อีกไม่กี่วันองค์กรการบินของยุโรปที่ดูแลในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน (European Aviation Safety Agency EASA) ก็จะเดินทางมาพบปะพูดคุยกับกรมการบินพลเรือนของไทยพร้อมทั้งผู้เกี่ยวข้องท้ังหลายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่เราสอบตกมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญโดยองค์กรการบินระหว่างประเทศ ICAO สังกัดสหประชาชาติ
ผู้อ่านท่านครับ ICAO ไม่มีสิทธิใดๆ ในการเพิ่มอันดับหรือลดอันดับกรมการบินฯ ของชาติสมาชิกก็จริงอยู่แต่การตรวจสอบและผลของการตรวจสอบเมื่อได้ประชาสัมพันธ์ออกไปย่อมที่จะส่งผลให้หน่วยงานทางการบินที่เป็นผู้ดูแลโดยตรงของแต่ละประเทศหรือภูมิภาคสามารถที่จะขอเข้ามาตรวจสอบเพื่อความมั่นใจได้นะครับ ตรงนี้ต่างหากที่น่ากลัวและจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศที่ไม่ได้มาตรฐาน
อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดนมาแล้วและใช้เวลาหลายเดือนในการแก้ไข กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ต้องรื้อฟื้นกันนาน
สถานการณ์ของเราไม่ได้ดีเหมือนกับที่หลุดออกมาจากปากของบรรดาท่านๆ ทั้งหลายดอกหรอกครับ ถ้าเราโชคดีหลุดรอดจากการตรวจสอบของ EASA ผมเพียงแต่บอกผู้อ่านท่านได้เลยว่าหากไม่ใช่บุญเก่าที่เรามีเยอะก็ต้องเป็นการแลกเปลี่ยนอะไรบางประการเพราะลำพังเพียงแต่การแก้ไขปัญหาจริงๆ นั้นยังไปไม่ถึงไหน
การออกมาบอกถึงแผนการแยกสัดส่วนแบ่งงานจากกรมหนึ่งกรมกระจัดกระจายออกเป็นสี่นั้นยังเป็นแค่แผนหาได้มีการแยกออกตามที่พูดไม่ ผมสอบถามไปยังแหล่งข่าวระดับสูงของกรมฯ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะเริ่มกันเมื่อไหร่และอย่างไร
ที่สำคัญเรื่องที่เราเป็นปัญหาคือเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญหาใช่เรื่องการกระจายอำนาจการบริหาร ตรงนี้อย่าสับสนครับ
ใครเยี่ยวไม่ออกขี้ไม่ออกก็ต้องกลั้นเอาไว้รอคำสั่งที่ชัดเจนอย่างเดียว
ผู้อ่านท่านดูปัญหาของ กานต์แอร์ สิครับ นี่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของความปลอดภัยใดๆ เป็นเรื่องของการใช้ใบอนุญาตผิดประเภทขอไว้แบบเช่าเหมาลำแต่ดันไปตั้งเคาท์เตอร์ขายตั๋วประกาศตารางบินแบบปรกติ หน้าสิ่วหน้าขวานแทนที่กรมฯ จะยื่นมือเข้ามาแก้ไขกลับใช้วิธีง่ายเข้าว่าหยุดบินไปก่อน
ประชาชนที่ใช้เส้นทางชายขอบรอบนอกที่กานต์แอร์ให้บริการอยู่ก็เดือดร้อนกันเป็นแถบ
แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาในการแก้ปัญหาของราชการไทยอย่างชัดเจน
และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาองค์กรการขนส่งทางอากาศ The International Air Transport Association ที่ควบคุมดูแลการค้าขายทั้งตั๋วเครื่องบินสินค้าคาร์โก้โดยมีสมาชิกอยู่มากมายถึง ๒๕๐ สายการบินทั่วโลกคิดเป็น ๘๔ เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการท้ังโลก
IATA ประกาศให้กระเป๋าที่สามารถถือขึ้นเครื่องมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม
ออกมาประกาศคำแนะนำเรื่องขนาดกระเป๋าถือติดตัวใหม่โดยมีขนาดลดลงกว่าเดิมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่มากเท่าไหร่ (ขนาด 55 x 35 x 20 cm) แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาในใจของผู้โดยสารว่าจะทำอย่างไรกับกระเป๋าใบเดิม
ตรงนี้ผมแนะนำให้ท่านอยู่นิ่งๆ ครับถึงแม้จะมีสายการบินใหญ่ของโลก ๘ สาย ขยับขานรับนโยบายเอาไปปฏิบัติก็ตามที
ทำไมผมถึงแนะนำให้ท่านอยู่เฉยๆ นั่นก็เป็นเพราะการขานรับดังกล่าวยังจะต้องลงลึกถึงวิธีการปฏิบัติจริงซึ่งแต่สายการบินมีนโยบายเรื่องกระเป๋าถือติดตัวอยู่แล้ว ขนาดยังไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุดครับทุกวันนี้ที่ท่านเดินขึ้นเครื่องบินต้องประสบกับการรอคิวยืดเยื้อยาวนานนั่นเป็นเพราะผู้โดยสารท่านเองแหละครับที่ไม่สนใจกับข้อบังคับหรือคำแนะนำของสายการบินที่ให้ท่านถือกระเป๋าติดตัวคนละหนึ่งชิ้น ทุกคนแทบจะแบกบ้านแบกรถขึ้นไปนั่งบนเครื่องด้วยทั้งนั้น
คำแนะนำของ IATA ในแง่ดีคือทำให้สามารถ free up space บนที่เก็บสัมภาระได้บ้างแต่หากท่านยังถือกันคนละสองหรือสามชิ้นก็คงไม่ได้ช่วยอะไร
ไปๆ มาๆ คำแนะนำเรื่องขนาดกระเป๋าใหม่อาจจะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาให้สองผู้ผลิตกระเป๋ายักษ์ใหญ่ของโลกรวยสะดือปลิ้นเพราะสติกเกอร์ Cabin OK ก็เป็นได้
มีเรื่องเล่าทีขำไม่ออกจะมาแจ้งให้ท่านฟังว่าทำไมกรมการบินพลเรือนของเราถึงโดน ICAO เล่นงานเอาครับ
สายการบินหนึ่งไปเอาเครื่องแบบโบอิ้ง ๗๗๗ มาจดทะเบียนให้บริการ ICAO เขาแค่ถามกลับไปที่กรมฯ ว่าบุคลากรของกรมท่านใดที่ผ่านการอบรมโบอิ้งรุ่นดังกล่าวบ้าง คำตอบคืองึมงัมๆ
ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะแบบแล้วทำไมไหงดันออกใบอนุญาตได้
ผู้อ่านท่านเข้าใจปัญหาแล้วใช้ไหมครับ
ขณะที่ผมปั่นต้นฉบับสำนักข่าวทีเอ็นเอ็นกำลังจะติดต่อขอสัมภาษณ์ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินแห่งประเทศไทยซึ่งผมเป็นที่ปรึกษาอยู่นั้น ท่านประธานคือคุณหลุยส์ มอร์เซอร์ ได้กรุณาโทรฯ มาเล่าให้ฟังว่าเหนื่อยใจติดตามหาผู้หลักผู้ใหญ่จากกรมฯ เพื่อที่จะขออัพเดทเรื่องราวก็ไม่สามารถติดตามหาได้สักท่าน กรมฯ ที่เป็นต้นเรื่องแท้ๆ กลับหายเงียบปล่อยให้รัฐมนตรีพูดจ้อในเรื่องที่ตนไม่ได้รู้จริงออกข่าวทุกวี่วัน
เป็น ผบ.ทอ.นี่ไม่ได้หมายความว่าท่านจะเข้าอกเข้าใจเรื่องของการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์นะขอรับ
ผู้อ่านท่านทราบหรือไม่ว่าเรามีสายการบินสัญชาติไทยได้รับการจดทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจมากขนาดไหน เอาเป็นว่าตัวเลขล่าสุดเกินครึ่งร้อยแต่เปิดจริงบินจริงนับหัวได้ ทำไมถึงอยากเป็นเจ้าของสายการบินกันนัก
ผมมีอีกเรื่องที่จะเล่าเพื่อให้ท่านเห็นภาพ
สายการบินหนึ่งมีทุนจดทะเบียนครั้งแรกประมาณ ๑๒๕ ล้านบาท ไม่ได้ชำระเต็ม บินๆ ไปเพิ่มทุนเป็น ๕๐๐ ล้านบาท ยังคงไม่ได้ชำระเต็ม ผ่านไปพักใหญ่บริษัทจัดจ้าง CFO มือชั้นเซียนรับจ้างแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะเข้ามาบริหารจัดการเตรียมความพร้อม ในวันเข้าตลาดวันแรกที่แรกว่า IPO
ผู้อ่านท่านทราบมั๊ยครับว่าผู้ถือหุ้นเดิมๆ ที่ยังชำระไม่เต็มในตอนนั้นกลับร่ำรวยขึ้น ๑๐ เท่าในหนึ่งชั่วโมงแรกของการเปิดตลาด
อยากเปิดกันนักแถมยังเปิดง่าย
เปิดแล้วรวยทันตาเห็น
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ