“กรุณาปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขณะเครื่องบินขึ้นและลงจอด”

คงเป็นประโยคที่คุ้นเคยกันดีสำหรับผู้ที่เคยเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมเราถึงต้องปิดมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดขณะที่เครื่องบินอยู่บนรันเวย์ ขึ้นบิน และลงจอด หรือว่าทำไมต้องเปิดใช้โหมดเครื่องบินเวลาที่เครื่องบินอยู่ในอากาศ

หนึ่งในคำอธิบายของก็คือสัญญาณของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะไปรบกวนระบบสื่อสาร ระบบนำทาง และระบบอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานของเครื่องบิน แต่นอกจากคำอธิบายของพนักงานต้อนรับที่ต้องคอยบอกให้คุณปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

มือถืออาจไปรบกวนระบบของเครื่องบิน

แอนกัส คิดแมน (Angus Kidman) ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวจาก Finder ชี้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดอยู่จะส่งคลื่นวิทยุความถี่ต่ำที่ไปรบกวนการทำงานของระบบสื่อสารและระบบนำทางของเครื่องบิน รวมถึงเสาสัญญาณที่อยู่บนภาคพื้นดินด้วย แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ป้องกันปัญหานี้ แต่ปัญหาการรบกวนสัญญาณก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

เช่นเดียวกับ ดั๊ก ดรูรี (Doug Drury) หัวหน้าภาควิชาการบิน แห่งมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ที่ยืนยันว่าการที่ผู้โดยสารเครื่องบินจำนวนมากใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พร้อม ๆ กันจะทำให้เครือข่ายมือถือที่เชื่อมต่อกันด้วยเสาสัญญาณบนพื้นดินรับภาระมากเกินไป

ยิ่งมือถือต้องเชื่อมต่อไปยังเสาสัญญาณบนพื้นดินที่อยู่ไกลออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องส่งสัญญาณที่มีความแรงมากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นที่เชื่อกันว่าคลื่นความถี่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในสาเหตุของการตกของเครื่องบินสายการบินครอสแอร์เที่ยวบินที่ 498 ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2000 และสายการบินนิวซีแลนด์ที่ตกในเขตเมืองไครสต์เชิร์ช เมื่อปี 2003

สำหรับในกรณีหลัง ทางคณะกรรมการสืบสวนอุบัติเหตุในการคมนาคมของนิวซีแลนด์พบว่ามือถือของนักบินอาจทำให้ระบบนำทางของเครื่องบินทำงานผิดพลาด และในการสืบสวนก็พบว่านักบินใช้มือถือติดต่อกับที่บ้านจนถึงขณะเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 กรณียังถือว่าเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวจะทำให้เครื่องบินตกจริง ๆ

ความสำคัญของ ‘โหมดเครื่องบิน’

โหมดเครื่องบินของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงถือกำหนดขึ้น โดยถูกออกแบบมาเพื่อปิดการส่งสัญญาณวิทยุออกไปเชื่อมต่อกับเสาสัญญาณ

ด้าน ได วิตทิงแฮม (Dai Whittingham) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการบินของสหราชอาณาจักร ระบุว่าเราไม่รู้ว่าจริง ๆ ถึงผลกระทบที่แท้จริงของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีต่อเครื่องบิน และชี้ว่าที่ผ่านมาความเสี่ยงจากกรณีเหล่านี้มีน้อยมาก แต่การใช้โหมดเครื่องบินก็ปลอดภัยกว่า

เทคโนโลยีพัฒนามาไกลแล้วจากอดีต

ในทางตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าในปัจจุบันระบบต่าง ๆ ในเครื่องบินได้รับการพัฒนามาไกลมากแล้ว เพื่อป้องกันการรบกวนสัญญาณจากอุปกรณ์อื่น ๆ

ผลการศึกษาที่จัดทำโดยสำนักงานการบินกลางของสหรัฐอเมริกา (FAA) และ Boeing หนึ่งในบริษัทการบินใหญ่ที่สุดของโลก พบว่าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลไม่ได้ก่อปัญหาใด ๆ ต่อการบิน ยกเว้นในขั้นตอนสำคัญ (นำเครื่องขึ้นและลงจอด)

คณะกรรมการการสื่อสารกลางของสหรัฐฯ (FCC) ยังได้เริ่มพัฒนาเครื่องความถี่ที่แยกสัญญาณระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการบินและอุปกรณ์ส่วนบุคคลออกจากกัน ขณะที่ สหภาพยุโรปอนุญาตการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตบางประเทศบนเครื่องบินมาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว

ออสเตรเลียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคยออกมายืนยันในเรื่องนี้ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 สำนักงานการสื่อสารและสื่อสารมวลชนออสเตรเลีย (ACMA) มีมติว่าสัญญาณมือถือไม่รบกวนอุปกรณ์นำทางของเครื่องบิน แต่เฉพาะในกรณีที่สายการบินติดตั้งเทคโนโลยีชนิดพิเศษบนเครื่องบินเท่านั้น ถือเป็นการกรุยทางไปสู่การใช้มือถือขณะบินได้

ความเสี่ยงของ 5G

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสัญญาณ 5G ที่ใช้ในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ที่ใช้ในระบบต่าง ๆ ของเครื่องบินมาก นำมาซึ่งความกังวลว่าสัญญาณจะก่อกวนกันอีก ทำให้ทั่วโลกก็หาวิธีการเพื่อรับมือกับเรื่องนี้

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เพิ่งจะมีมติให้ประเทศสมาชิกต้องติดตั้งตัวรับส่งสัญญาณความถี่แบบ 5G บนเครื่องบิน ภายใน 30 มิถุนายน 2023 เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเปิดใช้งานสัญญาณ 5G และสัญญาณมือถือทั่วไปขณะอยู่บนเครื่องได้

ซึ่งแม้ในหลายสายการบินจะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ใช้มานานแล้ว แต่ก็ช้ามากและไม่เสถียร

ไม่ปิดมือถือบนเครื่องบินอาจมีโทษถึงจำคุก

ในหลายประเทศมีข้อบังคับด้านการบินในกรณีนี้แตกต่างกันออกไป อย่างของสหรัฐฯ มีการกำหนดข้อจำกัดของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่จีนมีการกำหนดโทษปรับและจำคุกสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเอาไว้ด้วย

สำหรับในไทยมีการกำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยใน มาตรา 8 (2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 กำหนดโทษของผู้ที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาที่ห้ามใช้ว่ามีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากเป็นการกระทำที่กระทบต่ออุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของเครื่องบิน ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เทคโนโลยีช่วยร่นเวลาบิน

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีการบินก้าวหน้ามาไกลมากแล้วจนไขข้อข้องใจว่าแท้จริงแล้วมือถือที่อยู่ในมือเราจริง ๆ ก็อาจไม่ได้มีผลกับอุปกรณ์การบินเท่าไหร่นัก

ในอนาคตอันใกล้ เราอาจสามารถไถ Twitter หรือแชตกับเพื่อนบนเครื่องบินได้อย่างสบายใจ ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลาบินอันแสนยาวนานรู้สึกสั้นลง

อย่างไรก็ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจากนี้ไปควรจะเปิดมือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนไม่สนใจคำเตือนของพนักงานต้อนรับ เพราะจนกว่าจะมีการแก้กฎหมายหรือข้อบังคับด้านการบินใหม่ รวมถึงมีความชัดเจนกว่านี้ในเรื่องเทคโนโลยี ก็ควรทำตามกฎของสายการบินไปก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง

ล่าสุดผู้เขียนบินไปยุโรป ก็ไม่มีการประกาศให้ปิดมือถือ หรือเปิด Airplane Mode แล้ว ให้ใช้ได้เต็มที่จนสัญญาณจากภาคพื้นหายไปเลยทีเดียว แต่ระหว่างบินผู้เขียนก็ยังเปิด Airplane Mode อยู่ดี เพื่อประหยัดแบตเตอร์รี่ระหว่างบิน เพราะมือถือจะได้ไม่ต้องพยายามหาสัญญาณ Cellular บนเครื่องบินครับ

ที่มา news.com.au, Britannica, NZ Herald, BBC News

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส