นับตั้งแต่ที่เครื่องเกมยุคใหม่สามารถใส่กราฟิกเนื้อหาต่าง ๆ ที่สมจริงขึ้นมาได้ เราก็ได้เห็นเกมที่มีเนื้อเรื่องดี ๆ ทั้งเรื่องที่ สนุก เศร้า ตลก สยองขวัญ เสียดสีสังคม และเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายให้เราได้เลือกเล่น ไม่ต่างกับภาพยนตร์ที่เราดู และหนึ่งในแนวเรื่องที่ภาษานักเขียนหรือคนแต่งเรื่องมักไม่ค่อยใช้กัน แต่มันก็มีการใช้อยู่ในหลาย ๆ ครั้งทั้งในเกม การ์ตูน ภาพยนตร์ ไปจนถึงซีรีส์ นั่นคือแนวการแต่งเรื่องที่เรียกว่า ‘Deus ex machina’ ที่แปลตรงตัวว่า “เทวดามาโปรด” ที่แปลอ้อม ๆ ในภาษานักเขียนก็หมายถึงวิธีแก้ปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางแก้ได้ แต่จู่ ๆ มันก็คลี่คลายได้ด้วยการแทรกแซงที่คาดหมายไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่มาอยู่ถูกที่ถูกทาง ตัวละครที่จู่ ๆ ก็มาช่วยตัวเอกในวินาทีสุดท้ายแบบไม่มีเหตุผล หรือจู่ ๆ พระเอกก็มีความสามารถใหม่ระหว่างที่จนมุม นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Deus ex machina’ ซึ่งเมื่อเราไปดูเนื้อเรื่องในเกมก็พบว่ามีหลายเกมที่ใช้เนื้อหาแบบนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่าจะมีเกมอะไรที่อ้างอิงเรื่องราวเนื้อหาแบบนี้บ้างมาดูพร้อมกันเลย
คำเตือน เนื้อหาในบทความมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญในเกมโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
Resident Evil 1 ปืน Rocket Launcher จากท้องฟ้า
เริ่มต้นเรื่องแรกกับการสร้างเรื่องราวแบบเทวดามาโปรด หรือตัวละครโชคดีตัวร้ายดวงซวยกับเกมที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างซีรีส์ ‘Resident Evil’ ที่ใช้การแต่งเรื่องทำนองนี้เยอะมาก ๆ โดยเราขอเริ่มจากเกมภาคแรกสุดของซีรีส์ กับ ‘Resident Evil 1’ ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทำนองนี้ ที่ตอนจบของเกมซึ่งถ้าใครเคยเล่นในฉบับเก่าบน ‘PlayStation 1’ มาก่อน คงจะจำได้ทันทีว่าในศึกสุดท้ายระหว่างที่ตัวละครของเรากำลังต่อสู้กับ ‘Tyrant’ บนยอดตึก กับเวลาระเบิดที่กำลังนับถอยหลังเรื่อย ๆ วินาทีที่เรากำลังต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นเอง จู่ ๆ ก็มีปืน Rocket Launcher ตกลงมาจากท้องฟ้าแบบงง ๆ ก่อนที่ตัวเอกของเราจะไปหยิบปืนและยิงใส่เจ้า ‘Tyrant’ จนกลายเป็นเศษเนื้อ ทั้งที่ความจริงแล้วตัวเกมได้บอกเราว่าปืน Rocket Launcher ที่ตกลงมานั้นเป็นเพราะ แบรด วิคเกอรส์ (Brad Vickers) คนขับเฮลิคอปเตอร์ที่หนีไปในตอนแรก ที่เกิดความรู้สึกผิดเลยบินกลับมารับเพื่อน พอดีกับที่เห็นตัวเอกกับสู้กับสัตว์ประหลาดเลยโยนปืน Rocket Launcher ที่บังเอิญมีอยู่บนเครื่องบินมาให้ และพาทุกคนหนีได้ทันเวลา นี่คือที่มาของการแต่งเรื่องแบบ ‘Deus ex machina’ นั่นเอง
Super Mario Bros 1 ขวานไว้รอตัดสะพาน
นอกจากเนื้อเรื่องที่เป็นเหมือนเทวดามาโปรดช่วยตัวเอกแบบที่ไม่น่าเป็นไปได้แล้ว ในกรณีนี้ยังรวมถึงสิ่งของที่บังเอิญไปอยู่ถูกที่ถูกทางถูกเวลา อย่างในเกม ‘Super Mario Bros 1’ ที่ถ้าใครเคยเล่นมาแล้วก็คงจะทราบดีว่า เรื่องราวในเกมนี้เราจะต้องรับบทเป็นลุงหนวดที่ไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกตัวร้ายจับไป ซึ่งเมื่อถึงปรายทางเราจะเจอกับ บาวเซอร์ (Bowser) ตัวร้ายรออยู่บนสะพานลาวา ที่ปลายทางของสะพานก็บังเอิญมีขวานตั้งอยู่ (รูปประกอบด้านบนและล่าง) ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าทำไมขวานถึงไปอยู่ตรงนั้น มันช่างดูถูกที่ถูกทางจริง ๆ ซึ่งในภาษานักเขียนเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Deus ex machina’ เช่นกัน
Final Fantasy VII Aerith มาช่วยตอนท้ายเกม
ขอย้อนอดีตกลับไปในยุค ‘Final Fantasy VII’ บนเครื่อง ‘PlayStation 1’ กับตอนจบของเกมที่หลายคนต่างตราตรึงใจ กับฉากของสะเก็ดดาวขนาดใหญ่พุ่งชนโลกในช่วงท้ายเกม ที่เหล่าตัวเอกพยายามใช้จรวดไปพุ่งชนสะเก็ดดาวนั่นแล้วแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการพุ่งชนโลกของมันได้ จนในช่วงท้ายเกมระหว่างที่มวลมนุษย์กำลังสิ้นหวังไร้ทางออกอยู่นั่นเอง จู่ ๆ ก็มีพลังบางอย่างจากพื้นโลกมาช่วยรับสะเก็ดดาวที่จะตกลงบนโลกได้อย่างปาฏิหาริย์ ที่ตรงกับชื่อ ‘Deus ex machina’ ที่แปลว่า “พระเจ้ามาโปรด” แบบไม่มีผิดเพี้ยนเลยทีเดียว ซึ่งในเนื้อเรื่องเกมได้บอกว่าพลังสีเขียวนี้ก็คือ ‘Lifestream’ หรือวิญญาณแห่งดวงดาวที่สิ่งมีชีวิตที่ตายจะไปรวมกันใน ‘Lifestream’ รวมถึงวิญญาณของ แอริธ (Aerith) ที่ตัวของเธอนั้นเป็นชนเผ่าโบราณคนสุดท้ายที่สามารถติดต่อกับ ‘Lifestream’ ได้ ซึ่งในวินาทีที่เธอตายนั่นหญิงสาวได้สวดภาวนาเรียก ‘Lifestream’ มาปกป้องโลกและเธอก็ทำสำเร็จก่อนที่จะถูกฆ่า (แต่ไม่มีใครรู้) วินาทีสุดท้ายที่สะเก็ดดาวกำลังพุ่งชนโลกจึงมี ‘Lifestream’ ลงมาปกป้องโลก ที่แม้จะมีการอธิบายรองรับแต่การแต่งเรื่องแบบนี้ก็คือการสร้างเนื้อหาแบบ ‘Deus ex machina’ อยู่ดีนั่นเอง
Dragon Quest 1 ชุดเกราะในปราสาทจอมมาร
อีกหนึ่งเรื่องราวของสิ่งของที่อยู่ถูกที่ถูกเวลา เหมือนวางเอาไว้รอให้ตัวเอกมาเก็บไปใช้เพื่อปราบตัวร้าย กับเรื่องราวของผู้กล้าในเกม ‘Dragon Quest’ ภาคแรกสุดของซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้กล้าในตำนานสายเลือด ‘Roto’ ที่ต้องไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกราชามังกรจับไป ตัวพระเอกของเราต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อรวบรวมของวิเศษเพื่อสร้างสะพานสายรุ้งเพื่อไปยังประสาทราชามังกร จนเมื่อตัวผู้กล้าบุกไปถึงปราสาทราชามังกร ภายในนั้นก็มีชุดเกราะในตำนานของผู้กล้า ‘Roto’ ในอดีตซ่อนอยู่ และไม่ใช่แค่นั้นยังมีทั้งดาบ โล่ หมวก รอให้ผู้กล้าเรามาเก็บทีเดียวในนี้ แล้วไปปราบราชามังกรแบบง่าย ๆ ซึ่งตามเนื้อเรื่องบอกว่าหลังจากผู้กล้าในอดีตเสียชีวิต (ผู้กล้าในเกมภาค 3) เขาก็ฝากอาวุธชุดเกราะให้ธิดามังกรที่กำลังตั้งท้องให้ช่วยดูแลชุดเกราะในตำนาน เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานเขาในอนาคตเพื่อปราบความชั่วร้าย แต่ลูกของธิดามังกรเป็นคนไม่ดีนั่นเองและเขาก็ไม่รู้เรื่องชุดเกราะในปราสาทตนเอง
Street Fighter Ryu ถูกปลุกพลังชนะ Sagat
อีกหนึ่งความหมายของคำว่า ‘Deus ex machina’ ในภาษานักเขียน ที่ใช้สร้างเรื่องราวแปลก ๆ ที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการเล่าเรื่องอีกแบบที่ถูกอ้างอิงว่าเกี่ยวกันด้วย นั่นคือเรื่องราวประมาณว่าตัวเอกกำลังจะแพ้ศัตรู จู่ ๆ ตอนนั้นเองพระเอกเราก็มีพลังขึ้นมาและพลิกมาเอาชนะศัตรูได้ในวินาทีสุดท้าย อย่างในเกม ‘Street Fighter’ ภาคแรกที่บอกเล่าเรื่องราวรอยแผลบนหน้าอกของ สกัด (Sagat) ที่ต่อสู้กับ ริว (Ryu) ในศึกสุดท้าย ซึ่งในระหว่างที่ริวกำลังจะพ่ายแพ้ วินาทีนั้นเองจู่ ๆ ริวก็เกิดมีพลังขึ้นมาเพราะถูกความมืดของพลังฮาโดครอบงำ จนทำให้เขากลายเป็น ‘Evil Ryu’ ในร่างปีศาจ จนฝากรอบแผลเป็นไว้ที่หน้าอกของสกัดนับตั้งแต่นั้น ซึ่งในศึกครั้งนั้นสกัดก็เป็นผู้ชนะและพาตัวริวไปรักษา การสร้างเรื่องราวแบบนี้ก็นับว่าเป็นแนวเรื่องประมาณพระเจ้ามาโปรดด้วยเช่นกัน
God of War 1 ดาบยักษ์รอใช้
ในส่วนของเกม ‘God of War’ ภาคแรกที่ถ้าใครเคยเล่นเกมนี้มาแล้ว จะทราบดีว่าในช่วงท้ายเกมตัวของพี่โล้น เครโทส (Kratos) จะได้พลังจนขยายร่างใหญ่ขึ้นมาจนเท่ากับเทพเจ้าสงคราม แอรีส (Ares) แต่ด้วยความที่ตัวเขาขยายร่างมาแค่ตัวเองและเสื้อผ้าอาวุธไม่ได้ขยายมาด้วย เครโทสจึงไม่สามารถสู้กับเทพเจ้าสงครามที่มีอาวุธได้ ตอนนั้นเองเฮียโล้นก็หันไปเห็นสะพานรูปดาบที่ชื่อ ‘Blade of the Gods’ เขาจึงหยิบมันขึ้นมาต่อสู้จนเอาชนะเทพแห่งสงครามได้ โดยสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนั้น มันคือการผสมระหว่างของที่อยู่ถูกที่ถูกทางรอตัวเอกมาเก็บไปใช้ กับการสร้างเรื่องราวให้ตัวเอกจู่ ๆ ก็มีพลังที่สามารถเอาชนะศัตรูได้ในตอนท้าย ซึ่งในกรณีของเกม ‘God of War’ คือพลังขยายร่างที่จู่ ๆ ‘Pandora’s Box’ ก็ให้พลังกับเครโทสในการขยายร่างแบบถูกจังหวะพอดี บังเอิญสมเป็นพระเจ้ามาโปรดจริง ๆ
Dead Rising เหล่าตัวละคร Psychopaths ที่ตายเพราะตัวเอง
ถ้าจะให้อธิบายเกี่ยวกับการแต่งเรื่องแนว ‘Deus ex machina’ ให้เห็นภาพที่สุดอีกแบบที่คนแต่งเรื่องมักจะใช้กัน เมื่อไม่รู้ว่าจะให้ตัวร้ายตายอย่างไร ก็จะใช้วิธีการตายแบบพระเจ้ามาโปรด ประมาณว่าตัวร้ายกำลังถือปืนยืนคุยกับตัวเอก จู่ ๆ ตัวร้ายก็ลื่นล้มปืนยิงหัวตัวเอง นั่นก็คือการสร้างเรื่องแบบ ‘Deus ex machina’ เช่นกัน แต่การสร้างเรื่องราวแบบนั้นส่วนมากจะเป็นภาพยนตร์ตลกโหดมากกว่า หรือบางทีคนคิดเรื่องก็ไม่อยากให้ตัวเอกมือปื้นเลือด หรือไม่อยากให้ตัวเอกมีมลทินจึงทำให้ตัวร้ายตายเพราะตัวเอง แบบที่ตัวร้ายในเกม ‘Dead Rising’ ที่ตัวร้ายเกือบทุกตัวในเกมนี้จะตายแบบนั้น โดยในเกมนี้จะเรียกตัวร้ายพวกนี้ว่า ‘Psychopaths’ หรือคนโรคจิตที่สติแตกเพราะซอมบี้บุกมาจนเป็นบ้าไล่ฆ่าคนที่รอดชีวิตในแบบต่าง ๆ และสุดท้ายเมื่อเราชนะพวกเขาก็ตายเพราะสิ่งที่ตนเองทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นตัวตลกที่ใช้เลื่อยไฟฟ้าเป็นอาวุธ ที่สุดท้ายก็หกล้มทับเลื่อยตัวเองจนตาย ชายอ้วนที่จับสาว ๆ มาแต่งงานด้วยสาวคนไหนที่หนีจะถูกฆ่าตายสุดท้ายก็ตายเพราะเจ้าสาวซอมบี้ที่ตัวเองฆ่า แม่ครัวร่างอ้วนที่กินมากจนบ้าสุดท้ายก็ลื่นล้มจนอ้วกออกมาจนสำลักอ้วกตัวเองตาย (รูปประกอบด้านล่าง) ซึ่งใครที่เล่นมาครบ 4 ภาคน่าจะเข้าใจถึงเรื่องราวเหล่านี้ดี
Fatal Frame IV เปียโนส่งวิญญาณรอใช้
อีกหนึ่งเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิ่งของที่อยู่ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งวางเอาไว้พอดีสำหรับให้ตัวเอกใช้ปราบหัวหน้าในเกมนั้น เอาจริง ๆ ก็มีอยู่หลายเกมมาก ๆ แต่ที่เห็นชัดที่สุดอีกหนึ่งเกมก็น่าจะเป็นซีรีส์สาวน้อยล่าท้าผีอย่าง ‘Fatal Frame IV’ ที่ตัวเกมจะบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าสาวน้อยที่มายังเกาะร้าง ที่ในอดีตตัวเด็กสาวเคยถูกลักพาตัวมาที่นี่เพื่อทำพิธีแก้ไขโรคระบาด ที่หนึ่งในเพื่อนสมัยเด็กที่เคยมาที่นี่ตอนนั้นได้เสียชีวิตด้วยโรคปริศนา ตัวเอกของเกมอย่าง รุกะ มินาซึกิ (Ruka Minazuki) และเพื่อน ๆ จึงต้องมาหาคำตอบที่เกาะนี้ โดยในอดีตตัวของรุกะก็เคยมีความผูกพันกับวิญญาณอาฆาตในเกม เธอจึงหาทางปลดปล่อยวิญญาณที่มีห่วงนี้ด้วยบทเพลง ‘Tsukimori’ ที่เคยเล่นกันมาสมัยเด็กเพื่อปลุกจิตใจด้านดีในใจให้วิญญาณตื่น และช่างโชคดีที่ตรงจุดสู้กับวิญญาณอาฆาตตนนั้นก็มีเปียโนตั้งอยู่พอดี รุกะจึงสามารถเล่นเพลง ‘Tsukimori’ ได้ ซึ่งการใช้เนื้อหาแบบนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อทางผู้แต่งหาจุดลงตัวให้กับเนื้อหาไม่ได้ หรือต้องการสร้างความรู้สึกว่าตัวเอกโชคดีที่บังเอิญที่ไปเจอเหมือนพระเจ้ามาโปรดนั่นเอง
Resident Evil 3 Nemesis Barry มารับ Jill ตอนจบ
กลับมาที่เกมซีรีส์ ‘Resident Evil’ อีกครั้ง ซึ่งถ้าใครที่เป็นแฟนเกมซีรีส์นี้คงทราบดีว่าตอนจบของเกมซีรีส์นี้มักจะชอบจบแบบจู่ ๆ ก็มีคนเอาปืนแรง ๆ มาให้ตัวเอกเพื่อยิงใส่ยิงศัตรูปิดท้ายในช่วงตอนจบ ซึ่งถ้าเราตัดเนื้อหาตรงนั้นออกไป แล้วมาดูในส่วนอื่นก็ยังการใช้เนื้อเรื่องแนวพระเจ้ามาโปรดอีกหลายภาค หนึ่งในนั้นก็คือภาค ‘Resident Evil 3 Nemesis’ ตัวเกมฉบับเก่าสมัย ‘PlayStation 1’ ที่หนึ่งในตอนจบของเกมนี้จะมีเฮลิคอปเตอร์ที่ไหนไม่รู้จู่ ๆ ก็บินมารับ จิล วาเลนไทน์ (Jill Valentine) กับ คาร์ลอส โอลิเวียร่า (Carlos Oliveira) ก่อนจรวดจะมายิงถล่มเมืองในไม่กี่นาทีอย่างปาฏิหาริย์ ซึ่งความจริงแล้วคนที่ขับเฮลิคอปเตอร์มารับจิลก็คือ แบร์รี่ เบอร์ตัน (Barry Burton) ที่หนีไปจากเมืองนานแล้ว แต่จู่ ๆ ก็ขับเฮลิคอปเตอร์มารับเสียอย่างนั้น โดยตัวเกมบอกว่าแบร์รี่บังเอิญได้รับวิทยุขอความช่วยเหลือจากจิลเลยมาช่วย เรียกว่าเกมซีรีส์นี้ใช้การคิดเรื่องแนว ‘Deus ex machina’ บ่อยมาก ๆ เลยทีเดียว
Far Cry 5 พระเจ้ามาโปรดของจริง
ปิดท้ายกับเรื่องราวการคิดเรื่องแบบ ‘Deus ex machina’ หรือพระเจ้ามาโปรดที่เรากล้าพูดได้เลยว่าเกม ‘Far Cry 5’ ได้ใช้เนื้อหาและเรื่องราวที่ตรงกับหัวข้อที่สุด เพราะถ้าใครที่ได้เล่นเกมภาคนี้จนจบ จะทราบดีว่าตลอดทั้งเกมที่เราได้เล่นเป็นผู้ช่วยนายอำเภอต่อสู้กับเหล่าพี่น้อง ‘Seed’ ที่นำโดย โจเซฟ ซี้ด (Joseph Seed) ที่เขาพูดแต่เรื่องวันพิพากษาของพระเจ้า มนุษย์ในเมืองนี้จะได้รับการช่วยเหลือจากเขา แต่วิธีที่โจเซฟใช้ในการชักจูงคนให้เข้าร่วมนั่นคือการใช้กำลังและใช้ยามอมเมาประชาชน ซึ่งไม่ว่าจะดูมุมไหนมันก็ไม่น่าจะเกิดเรื่องวันพิพากษาของพระเจ้าได้จริง ๆ มันเป็นเพียงความเพ้อฝันของคนบ้าที่คิดว่าตัวเองเป็นตัวแทนพระเจ้าเท่านั้น ก่อนที่ตอนท้ายสิ่งที่โจเซฟพูดจะเป็นจริงทุกอย่าง เพราะจู่ ๆ ก็มีระเบิดนิวเคลียร์ยิงไปทั่วโลกเป็นการพิพากษาของพระเจ้าของจริง นับเป็นการแต่งเนื้อเรื่องที่แปลกและตบหน้าคนเล่นเกมที่ไม่มีทางเชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้อย่างน่าสนใจ แถมยังเป็นการใช้การแต่งเรื่องแบบ ‘Deus ex machina’ ได้อย่างลงตัว เพราะจู่ ๆ สิ่งที่ไม่คาดคิดมันก็เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว เหมือนพระเจ้ามาโปรดในวินาทีสุดท้าย ใครที่เล่น ‘FAR Cry’ภาค 6 แล้วชอบก็มาเล่นภาค 5 ต่อได้เพราะสนุกไม่แพ้กัน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการคิดเนื้อเรื่องของเกมแบบ ‘Deus ex machina’ หวังว่าจะถูกใจกัน เพราะในฐานะคนที่เล่นเกมการได้ดูเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ที่น่าสนใจก็เป็นสิ่งที่คนเล่นเกมต้องการ แต่การสร้างเรื่องใหม่ ๆ ไม่ให้ซ้ำคนอื่นมันยากถึงยากมาก ๆ ดังนั้นการใช้เนื้อเรื่องที่ซ้ำหรือคล้ายกันบ้างก็เป็นเรื่องปกติ ขอแค่เกมนั้นมีเนื้อเรื่องที่สนุกและน่าสนใจแฟน ๆ ก็พร้อมจะเปิดรับกันอยู่แล้ว และถ้าใครมีเรื่องราวในเกมที่เป็นแนวพระเจ้ามาโปรดอีกก็มาแนะนำกันได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวกับวงการเกม ก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส