ก่อนหน้านี้เราได้เคยพูดถึงการเข้ามาของ ChatGPT และประเด็นที่เกิดขึ้นหลังการเข้ามาของเจ้า AI ตัวนี้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นการเข้ามาที่สะเทือนหลากหลายวงการจริง ๆ ซึ่งจากในบทความก่อนหน้านี้ เราได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า การเข้ามาของ AI นั้นเป็นเหมือนการเข้ามาของเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานของเรานั้นสะดวกมากยิ่งขึ้นได้ ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาแนะนำ 5 ทิปส์การใช้งาน ChatGPT เพื่อช่วยในการทำงานอย่างไรให้เวิร์ค และมีประสิทธิภาพมากที่สุดกัน !
แต่ก่อนที่เราจะไปดูถึงทิปส์สอนการใช้งาน ChatGPT อยากให้พึงระลึกไว้เสมอว่าสิ่งที่ ChatGPT ตอบออกมานั้นอาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจาก ChatGPT ในตอนนี้ (วันที่เขียนบทความนี้) ยังเป็นแค่พรีวิวของผลวิจัย, ข้อมูลที่ได้ยังไม่อัปเดต และคำตอบที่ได้อาจจะผิดพลาดได้ ควรนำข้อมูลไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งจะได้ผลที่ดีกว่า
ถ้าเข้าใจในคำแนะนำก่อนหน้านี้แล้ว ไปลองดูทิปส์ทั้ง 5 กัน !
ทิปส์ทั้ง 5 นี้มีอะไรบ้าง !
1. ChatGPT จดจำสิ่งที่ตอบและเพิ่มเติมตามความต้องการเราได้ !
ทิปส์แรกที่เราอยากนำมาแนะนำผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งาน ChatGPT ก็คือ ChatGPT จดจำสิ่งที่ตอบและเพิ่มเติมตามความต้องการเราได้ ! กล่าวคือ เมื่อเราพิมพ์ถามอะไรไป และให้ ChatGPT ตอบกลับมา ตัว ChatGPT จะมีการจดจำสิ่งที่เราพิมพ์ถามเอาไว้ตอนแรก และสามารถขอให้ ChatGPT ตอบคำถามต่อเนื่อง หรือเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราขอให้ ChatGPT ตอบเอาไว้แล้วได้ด้วย
อย่างเช่น ถ้าเราพิมพ์ถาม ChatGPT ให้เขียนอธิบายวิธีการนำเมล็ดกาแฟไปใช้งาน ChatGPT ก็จะบอกว่าเราจะนำเมล็ดกาแฟไปทำอย่างไรถึงจะได้กาแฟที่ดีได้ ทีนี้เราสามารถถามเพิ่มเติมได้ หรือให้สรุปสั้น ๆ ให้เราอ่านอีกรอบก็ได้เช่นกัน ด้วยการขอว่า Can you sums it up in 1 paragraph ? (ช่วยสรุปให้เหลือ 1 ย่อหน้าได้ไหม) ChatGPT ก็จะสรุปมาให้อ่านแบบสั้น ๆ ได้เลย
ส่วนถ้าเราอยากถามต่อจากเรื่องที่เราได้ถามเอาไว้ก่อนหน้า เราก็สามารถถามต่อจากคำถามก่อนหน้าได้เลย ลองอ่านจากในภาพดูได้เลย ! ในภาพเราไม่ได้เพิ่มคำว่ากาแฟในคำถามเลย ChatGPT ก็จะดูจากสิ่งที่เราถามและให้คำตอบต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับกาแฟมาให้เราได้แบบนี้เลย
ดังนั้นเวลาเราคุยกับ ChatGPT ขอให้เราถามแบบที่เราโต้ตอบกับมนุษย์ปกติได้เลย ตัว ChatGPT เข้าใจแน่นอน
2. เราสามารถขอให้ ChatGPT ออกไอเดียให้เราได้ !
โดยปกติเราอาจจะคิดว่าการพูดคุยกับ ChatGPT จะทำให้ ChatGPT ตอบคำถามเราได้แค่นั้น แต่ที่จริงแล้ว เราสามารถขอให้ ChatGPT ออกไอเดียเบื้องต้นให้กับเราได้ด้วย อย่างเช่น ถ้าเราขอให้ ChatGPT ออกไอเดียในการทำคลิปวิดีโอด้านเทคโนโลยีซักชิ้นนึง ChatGPT ก็จะออกไอเดียแบบเบื้องต้นมาให้เป็นลิสต์ไอเดียตามภาพเลย
ทีนี้ ถ้าเราใช้ทิปส์ข้อแรกมาเพื่อถามหาไอเดียที่แปลกใหม่กว่าเดิม เราก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันด้วยการถามคำถามเพิ่มเติมเข้าไป เขาก็จะให้ไอเดียที่แปลกขึ้นกว่าเดิมเพิ่มเติมได้
ซึ่งเราก็สามารถขอให้ ChatGPT อธิบายไอเดียเหล่านั้นเพิ่มเติม หรือแนะนำเพิ่มเติมตามที่เราต้องการ เพื่อเป็นไอเดียในการทำงานต่อไปได้ แม้ว่า ChatGPT จะไม่ถึงขนาดเขียนสคริปต์ให้เราแบบเต็ม ๆ แต่อย่างน้อย ChatGPT ก็จุดประกายไอเดียให้กับเราได้ไม่มากก็น้อยแน่นอน !
3. ChatGPT สามารถแบ่ง Chat ตามเรื่องที่คุยได้
ใครที่ลองทำตามมาจนถึงตรงนี้ อาจจะได้เห็นหน้าตาของ ChatGPT เวลาใช้งานแล้วแน่นอน ซึ่งด้านซ้ายของ ChatGPT จะมีแท็บขึ้นมาอยู่ ตรงนั้นเรียกว่า ‘แชต’ (Chat) ตามชื่อ ChatGPT นี่แหละ ซึ่งเราสามารถแบ่ง Chat ตามเรื่องที่เราคุยกับ ChatGPT ได้ เพื่อให้การสนทนามีความต่อเนื่อง และเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่ง ChatGPT จะตั้่งชื่อหัวข้อให้เราแบบอัตโนมัติ เมื่อเรากดที่คำว่า New Chat เราจะขึ้นแชตใหม่กับ ChatGPT ได้เลยแบบง่าย ๆ จากนั้น เมื่อเราเริ่มถามคำถามแรกไป ChatGPT จะคาดเดาหัวข้อที่กำลังสนทนาอยู่ และตั้งชื่อห้องแชตนั้น เป็นหัวข้อไว้ให้แบบอัตโนมัติ เพื่อให้เราย้อนกลับมาดูได้เลย
และด้วยความที่ เราจะใช้งาน ChatGPT ได้ เราต้องล็อกอินก่อน แปลว่าหัวข้อการสนทนาที่เราคุยเอาไว้ จะบันทึกไว้ในบัญชีของเราด้วย เวลาเรานำเอา ChatGPT ไปเปิดที่คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟนเครื่องอื่น ขอแค่เราใช้บัญชีเดิมในการเข้ามาใช้งาน ประวัติการสนทนาทั้งหมดก็จะถูกบันทึกไว้ด้วยนั่นเอง
4. เราสามารถคุยเล่นกับ ChatGPT ได้ด้วย !
ทุกข้อที่มีมาก่อนหน้านี้ จะเป็นการใช้งาน ChatGPT ในรูปแบบของการถามข้อมูล แบบมีสาระเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า ChatGPT สามารถใช้คุยเล่น ๆ เรื่องเบา ๆ ก็ได้ด้วยนะ เพราะ ChatGPT เป็นโมเดลภาษาที่จะต้องตอบคำถามที่เราถามไปให้ได้ ดังนั้นถ้าเราคุยเล่นกับ ChatGPT อย่างชวนคุยเรื่องวันนี้ไปกินอะไรมา หรือไปเที่ยวไหนมาก็ได้ หรือจะให้เขาเล่ามุกตลก ก็ทำได้เหมือนกัน !
ซึ่งการพยายามต่อบทสนทนาของ ChatGPT เรียกได้ว่าค่อนข้างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติพอสมควร (แม้ว่าจะตอบผิดเล็กน้อยในช่วงท้ายก็ตาม) แต่ครั้งหน้าที่ใครกำลังลองใช้งาน ChatGPT อยู่ อย่าลืมลองคุยเล่นกับ ChatGPT ดูนะ !
5. รู้ข้อจำกัดของ ChatGPT
อย่างสุดท้ายสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มหัดใช้ ChatGPT มาช่วยในการทำงาน เราขอแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับข้อจำกัดของ ChatGPT กันก่อน อย่างแรกคือ ChatGPT เป็นโมเดลภาษาที่มีข้อมูลถึงแค่ปี 2021 เท่านั้น และ ChatGPT ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว้ กล่าวคือ ChatGPT จะตอบคำถามตามข้อมูลที่มีถึงแค่ปี 2021 เท่านั้น ถามใหม่กว่านี้ หรือทำนายอนาคต เช่น ให้พยากรณ์อากาศ แบบนี้ก็จะตอบไม่ได้นะ
นอกจากนั้น ChatGPT ไม่สามารถเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้เราได้ เช่นถ้าเราถามว่า Android หรือ iOS ดีกว่ากัน ChatGPT จะให้ข้อมูลมาคร่าว ๆ และให้เราเป็นคนสรุปว่าสิ่งไหนดีกว่ากัน เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล โดยจะไม่ตัดสินให้นั่นเอง
และอย่างสุดท้ายคือ ChatGPT ไม่สามารถจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ เพราะ ChatGPT แม้จะมีความรู้มาก แต่ก็เหมือนเป็นคนที่มีหนังสือเล่มหนาอยู่ในมือ และสามารถเล่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือออกมาได้เท่านั้น ChatGPT ยังไม่สามารถคิดและโต้ตอบด้วยตัวเองได้
เมื่อเรารู้ข้อจำกัดเหล่านี้ การโต้ตอบกับ ChatGPT ก็จะสนุกขึ้นและได้ผลจริงมากขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งหมดนี้ถือเป็นทิปส์เล็กน้อยสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้งาน ChatGPT แบบเบื้องต้น ถ้าใครลองใช้จนชำนาญแล้ว ก็จะทำให้การทำงานของเราดีขึ้นได้ด้วย ! สำหรับใครที่สนใจอยากใช้งาน สามารถตามไปลองเล่นกันได้ที่เว็บไซต์ของ OpenAI ได้เลย !
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส