เช้าตรู่วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2019 ผมได้รับเชิญไป “เขาใหญ่” โดย “คนใหญ่โต” ท่านหนึ่ง ท่านนี้เป็นฝ่ายเรียกร้องที่จะพบผมเอง เพราะถ้าท่านไม่เรียกร้องมา ผมก็คงพบท่านไม่ได้ด้วยตัวของผมเองครับ
“ประธานอาวุโสแห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์” คือตำแหน่งของท่านในวันที่ผมได้เข้าพบ

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ตัวจริงไม่เหมือนในทีวีหรือในสื่อที่พวกเราเคยเห็น … กล่าวคือท่านเป็นบุคคลในข่าวที่เรามักจะเห็นท่านจากภาพนิ่ง จากการถอดบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่ออกทีวี เรายังเห็นท่านเป็นภาพเป็นการอ้างอิงจากแฟ้มภาพของสำนักข่าว เหตุเพราะท่านเองก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อน้อย (หรือผมอาจโตไม่ทันท่านในวันออกสื่อเยอะ ๆ ก็ได้นะ)

เอาเป็นว่า “ในวัย 80 ปี” ของอัครบุคคลที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่าน 80 ฝน กับคนไทยมาอย่างยาวนานจน “คนที่ไม่เข้าใจ*” (ตามคำที่ท่านใช้) ก็เรียกท่านว่า Monopoly Man หรือนักผูกขาดทางการค้า … ซึ่งจากบทสนทนาทั้งหมดตลอด 11 ชั่วโมง ที่พวกเราเข้า ๆ ออก ๆ หอประชุม-ห้องรับรอง-ห้องอาหารรวม 4 รอบ ทำให้ผมได้ “มุมมองใหม่ทั้งหมด” จากการรู้จักท่านและ “ทั้งเครือ”

เช้า 9.00น. เป็นเวลานัดหมายภายในสถานที่มองจากภายนอกคล้ายปราสาทแวร์ซาย แต่ภายในเต็มไปด้วยท่านชายสวมใส่สูทชุดดำจำนวนมากดั่งหน่วยงาน MIB

ท่านประธานมา “พอดีเวลาเป๊ะ”

และเดินเข้าหอประชุมทันที ไม่มีค่าความหน่วงหรือ Latency เหมือนเสาสัญญาณ 4G … คนใกล้ชิดท่านบอกผมว่า “ท่านประธานเป็นแบบนี้เสมอ” กล่าวคืองานวันนี้เป็นงาน “พัฒนาผู้นำ” ตามชื่อสถานที่คือ ”สถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์” ฉะนั้นท่านทำแบบนี้เพื่อเป็นตัวอย่างทุกคนว่า “ผู้นำต้องตรงเวลา” และท่านไม่ต้องให้ใครในห้องประชุมต้องรอท่าน

ผมได้รับการปฏิสัมพันธ์เล็กน้อยจากท่านก่อนเริ่มงาน ซึ่งยังไม่มากพอต่อการรู้จักนิสัยใจคอ แต่ก็พอดูออกว่าท่านมีเมตตา คำเกริ่นถึงตัวผมที่ออกจากปาก ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ผู้บริหารกาแฟมวลชน คนซีพีตัวกลั่น ให้เกียรติผมมากเกินไปด้วยซ้ำ แต่ก็บ่งบอกว่าท่านทำการบ้านเกี่ยวกับตัวผมมาดีมาก ..เป็นเกียรติเหลือเกินครับที่ผมได้รับการประชุมเริ่มต้นด้วยการพรีเซนต์ของคนรุ่นใหม่ของ CP Group ถึง “แผนงานที่ได้กระทำไป” บนธุรกิจจริงของทั้งเครือ CP ไม่ว่าจะ TruemoveH, True Online, True Vision และแน่นอน 7Eleven ที่เป็นยุทธภูมิสำคัญในการปฏิบัติงานสู่สังคม

ผมไม่ได้รับการอนุญาตให้ถ่ายภาพขณะพวกเขาพรีเซนต์ เหตุเพราะหน้าจอเป็นเรื่องตัวเลข สถิติ กำไรและขาดทุนจากสิ่งที่ทำซึ่งเป็นความลับทางการค้า แต่ทั้งหมดที่นำเสนอ “ไม่ใช่แค่แผนธุรกิจ” ที่โดยส่วนใหญ่จะว่าถึงอนาคตกาลที่เปี่ยมด้วยความหวัง ทั้งหมดที่เห็นคือการเปิดโอกาสของเครือที่ “ใครก็ได้” ที่กินเงินเดือนอยู่อย่างสบายใจเฉิบใน Comfort Zone จะก้าวข้ามออกมาทำกิจการใหม่ใด ๆ ก็ได้ที่ตนเองเห็นว่าดี โดยมีกฎให้ผู้บริหารของธุรกิจนั้น ๆ ห้ามมีการห้าม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ต้องยอมให้ทำ” นั่นแหละครับ

เมื่อทำเสร็จ ได้ผลดำเนินการ ถึงจะมาขึ้นเวทีพรีเซนต์ได้ ต่อหน้าท่านประธานอาวุโส ท่านประธาน และท่านประธานทุกประธาน บลา บลา บลา (ความเกร็งระดับ 10!!) งานนี้คุณศุภชัย คุณสุภกิต อภิชาตบุตรมาครบหมด และไม่พูดอะไรมาก ปล่อยให้บิดาผู้อายุ 80 ปีบรรเลงเพลงคอมเมนต์ไปกับ คุณสรรเสริญ สมัยสุต ประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บุรุษอายุไม่ถึง 40 ที่คุณธนินท์ไว้ใจให้เกียรติและเรียก “อาจารย์เบสท์” ทุกคำ ทำหน้าที่นวดปั้นเหล่า “เถ้าแก่เล็ก” ที่ CP Group หมายมั่นปั้นให้เป็น Mini CEO ธุรกิจใหม่ต่าง ๆ ในอาณาจักร

เอาจริง ๆ ความรู้สึกที่ผมได้ฟังแผนคือ “คนส่วนใหญ่ติ๋ม” จะด้วยทรงของการประชุมที่เป็นทางการมากกกกก~ก็ไม่ใช่ แต่บุคลิกคนทำงานส่วนใหญ่เรียบร้อยและดูตั้งใจทำงานมาก ๆ …เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง แต่ยังไม่ผ่าเหล่าเหมือนธุรกิจ Startup ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้มีโอกาสเห็นแล้วตามเวทีต่าง ๆ ว่าคนรุ่นใหม่แม่งโคตรมี Passion กระหายความสำเร็จ (และขายฝันในกว่า 90%)

กลับมาที่เวทีพัฒนาผู้นำของ CP ยังมีรุ่น “เถ้าแก่กลาง” และ “เถ้าแก่ใหญ่” ที่ผมยังไม่ได้ฟัง และคงยากมากที่เขาจะปล่อยให้ “คนนอก” อย่างผมเข้ามารับฟังได้ เหตุเพราะมันจะเข้มข้นมากในระดับเค้นอะตอมแล้ว ตัวเลขผลประกอบการ การวิเคราะห์คู่แข่งแจ่มแจ้งระดับเฝ้าระวังทุกอนูขน! ประธานธนินท์แสดงให้เห็นว่าแกจำแม่นทุกเรื่อง แกทักผู้พรีเซนต์ถูกต้องว่าเป็นรุ่นไหน ซีรีส์ใด และใครที่พรีเซนต์ได้ดี หรือไม่ดี แกจะกล่าวคำออกไมค์ในแบบสุภาพแต่คนนั้นต้องจดจำไปทั้งชีวิต

ตลอดหลายชั่วโมง ผมเห็นหมด ทั้งทีมที่พรีเซนต์ดีและไม่ดี …

คำกล่าวจากปากเอกบุรุษแห่งอาณาจักรซีพีที่นุ่มนวลแต่แฝงด้วยนัย เปล่งออกมาตั้งแต่..

  • ผมเองก็ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย…ด้วยความอับอาย เพราะผมเป็นคนชวนคุณมาเอง
  • ผมเองก็ต้องเรียนรู้จากพวกคุณด้วย
  • ต้นทุนที่แพงที่สุดของการทำธุรกิจคือ “เวลา”
  • ฟังเสียงลูกค้าแล้วอย่าลืมฟังเสียงที่ลูกค้าไม่ได้บอกด้วย

เป็นต้น … หวังว่าคงพอเห็นภาพนะครับว่าการประชุมวันนั้นมันเป็นการประชุมลักษณะใด

ทุก ๆ การพัก ไม่ว่าจะพักครึ่ง พักทานข้าว ประธานธนินท์จะเดินออกจากห้องด้วยความกระฉับกระเฉง มองผู้คนที่ผ่านหน้าด้วยความเมตตา และเดินกลับเข้าห้องพัก … และแน่นอนล่ะครับ นั่นเป็นเวลาของผม

ผมและเฟื่องลดา น้องสาวแห่งวงการไอทีที่ผมตัดสายสะดือกะมือ ได้มานั่งอยู่ด้วยกันในวาระ #เจ้าสัวอยากคุยด้วย คุยเป็นส่วนตัวเลย

ท่านประธานเอ่ยปากชวนคุยเพราะความใคร่รู้เพิ่มในหลายเรื่อง … แน่นอนว่ามันต้องอาศัยความกล้าสนทนาด้วยพอสมควรเพราะในคำว่าคุยเป็นส่วนตัวหรือโดยลำพังนั้น แวดล้อมไปด้วย คุณศุภชัย คุณสุภกิต และบรรดาผู้บริหารระดับสูงแทบทั้งเครือที่มานั่งบนเก้าอี้หรูระดับสันนิบาตชาติฟังพวกเราอยู่ด้วย โดยมอบเกียรติแก่ผู้พ่อ Lead การสนทนาโดยไม่ขัดแต่มีให้ข้อมูลเสริม

คุณธนินท์ชอบใจคำพูดผมที่ว่

“เวลาอธิบายอะไรใคร ผมใช้คำศัพท์เทคนิคแต่ต้องมีประโยคตามมาเป็นคำขยายเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้”

แกย้ำเรื่องนี้กับทุกคนในวงสนทนาใหญ่ถึง 3 รอบ แกเห็นด้วยเพราะตลอดมาแกเห็นคนมีความรู้มากแต่ถ่ายทอดไม่ได้ผลเยอะมาก และแกก็อยากให้เราทั้งคู่มาช่วยสื่อสารเรื่องที่ถูกต้องออกไปสู่สังคมเช่น ชาวนาจะพ้นจากความจนได้อย่างไร? เราจะยกระดับพ่อค้าแม่ค้าได้ด้วยวิธีใด?

นี่ไม่ใช่ประโยคคำถาม แต่ท่านประธานได้อธิบายวิธีการทั้งหมดกับผม เป็นห่วงโซ่ Ecosystem ใหม่โดยใช้เทคโนโลยีมาลดต้นทุนทุกส่วนที่เคยปวดร้าว ..แปลว่าปัญหาเหล่านี้มีทางออกไว้หมดแล้ว เพียงแต่การแก้ได้มันต้องสื่อสารได้ด้วยจึงจะได้ผล

ท่านพร้อมจะให้ผมสื่อสารตามสิ่งที่ผมเห็นจริง ไม่ใช่วิธีสื่อสารแบบโฆษณา แต่จะพาผมไปเห็นไปดูกระบวนการที่ทำได้แล้ว และรอการสเกลไปในระดับประเทศ ท่านย้ำสองครั้ง “แล้วคุณไปกับผม”

โลกธุรกิจสู้โลกการเมืองไม่ได้อยู่อย่างหนึ่ง คือมันแจกเงินไม่ได้ แต่มันต้องทำด้วยกระบวนการความยั่งยืนคือต้องหาการหล่อเลี้ยงให้เติบโตได้แบบเป็นเหตุเป็นผล

ในวัย 80 ปีของท่านประธานธนินท์ ผมจับจุดได้อย่างหนึ่งคือ

ท่านกลัวการล้มละลายมาก

ท่านบอกทุกอย่างต้องเปลี่ยนสู่กระบวนการใหม่ เพราะโลกยุคใหม่มันไล่หลังมาแล้ว และหากตัดสินใจพลาดนิดเดียวโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติก็อาจล้มละลายได้เลย

คุณธนินท์เน้นย้ำ 3 ข้อให้ผมฟัง

(ซึ่งผมมาอ่านเจอภายหลังในหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ที่ท่านมอบมาให้ด้วย) จะทำอะไรขอให้คิดถึงประโยชน์ 3 ข้อ…

  1. ประเทศได้อะไร ? (ไม่ว่าจะทำธุรกิจในไทยหรือไปประเทศไหน ?)
  2. ประชาชนในประเทศ (นั้นๆ) ได้อะไร ?

แล้วจึงค่อยมาคิดถึงข้อ 3. คือบริษัทจะได้อะไร ?

ธุรกิจของท่านคนเยอะครับ เลี้ยงเฉพาะพนักงานก็ 2 หมื่นกว่าคน ซัพพลายเออร์ และวงศ์วานการจ้างงานอีกนับล้าน … ต้นทุนทั้งนั้น ผมเองมองภาพออกเพราะทุกวันนี้เซ็นเช็กจ่ายเงินเดือนเงินลูกน้องเดือนละ 2 ล้านก็พอเข้าใจได้ว่า “การหาเงินเข้า” มันเป็นเรื่องสำคัญและนิ่งนอนใจไม่ได้ เนื่องจาก “ต้นทุนที่แพงที่สุดของการทำธุรกิจคือเวลา”

กว่า “สิ้นเดือนเหมือนขาดใจ” ของพนักงานที่ต้องทนทานมาม่าเพราะว่าเขารู้สึกว่ามันนาน แต่ลองมาเป็นเจ้าของคุณจะรู้ซึ้งว่า “เดี๋ยวแป๊บ ๆ สิ้นเดือนอีกแล้ว!” 555

ผมมองว่าคุณธนินท์ก้าวข้ามคำว่า “เจ้าของ” ไปนานแล้วล่ะครับ แกเป็น “ผู้นำโลก”

…โลกธุรกิจ แกสนุกกับการคิด คิดให้เป็นธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะแกไม่ได้คิดเพื่อตัวเองแล้วล่ะในวัยนี้ แกคิดเพื่อคนอื่นทั้งนั้น คิดให้เขายั่งยืนด้วยกลยุทธและปรัชญาที่ตนเองยึดถือ

ยังมีประเด็นพลีย่อยอื่น ๆ ที่สำคัญกับปากท้องคนไทย เช่นแกคิดวิธีทำให้คนไทยได้รับอาหารที่สะอาดจากแม่ค้าหาบเร่แผงลอยได้แล้ว .. วิธีที่ชาวนาจะได้เป็นเจ้าของโรงงานเอง (ท่านยืนยันว่าทุกวันนี้ ชาวนาที่ทำงานกับ CP Group เป็นเจ้าของที่ดินเอง) วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกต้อง (เรื่องแจกเงินท่านไม่เห็นด้วยนะครับ แม้ใคร ๆ จะบอกว่าท่านเป็นผู้ได้ประโยชน์) ซึ่งผมต้องทำหน้าที่สื่อสารวิธีเหล่านี้ ท่านหันไปสั่งลูกชายว่า “ศุภชัย ให้เค้าไปพูดออกทรูวิชั่น!” 555 อันนี้ผมขอเถียงกลางดงไปครับว่า

วิธีสื่อสารให้รับรู้พร้อมกันทั้งประเทศยากมากแล้ว แต่ต้องทำ Segmentation แบบละเอียดยิบให้เหมาะกับทุกกลุ่มก้อนในสังคมไทย

(ซึ่งฟังแล้วก็อาจไปตีความให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเข้าไปอีกนะ! ฮา)

เพื่อให้ผมได้กระจ่างกับทุกสิ่งอย่างที่ท่านมอบหมาย ผมเลยถามท่านตรง ๆ ว่า

…”แล้วที่ใคร ๆ เขาว่าท่านผูกขาดน่ะมันคืออะไร ?”

ท่านตอบผมด้วยความเมตตาว่า...

“เมืองไทยไม่มีใครผูกขาดได้ เพราะนอกจากผมก็ยังมี เบทาโกร สหฟาร์ม $&@)(/-7@“!?.)$€£¥> ฯลฯ (ผมฟังไม่ทันครับ แต่ท่านไล่ให้ฟังเร็วมาก) และยังเปิดใหม่เองได้เรื่อย ๆ โดยเสรีภาพ ..

แต่ที่ผมเป็น 60% ของตลาดได้ก็เพราะผมแค่ทำมาก่อน …

ในเมืองจีนซะอีกที่ผมยอมรับว่าผมผูกขาด เพราะรัฐบาลจีนชวนผมทำ และผมทำอยู่รายเดียว แต่เมืองไทยจะว่าผมผูกขาดไม่ได้เพราะไม่จริง …

คนที่ว่าแบบนี้ก็เพราะเขาแค่ไม่เข้าใจ*”

การมองจากมุมนอกบางทีมันก็ไม่เข้าใจข้างในจริง ๆ นั่นแหละครับ และผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า ที่ผ่าน ๆ มาบนโลกโซเชียลเวลาผมใช้เฟซบุ๊กนี้ด่าซีพีตามเวลาที่ผมหงุดหงิดหรือหัวร้อน จะต้องมีคนซีพีพยายามอธิบายผม เพราะสุขภาวะภายในพวกเขาดีจริง ๆ นั่นแหละครับ

ประธานธนินท์ตอบคำถามสุดท้ายจากเฟื่องลดาที่ถามว่า

“ท่านคิดไวมากและยังดูไม่แก่เท่าไหร่เลย”

ประธานลุกขึ้นแล้วตอบว่า

“เพราะผมออกกำลังกาย และการทำงานวันนี้ผมถือว่ามาเที่ยว ฮ่า ฮ่า ฮ่า”

แล้วท่านประธานก็เดินออกจากห้องรับรองไปพักผ่อนเพื่อที่พรุ่งนี้จะลุกขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนของท่านใหม่… จบทริปเขาใหญ่ 11 ชั่วโมงเต็ม … #เล่านานหน่อยไม่ว่ากันนะ ?