความจริงไปไกลก็มี จนเราต้องบอกว่าสิ่งที่อยู่ในเกมนั้นหลายอย่างก็ไม่ใช่เรื่องจริงตามประวัติศาสตร์ ถ้าอยากทราบเรื่องราวสงครามโลกจริง ๆ ไปหาอ่านหรือดูตามสารคดีจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องกว่าเล่นในเกม

Battlefield 
Call of Duty

เกมเกี่ยวกับเทพพระเจ้า

God of War

เมื่อพูดถึงวิดีโอเกมที่มีการนำเทพเจ้ามาใส่ในเกมก็มีมากมาย ทั้งแบบเอาเทพเจ้ามาถูกทำร้ายอย่างในซีรีส์ God of War ไปจนถึงการนำเทพเจ้ามาต่อสู้กันเองในเกม Fight Of Gods ที่เป็นการนำเทพเจ้าในศาสนาต่าง ๆ มาต่อสู้กัน ที่เคยมีประเด็นในบ้านเรามาแล้วสมัยที่เกมนี้วางจำหน่าย รวมไปถึงการนำเทพเจ้ามาเป็นตัวแทนของพลังความสามารถ ที่ช่วยเหลือตัวเอกอย่างเกม Gods and Monsters หรือ Hades  Asura’s Wrath เพราะตามตำนานกรีกโรมันแล้ว เทพเจ้ามักจะช่วยเหลือเหล่าวีรบุรุษด้วยการมอบพลัง หรือของวิเศษให้ในการปราบสัตว์ประหลาด และถ้าคุณสงสัยว่าทางเอเชียเราจะมีเกมแนว ๆ God of War หรือไม่ก็ต้องบอกว่ามี แถมยังดูยิ่งให้อลังการขนาดเทพเจ้าสามารถใช้นิ้วเดียวบี้เราเหมือนมดในเกม Asura Wrath หรือจะเป็นเทพเจ้าของญี่ปุ่นเองมาทำเป็นเกม อย่าง Okami ซึ่งเหตุผลที่นักพัฒนาเกมเลือกใช้พระเจ้าในศาสนาต่าง ๆ มาทำเป็นเกมนั้น ก็เพราะความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าเหล่านั้น ที่มนุษย์อย่างเราไม่มีวันเข้าถึง และพวกเขาก็พร้อมจะช่วยเหลือเหล่าคนดี หรือจะเป็นการต่อต้านพระเจ้าที่บอกให้เรารู้ว่าแม้เราจะเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ก็สามารถท้าทายพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ได้ นั่นคือสิ่งที่นักพัฒนาเกมต่องการสื่อกับคนเล่น แต่มันก็เสี่ยงกับการถูกคนนับถือศาสนานั้น ๆ ต่อต้าน เราจึงมักจะเห็นเทพเจ้ากรีกมาอยู่ในเกมเพราะไม่มีแรงต่อต้านเมื่อเทียบกับศาสนาอื่น

Hades  Asura's Wrath 
 Asura Wrath

ลงนรก

Doom

ถ้าคุณเป็นนักสร้างเกมแล้วต้องการหาความแปลกใหม่ของสถานที่ การลงนรกก็เป็นตัวเลือกยอดฮิตที่นักพัฒนาเกมยุคนี้เลือกจะหยิบมาใช้ในการสร้างเกม จนเรากล้าพูดเลยว่าไม่มีนักเล่นเกมคนไหนที่ไม่เคยลงไปเดินในนรก ไม่ว่า Doom ที่เมื่อลงไปแล้วแทนที่เราจะเป็นเหยื่อให้เราปีศาจ แต่กลับตรงข้ามเพราะปีศาจต่างหากที่ต้องเป็นเหยื่อของเรา หรือจะเป็นการลงไปป่วนนรกในเกม Saints Row Gat Out Of Hell ไปจนถึงการหยิบตำนานการเดินทางลงนรกมาทำเป็นเกมอย่าง Dante ‘s Inferno นอกจากนี้ก็ยังมีเกมแนว VR สยองขวัญอย่าง Agony เรียกว่ามีมากมายใครที่สนใจก็ไปอ่านบทความ 10 เกมซาตานนรกที่อยู่ในวิดีโอเกมได้ ส่วนเหตุผลที่มีการทำเกมให้ตัวเอกลงนรกนั้น ก็เพราะที่นั่นคือโลกต่างมิติที่ให้นักพัฒนาสามารถสร้างสันสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย เมื่อเทียบกับสวรรค์หรือสถานที่อื่น ๆ คุณลองคิดดูนะว่าถ้ามีเกมที่ให้เราไปฆ่ากันบนสวรรค์มันคงรู้สึกแปลก ๆ และขัดกับความเป็นจริง ขณะที่ในนรกคุณสามารถโยงสิ่งชั่วร้ายทุกอย่างในโลกลงไปในสถานที่นั้นได้หมดแบบไม่มีขัดในเนื้อหา แถมนรกยังสร้างออกแบบง่ายที่ไม่ว่าจะออกแบบมาอย่างไรคนก็เชื่อว่ามันคือนรกเมื่อเทียบกับสถานที่อื่น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นเกมแนวลงนรกออกมามากมายในเกมยุคนี้

Saints Row Gat Out Of Hell 
 Agony

ความจำเสื่อม

BioShock

อีกหนึ่งแนวเรื่องน่าสนใจที่เมื่อนักพัฒนาเกมหยิบยกมาใช้ก็มักจะได้รับความนิยม นั่นคือการจับตัวละครหลักที่เราควบคุมไปอยู่ในสถานที่แปลก ๆ พร้อมกับความทรงจำที่หายไป อย่างเกม BioShock ภาคแรกที่เปิดเกมมาพร้อมกับตัวเราที่อยู่บนเครื่องบินโดยสาร ก่อนที่มันจะตกลงมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือเกม The Inpatient ที่เราจะตื่นมาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแบบงง ๆ โดยวิธีการคิดเรื่องราวแบบนี้จะคล้ายกับวิธีคิดเรื่องในหัวข้อการดิ้นรนเอาชีวิตรอด   เพราะการเปิดเรื่องแบบงง ๆ ที่ให้คนเล่นอย่างเรากับตัวละครค่อย ๆ ค้นหาคำตอบว่ามันคืออะไร มันคือสิ่งที่ดึงดูดคนเล่นให้ติดตามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้มันคืออะไร ซึ่งเมื่อเรื่องราวมันดำเนินผ่านไปเรื่อย ๆ แล้วเราค้นพบคำตอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันคืออะไร มันจะยิ่งทำให้คนเล่นรู้สึกตกใจอย่างที่ BioShock ภาคแรกทำ ที่เมื่อเกมเฉลยออกมาก็ทำเอาคนเล่นอ้าปากค้างมาแล้ว  แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยเนื้อเรื่องที่ดีสมเหตุสมผล เพราะถ้าตอนเฉลยทำออกมาได้ไม่ดีก็จะกลายเป็นสิ่งที่มาทำร้ายตัวเกมได้ หรือบางทีก็ไม่ต้องมีคำตอบก็ได้อย่างที่เกม P.T. ทำ ที่ใช้ตัวเอกความจำเสื่อมที่หลงในบ้านที่เมื่อเปิดประตูมาก็วนอยู่ที่เดิม ซึ่งเมื่อเล่นจบเรายังไม่รู้เลยว่าตัวเอกคือใคร แต่เราก็รู้ว่าผีที่ออกมาคือใครผ่านเนื้อหาในเกม ที่ก็มากพอที่จะทำให้คนเล่นพอใจจนอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร และเราก็เชื่อว่าถ้าเกม  P.T. ถูกสร้างเราก็คงจะได้รู้แน่ ๆ ว่าชายคนนี้คือใครและทำไมถึงมาอยู่ที่นี่ ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าจะมีวันนั้น

The Inpatient 
P.T.

เนื้อเรื่องตัวละครไซอิ๋ว

Journey to the West

คุณเชื่อไหมว่าในตลาดวิดีโอเกมนั้นมีเกมที่เกี่ยวกับตำนานไซอิ๋ว หรือ Journey to the West อยู่มากมาย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงตอนนี้โครงเรื่องนี้ก็ยังถูกเอามาใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวละครลิงอย่างเห้งเจียมาเป็นตัวละครในเกมต่อสู้อย่างเกม Marvel vs Capcom 2 หรือจะเป็นเกมชื่อดังบนมือถืออย่าง Arena of Valor ก็หยิบตัวละครเห้งเจียมาใช้ รวมถึงการเอาเนื้อเรื่องนิทาน Journey to the West ซึ่งเป็นการเดินทางของเหล่าตัวละครในเรื่องนี้มาดัดแปลงอย่างเกม Fuuun Gokuu Ninden, Saiyuki Journey West, Monkey King Hero Is Back และ Enslaved Odyssey to the West ส่วนเหตุผลที่เนื้อหาเรื่องราวเหล่านี้ถูกเอามาสร้างเป็นเกมนั้น เพราะตัวเนื้อเรื่องนั้นค่อนข้างแฟนตาซีและเข้าถึงง่าย แม้แต่ในตลาดตะวันตกก็ยังรู้จักตำนานนี้ แถมตัวละครเห้งเจียนั้นก็ดีเหมาะกับการเป็นตัวเอก เพราะเขาคือตัวแทนของตัวละครสุดแกร่งที่พร้อมลุยตลอดเวลา จึงมักเป็นที่ต้องการของทีมพัฒนาที่ต้องเอาเอาเนื้อหาเหล่านี้มาสร้างเป็นเกม และในอนาคตเราก็ยังคงเห็นเกมที่อ้างอิงเนื้อเรื่องตัวละครจากนิยายนี้อีกเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

Marvel vs Capcom 2 
Odyssey to the West

สร้างเนื้อหาที่เป็นรอยต่อจากภาพยนตร์หรือนิยาย

Fast & Furious Crossroads

ในปัจจุบันเนื้อเรื่องในวิดีโอเกมนั้นค่อนข้างเขียนยากขึ้น โครงเรื่องหลัก ๆ ที่นักพัฒนาใช้ในอดีตก็ถูกใช้ไปหมดจนคนเล่นเกมเริ่มเบื่อ ทางทีมพัฒนาจึงต้องหาหนทางอื่นอย่างการดัดแปลงเนื้อหาในนิยายมาเป็นเกม แต่การดัดแปลงนิยายทั้งหมดมันก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก ทางทีมพัฒนาจึงใช้วิธีการอ้างอิงเนื้อหา หรือเอาตัวเอกจากนิยายนั้น ๆ มาสร้างเป็นเกมแทน อย่าง The Witcher ที่เน้นการสร้างเรื่องราวใหม่ แต่ใช้ตัวละครจากในนิยายกับเค้าโครงเรื่องใหม่มาใส่เพื่อให้เหมาะกับเกม รวมถึงตัวภาพยนตร์ที่ในหัวข้อก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงเกมที่สร้างจากภาพยนตร์ไปแล้ว มาในยุคนี้มันไม่มีอีกแล้วการสร้างเกมตามภาพยนตร์แบบในสมัยนั้น  แต่จะถูกเปลี่ยนมาเป็นการสร้างเกมที่ใช้ชื่อเดียวกับภาพยนตร์ แต่เนื้อเรื่องในเกมเหล่านั้นจะเป็นการพูดถึงช่วงเวลาก่อนหรือหลังเรื่องราวในภาพยนตร์ อย่างเกม Fast & Furious Crossroads ที่เป็นการสร้างเนื้อเรื่องก่อนภาพยนตร์ภาค 9 ที่จะฉายในอนาคต ที่การทำแบบนั้นมันก็คือการตลาดแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนกันและกันของทั้งภาพยนตร์และเกม เพราะถ้าคุณเป็นแฟนภาพยนตร์ Fast & Furious คุณต้องอยากรู้แน่ ๆ ว่าเรื่องราวก่อนหน้านี้มันเกิดอะไรขึ้นและมันส่งผลกระทบอะไรกับภาพยนตร์ หรือจะเป็นนิยายเองก็ถูกสร้างเรื่องราวก่อนตัวนิยายและภาพยนตร์เหมือนกันอย่าง The Lord of the Rings Gollum ที่เน้นเล่าเรื่องราวของ Gollum ว่าในนิยายมันทำอะไรบ้าง ซึ่งการทำแบบนี้จะเป็นการเรียกแฟนภาพยนตร์หรือนิยายให้มาซื้อ ที่นับเป็นการตลาดที่ดีมาก ๆ แต่ข้อเสียคือตัวนิยายหรือภาพยนตร์ที่ใช้ต้องดังถึงดังมาก ๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีใครสนใจซื้อ

 The Witcher 
 The Lord of the Rings Gollum

ซอมบี้

Zombie

ปิดท้ายกับเรื่องราวที่นักเล่นเกมหลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับการแต่งเนื้อเรื่องเกมให้เป็นแนวซอมบี้ ที่จะว่ากันจริง ๆ เกมซอมบี้มันมีมานานแล้ว แต่ถ้านับความนิยมในกลุ่มทีมพัฒนาเกมจริง ๆ ก็นับตั้งแต่ที่เกม  ‎Resident Evil ภาคแรกโด่งดัง นับจากนั้นเราก็ได้เห็นโครงเรื่องแนวซอมบี้ออกมาอย่างมากมาย จนกลายเป็นเรื่องปกติของวงการเกมไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าคนเล่นเกมจะเบื่อเพราะเมื่อมีคนทำเกมซอมบี้ออกมาเยอะ ก็จะมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้แปลกไปกว่าคนอื่น อย่างซอมบี้ในเกม The Last of Us ที่เปลี่ยนจากซอมบี้ธรรมดาให้เป็นซอมบี้เห็ดที่น่ากลัว หรือจะเป็นตัว ‎Resident Evil เองที่ก็เปลี่ยนแนวทางซอมบี้ไปเป็นรูปแบบใหม่ ๆ เราจึงได้เห็นเกมแนวนี้ออกมาอยู่เรื่อย ๆ และแน่นอนว่ามันจะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน และเราก็เชื่อว่าคนเล่นเกมจะไม่มีวันเบื่อเนื้อเรื่องนี้อย่างแน่นอน

Resident Evil 
The Last of Us

ก็จบกันไปแล้วกับ 20 แนวเรื่องที่นักพัฒนาเกมชอบใช้ซ้ำ ๆ กันในวิดีโอเกม ที่คนซึ่งเล่นเกมมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัย Famicom ขึ้นมา คงจะเห็นแนวเรื่องที่ซ้ำกันแบบนี้ออกมาเรื่อย ๆ จนเป็นเรื่องปกติ แต่ในแนวเรื่องที่ซ้ำกันนั้นเรากลับได้เห็นเรื่องราวใหม่ ๆ ที่นักพัฒนาหยิบมาใส่ จนเราคนเล่นเองที่ได้กำไร เพราะในทุกครั้งที่เกมใหม่ ๆ วางจำหน่ายเราก็จะได้เห็นเรื่องราวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ จนเราที่แม้จะบ่นว่า Mario ไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกจับอีกแล้ว แต่ในเรื่องราวที่เจ้าหญิงถูกจับไปแต่ละภาคนั้นกลับมีเนื้อหาที่สนุกและไม่เคยซ้ำกันเลย เพราะแบบนั้นเราคนเล่นจึงไม่เคยเบื่อที่จะเล่นเกมแม้จะใช้แนวทางเดิม ๆ และถ้าใครค้นพบโครงเรื่องที่ใช้ซ้ำแบบไหนอีกก็บอกกันมาได้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส