สำหรับคนที่อยู่ในวงการเกมมานาน น่าจะทราบดีว่าในหนึ่งเกมนั้นนอกจากเนื้อเรื่องที่ดีกราฟิกที่สวยงามแล้ว สิ่งที่ขาดไปไม่ได้อีกหนึ่งอย่างนั่นคือระบบการเล่น ที่เรียกว่าเป็นหัวใจหลักของเกมได้เลย เพราะบางเกมนั้นถึงจะมีเนื้อเรื่องที่ดีกราฟิกที่สวย แต่ระบบการเล่นซ้ำซากไม่สนุกก็ทำให้เกมนั้นไม่ได้รับความนิยมจนกระทบถึงยอดขาย แต่กับบางเกมที่ไม่มีแม้แต่เนื้อเรื่องหรือกราฟิกที่สวย แต่ระบบการเล่นดีก็ทำให้เกมได้รับคำชมไปจนถึงยอดขายที่ดีได้ด้วย ซึ่งบางระบบเกมนั้นถ้าไม่นับการอ้างอิงหรือได้แรงบันดาลใจมาจากเกมอื่น เราก็จะได้เห็นระบบเกมแปลก ๆ ออกมาอยู่เสมอ และบางระบบนั้นก็มีความแปลกใหม่จนทำให้เกิดเกมแนวใหม่ขึ้นมาเลยก็มี วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีระบบเกมแปลก ๆ ที่น่าสนใจเกมไหนที่คนเล่นเกมชื่นชอบบ้างมาดูพร้อมกันเลย
จับตัวละครมาสู้โดยไม่มีพลังชีวิต จากเกม Super Smash Bros
เริ่มต้นเกมแรกกับแนวคิดสุดแปลกที่ค่ายเกมยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Nintendo’ ทำออกมา กับการทำเกมต่อสู้ที่สามารถเล่นพร้อมกันได้หลายคนในฉากขนาดเล็ก ที่ตัวเกมจะไม่มีแถบพลังชีวิตเพื่อบอกเราว่าจะล้มอีกฝ่ายได้ตอนไหนเหมือนเกมทั่ว แต่เกมจะเน้นที่การทำให้ศัตรูตกฉากแทน เกมนั้นก็คือ ‘Super Smash Bros’ เกมต่อสู้สุดสนุกหนึ่งในเกมหัวเรือใหญ่ของ ‘Nintendo’ ที่วางจำหน่ายครั้งแรกบนเครื่อง ‘Nintendo 64’ ในปี 1999 ตัวเกมรองรับผู้เล่นพร้อมกันได้ 4 คน ที่นับว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก ๆ ในยุคที่การเล่นเกมออนไลน์เป็นอะไรที่ไกลตัว ซึ่งในตอนแรกตัวเกมจะมีตัวละครเพียง 12 คนกับระบบการเล่นที่เราจะต้องทำทุกทางให้ผู้เล่นคนอื่นตกลงไปจากเวที โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ยิ่งมากตัวเราก็ยิ่งเบาจนสามารถโดนเตะต่อยกระเด็นไปไกล ซึ่งแต่ละตัวละครก็จะมีน้ำหนักมากน้อยต่างกัน แต่ก็ถูกชดเชยข้อดีข้อเสียในการต่อสู้ จึงทำให้ทุกตัวละครมีความหลากหลาย และที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างคือระบบไอเทมที่ใช้ในการแกล้งกันในฉาก กับปุ่มที่ใช้ควบคุมเพียงไม่กี่ปุ่มกับท่วงท่าตามต้นฉบับเกมที่ตัวละครเหล่านั้นมา เรียกว่าเปิดตัวมาก็โด่งดังทันทีจนทำให้มีภาคต่อและเกมอื่น ๆ เอาไปทำตามมากมาย ตัวเกมเหมาะเอาไว้เล่นกับเพื่อน ๆ ยิ่งสนุก
ความน่ากลัวของความไม่รู้ เกมซีรีส์ Resident Evil
คุณว่าจุดเด่นที่แท้จริงของเกม ‘Resident Evil’ คืออะไร กราฟิกที่สวยงาม เนื้อเรื่อง ความน่ากลัวสยองขวัญหรือตัวละครที่เราคุ้นเคย ทุกสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงองค์ประกอบรองที่เป็นส่วนเสริมที่ทำให้เกม ‘Resident Evil’ สนุกน่าสนใจ แต่แก่นที่แท้จริงของ ‘Resident Evil’ คือการไม่รู้ ซึ่งคำว่าไม่รู้ในที่นี้หมายถึงเราที่เป็นคนเล่นไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเกม เราจะได้ไปที่ไหนเจอกับอะไรข้างหน้าบ้าง ยกตัวอย่าง ‘Resident Evil’ ภาคแรกที่เราจะได้เล่นเป็นหน่วยพิเศษที่มาสำรวจป่าเพื่อตามหาหน่วยแรกที่ขาดการติดต่อ ก่อนจะเจอตัวประหลาดฆ่าเพื่อนร่วมทีมจนทุกคนหนีมาที่คฤหาสน์กลางป่า ขณะที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ก็หายไปหมด นั่นคือความไม่รู้แรกของผู้เล่นที่เกมสร้างความกลัวให้เรา ซึ่ง ‘Resident Evil’ ก็ทำแบบนี้เรื่อยมาแต่อาจจะทำน้อยลงใน ‘Resident Evil 5’ และ 6 เพราะตัวเกมกลับบอกคนเล่นทุกอย่างจนหมดก่อนเล่น จนเรารู้เลยว่าจะเกิดอะไรจนเกมขาดจุดเด่นของความไม่รู้ไป ต่างกับ ‘Resident Evil 7’ ที่ตัวเกมกลับมาที่ความไม่รู้เหมือนเดิมอย่างภาคแรก คุณจำได้ไหมว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นครอบครัวตัวประหลาดกำลังนั่งร่วมโต๊ะอาหาร คุณไม่รู้เลยว่าพวกเขาคือใคร แล้วเราจะต้องไปทำอะไร แล้วจะหนีออกมาทางไหน เนื้อเรื่องจะเป็นอย่างไร นั่นคือความไม่รู้ที่ ‘Resident Evil’ มี และนั่นคือความกลัวที่มนุษย์เราไม่ชอบแต่อยากรู้นั่นเอง
เดินวนไปมาใน ในเกม P.T.
ยังอยู่ที่เกมแนวสยองขวัญที่นอกจากความไม่รู้ ซึ่งเกม ‘P.T.’ ของ ฮิเดโอะ โคจิมะ (Hideo Kojima) ก็มีสิ่งนี้เหมือนที่ ‘Resident Evil’ มี แต่สิ่งที่เขาได้เพิ่มมาอีกอย่างที่เกม ‘Resident Evil 7’ ไม่มีนั่นคือความเงียบที่เรียกว่าเงียบสนิท ชนิดที่เราจะได้ยินเพียงเสียงฝีเท้าที่เดินและเสียงแปลก ๆ ที่ดังขึ้นมาเป็นระยะเพื่อกระตุ้นความกลัวของเรา ที่บวกกับความไม่รู้เข้าไปก็ยิ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับคนเล่น และจุดเด่นของเกม ‘P.T.’ ก็คือการเดินวนเป็นวงกลมในฉากเดิม ๆ ที่ทุกครั้งเมื่อเราเปิดประตูที่สุดทางเราก็จะมาเริ่มต้นใหม่ที่เดิมจากที่เราเดินมา และเมื่อเราหันหลังกลับไปที่ประตูต้นทางเราก็จะไปก็จะเปิดมาอยู่ที่เดิม แต่ทุกครั้งที่เราเดินไปข้างหน้าเราก็จะได้พบสิ่งใหม่ ๆ เช่นจู่ ๆ ก็มีประตูตรงจุดที่ไม่น่าจะมี ไปจนถึงสภาพฉากที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปพร้อมข้อมูลที่บอกคนเล่นให้รับรู้ว่าที่นี้เกิดอะไรขึ้น พร้อมกับความหลอนที่ค่อย ๆ ใส่เข้ามาในทุกครั้งที่เราเดินผ่านมา และทุกครั้งที่เราเลี้ยวที่หัวมุมหรือเปิดประตูไปจนถึงได้ยินเสียงแปลก ๆ เราก็จะกลัวจนไม่อยากเดินต่อ นับเป็นการเล่นกับความกลัวของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้ามองจริง ๆ ตัวเกมก็แค่เดินวนไปวนมาในฉากเดิมแท้ ๆ แต่ด้วยระบบง่าย ๆ เพียงเท่านี้แต่กลับสร้างตำนานความสยองในวงการเกมได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
เนื้อเรื่องที่ซับซ้อนกินใจ เกมซีรีส์ Metal Gear
ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 1987 ในยุคที่เครื่องเกมยังเป็นแบบตลับเกม 8Bit ที่แทบจะแสดงผลกราฟิกอะไรมากไม่ได้ ตัวเกมในยุคนั้นจึงเลือกที่จะทำเกมที่มีเนื้อหาง่าย ๆ เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน เพียงแค่ตัวเอกคนหนึ่งเดินทางไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกจับ ไม่ก็เกมยานยิงไปจนถึงเกมแอ็กชันง่าย ๆ ที่ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน แต่เกม ‘Metal Gear’ กลับคิดต่างออกไป เพราะเกม ‘Metal Gear’ ที่วางจำหน่ายออกมานั้นกลับมีระบบการเล่นที่ไม่เน้นการยิงต่อสู้ แต่จะเน้นที่การแอบซ่อนเพื่อทำภารกิจกับเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนกินใจ จนแตกต่างกับเกมอื่น ๆ ในตลาดตอนนั้น หรือถ้าคุณคิดภาพไม่ออกให้นึกถึงเกมในยุค ‘Famicom’ แต่กลับมีเนื้อเรื่องระบบการเล่นที่เหมือนเกม ‘Metal Gear’ ภาคใหม่ที่เราได้เล่นตอนนี้ คิดดูว่ามันจะแปลกแหวกแนวขนาดไหนในยุคนั้น ซึ่งส่วนนี้จะเรียกว่าเป็นระบบการเล่นก็ได้เพราะในยุคนั้นเกมที่ใช้เนื้อเรื่องซับซ้อนแบบนี้กลับมีน้อยมาก ขนาดเกมภาษาที่เน้นเนื้อเรื่องอย่าง ‘Dragon Quest’ ยังไม่มีเนื้อเรื่องซับซ้อนเท่า ‘Metal Gear’ ภาคนี้เลย ใครที่อยากรู้ว่าเกมนี้มีเนื้อเรื่องซับซ้อนขนาดไหนก็ไปหาเกมทั้งสองภาคมาเล่นดู เสร็จแล้วก็ไปเล่น ‘Metal Gear Solid’ บน ‘PlayStation 1’ ต่อเพราะเนื้อเรื่องจะเชื่อมต่อกัน หรือไม่ก็ลองไปค้นหาเกมในปี 1987 มาดูจะรู้ว่าทำไมเกมนี้ถึงโดดเด่นและแตกต่างจากเกมอื่น
ไม่ต้องเห็นตัวละครแค่มือกับปืนก็พอ จากเกม Doom
เมื่อพูดถึงเกมเดินยิงมุมมองบุคคลที่ 1 ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘First Person’ ที่เราจะไม่ได้เห็นตัวละครในเกมแต่จะเห็นเพียงฉากที่อยู่ตรงหน้า ตามมุมมองสายตาที่ตัวละครเห็น ซึ่งเกมแนวมุมมองบุคคลที่ 1 นั้นมีมานานแล้วตั้งแต่วิดีโอเกมยุคแรก ๆ ถือกำเนิด แต่เกมที่ทำให้แนวมุมมองบุคคลที่ 1 นี้เป็นที่นิยมจนถูกสานต่อมาในเกมแนวยิงเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ ก็คงต้องยกให้เกมในซีรีส์ ‘Doom’ ที่เป็นการเปลี่ยนตัวเกมแอ็กชันที่เน้นเห็นตัวละครไล่ยิ่งศัตรูในเกม มาเป็นใครก็ไม่รู้ที่ต้องควงปืนไปยิงสัตว์ประหลาดในนรก กับระบบการเล่นที่แปลกใหม่ในยุคนั้น ที่เกมมุมมองบุคคลที่ 1 มักจะใช้ในเกมแนวสยองขวัญมากกว่า แต่เกม ‘Doom’ กลับเอาระบบนี้มาใส่ในเกมยิงที่เราไม่ต้องรู้หรอกว่าตัวละครที่เราควบคุมคือใครชื่ออะไร รู้แต่เพียงว่าเขามีภารกิจในการกำจัดปีศาจทุกตัวที่เห็นจนหมดด้วยปืนของเขา ซึ่งหลังจากที่ซีรีส์ ‘Doom’ โด่งดังก็มีเกมแนวมุมมองบุคคลที่ 1 ออกมาอีกมากมาย จนกลายเป็นบรรทัดฐานในเกมแนวยิงรุ่นน้องเรื่อยมาจนถึงตอนนี้
จับคนมาฆ่ากันเอง PUBG
อีกหนึ่งระบบเกมที่แปลกใหม่มาก ๆ ในตอนที่เกม ‘PlayerUnknown’s Battlegrounds’ หรือ ‘PUBG’ ปล่อยออกมาให้เราเล่น กับแนวคิดที่ว่าถ้าเราปล่อยผู้เล่น 100 คนลงไปในฉากขนาดใหญ่ แล้วให้พวกเขาไปหาอาวุธชุดเกราะกันเองในฉากจะน่าสนใจขนาดไหน โดยอ้างอิงเรื่องราวมาจากภาพยนตร์และการ์ตูนเรื่อง ‘Battle Royale’ ที่ทางทีมพัฒนายืมมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเกม ที่เมื่อตัวเกมปล่อยออกมาก็เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้เล่นเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากฝีมือที่ต้องมีแล้วเราต้องมีดวงในการเจอสิ่งต่าง ๆ ด้วย และทุกครั้งที่ได้ยินเสียงปืนในเกมเราจะมีความรู้สึกสองอย่างคือไม่วิ่งหนีก็สู้ ตัวเกมค่อนข้างให้อิสระกับเราว่าจะเป็นสายลุยแหลกหรือสายแอบซ่อนจนจบเกม ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นสายไหนสุดท้ายวงฟ้าก็จะบีบให้ทุกคนมาเจอกัน เพื่อหาคนกินไก่เป็นคนสุดท้าย และด้วยแนวทางที่น่าสนใจนี้เอง จึงทำให้หลายเกมหยิบยืมระบบนี้ไปใช้บ้างจนเกิดเป็นเกมแนวนี้ออกมามากมายในตลาด
อยากเก่งเร็ว ๆ ไหมเงินซิ เกมแนว Pay to Win
อีกหนึ่งระบบเกมยอดนิยมที่ตอนนี้อาจจะมีน้อยลงในวงการเกม(แต่ก็ยังมีอยู่) กับการเติมเงินเพื่อให้ตัวละครที่เราเล่นเก่งขึ้น ที่เรียกระบบนี้ว่า ‘Pay to Win’ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าการที่คุณจะจ่ายเงินเพื่อให้ตัวละครเก่งขึ้นโดยที่ไม่ต้องเล่นเยอะนั้น จะเรียกว่าเป็นการโกงผู้เล่นคนอื่นหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับตัวผู้เล่นและตัวเกมที่รองรับ ซึ่งถ้าคุณเป็นคนที่ไม่เติมเงินแต่อยากเล่นเกมนี้ แต่สุดท้ายคุณต้องมาแพ้คนที่เติมเงินแล้วเก่ง คุณก็ต้องทำใจยอมรับในเรื่องนี้เพราะมันคือส่วนหนึ่งของระบบเกม ซึ่งในช่วงหนึ่งระบบ ‘Pay to Win’ เป็นที่นิยมมาก ๆ โดยเฉพาะในเกมฟรีที่ให้เราโหลดเล่นไปเรื่อย ๆ เราจะเจอฉากที่ยากต่อการผ่าน ซึ่งถ้าอยากผ่านก็เพียงแค่เติมเงินคุณก็จะได้ค่าพลังที่มากพอจะผ่านด่านนั้นได้ แต่ถ้าไม่ซื้อก็ต้องทนเก็บค่าพลังยาว ๆ หรือหนักหน่อยก็คือเกมที่ต้องแข่งกับคนอื่นที่คนเติมเกมจะเก่งกว่าคนที่เล่นปกติ ซึ่งระบบนี้เป็นที่ยอมรับและชื่นชอบในกลุ่มคนที่ชอบเล่นเกมแต่ไม่มีเวลา หรือคนที่อยากอยู่เหนือคนอื่นซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดตราบเท่าที่ตัวเกมอนุญาตให้มีระบบนี้ในเกม และคุณที่เป็นคนตัดสินใจเล่นเกมนี้เองก็ต้องยอมรับชะตากรรมนี้ไป
สาวสวยอกโตลุยสุสาน เกมซีรีส์ Tomb Raider
ย้อนกลับไปในสมัยเครื่อง ‘PlayStation 1’ ยุคที่เกมแนวกราฟิก 3D กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักพัฒนาเกม เราก็ได้เห็นเกมต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมายทั้งเกมต่อสู้แนว 3D ไปจนถึงเกมสยองขวัญเกมแนวสายลับ ไปจนถึงเกมแอ็กชันที่ส่วนมากจะเน้นไปที่การเตะต่อยผ่านด่านไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ไม่มีค่อยมีอะไรที่โดดเด่น จนเกม ‘Tomb Raider’ ถูกปล่อยออกมาก็สร้างกระแสให้วงการเกมคึกคักขึ้นมาทันที กับการใช้ตัวละครสาวสวยอกโตมาเป็นตัวเอกในเกมแอ็กชัน ที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนมันก็ช่างไม่เข้ากัน แถมตัวเกม ‘Tomb Raider’ ยังไม่ใช่เกมแอ็กชันเดินหน้ายิงแหลกแบบเกมอื่น ๆ แต่ ‘Tomb Raider’ จะเน้นที่การแก้ไขปริศนาหยิบตรงนั้นมาใส่ตรงนี้หรือหาจุดเปิดประตูเพื่อหาทางไปต่อ กับการบุกสุสานโบราณที่เต็มไปด้วยอันตราย ที่เรียกว่าแปลกใหม่ทั้งตัวละครและตัวเกมที่ทำออกมาได้อย่างลงตัว จนคนเล่นอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งมีน้อยเกมในยุคนั้นรวมถึงยุคนี้ด้วยจะทำได้แบบเกม ‘Tomb Raider’ นี้ได้ ใครสนใจลองไปหามาเล่นดูแล้วคุณจะรู้ว่าทำไมคนในอดีตถึงชอบเกมนี้
ระบบความยากทะลุนรก เกมซีรีส์ Souls
เมื่อพูดถึงความยากในวงการเกมนั้น จริง ๆ มันมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยก่อนเครื่องเกม ‘Famicom’ เสียอีก โดยความยากของเกมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น เพื่อให้ผู้เล่นเกมอยู่กับเกมนั้น ๆ ได้นานที่สุด เพราะตัวเกมจริง ๆ แล้วมันสั้นมาก ๆ ที่สามารถจบได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ทางทีมพัฒนายุคนั้นจึงใส่ความยากลงไปทดแทน แต่ในยุคถัดมาตัวเกมมีความยาวมากขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องเอาความยากมาเป็นตัวดึงคนเล่น และตรงข้ามถ้าเกมยากไปคนจะไม่เล่นเสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับคนที่อยากเล่นแบบยากตัวเกมก็จะมีการปรับได้ตั้งแต่ที่หน้าเมนู ซึ่งทุกเกมก็ทำแบบนั้นเรื่อยมาจนมาถึงของเกมซีรีส์ ‘Souls’ ที่เปิดมาพร้อมกับความยากที่สุดและไม่สามารถปรับความยากได้ นั่นก็หมายความว่าทุกคนจะได้เล่นเกมในระดับความยากเดียวกันหมด และแทนที่จะมีคนต่อว่าตัวเกมที่ยากโหดหินกลับกลายเป็นเรื่องดีและคนชื่นชอบไปเสียอย่างนั้น เพราะเมื่อเกมมันยากก็จะเกิดกลุ่มคนที่อยากลองอยากเอาชนะเกม แต่มันก็มีข้อเสียตรงที่ผู้เล่นหน้าใหม่หรือเล่นเกมไม่เก่งจะเข้าไม่ถึง แต่จะเป็นแบบนั้นยอดขายเกมในซีรีส์ ‘Souls’ กลับไม่ลดลงเลย แถมยังมีเกมใหม่ที่ใช้ความยากแบบนี้ออกมาอีกมากมาย เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนที่ถูกที่ถูกทางจริง ๆ
ยืมพลังศัตรูมาใช้ จากเกม Rockman
หนึ่งในความสนุกของเกมแอ็กชันในยุคอดีต คือการได้ควบคุมตัวละครให้เดินไปข้างหน้าเพื่อกำจัดศัตรูที่มาขวางทาง เพื่อไปเจอหัวหน้าประจำด่านที่รออยู่ปลายทาง จนสามารถผ่านหัวหน้าไปได้เราก็จะเข้าสู่ด่านใหม่ ตัวละครฝ่ายร้ายตัวใหม่แบบนี้เรื่อย ๆ ซึ่งหลายเกมในยุคอดีตเลือกวิธีนี้ และส่วนมากคนที่เล่นเกมแนวนี้ก็จะพาลเบื่อไปเสียก่อน เพราะตัวเกมจะวนไปวนมาอยู่เท่านี้ จนเมื่อเกมซีรีส์ ‘Rockman’ ออกมาก็ได้เปลี่ยนแนวทางของเกมแอ็กชันไปเลย เพราะเกม ‘Rockman’ จะไม่ใช่แค่เกมแนวผ่านด่านแบบเกมทั่วไป แต่เราสามารถเลือกด่านที่จะไปได้อย่างอิสระ แถมยังรู้ด้วยว่าปลายทางเราจะได้เจอกับหัวหน้าตัวไหน ซึ่งถ้าตัวเกมมีเท่านี้เกมซีรีส์ ‘Rockman’ คงจะไม่มาถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ทำให้เกม ‘Rockman’ โดดเด่นคือระบบการยืมพลังจากหัวหน้าที่เราชนะมาใช้ ซึ่งเราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครที่ยิ่งเล่นเราก็ยิ่งเก่งขึ้น จนผู้เล่นรู้สึกได้ถึงความเก่งในตัวเองระหว่างเล่น แถมพลังที่เรามียังสามารถเอาชนะหัวหน้าตัวอื่นที่แพ้ทางกันได้ด้วย ยิ่งเพิ่มความสนุกน่าสนใจให้เกมมากขึ้น แถมเนื้อเรื่องการออกแบบตัวละครรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ในเกมก็ลงตัว เมื่อเทียบกับเกมอื่น ๆ ในยุคนั้น จนหลายเกมได้หยิบยืมระบบนี้มาใช้ นับเป็นแนวคิดที่แปลกใหม่ไม่จำเจที่คนเล่นเองก็ชื่นชอบ แม้ในยุคนี้ระบบนี้มันจะดูเก่าไปแล้วก็ตาม
บ้านไร่ชายทุ่ง จากเกม Stardew Valley
เชื่อว่าหลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าระบบการเล่นแบบบ้านไร่ชายทุ่งทำสวนจีบสาวสร้างบ้านในเกม ‘Stardew Valley’ ไม่ใช่ระบบใหม่ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมา แต่มันมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยเกม ‘Harvest Moon’ ที่ใช้ระบบการเล่นที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้เกม ‘Stardew Valley’ มาอยู่ในบทความนี้ก็เพราะตัวเกมมาได้ถูกที่ถูกเวลา เพราะในช่วงที่เกมนี้ปล่อยออกมาในตลาด ก็ไม่มีเกมแนวทำไร่ปลูกผักทำสวนแบบนี้มานานมากแล้ว(นับได้เป็น 10 ปี) จึงไม่แปลกที่เมื่อมีคนเอาระบบการเล่นแบบนี้มาทำเป็นเกมจะโด่งดังขึ้นมาได้ และความโดดเด่นของระบบเกมแนวนี้คือความเรียบง่าย ที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับใครหรืออะไร เราแค่ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่มีอะไรมาบังคับหรือสั่งให้เราต้องเป็นแบบนั้นทำแบบนี้ แถมตัวเกมก็เล่นได้เรื่อย ๆ สบาย ๆ เพราะเราสามารถสร้างครอบครัวมีลูกไปจนถึงการปลูกบ้านไปเดินเล่นซื้อของคุยกับชาวบ้าน ที่เป็นระบบที่เรียบง่ายแต่สนุกเมื่อเทียบกับ ‘Harvest Moon’ ที่แม้จะเป็นแนวเดียวกันแต่กลับมีข้อจำกัดและหลายอย่างที่ไม่ให้อิสระกับเรา ดังนั้นถ้าจะเล่นแนะนำให้เล่น ‘Stardew Valley’ จะเหมาะกับรูปแบบของคนเล่นเกมอย่างเราในยุคนี้มากกว่า
เปลี่ยนเกมแข่งรถธรรมดาให้เป็นเกมแข่งรถสุดสนุก จากเกม Super Mario Kart
ปิดท้ายกับการชื่นชมที่ทาง ‘Nintendo’ กล้าที่จะเปลี่ยนเพื่อความแตกต่าง กับการยกเครื่องเกมแนวแข่งรถ จากเดิมที่เป็นแค่เกมรวมตัวละครในค่ายเกมตัวเองมาแข่งรถ โดยการเอาตัวละครจากเกมต่าง ๆ มาเป็นจุดขาย แต่เกมในซีรีส์ ‘Mario Kart’ กลับไม่ได้มาเพียงแค่นั้น เพราะตัวเกมภาคแรกสุดของซีรีส์ ‘Mario Kart’ อย่าง ‘Super Mario Kart’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Super Famicom’ ก็ได้เพิ่มเติมหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจลงไป ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมที่ลื่นไหลกับสนามแข่งที่ถูกออกแบบมาได้สวยงามแถมยังเล่นสนุก และจุดขายสำคัญของเกมซีรีส์นี้ก็คือการเก็บไอเทมเพื่อแกล้งเพื่อน ที่ยิ่งคุณอยู่ท้ายของกลุ่มเท่าใดคุณยิ่งมีโอกาสได้ไอเทมดี ๆ ในการพลิกกลับมาเอาชนะได้ จนคนที่อยู่อันดับหนึ่งในรอบแรกอาจจะมาอยู่อันดับสุดท้ายก็ได้เมื่อจบเกม ซึ่งนั่นคือความสนุกและน่าสนใจที่ทาง ‘Nintendo’ สร้างขึ้นมา จนมีหลายเกมหยิบในส่วนนี้ไปพัฒนาตาม ซึ่งมีน้อยเกมมาก ๆ ที่จะทำได้เท่ากับ ‘Mario Kart’ ที่ไม่ว่าคุณจะหยิบภาคไหนของซีรีส์ ‘Mario Kart’ มาเล่นคุณจะได้รับความสนุกเหมือนกันหมดอย่างไม่น่าเชื่อ ใครที่ไม่เคยเล่นลองไปหามาเล่นดูแล้วจะรู้ว่าเกมแข่งรถที่สนุกนั้นมีอยู่จริง
ก็จบกันไปแล้วกับ 11 เกมกับอีก 1 ระบบการเล่นสุดแปลกในวงการเกมที่เราหยิบยกมานำเสนอหวังว่าจะถูกใจกัน ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าใครที่อยู่วงการเกมมานานจะทราบดีว่าระบบพวกนี้คือสิ่งพื้นฐานที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว จนคนเล่นเกมหลายคนอาจจะมองว่ามันไม่ใช่ระบบที่แปลกอะไร แต่ถ้ามองในมุมของคนที่ไม่ค่อยได้เล่นเกม ระบบต่าง ๆ ที่เรากล่าวมานั้นจะดูแปลกไปในทันที ซึ่งเอาจริง ๆ ระบบเกมที่แปลกแบบแปลกไปเลยก็มี แต่เกมเหล่านั้นจะไม่ค่อยได้รับความนิยมจนเราไม่ได้หยิบมาพูดถึง และถ้าใครมีระบบการเล่นหรือจุดขายซึ่งเป็นที่นิยมเกมไหนอีกก็บอกกันมาได้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส