เมื่อวันพฤหัสที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานเสวนาในครั้งที่ 2 ขึ้นมา ซึ่งครั้งนี้เป็นหัวข้อที่กำลังเป็นที่นิยมจนเรียกได้ว่าเป็นระดับ Distruptive แห่งชาติ กับเรื่อง
“Pokémon GO จะพาสังคมไทยไปไหน”
เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับเกม Pokémon GO ที่กำลังเป็นที่นิยมในระดับประเทศ ซึ่งมีผู้เล่นแทบทุกเพศทุกวัยว่า เกมนี้จะพาสังคมไทยไปในทิศทางที่ดีหรือไม่ดีกันแน่ ซึ่งการเสวนานี้ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และมีคณะวิทยากรอีก 5 ท่านดังนี้ (สามารถกดที่ชื่อวิทยากรเพื่อไปยังหัวข้อที่พูดถึงได้)
- ผศ.ดร.วิษณุ โคตรจรัส นักวิชาการด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และหัวหน้า Lab วิจัยเกม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
- คุณพีรธรน เกษมศรี ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหารและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้าน คอนเทนต์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- รศ.ดร.พรรณรพี สุทธิวรรณ นักวิชาการด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
- อ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ นักวิชาการจิตเวชผู้ใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
- นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค. และคณะกรรมการ กสทช.
เรียกว่าได้รับความสนใจจากสื่อเป็นจำนวนมากจริง ๆ สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้ (แน่นจนมีสื่อบางส่วนต้องอยู่ข้างนอกเพื่อดูผ่านทีวีแทนเลยทีเดียว)
ความเป็นมาของ Pokémon GO
เริ่มต้นจาก ผศ.ดร.วิษณุ โคตรจรัส ก็ได้เล่นถึงความเป็นมาของเกม Pokémon GO ว่าเกมนี้เริ่มต้นมาจากเกม Ingress ซึ่งเป็นเกมแนวยึดฐานซึ่งถูกสร้างโดยบริษัท Niantic, Inc. ที่เป็น 1 ในบริษัทลูกของทาง Google ที่ได้นำเอา Google Maps มาทำเป็นแผนที่ในเกมนี้ โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กัน ซึ่งเกมนี้มีจุดเด่นอีกอย่างคือ สามารถให้ผู้เล่นสามารถส่งจุดที่เป็น Landmark ของเขาไปให้ทาง Niantic เพื่อให้สร้างเป็นจุดยุทธศาสตร์ภายในเกมได้
ซึ่งจุดเหล่านี้เมื่อถูกนำมาใช้ในเกม Pokémon GO ก็ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น Pokestop ที่ให้ผู้เล่นทุกคนสามารถเข้าไปรับ ITEM ได้และ GYM ที่ทำการต่อสู้แข่งขันกันด้วยโปเกม่อนนั่นเอง
และสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเกม Ingress นั่นคือเหล่าโปเกม่อนที่จะอยู่กระจายตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังคอยให้ผู้เล่นไปจับมาเลี้ยง รวมไปถึงระบบฟักไข่ที่เขาคิดมาอย่างดี เพราะระบบนี้จะบังคับให้ผู้เล่นต้องเดินหรือปั่นจักรยานเพื่อฟักไข่เท่านั้น ไม่สามารถนั่งยานพาหนะเพื่อฟักไข่ได้โดยระบบจะเช็คจากความเร็วของผู้เล่นที่มากเกินไป แล้วจะมีการแจ้งเตือนสำหรับผู้ที่ขับขี่ยานภาหนะอยู่ให้อย่าเล่นอีกด้วย และจากที่ทราบมา เกม Pokémon นี้ได้ปล่อย Feature ต่าง ๆ ออกมาเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในอนาคตจะไม่ได้มีเพียงแค่การไล่จับโปเกม่อนแล้วเอาไปสู้บนยิมเพียงอย่างเดียว แต่คิดว่าน่าจะเอาระบบต่าง ๆ ที่เคยมีบนเกมโปเกม่อนภาคปกติมาใส่ใน Pokémon GO นี้เพิ่มเติมอีกอย่างแน่นอน
ประโยชน์ของ Pokémon GO Server Local ที่กำลังมาในอนาคต
คุณ พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหารและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้าน คอนเทนต์และมีเดีย บริษัททรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงเกม Pokémon GO ว่า เป็นเกมที่ทำออกมาแล้วสามารถสร้างกระแสตอบรับได้เป็นอย่างดีทั่วทุกมุมโลก ยกเว้นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีการ Ban ไป ซึ่งทางทรูได้เล็งเห็นว่า เกม Pokémon GO ในเซิฟ Global หรือเซิฟนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และในอนาคตก็เล็งเห็นว่าเราควรจะมีเซิฟ Local หรือเซิฟไทยเป็นของตัวเอง โดยทางทรูก็กำลังติดต่อกับทาง Niantic ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในไม่กี่เดือนหลังจากนี้แน่นอน ทั้งนี้การทำ Server Local นั้นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยการกำหนดจุด Pokestop ไปตามจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย รวมไปถึงการให้ข้อมูลเรื่องสถานที่และจะมีการปล่อยโปเกม่อนหายากในช่วงวันธรรมดาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง Low Season ได้อีกด้วย ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่จึงไม่สามารถทำได้
และทั้งนี้เกม Pokémon GO ก็สามารถทำให้ตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมถูกกระตุ้นในระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนไม่ได้อยากได้ internet ที่แรงขึ้นเพื่อใช้การโทรศัพท์ที่เร็วขึ้น แต่เป็นการใช้ Content ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นการดู Video Streaming ผ่าน YouTube, LineTV รวมทั้งการเล่นเกม ซึ่งเกม Pokémon GO ถือได้ว่าเป็นเกมที่สามารถสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดีในระดับประเทศเลยก็ว่าได้
Pokémon GO กับด้านที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อน
รศ.ดร. พรรณรพี สุทธิวรรณ นักวิชาการด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้พูดถึงอีกด้านของเกม Pokémon GO ว่า เกมนี้ไม่ได้มีแต่ด้านบวก แต่ยังมีด้านลบ ทั้งในด้านของเงินที่อาจเสียไปกับการซื้อเหรียญในเกมเพื่อให้เก่งทันเพื่อน หรือสถานที่อันตรายต่าง ๆ ที่ไม่ควรไป แต่บางคนก็เห็นว่ามีคนโปรย Lure Module ณ จุดนั้น ๆ ทำให้บางครั้งเสี่ยงต่อการเสียทรัพย์สินหรือสำหรับผู้หญิงก็อาจเกิดปัญหาในด้านการถูกคุกคามทางเพศได้
และผู้ใหญ่หลาย ๆ คนโดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กนั้นรู้สึกว่าไม่อยากให้เด็กเล่นเกมนี้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อย เพราะพวกเขารู้สึกว่าเกมนี้เล่นแล้วไม่ปลอดภัยจากที่ได้รับฟังจากสื่อหลาย ๆ แห่งมามีทั้งเรื่องของอุบัติเหตระหว่างเล่นเกมหรืออุบัติเหตระหว่างขับรถ
ซึ่งจริง ๆ แล้วทางผู้ปกครองควรที่จะลองมองดูให้ดี ๆ ว่าจริง ๆ แล้วเกมนี้มันผิดจริงหรือไม่ ไม่ควรที่จะไปต้านกระแสของเกมนี้โดยที่ไม่ได้ลองศึกษาดูเสียก่อน แต่ควรที่จะลองใช้วิธีโน้มน้าวเด็กโดยการชวนไปเล่นกันเป็นครอบครัวแทน
ซึ่งเกม Pokémon GO นั้นจะไม่เพียงแค่ให้คุณได้เล่นเกมเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นเกมที่สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ และแน่นอนว่า 1 ในกิจกรรมที่สามารถทำได้เป็นครอบครัวคือ กิจกรรมการฟักไข่ เพราะเกมนี้ถ้าใครต้องการฟักไข่จะต้องมีการเดินเพื่อให้ไข่ฟัก ก็สามารถพาทั้งครอบครัวไปเดินออกกำลังกายพร้อม ๆ กันได้อีกด้วย ทำให้เราไม่ต้องบ่นลูกว่ามัวแต่เล่นเกมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ไปออกกำลังกายได้อย่างง่ายดาย
แท้จริงแล้วอันตรายที่สุดของการเล่นเกม Pokémon GO นี้คือ การไม่รู้จักกาลเทศะของตัวผู้เล่นเกมนี้เอง
ไม่ว่าจะเป็นการไปจับโปเกม่อนในที่ ๆ ไม่ควรจับเช่นในห้องเรียนตอนกำลังเรียน หรือตอนกำลังอยู่ในสถานที่ราชการต่าง ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ รวมไปถึงการเล่นอยู่ใกล้ ๆ ท้องถนนหรือริมแม่น้ำก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้นั่นเอง
Pokémon GO อันตรายจริงหรือ?
อ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ นักวิชาการจิตเวชผู้ใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้พูดถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือในช่วงวัยเด็กว่าไม่เหมาะสม เพราะวัยเด็กยังไม่มีความยับยั้งชั่งใจ และยังไม่มีวิจารณญาณพอที่จะคิดได้ด้วยตัวเองในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งผู้ปกครองควรเป็นผู้แนะนำในเรื่องเหล่านี้ และเกมนี้สะท้อนปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัญหาที่แท้จริงส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเล่นเกม Pokémon GO โดยตรง แต่จริง ๆ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้วแม้จะไม่มีเกมนี้มาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตบนท้องถนน เรื่องของวินัยในครอบครัวเช่นการกลับบ้านดึก รวมไปถึงการเกิดอาชญากรรมในที่เปลี่ยว ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ควรจะไปโทษทางเกมโดยตรง แต่ควรมองที่บ้านเมืองของเรามากกว่าว่ายังไม่มีความปลอดภัยที่เพียงพอ
จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านความปลอดภัยแทนที่จะไปหาทางเอาผิดเกม Pokémon GO โดยตรง
โดยอาจารย์ก็ได้ให้คำแนะนำว่า คนเราไม่ควรจะมุ่งเป้าไปที่การทำสิ่งที่ไม่ใช่งาน เช่นการเล่นเกมมากเกินไป โดยที่งานหรือการบ้านไม่เสร็จจนอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เราจึงควรจะให้เวลากับเป้าหมายหลักที่ต้องทำก่อนจะดีกว่า แล้วค่อยหันไปทำอย่างอื่นเมื่อเสร็จแล้ว รวมไปถึงการเล่น Pokémon GO ด้วย
และ อ.นพ.ภุชงค์ ก็ได้ให้คำแนะนำว่าเราไม่ควรแก้ปัญหาเด็กติดเกมด้วยการบังคับให้เลิกเล่น แต่ควรให้คำแนะนำแทน เพราะการบังคับให้เลิกเปรียบเสมือนการราดน้ำมันเข้ากองไฟ อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีจนอาจคิดว่าเราไม่ได้รักเขาแล้ว และอาจก่อให้เกิดการขัดขืนจนไม่สามารถแนะนำหรือพูดคุยอะไรกับเขาได้อีกก็เป็นได้ เราควรแนะนำให้ลองเล่นไปพร้อม ๆ กันจะดีกว่า รับรองว่าคุณจะเข้าใจเด็กได้มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
Pokémon GO ในมุมมองของ กสทช. และ กทค.
หมอลี่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค. และคณะกรรมการ กสทช. ก็ได้พูดถึงเกม Pokémon GO ไว้ว่า เกมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Technology สมัยใหม่ รวมไปถึงในปัจจุบัน VR หรือ Virtual Reality และ AR หรือ Augment Reality เริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น และในอนาคตจะมีเกมเหล่านี้ออกมาให้เล่นนอกเหนือจาก Pokemon GO อย่างแน่นอน
ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องในระดับที่ก่อให้เกิดกระแสไปทั่วประเทศหรือที่เรียกว่า Distruptive ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก เช่นระบบการขนส่งแบบ Uber ที่ทำออกมาเพื่อตอบสนองคนเดินทาง เป็นต้น โดยปัญหาของเกม Pokémon GO แท้จริงเกิดจากการที่เราไม่สามารถควบคุมตัวเราได้ จนเผลอเข้าไปในจุดต่าง ๆ ที่ไม่ควรเข้าไปเพราะเป็นที่ ๆ มีโปเกม่อน หรือจุด Pokestop จนทำให้เกิดอันตรายกับตัวเรา
ซึ่งถ้าเราสามารถควบคุมตัวเองได้ก็จะไม่เกิดปัญหาอย่างแน่นอน แถมได้ออกกำลังกายอีกด้วย
และหมอลี่ยังยืนยันว่าปัจจุบันเกม Pokémon GO ยังหาความผิดทางกฎหมายไม่เจอ เพราะเกมก็ไม่ได้มีเนื้อหารุนแรง รวมถึงถ้อยคำหยาบคายอะไร จึงไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น มีแค่ตัวละครที่น่ารักอย่างโปเกม่อน ดูยังไงก็ไม่อาจก่อให้เกิดการเลียนแบบในทางไม่ดีอย่างแน่นอน
ซึ่งปัญหาจริง ๆ ของเกมนี้คือเรื่องของจุด Pokestop หรือ GYM ที่ไปอยู่ในจุดไม่เหมาะสมเสียมากกว่า
ซึ่งทาง กสทช. ก็ได้ประสานไปทาง Niantic ให้เอาจุดที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ออกเพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยตามสถานที่ ๆ ควรจะเป็นเช่น ตามโรงพยาบาล หรือในสถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นต้น
ในส่วนของการแบนเกม Pokémon GO ไม่ให้เล่นนั้นถือว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เพราะอาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนได้ และที่สำคัญต่อให้แบนไม่ให้โหลดในประเทศไทยไป ยังไงผู้ที่อยากเล่นก็สามารถหามาเล่นผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ได้อยู่ดี
ซึ่งหมอลี่ก็ได้พูดถึงประเด็นสำคัญที่กำลังดังอยู่ในขณะนี้ว่า เกม Pokémon GO อาจดักจับข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปโดยผ่านมือถือที่เราใช้เล่นเกม Pokémon GO นี้ซึ่งเอาจริง ๆ ทาง Niantic น่าจะสามารถทำได้เพราะเราได้อนุญาตให้เขา Access เข้่ามาเอาข้อมูลของเราได้
แต่อย่างไรก็ตามเขาคงไม่ทำกับคนปกติทั่วไปแน่นอน เพราะทั้งในเรื่องของข้อมูลที่มากมายมหาศาลที่จะต้องเก็บ แต่อาจมีการเก็บข้อมูลเฉพาะบุคคลสำคัญในประเทศต่าง ๆ ก็เป็นได้
ส่วนการควบคุมเวลาเล่นเกม Pokémon GO นั้นก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะเกมนี้อยู่บนมือถือของทุกคน ทำให้คนที่อยากเล่นเกมไม่จำเป็นต้องเดินทางไปร้าน Internet Cafe ดังนั้นทางภาครัฐฯ จึงไม่สามารถออกกฎหมายมาควบคุมเวลาในการเล่นได้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคลและคำแนะนำของผู้ปกครองเท่านั้น
และสุดท้ายนี้หมอลี่ก็ได้พูดแซวขำ ๆ ว่า ไม่ควรจัดงานเสวนาเกี่ยวกับงานแบบนี้อีกเพราะมันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ และในอนาคตจะมีเกมแบบนี้ออกมาอีกมากมายอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถสร้างปัญหาทางด้านลบในระดับประเทศได้ เพราะประเทศไทยไม่ได้อ่อนแอถึงขนาดที่ทำให้เกมเพียงเกมเดียวมาทำลายได้ง่าย ๆ และยังฝากไว้อีกว่า ถ้าใครเห็นว่าเสา Pokestop หรือ GYM อันไหนดูแล้วไม่เหมาะสม คุณก็สามารถ Report ไปทาง Niantic ได้เลยตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในสังคมและเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
ประเทศไทยไม่ได้อ่อนแอถึงขนาดที่ทำให้เกมเพียงเกมเดียวมาทำลายได้ง่าย ๆ