ใครที่ได้ติดตามผลงานทาเลนต์ของ #beartai ก็จะได้เห็นภาพของทาเลนต์หน้าใหม่อย่าง ‘ออม สุชญา พุฒิวิญญู’ สาวนิติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความสดใส ช่างพูดทั้งหน้ากองและหลังกอง แต่สิ่งที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์แปลกใจมากยิ่งกว่าก็คือ เธอเล่าว่าตัวเธอเองเคยเป็นคนขี้อายในแบบที่ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่เราเห็นกันผ่านงานทาเลนต์ หรือแม้แต่ Live เล่นเกมที่เราได้เห็นผ่านตามาโดยตลอด
ลึกลงไปกว่านั้น เธอคือคนที่นิยามตัวเองเป็นคนซีเรียสและจริงจัง แต่กลับเล่าทุกอย่างด้วยความสดใส แน่นอนว่าความสดใสนั้นบรรยายเป็นตัวอักษรได้ยาก ที่เหลือก็แค่อยากให้ลองอ่านดู และจะพบว่า ความสดใสและความจริงจังนี่แหละคือตัวตนในแบบของออม
เท่าที่ติดตาม คุณดูเป็นคนร่าเริง พูดเก่ง เข้าหาคน เลยอยากรู้ว่าตัวคุณเองเป็นแบบนี้จริง ๆ ใช่ไหม
จริง ๆ แล้วตอนเด็ก ๆ ออมเป็นคนขี้อายค่ะ เป็นเด็กเก็บตัว แต่ว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ออมเปลี่ยน ก็คือตอนนั้นอยู่ดี ๆ เพื่อน ๆ ก็ไม่คุยด้วย เพราะเขาบอกว่าออมทำไมไม่คุยกับใครเลย ดูเป็นคนหยิ่ง ทั้งที่จริง ๆ ออมก็อยากคุยนะ แต่แค่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ก็เลยรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนตัวเองที่ทำให้เริ่มกล้าพูดกล้าคุยมากขึ้น ซึ่งมันก็ทำให้ออมกล้าเข้าสังคม แล้วก็ชอบสังคมไปเลย
อีกจุดที่ทำให้ออมเปลี่ยนก็คือ ได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เบลเยี่ยม 1 ปีค่ะ ซึ่งสิ่งที่ออมเห็นก็คือ คนที่นั่นแม้ว่าจะเป็นรุ่นเดียวกับเรา แต่พอได้เห็นการใช้ชีวิตของเขา เขามีความคิดที่โตกว่าเรา ขนาดคนที่อายุน้อยกว่าเรายังมีความคิดโตกว่าเลย มันก็เลยทำให้ความคิดของเราโตขึ้นด้วย เพราะว่าเราต้องกล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่าโอเค แต่ไม่ได้แข็งกร้าว
พอออมกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่เมืองไทย ก็เลยทำให้ออมทำกิจกรรมทุกอย่างเลย ทำกิจกรรมหน้ากล้องทุกปีเลย ซึ่งออมรู้สึกสนุกกับการได้ทำงานหน้ากล้อง การได้เป็นพิธีกร ก็เลยรู้สึกชอบมากขึ้น
ตอนที่คุณเล่าว่าคุณเปลี่ยน รู้สึกว่ามันยากไหม เพราะว่าหลาย ๆ คนก็อาจจะรู้สึกยากในการเปลี่ยนอะไรทำนองนี้
ถ้าเอาตรง ๆ นะคะ สำหรับออมมันยากมากเลยค่ะ สำหรับคนคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแบบไม่กล้ามาโดยตลอด ตอนนั้นยอมรับว่าไม่อยากไปโรงเรียนเลย ออมไม่ใช่คนที่เวลาอยู่ในกลุ่มแล้วพูดว่า “ไปกินข้าวกัน” “ไปเรียนด้วยกัน” อะไรแบบนี้ ออมไม่ได้เป็นคนที่ชอบพูดอะไรก่อนคนอื่น
คือตอนแรก ๆ ที่รู้จักกัน มันก็ยังไม่ได้เท่าไหร่หรอก เพราะว่ามันอยู่ในช่วงเมกเฟรนด์ แต่พอเพื่อนบอกว่า รู้สึกว่าเขาต้องเข้าหาเรา เหมือนเราไม่ได้อยากจะเข้าหาเขา มันก็ทำให้เขาอึดอัด ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนั้น
การเปลี่ยนแปลงสำหรับออมตอนนั้นมันยากมาก ๆ ค่ะ เหมือนออมกำลังใช้พลังดึงออกมา ให้ตัวเองกล้าที่จะพูดว่า ไปกินข้าวกันมั้ย หรือพูดว่า “ไปห้องน้ำเป็นเพื่อนหน่อย” หรือแบบ “ช่วยสอนการบ้านข้อนี้ให้เราหน่อยได้มั้ย” เอาจริง ๆ ประโยคพวกนี้เป็นประโยคที่เพื่อนพูดกันบ่อย ๆ เป็นปกติเลยนะ แต่สำหรับออม ออมจะรู้สึกอายมากในการที่จะพูด ตอนที่พูดครั้งแรกคือตื่นเต้นมาก เราไม่รู้ว่ามันจะออกมาดีหรือร้าย มันอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเราไปเลย
ประโยคแรกที่พูดคือ
ประโยคแรกที่ออมพูดคือ “เรามีขนมมาให้ แบ่งกันกินนะ” เพื่อนก็ตกใจเลยว่าทำไมเราถึงชวนคุยก่อน พอเพื่อนมีการโต้ตอบกับเรา ก็เลยรู้สึกโล่งใจ ไม่ได้รู้สึกเฉยชา ตอนนั้นออมเหมือนปลดล็อกเลยค่ะ มันเหมือนเป็นความกลัวอะไรบางอย่าง ทั้ง ๆ ที่จริงเพื่อน ๆ ก็คุยกันปกตินี่แหละ แต่เรามีความกลัว ไม่กล้าชวนเพื่อน ๆ คุย
หลังจากนั้นก็เลยพยายามที่จะหาเรื่องชวนเพื่อนคุย คือตอนแรกก็จะยังงง ๆ อยู่ แบบว่าเพิ่งเรียนเสร็จ ออมก็จะถามเพื่อนว่า “เหนื่อยมั้ย ? ” (หัวเราะ) ทั้งที่มันไม่ใช่คำที่พูดตามปกติน่ะค่ะ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มชิน เริ่มแสดงออกมากขึ้น เรียกว่าสดใสมากขึ้นดีกว่า
ภาพลักษณ์ของคุณตอนนี้ดูสดใส แต่คุณเองมีมุมซีเรียสบ้างไหม
จริง ๆ ออมเป็นคนจริงจังมากค่ะ เป็นคนเครียดมาก แต่ว่าไม่ได้ถึงกับเป็น Perfectionist นะคะ แต่เราแค่จะบอกกับตัวเองเสมอ ๆ ว่า โอกาสไหนที่ออมได้รับมา เราต้องทำให้ได้นะ นี่คือสิ่งที่ออมกดดันเสมอ
อีกสิ่งหนึ่งที่ออมจะกดดันตัวเองเสมอคือ คำพูดที่ออกมาจากปากออม คือถ้าออมพูดอะไรแล้ว ออมจะทำให้ได้ ถ้าออมพูดแล้วทำไม่ได้ ออมจะรู้สึกเฟลไปเลยน่ะ เฟลมาก ๆ แบบว่านิ่งไปเลย เพราะรู้สึกว่าเราทำในสิ่งที่เราพูดออกไปไม่ได้ ออมจะรู้สึกดาวน์ไปพักนึงเลย กว่าจะฮีลตัวเองกลับมาได้ ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะเป็นเรื่องแค่นัดใครว่าจะไปหา ซึ่งจริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะว่ามันมีเหตุกะทันหัน แต่ออมจะรู้สึกเฟลไปเลยว่าทำไมถึงทำไม่ได้
อีกอย่างที่ออมกดดันคือเรื่องงานค่ะ คือถ้าวันไหนออมรู้สึกว่าทำได้ไม่ดี ออมจะกลับบ้านไปนั่งคิดว่ามันพลาดที่จุดไหน แล้วออมก็จะพยายามเรียนรู้กับมันให้ได้ สิ่งที่ออมต้องเรียนรู้ก็คือ ต้องมีความคิดด้านบวกมากขึ้น เพราะมันคงไม่มีใครทำอะไรเพอร์เฟกต์ไปทั้งหมดหรอก เราก็แค่ต้องเอาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาพัฒนา ไม่ใช่เพื่อกดดันให้จมลงไปกว่าเดิม ซึ่งพอปรับได้ มันก็เลยทำให้ออมไม่กลัวคอมเมนต์อะไร โอเคที่จะได้รับคำชม และโอเคที่จะได้รับคำติ แล้วก็ยินดีที่จะเอาคำติไปปรับให้มันดีขึ้น
อีกอย่างที่ทราบก็คือ คุณเรียนจบนิติศาสตร์
ค่ะ (หัวเราะ)
ไม่ใช่อะไร แค่อยากรู้ว่าทำไมถึงเลือกเรียน แล้วอีกอย่าง ผู้หญิงเรียนกฏหมายดูน่าสนใจดี
สำหรับออมนะ เอาตรง ๆ ก็คือ ออมไม่มีความคิดที่อยากจะเรียนเลยค่ะ ตัดเป็นตัวเลือกแรกเลย เพราะว่าไม่ชอบอ่านหนังสือ (หัวเราะ) ไม่ชอบอ่ะ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องจำ ก็เลยไม่ชอบ
แต่ว่าพอขึ้น ม.6 ตอนแรกออมอยากเข้านิเทศฯ หรือไม่ก็รัฐศาสตร์ คุณพ่อก็เลยบอกว่า ถ้าจะเรียนรัฐศาสตร์ เรียนนิติฯ ได้ไหม ก็คือที่เรียนนิติก็เพราะคุณพ่อ (หัวเราะ) มันก็เป็นปัญหาเลยแหละ ก็เลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า
จนมันมีจุดเปลี่ยนก็คือ ออมไปสอบ GAT-PAT เพื่อเอาคะแนนไปยื่น ปรากฏว่าออมฝนข้อสอบข้ามไปข้อนึง แล้วก็รันยาวเลย ทั้ง ๆ ที่ออมมั่นใจว่าทำได้ แต่คะแนนที่ออกมาทำไมมันได้น้อยกว่าที่คิด ก็เลยทำให้หลุดคณะนิเทศฯ ไป ออมก็เลยหาที่จะสอบตรง ก็เลยสอบ แล้วก็ผ่าน ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่า หรือจะลองยื่นสอบรอบ GAT-PAT สองดี แล้วพอออมได้เรียนก็ค้นพบว่า เฮ้ย มันก็สนุกดีนะ แล้วออมก็คิดว่าตัดสินใจถูกค่ะที่ได้เรียน
อันนี้อยากรู้ส่วนตัว คนที่เรียนกฏหมายอย่างคุณ เวลาที่ได้รู้ข่าวเกี่ยวกับความผิดเพี้ยนของกฏหมายบ้านเมือง คุณรู้สึกอย่างไร รู้สึกหัวร้อนหรือเครียดบ้างไหม
สำหรับออม มันคงไม่ใช่ความหัวร้อนค่ะ แต่มันเป็นความล้มเหลวมากกว่า เวลาเราเรียน เราเรียนกันอย่างตั้งใจ เรียนกันหนักมาก แล้วเวลาที่พวกเราเรียน เราก็ให้เกียรติกฏหมาย เพราะกฏหมายคือสิ่งที่เราต้องเคารพ แล้วทุกอย่างมันก็มีกระบวนการที่บัญญัติไว้ตามกระบวนการที่ทุกคนยอมรับ
แต่อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นมาเองแบบไม่ถูกต้อง แล้วเขามาทำให้ถูกต้อง เราก็จะรู้สึกในใจว่า อ้าว นี่มันไม่ถูกต้องนี่นา แล้วมันก็จะเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วเราจะเรียนไปทำไม แล้วถ้าเราเรียนไป เราจะได้ใช้ในแบบเดียวกับที่เราเรียนมาหรือเปล่า
แล้วถ้าวันหนึ่ง เราต้องใช้สิ่งที่เราเรียนมา เพื่อเอาไปต่อสู้ แต่กลายเป็นว่าเขาปัดมันทิ้งไป แล้วก็บอกว่า เขาจะเอาแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่า แล้วเราจะต้องเชื่อใครล่ะ เขาไม่ได้ให้เกียรติกฏหมาย เขาไม่ได้ให้เกียรติตัวเขาเอง ไม่ได้ให้เกียรตินักกฏหมายที่เรียนกันมาเลย มันก็เลยรู้สึกล้มเหลว ผิดหวัง ใช้คำว่าผิดหวังก็ได้ เพราะเรารู้สึกว่าการโกรธ การหัวร้อนมันคงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา นี่คือสิ่งที่ออมหงุดหงิดนะ (หัวเราะ)
เวลาออมอ่านข่าวพวกนี้ ออมก็จะรู้สึกว่า “อะไร นี่มันอะไรกัน…” ก็หวังแต่ว่าคนรุ่นออม หรือรุ่นใหม่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้างไหม เพราะสิ่งที่ออมได้ยินจากเด็กนิติฯ ที่จบใหม่ก็คือ เวลาได้ยินเรื่องพวกนี้ เขารู้สึกท้อ เขาไม่อยากทำงานตรงนี้แล้ว อยากไปทำอย่างอื่นมากกว่า เรียนไปแล้วก็ต้องไปทำอีกแบบหนึ่งอยู่ดี
บรรยากาศซีเรียสมากตอนนี้ ไม่น่าถามคำถามซีเรียสเลย
(หัวเราะ) ไม่ซีเรียสเลยค่ะ ขำ ๆ
คุณมาร่วมงานกับ #beartai ในฐานะทาเลนต์ได้อย่างไร
จนกระทั่งก่อนจบมหาวิทยาลัย ก็ได้มาเป็นทาเลนต์ที่ #beartai นี่แหละค่ะ เพราะว่าพี่แพน (ศรุต เตียตระกูล) ชวนมา เพราะว่าตอนที่ถ่ายงานที่มหาวิทยาลัย ก็เป็นพี่แพนนี่แหละค่ะที่เป็นทีมงานเบื้องหลัง ซึ่งพี่แพนเองคิดว่าออมน่าจะทำได้ ก็เลยชักชวนให้ออมมาที่นี่
ตอนแรกออมคิดว่าน่าจะไม่ได้หรอก เพราะว่านี่คือ #beartai เลยนะ ดังมาก ออมรู้จักมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย แล้วออมก็ดูด้วย พอดูแล้วก็รู้สึกว่า โห เขาเก่งจัง แล้วยิ่งเป็นการพูดเรื่องไอทีด้วย ออมยิ่งไม่ถนัดเลย ซึ่งตอนที่มาสัมภาษณ์จริง ๆ บอกเลยว่าใจออมไม่ได้หวังอะไรเลยนะ รู้แค่ว่าก็ทำให้เต็มที่ ให้มีความเป็นตัวเรา ซึ่งการสัมภาษณ์วันนั้นก็ถือว่าราบรื่น ดีมาก ๆ สำหรับออม แม้ว่าความรู้ด้านไอทีจะยังไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่ แต่ก็รู้สึกว่าอยากเรียนรู้ให้มากขึ้น ก็เลยเกิดความรู้สึกอยากจะเป็นทาเลนต์ค่ะ
คลิปแรกที่ถ่ายเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนที่ทำตอนนั้นออมไม่ได้เป็นแบบนี้เลยนะคะ คือปล่อยเนื้อปล่อยตัวมาก เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด ก็เลยคิดว่าตอนนั้นคงไม่ได้มีงานอะไรให้เราทำหรอก แล้วตอนนั้นออมไปตัดผมหน้าม้า ซึ่งออมไม่เคยตัดผมแบบนี้มาก่อนเลย เพราะว่าอยากเปลี่ยนลุค พอถ่ายคลิปแรกเสร็จ ส่ิงแรกที่พี่ ๆ บอกก็คือว่า เอาหน้าม้าออกเถอะ (หัวเราะ) ออมก็คิดว่า แย่แล้ว จะเก็บยังไงล่ะทีนัี้ แล้วคลิปแรกตอนนั้นคือหน้าแน่นมาก ไม่เชื่อไปดูคลิปนั้นได้
ตอนนั้นก็เลยเป็นความตื่นเต้นแล้วก็กังวลด้วยว่าเราจะผ่านมั้ย ไอ้เรื่องสคริปต์ก็ตื่นเต้นประมาณหนึ่ง ดีที่ว่าสคริปต์ไม่ได้ยากมาก เพราะว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ก็เลยโอเค แล้วออมเคยทำอะไรแบบนี้มาแล้ว ก็เลยพอจะควบคุมความตื่นเต้นได้ แต่ที่ห่วงคือ ห่วงสภาพตัวเองหน้ากล้องนี่แหละ
ซึ่งพอรู้ว่าผ่าน ก็รู้ว่าอีก 4 วัน จะต้องมาถ่ายคลิปแรก ก็เลยรู้สึกว่า ตายแล้ว ต้องรีบไปฉีดหน้าให้เร็วที่สุด แล้วตอนที่ถ่าย หน้าก็ยังไม่เข้าที่น่ะค่ะ เวลายิ้มก็เลยดูตุ่ย ๆ (หัวเราะ) มันก็เลยเป็นเรื่องที่ออมรู้สึกกังวลแบบขำ ๆ อีกอย่างที่กังวลคือ ด้วยความที่ออมเป็นคนใหม่ แล้วก็ถือว่าเป็นการก้าวสู่โลกของการทำงานเป็นครั้งแรกด้วย ก็เลยกดดัน แต่ว่าพี่ ๆ ทีมงานน่ารักมากค่ะ พยายามที่จะทำให้เรามีความเป็นธรรมชาติ เพราะว่าออมจะมีความเป็นพิธีกรติดมา เวลาเล่าเรื่องมันเลยดูเป็นพิธีกร ดูไม่เหมือนการเล่าเรื่อง ก็เลยจะโดนปรับเยอะ แต่ก็สนุกดีค่ะ
ในฐานะทาเลนต์ของ #beartai คุณชอบผลงานไหนของตัวเองมากที่สุด
เอาจริง ๆ ออมว่ามันต่างความรู้สึกกันนะคะ ถ้าเป็นคลิปก็จะเป็นอีกความชอบแบบหนึ่ง ถ้าออมจำสคริปต์ได้ ออมก็จะสนุกกับการวางมูดแอนด์โทนในการเล่าว่าจะต้องการเล่าออกมาเป็นแบบไหน หรือจะแต่งตัวแบบไหน หรือจะต้องสดใสเบอร์ไหนดี ส่วนถ้าเป็น Live มันจะสนุกตรงที่มันท้าทายกว่า แต่ละวันเราไม่สามารถคาดเดาคนดูได้ ว่าใครจะเข้ามาดูเราบ้าง และบรรยากาศในแต่ละวันจะเป็นยังไง เราต้องทำให้ live มันสนุกและคนอยู่กับเราให้ได้ ไม่ใช่แค่สนุกกับการเล่นเกม แต่ว่าต้องมีการโต้ตอบกับคนดู ชวนคนดูมาเล่นกัน ขอบคุณและชื่นชม พยายามจะทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้มาสนใจในไลฟ์ของเรา มันเป็นความสนุกคนละแบบกันค่ะ ออมก็เลยบอกไม่ได้เหมือนกันว่าชอบงานไหนมากกว่ากัน
แล้วมีงานที่ชอบน้อยที่สุดบ้างไหม
อืม…ยากจัง (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่ากังวลกับอะไรมากที่สุด ออมคิดว่าคงเป็นการถ่ายคลิปนอกสถานที่ค่ะ ที่ออมรู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่ดีพอ เพราะว่าทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบเวลามาก ๆ ทั้งเรื่องสถานที่ แสง อะไรต่าง ๆ แล้วรวมไปถึงตัวเราด้วย เสื้อผ้าหน้าผมต้องพร้อม มูดแอนด์โทนต้องพร้อม สคริปต์ต้องแน่น มันก็เลยต้องทำเวลาไม่ได้ อาจจะเพราะตอนนี้ไม่ค่อยได้ถ่ายนอกสถานที่ด้วยแหละค่ะ ก็เลยคิดว่ายังทำได้ไม่ค่อยดี
ถ้าจะให้คุณรีวิวผลงานทาเลนต์ของตัวเอง คุณอยากให้กี่คะแนน
(ยิ้ม) ด้วยความที่ออมเพิ่งเข้ามาใหม่ ๆ เลย ออมคิดว่าให้คะแนนที่ 6 หรือ 7 คะแนน ไม่ใช่ให้เพราะว่าเรามาใหม่อย่างเดียว หรือให้คะแนนแค่นี้เพราะว่าเราพยายามไม่พอ แต่เพราะออมรู้สึกว่า การได้อยู่ที่นี่ ออมว่ายังพัฒนาได้อีกเยอะมาก จริง ๆ ออมอยากให้แค่ 1 หรือ 2 ด้วยซ้ำ แต่ออมรู้สึกว่า เราก็พัฒนามาระดับหนึ่งแล้ว แต่คิดว่าออมยังไปได้อีก มีอะไรให้เราเรียนรู้เยอะมาก ยิ่งเราเห็นพี่ ๆ ทาเลนต์เก่ง ๆ เรายิ่งรู้สึกว่าอยากพัฒนาตามเขา เราอยากรู้ว่าต้องทำยังไง ทำไมถึงเล่าได้เป็นธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในสามคะแนนที่หายไป
คุณมีจุดสูงสุดในฐานะทาเลนต์บ้างไหม
ถ้าเอาตรง ๆ ออมก็ยังอยากอยู่ที่นี่ในฐานะทาเลนต์ไปเรื่อย ๆ ค่ะ แต่ออมก็มีแพลนอยากจะไปเรียนต่างประเทศ ถ้าพี่ ๆ ที่นี่ยังต้อนรับอยู่ก็ยินดีค่ะ ถึงเวลานั้นออมอาจจะกลับมาเป็นทาเลนต์ที่สามารถทำสคริปต์ให้ตัวเองได้ด้วย ไม่ใช่แค่รอสคริปต์อย่างเดียว ออมอาจจะเอาเรื่องของกฏหมายที่เกี่ยวกับไอทีมาทำเป็นสคริปต์ก็ได้ ซึ่งจริง ๆ พี่ ๆ เขาก็ให้โอกาส เพียงแต่ว่าตอนนี้ออมก็กำลังพยายามอยู่ค่ะ
งั้นถ้าคุณได้มีโอกาสคิดเนื้อหาคลิป และเป็นทาเลนต์ของคลิปนั้นด้วยตัวเอง คุณอยากทำเรื่องนี้ใช่ไหม
ใช่ค่ะ ออมอยากเอาเรื่องของกฏหมายเกี่ยวกับไอที หรือโซเชียลมีเดียเข้ามา เพราะว่าสำหรับออม ตอนนี้กฏหมายมันใกล้ตัวเราทุกสิ่งทุกอย่างเลยค่ะ ตอนนี้มีคนที่ทำผิดกฏหมายโดยเฉพาะด้านไอทีอยู่มาก และไม่รู้ตัวว่ากำลังทำผิดอยู่ เราอยากให้ความรู้เกี่ยวกับกฏหมายด้านไอทีควบคู่กันไปด้วย ออมก็คิดว่าน่าสนใจดีค่ะ (ยิ้ม)
ถึงเวลานั้นกลับมา คุณก็จะได้เป็นทาเลนต์ของ beartai BRIEF ด้วย
(หัวเราะ)
ติดตาม Thailand Game Show ได้ที่
Facebook : Thailand Game Show
YouTube : Thailand Game Show