เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกทั้งชอบและไม่ชอบ ที่เป็นเหมือนเส้นคั่นบาง ๆ ระหว่างการเดินหน้าไปพบความท้าทายและหาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต ที่ถ้าโชคดีก็จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะเจ็บตัวเสียเวลาเสียความรู้สึก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร กับการอยู่กับที่ในโซนที่ปลอดภัยไม่ออกไปเสี่ยง อยู่กับสิ่งที่ตัวเองมีและเก็บเกี่ยวสิ่งนั้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องเสี่ยงและได้แน่นอน ซึ่งในวงการเกมก็มีทั้งสองประเภทนี้อยู่ ทั้งเกมที่หากินกับของเดิม ๆ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยน(เปลี่ยนแต่น้อย) กับประเภทที่ทีมพัฒนากล้าเปลี่ยนกล้าลองอะไรใหม่ ๆ ที่อาจจะมีพลาดบ้างดีบ้างปน ๆ กันไป เรามาดูกันว่ามีเกมอะไรที่กล้าเสี่ยงจนได้ดีกับเกมที่ไม่กล้าเสี่ยงจนย่ำกับที่ ถ้าพร้อมแล้วก็มาเปิดทีวีดูเรื่องราวในวงการเกมเรื่องนี้ไปด้วยกันเลย
ซีรีส์เกมที่ย่ำอยู่กับที่สุดท้ายก็ตายสนิท
Dead Rising
เริ่มต้นเกมแรกกับเกมที่ย่ำอยู่กับที่ซึ่งสุดท้ายก็ตายสนิท กับซีรีส์เกมต่อสู้เอาชีวิตรอดในฝูงซอมบี้นับพันอย่าง ‘Dead Rising’ เกมที่เปิดตัวภาคแรกในปี 2006 กับเรื่องราวที่เราจะได้รับบทเป็น แฟรงค์ เวสต์ (Frank West) นักข่าวที่บังเอิญไปเจอเมืองที่เกิดเหตุซอมบี้ไล่กินคน จนไปถึงห้างสรรพสินค้าในรัฐโคโลราโด แฟรงค์จึงกระโดดลงไปเพื่อไปทำข่าวและบอกให้เพื่อนมารับในอีกสามวัน จนเหล่าซอมบี้สามารถเข้ามาในห้างได้ แฟรงค์ที่เป็นคนดีจึงต้องออกไปช่วยผู้คนในห้างมาหลบในที่ปลอดภัย ตัวเกมเปิดมาด้วยระบบการเล่นที่แปลกใหม่ เพราะเราจะได้เจอซอมบี้นับพันตัวในเกมที่ขวางทาง ซึ่งเราสามารถหยิบจับทุกอย่าง(ย่ำว่าทุกอย่าง) มาเป็นอาวุธในการต่อสู้กับเหล่าซอมบี้ได้ ตัวเกมมีรูปแบบ ‘Open World’ กับห้างขนาดใหญ่ แต่เราจะมัวแต่เดินเล่นไม่ได้เพราะเกมมีเวลาจำกัดแค่ 3 วันในการทำภารกิจ ทุกอย่างจึงต้องแข่งกับเวลา ตัวเกมมีระบบการเล่นที่ดีเนื้อเรื่องที่สนุกความยากที่พอดี พอมาภาค 2 ตัวเกมก็เพิ่มระบบผสมอาวุธเช่นมีดทำครัวผสมกับนวมชกมวยเป็นกรงเล็บ และอีกหลายอย่างที่เอามาผสมจนเป็นอาวุธทำลายล้าง ซึ่งนั่นก็คือจุดสูงสุดของซีรีส์นี้แล้ว เพราะในภาค 3 และ 4 ตัวเกมก็ย่ำอยู่กับที่เดิมระบบเดิม ขนาดแฟนเก่าที่ชอบซีรีส์นี้ยังเริ่มเบื่อกับระบบที่ไม่พัฒนาจากเดิม จนสุดท้ายเกมซีรีส์ ‘Dead Rising’ ก็ระเบิดตัวเองตายในภาคที่ 4 ที่ถ้าใครได้เล่นจะทราบดีว่าตัวเกมยังทำไม่เสร็จแต่ออกมาวางขายอีกด้วย เป็นการตอกย้ำซีรีส์นี้ให้ลงดิ่งลงไปอีก
Tomb Raider
มาต่อกันที่ซีรีส์เกมที่เรียกว่ามีโอกาสถึง 2 ครั้งในการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่และดีงาม แต่สุดท้ายก็กลับมาเดินซ้ำรอยตัวเองทั้งสองครั้ง กับเกมในซีรีส์เกม ‘Tomb Raider’ ที่เปิดตัวมาในฐานะเกม 3D ที่มีกราฟิกสวยงาม กับการเดินทางไปยังสุสานโบราณที่แค่ด่านแรกเราก็ต้องเจอปริศนาที่ชวนปวดหัวแล้ว จนเมื่อผ่านไปได้เราก็เจอกับไดโนเสาร์ขนาดใหญ่มาไล่ล่า ซึ่งตลอดทั้งเกมนั้นเราต้องคิดว่าจะตลอดว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะบางอย่างปริศนาจะซ่อนจนแทบมองไม่เห็น และเกมก็ไม่มีคำใบ้อะไรบอกเราเลย ตัวเกมได้รับความนิยมอย่างสูงในภาคแรก จนมาถึงภาคที่ 2 ที่ตัวปริศนาก็พัฒนาขึ้นฉากหลากหลายขึ้น จนมาถึงภาค 3 และ 4 ก่อนจะเลิกนับเลขภาคมาเป็นชื่อตอน ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เปลี่ยนแค่กราฟิกแต่ระบบการเล่นการแก้ปริศนาหรือการควบคุมก็ยังคงใช้แบบเดิม จนมาถึงปี 2013 เกมซีรีส์ ‘Tomb Raider’ ก็กลับมาอีกครั้งกับการรีบูทตัวเกมระบบเนื้อหาใหม่ที่ทำให้ตัวเกมสนุกน่าติดตามมากกว่าขึ้น นับเป็นการปลุกผีซีรีส์เกมนี้ให้กลับมา ซึ่งนั่นก็ทำได้ดีงามแค่ภาคเดียวเพราะภาค 2 และ 3 ที่ตามมานั้นกลับไม่สนุกและย่ำรอยที่ภาคแรกทำเกินไปอีกครั้ง ทั้งที่ตัวเองน่าจะฉีกหรือเพิ่มอะไรไปได้มากกว่านี้แล้วแท้ ๆ คงต้องรอดูว่าภาคต่อไปทางทีมพัฒนาจะหาจุดเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่านี้ได้ไหม
Contra
ในกรณีของซีรีส์เกม ‘Contra’ จะเรียกว่าการย่ำอยู่กับที่ก็ไม่เชิงนัก แต่ควรเรียกว่าการวิ่งหนีความสำเร็จของตัวเองไม่ได้ถึงจะถูก เพราะตั้งแต่ที่เกม ‘Contra’ ภาคแรกประสบความเสร็จกลายเป็นหนึ่งในเกมที่แม้แต่คนที่ไม่ได้เล่นเกมยังรู้จังชื่อเกมนี้ ด้วยความสนุกแปลกใหม่แถมยังหลากหลายในการเล่น ที่ตัวเกมทั้งสองภาคทำออกมาได้สมบูรณ์แบบจนเกินไป จึงทำให้ตัวเกมไม่มีจุดที่สามารถพัฒนาได้แล้วนอกจากกราฟิกที่เปลี่ยนจาก 2D มาเป็น 3D แต่ก็ยังคงระบบการเล่นเหมือนเดิม คนเล่นที่ตามเล่นมาก็อาจจะพอใจกับสิ่งนี้ แต่แฟนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาก็คงจะไม่สนใจระบบแบบนี้ที่แค่เดินยิงไปเรื่อย ๆ ขณะที่เกมแนวยิงเกมอื่นก็มีระบบการเล่นที่สนุกกว่าและน่าสนใจกว่าแค่เดิน ๆ ยิง ๆ แบบซีรีส์นี้ จนสุดท้ายแฟนเก่าที่เคยเล่นก็เริ่มทิ้งซีรีส์นี้ ที่ไม่ว่าตัวเกมจะพยายามทำภาคต่อออกมาเท่าใด ก็ไม่สามารถเรียกแฟนเก่าและแฟนใหม่ให้กลับมาได้ แม้จะเอาตัวละครจากภาคแรกมาร่วมในภาคใหม่ก็ตาม เรียกว่ามาถึงจุดสูงสุดและดิ่งตกลงก็ว่าได้
Bloody Roar
แตกต่างแล้วยังไงต่อนั่นคือคำจำกัดความของเกมซีรีส์ ‘Bloody Roar’ ที่ตัวเกมนั้นเปิดมาด้วยความสดใหม่ที่เกมต่อสู้เกมอื่น ๆ ในตอนนั้นไม่มี ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเกมต่อสู้เกมไหนทำตามได้ นั่นคือระบบการแปลงร่างเป็นสัตว์อสูร ที่ทุกตัวละครในเกมจะมีสองร่างในการต่อสู้ นั่นคือร่างมนุษย์ปกติที่จะมีท่าต่อสู้ทั่วไปที่เกมต่อสู้อื่น ๆ มี แต่เมื่อค่าพลังถึงที่เกมกำหนดเราจะสามารถแปลงร่างเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ ที่ท่วงท่าการต่อสู้หรือการทำคอบโบจะเปลี่ยนไปเป็นอีกตัวละคร ซึ่งนั่นคือความสนุกของซีรีส์นี้ที่เมื่อขึ้นภาคใหม่ก็จะมีตัวละครใหม่ ๆ มามากขึ้น กราฟิกสวยขึ้นคอมโบต่าง ๆ มากขึ้นรวมถึงเนื้อเรื่องที่ก็น่าติดตาม แต่แล้วยังไงต่อเพราะเมื่อเกมขึ้นภาคใหม่มาเราก็จะได้เจอระบบการเล่นแบบเดิมนั่นคือการแปลงร่างและสู้ จะดีหน่อยตรงที่ภาพสวยขึ้นมีตัวละครใหม่กับตัวเก่าเพิ่มเข้ามา แถมบางภาคจังหวะการเล่นความสนุกยังสู้ภาคเก่าไม่ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งแฟน ๆ ต่างก็จดจำภาคที่ 2 ของซีรีส์ได้มากที่สุด เพราะภาคนั้นลงตัวทั้งระบบตัวละครท่วงท่ากราฟิก ที่จนถึงตอนนี้ซีรีส์ ‘Bloody Roar’ ก็ยังไม่มีภาคต่อออกมา
Rock Man X
ปิดท้ายกับเกมที่ย่ำอยู่กับไม่ยอมไปไหนจนสุดท้ายก็นิ่งสนิทที่ภาค 8 กับเกมซีรีส์ ‘Rock Man X’ เกมภาคแยกที่เปิดตัวออกมาด้วยความสดใหม่ที่แตกต่างจากซีรีส์ ‘Rock Man’ ที่เราจะได้เล่นเป็น เอ็กซ์ (X) หุ่นในอนาคตที่สานต่อการปกป้องโลกจากรุ่นพี่(เนื้อเรื่องต่อกัน) ตัวเกมจะมีเนื้อเรื่องที่จริงจังเป็นผู้ใหญ่กว่าซีรีส์ ‘Rock Man’ และสิ่งที่ทำให้ซีรีส์ ‘Rock Man X’ โด่งดังคือระบบการเพิ่มพลังจากการสวมชุดเกราะ ที่เราจะเห็นการพัฒนาตัวเองของเอ็กซ์ไปเรื่อย ๆ เช่นหาเกราะขาได้เราก็จะวิ่งเร็วขึ้นหรือลอยตัวในอากาศได้ หรือชุดเกราะปืนก็เพิ่มพลังการยิงไปจนถึงส่วนต่าง ๆ ที่เมื่อรวมครบเราก็จะได้เอ็กซ์ที่สมบูรณ์พร้อมลุยหัวหน้า ซึ่งตัวเกมก็ใช้แนวทางนี้เรื่อยมาจนมาสุดทางที่ภาค 4 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของซีรีส์ เพราะนับจากนั้นเราก็ไม่ต้องมานั่งหาชุดเกราะทีละส่วน แต่เกมจะมีมาให้เราครบชุดเลยพร้อมกับระบบการเล่นที่เป็นแบบเดิมซ้ำไปอีก จะเปลี่ยนแค่กราฟิกมุมกล้องหรือเพิ่มตัวละครลงไปซึ่งไม่ใช่สิ่งที่แฟน ๆ ต้องการ จนสุดท้ายเกมซีรีส์ ‘Rock Man X’ ก็วนอยู่ตรงนี้แม้จะออกภาคขยายภาคแยกออกมา ก็ยังคงเป็นระบบการเล่นแบบเก่าจนคนเล่นเบื่อ ขณะที่ซีรีส์ ‘Rock Man’ ต้นฉบับยังสามารถฉีกตัวเองไปได้ต่อลมหายใจได้อีกหน่อยกับระบบการเล่นแบบใหม่ ว฿.๖ฮ.ณฮกันต่อไปว่า ‘Rock Man X’ เราจะมีภาคต่อที่ต่างจากเดิมได้ไหม
ซีรีส์เกมที่กล้าลองกล้าเปลี่ยนจนได้ดิบได้ดี
Final Fantasy
คราวนี้มาดูเกมที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา จนได้ดิบได้ดีเป็นที่พอใจของแฟน ๆ กันบ้าง กับซีรีส์แรกที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองในทุกภาคที่ออกมา นั่นคือซีรีส์ ‘Final Fantasy’ ที่ถ้าใครซึ่งเป็นแฟนยุคเก่าคงจะทราบดีว่าตัวเกมในซีรีส์ ‘Final Fantasy’ นั้นจะเปลี่ยนแปลงระบบการเล่นไปทุกภาค ที่ในบางภาคก็แทบไม่มีกลิ่นอายความเป็น ‘Final Fantasy’ เลยก็มีจนแฟน ๆ ชมปนแซวว่าถ้าแปะชื่อเป็นเกมใหม่ก็ไม่มีใครรู้ว่านี่คือ ‘Final Fantasy’ แต่ยังไงตัวเกมก็ยังคงเอกลักษณ์ความเป็น ‘Final Fantasy’ อย่างตัวละครที่ชื่อ ซิด (Cid) เหล่ามนตร์เรียกอสูร ไปจนถึงเจ้านกเหลืองหรือเหล่าไอเทมมอนสเตอร์ที่อยู่ในซีรีส์นี้ที่ยังคงมีไว้ เพื่อบอกคนเล่นเกมว่านี่คือเกม ‘Final Fantasy’ จริง ๆ นะ และด้วยความที่ตัวเกมเปลี่ยนแปลงระบบไปทุกภาค จึงทำให้แฟน ๆ ต้องมาศึกษาระบบใหม่ ๆ ในทุกครั้ง ซึ่งแทนที่แฟน ๆ จะบ่นหรือไม่ชอบ ตรงข้ามแฟน ๆ กลับโอเคและรอคอยภาคใหม่ ๆ เสียอย่างนั้น ซึ่งในภาคที่ 16 ที่กำลังพัฒนาตัวเกมก็เปลี่ยนระบบการเล่นใหม่อีกครั้ง คงต้องรอดูว่าคราวนี้เกม ‘Final Fantasy’ จะเดินไปทิศทางไหนต่อไป
Home Sweet Home Survive
เรียกว่าเป็นภาคต่อที่เปลี่ยนแนวทางตัวเองไปเป็นเกมอีกแนวได้อย่างลงตัว กับเกม ‘Home Sweet Home’ ที่ถ้าใครที่เคยเล่นเกมซีรีส์ ‘Home Sweet Home’ ทั้ง 3 ตอนมาก่อนจะทราบดีว่าตัวเกมนั้นจะเป็นแนวหลอนเอาชีวิตรอด ที่เราต้องแก้ไขปริศนาที่เราก็ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรต่อไป และด้วยความหลอนที่ดีงามแบบไทย ๆ นี่เอง จึงทำให้นักเล่นเกมต่างชาติชื่นชอบและหลงใหลในความเป็นไทย ทั้งบ้านร้างแบบไทย ๆ ผีนางรำไปจนถึงผีไทยตนอื่น ๆ ที่ก็แปลกแหวกแนวน่ากลัวไม่แพ้ผีชาติอื่น จนเมื่อมาถึงภาคต่อทางทีมพัฒนาก็ไม่ยอมย่ำอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ แต่กลับกล้าเปลี่ยนตัวเองมาเป็นแนวออนไลน์ ‘Survival Horror’ รูปแบบของ 4 ต่อ 1 ที่ผู้รอดชีวิตต้องหาทำภารกิจที่เกมกำหนดเพื่อเปิดประตู ขณะที่ฝ่ายหนึ่งคนซึ่งเป็นผีก็ต้องหาทางขัดขวางและฆ่าทุกคน ซึ่งเป็นการฉีกแนวทางที่ดีงามและน่าสนใจ เพราะคนไทยและคนต่างชาติต่างก็ชื่นชอบเกมแนวนี้ แถมเรื่องราวใน ‘Home Sweet Home Survive’ ก็ยังสานต่อกับเนื้อเรื่องหลักอีกด้วย และที่เป็นจุดขายของซีรีส์นี้คือการนำบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการเกมมาเป็นตัวละคร จึงทำให้เรารู้สึกจับต้องและเข้าถึงได้มากกว่าเกมออนไลน์เกมอื่น ๆ ในตลาด นับเป็นการเปลี่ยนที่ถูกต้องจริง ๆ
God of War
จะว่าไปเกมซีรีส์ ‘God of War’ ทุกภาคแม้จะไม่ค่อยมีการพัฒนาในตัวเองนับตั้งแต่ภาคแรกมาจนถึงภาคที่ 3 ของซีรีส์(ระหว่างนั้นก็มีภาคแยกภาคเสริมอีกหลายภาค) ตัวเกมก็ยังคงสนุกและเป็นที่ถูกใจแฟน ๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพัฒนาระบบใหม่ เพราะจุดแข็งของซีรีส์ ‘God of War’ นั้นคือเนื้อเรื่องกับการเล่นที่สนุกถึงใจผู้เล่น ที่นอกจากการต่อสู้ทำคอมโบที่หลากหลายแล้วตัวเกมยังมีการแก้ปริศนาเปิดนั่นใส่นี่ แถมยังมีระบบพัฒนาตัวละครเมื่อเราฆ่าศัตรูได้เราก็จะได้อาวุธของเทพองค์นั้นมาใช้ แต่สุดท้ายทีมพัฒนาก็เลือกจะเปลี่ยนระบบเกมใหม่แบบยกชุด แทนที่จะมานั่งกินบุญเก่าแบบเกมอื่น ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นทางเลือกที่เสี่ยงแต่ได้ผล เพราะเกม ‘God of War’ ภาคใหม่ที่เปลี่ยนระบบแบบมุมมองด้านบนมาเป็นมุมมองด้านหลัง จึงทำให้จังหวะการควบคุมตัวละครต่างออกไปจากภาคก่อน ๆ รวมถึงฉากที่เป็นกึ่ง ๆ ‘Open World’ ก็ทำให้เราได้สัมผัสกับโลกใหม่ในซีรีส์นี้ที่ภาคก่อน ๆ ไม่สามารถทำได้ และนอกจากการเปลี่ยนสองระบบนี้แล้ว ตัวเกมยังเปลี่ยนอาวุธหลักจากที่เป็นดาบโซ่ที่แฟน ๆ คุ้นเคยมาเป็นขวานที่ให้อารมณ์การเล่นแบบใหม่ และที่เป็นจุดขายที่แฟน ๆ ชื่นชอบที่สุดคือระบบคู่หูที่ไม่ได้แค่วิ่งไปมา แต่คู่หูของเรากลับช่วยเราในการต่อสู้ทำคอมโบแถมยังมีปฏิสัมพันธ์กับเราจนรู้สึกผูกพันกับตัวละครไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เคยมีมาเลยในภาคก่อน จนเรียกว่าเป็นคนละเกมได้เลยทีเดียว เรียกว่ากล้ากล้าลองแถมเปลี่ยนได้ดีกว่าเดิมจนแฟน ๆ ต่างนั่งนับวันรอคอยภาคต่อกันแทบไม่ไหว
Super Mario
เรียกว่าจะหยิบจับอะไรก็ดูเป็นเงินเป็นทองไปหมดกับซีรีส์เกม ‘Super Mario’ ที่ถ้านับเกมภาคแรกจริง ๆ ของซีรีส์นี้ ก็ต้องนับที่ ‘Super Mario Bros’ ภาคแรกซึ่งเป็นเกมที่ 3 ของลุงหนวด มาริโอ้ (Mario) ที่มีบทบาทในวงการเกม ซึ่งนับจากวันนั้นตัวของมาริโอ้ก็ไม่ใช่แค่ชื่อเกมภาคต่ออีกต่อไป แต่เขาคือตัวละครที่ประจำค่ายที่เป็นจุดขายให้ ‘Nintendo’ ที่ไม่ว่าจะทำเกมอะไรก็ต้องมีลุงแกไปร่วมด้วย อย่างการเป็นกรรมการในเกม ‘Punch-Out!’ ไปเป็นกรรมการในเกม ‘Tennis’ และอีกหลายต่อหลายเกมที่เอาลุงหนวดไปใส่เพื่อขาย แถมขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนมาถึงเกมในซีรีส์ตัวเองอย่างซีรีส์ ‘Super Mario Bros’ ทาง ‘Nintendo’ ก็กล้าที่จะเปลี่ยนตัวเองจากเกมแนวผ่านด่านไปเรื่อย ๆ มาเป็นการเลือกด่านของผู้เล่นเองในภาคที่ 3 แถมยังมีการพัฒนาระบบกราฟิกและการเล่นใหม่ทุกครั้งในทุกภาค อย่างการขยายร่างจนตัวโตในภาค ‘New Super Mario Bros’ ในปี (2006) การเล่นพร้อมกันหลายคนใน ‘New Super Mario Bros U’ ที่แม้ทุกภาคจะเป็นแนวแอ็กชันลุยไปข้างหน้า แต่ตัวเกมก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมย่ำอยู่กับที่เลยแม้แต่ภาคเดียว นี่ยังไม่นับซีรีส์อื่น ๆ ที่ใช่ชื่อ ‘Mario’ ที่ทุกเกมทุกภาคจะมีการพัฒนาเปลี่ยนไปไปเสมอไม่เคยย่ำอยู่กับความสำเร็จเดิมเลย จนค่ายอื่น ๆ ต่างอิจฉาและพยายามสร้างตัวละครแบบที่แฟน ๆ รักแบบนี้ขึ้นมาบ้าง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทำได้เลยแม้แต่ค่าย ‘Nintendo’ เองก็ตาม
Resident Evil
ปิดท้ายกับเกม ‘Resident Evil’ เกมที่รวบรวมเรื่องราวของทั้ง 9 เกมก่อนหน้านี้เอาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเกมที่เปิดตัวด้วยความแปลกใหม่จนทุกคนสนใจ พอมีภาคต่อออกมาตัวเกมก็ยิ่งสนุกน่าติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกภาค จนสุดท้ายตัวเกมก็เริ่มตันกับระบบและสิ่งที่ตัวเองมีจนคนเล่นเกมเริ่มเบื่อในภาค ‘Code Veronica’ ทางทีมพัฒนาเลยฉีกตัวเองจากเกมแนวสยองขวัญเอาชีวิตรอดมาเป็นเกมแอ็กชันยิงสนั่นแต่ยังคงความสยองขวัญอยู่ จนกลายเป็นแนวทางใหม่ที่ตัวเกมสามารถเดินต่อไปได้ แต่นั่นก็คือข้อเสียเพราะการทำเกมแอ็กชันที่สยองขวัญนั้นมันเป็นไปได้ยาก จนถึงตอนนี้แม้แต่ผู้สร้างเกมเองก็ไม่สามารถสร้างเกมแบบนี้ได้อีกเลย จนกลายเป็นว่าตัวเกมซีรีส์ ‘Resident Evil’ ก็ตันอยู่กับสิ่งที่ตัวเองมีอีกครั้ง ซึ่งทาง ‘Capcom’ ที่เสียดายระบบการเล่นแบบเก่าก็ทำภาคแยกอย่างซีรีส์ ‘Revelations’ ขึ้นมา และใช้ระบบแอ็กชันในภาคหลัก ที่ทางทีมพัฒนาก็เอาบุญเก่าที่เคยมีทั้งความสยองขวัญแอ็กชัน การไล่ล่าที่เคยได้รับความนิยมในภาค 3 กลับมาหากินซ้ำในภาคที่ 6 จนโดนด่าเละเป็นโจ๊กบูดคาถุง ก่อนที่ในภาคที่ 7 ทางทีมพัฒนาก็เริ่มขอเสี่ยงกับการเปลี่ยนตัวเกม ‘Resident Evil’ ให้เป็นแนวสยองขวัญแต่เป็นมุมมองบุคคลที่ 1 พร้อมเปลี่ยนตัวละครตัวเอกใหม่กับเรื่องราวที่เล็กลง ซึ่งตอนนั้นทางทีมพัฒนาต่างหลับตาและลุ้นจนหัวใจแทบหยุดเต้นเมื่อเกมวางจำหน่าย ซึ่งมันกลับเป็นไปได้ด้วยดีเสียอย่างนั้นจนเราได้เห็น ‘Resident Evil Village’ ภาคต่อที่ยอดเยี่ยมทั้งยอดขายและคำวิจารณ์จากแฟน ๆ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลและคุ้มค่าจริง ๆ จนเราอยากรู้ว่าภาคต่อไปซีรีส์ ‘Resident Evil’ จะเดินไปทางไหนแบบใดต่อไป
ก็จบกันไปแล้วกับ 5 เกมอยู่กับที่สุดท้ายก็ตายสนิทในวงการเกม กับ 5 เกมที่กล้าลองกล้าเปลี่ยนจนได้ดิบได้ดี ที่เมื่อเอาเรื่องนี้มาเทียบกับชีวิตคนเรามันก็เหมือนกัน เพราะในสังคมก็มีคนที่เลือกจะทำอะไรแบบเดิม ๆ เพราะมันปลอดภัยจนไม่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวการที่ต้องไปเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือกลัวว่าสิ่งที่เราจะเลือกใหม่นั้นจนสำเร็จเท่ากับสิ่งที่เรามีอยู่ไหม ขณะที่บางคนก็กล้าลองกล้าเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ที่อาจจะผิดบ้างถูกบ้างเรื่อย ๆ ซึ่งมันก็ไม่มีทั้งผิดหรือถูก เพราะการทำอะไรเดิม ๆ เราก็จะได้สิ่งเดิมที่ดีขึ้นพัฒนาขึ้นจากเดิมไปเรื่อย ๆ จากสิ่งเดิม เหมือนการตีเหล็กที่ยิ่งตีเหล็กยิ่งแข็งแกร่งทนทาน แต่เราก็จะไม่มีสิ่งใหม่ ๆ ให้เราเรียนรู้ แต่ถ้าเรามัวแต่ทำแต่สิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนบางครั้งอะไรที่มันดีสมบูรณ์อยู่แล้วก็ไปเปลี่ยนมัน หรือคิดอะไรใหม่ ๆ ตลอดจนไม่สนใจสิ่งที่มีอยู่ว่ามันดีอยู่แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูก ดังนั้นในสังคมจึงควรมีทั้งสองอย่าง แต่สิ่งที่ควรมีคือการยอมรับและเข้าใจอีกฝ่ายว่าการทำแบบเดิมก็ถูกการเปลี่ยนแปลงก็ดี และไม่ใช่แค่วงการเกมแต่ทุกอย่างในสังคมก็ควรมีทั้งสองอย่างคู่กันไป ยังไงก็ขอฝากเรื่องนี้เอาไว้ให้ทุกคนคิดด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส