ในอดีต ไมโครซอฟท์ (Microsoft) หนึ่งในบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ เคยถูกฟ้องร้องคดีจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในข้อหา ‘ต่อต้านการผูกขาด ตลาดซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ในปี ค.ศ.1998′ ทั้งตัวระบบปฎิบัติการ วินโดว์ (Windows) และเบราว์เซอร์ อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) แต่ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ ก็ยังยืนหยัดจนเป็นผู้นำได้จนถึงทุกวันนี้ เกิดอะไรขึ้นกับคดีนี้ เราจะพาย้อนกลับไปสู่เรื่องราวสุดอื้อฉาวของ ไมโครซอฟท์ หนึ่งในคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา

คดีต่อต้านการผูกขาด คืออะไร

ก่อนที่เราจะเข้าสู่ตัวคดี เราขอปูพื้นฐานตัวกฎหมายต่อต้านการผูกขาดให้เข้าใจกันเสียก่อน กฎหมายนี้มีชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติต่อต้านการผูกขาดของเชอร์แมน ค.ศ. 1890’ มีไว้เพื่อต่อต้านการผูกขาดไม่ให้บริษัททำเงินและเพิ่มกำไรอันส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด

หากไม่มีกฎหมายนี้ ผู้บริโภคจะเสียประโยชน์ได้เพราะต้องยอมจ่ายสินค้าหรือบริการในราคาที่สูงเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการนั้นมา รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงการผูกขาดนี้ และ สิ่งที่รัฐบาลมักทำคือ ‘จับบริษัทที่ผูกขาด แยกเป็นส่วน’

ไมโครซอฟท์ โดนคดีนี้ได้อย่างไร

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาและ 19 รัฐ ยื่นฟ้องต่อไมโครซอฟท์ว่ามีความผิดในการต่อต้านการผูกขาด โดยมีพฤติกรรมดังนี้

1. ไมโครซอฟท์ได้แอบเจรจาทำสัญญาลับกับ’เน็ตสเคป เนวิเกเตอร์ (Netscape Navigator)’ หนึ่งในผู้ให้บริการ เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) รายใหญ่ที่สุดอีกรายหนึ่ง โดยสัญญาที่ไมโครซอฟท์เสนอ คือ เสนอให้บริษัททั้งสองแบ่งตลาดเว็บเบราว์เซอร์ เป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งไมโครซอฟท์อยู่ในระบบปฎิบัติการ ‘Windows 95’ และฝั่งเน็ตสเคปอยู่ใน ระบบปฎิบัติการ ‘Windows 95 Netscape’ แต่เน็ตสเคปปฎิเสธข้อเสนอนี้

2. ไมโครซอฟท์ให้ผู้ใช้สามารถใช้เบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ได้ฟรี เพียงแค่ลงระบบปฎิบัติการ Windows 95 รวมถึงบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่อยากได้เบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ ฝังไว้ในเครื่องฟรี ๆ ต้องทำสัญญากับไมโครซอฟท์ก่อน ว่าจะลง เป็น Windows 95 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สนับสนุนการแข่งกันในตลาดเสรี

3. ไมโครซอฟท์ตั้งใจที่จะผูกเบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ ของตนอย่างผิดกฎหมายกับระบบปฏิบัติการ Windows 98 ใหม่ ซึ่งเป็นรุ่นต่อจาก Windows 95

4. ผู้ใช้ที่ติดตั้งระบบปฎิบัติการ Windows ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะถอนการติดตั้งเบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไม่ได้หรือถอนการติดตั้งได้ยากมาก ปิดกั้นการมองเห็นผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง ถึงขั้นไม่สามารถติดตั้งโปรแกรมคู่แข่งอย่างเน็ตสเคปได้ นำเสนอแต่ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง รวมถึงชุดแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานในสำนักงาน เช่น การประมวลผลคำและการจัดการสเปรดชีต และซอฟต์แวร์อีเมล เอาท์ลุค เอ็กเพรส (Outlook Express) เป็นการกีดกันคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด

ผลสรุปของคดีชั้นต้น

พิพากษา โทมัส เพนฟิล แจ็คสัน (Thomas Penfield Jackson) ตัดสินว่าไมโครซอฟท์มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดศาลมีคำสั่งห้ามดังนี้

1. ให้ไมโครซอฟท์รวมเบราว์เซอร์ของ เน็ตสเคป กับ อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ ใน Windows 98 เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก และผู้ผลิตคอมพิวเตอร์จะต้องมีตัวเลือกในการลบเบราว์เซอร์ใดก็ได้ หาก ไมโครซอฟท์ ไม่ต้องการรวม เน็ตสเคปไว้ จะต้องเลิกรวมเบราว์เซอร์ของตนเองและปล่อยให้มันแข่งขันกัน

2. กำหนดให้ไมโครซอฟท์ให้ตัวเลือกเพิ่มเติมแก่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ในการติดตั้งและลบซอฟต์แวร์เบราว์เซอร์ในคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ และห้ามมิให้ไมโครซอฟท์ตกลงที่จะจำกัดการเสนอผลิตภัณฑ์คู่แข่ง

ศาลยังตัดสินอีกว่าบริษัทต้องแบ่งเป็นสองส่วน แห่งหนึ่งจำกัดเฉพาะระบบปฏิบัติการ และอีกแห่งเป็นซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน แต่เรื่องนี้ ไปคุยกันต่อที่ชั้นอุทธรณ์

จบที่ไกล่เกลี่ย

ไมโครซอฟแพ้คดีและยอมทำตามคำสั่งห้ามที่ศาลกล่าวมามาข้างต้น เพื่อให้ตลาดมีการแข่งขันเสรี แม้ว่าหลังจากนั้นคู่แข่งจะล้มหายจากไป ยกเว้นการแบ่งบริษัทเป็น 2 ส่วน จึงยื่นเรื่องนี้ต่อไปที่ชั้นอุทธรณ์และที่น่าอัศจรรย์คือ ศาลคว่ำคำตัดสินเก่าทิ้งเพราะ’ผู้พิพากษาคนก่อนมีอคติในการสนับสนุนการดำเนินคดี’ จึงลงเอยที่ ‘การเจรจาไกล่เกลี่ย’ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจอย่างเสรีและมีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

ซึ่งนั่นจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับการบังคับใช้กฎหมายนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ หลังจากนี้ต้องดูกันต่อไปว่าถ้าเกิดคดีแบบนี้อีก เนื้อเรื่องจะจบแบบที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา: justice.gov Investopedia CNNMoney ENCYCLOpedia.com CFI Team

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส