ตั้งแต่จำความได้ ถ้าจะค้นหาข้อมูลอะไร เราก็จะเปิด Google ใช่ไหมครับ หรือใครที่จำความได้นานหน่อย อาจจะเคยเปิด Yahoo.com เพื่อค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ว่าจะเคยใช้อะไรมา สุดท้ายในปัจจุบัน Google ก็คือ Search Engine อันดับ 1 ของโลก ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง Bing จาก Microsoft ไม่เห็นฝุ่น แต่การมาถึงของ AI อย่าง ChatGPT ที่ถามอะไรก็ตอบได้ กำลังกลายเป็นตัวพลิกเกมให้ Bing เข้าไปจี้ Google ได้สักที

ความพ่ายแพ้ของไมโครซอฟท์

ความแข็งแกร่งของ Google ที่ว่าค้นหาอะไรก็เจอ เป็นภาพจำมาตลอดนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2002 ที่ Google เบียดแซง Yahoo ขึ้นมาเป็นเว็บค้นหาอันดับ 1 ของโลกได้สำเร็จ

ข้อมูลจาก StatCounter ชี้ว่าปัจจุบัน Google ครองส่วนแบ่งการตลาด Search Engine ทั่วโลกถึง 93% ซึ่ง 7% ที่เหลือนั้นเป็นส่วนแบ่งของ Microsoft Bing เพียง 3% เท่านั้น โดย Google ครองส่วนแบ่งระดับนี้แบบไม่มีใครโค่นลงได้เป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ StatCounter เริ่มเก็บข้อมูลเมื่อ 2009 ส่วนแบ่งของ Google ก็อยู่ที่ 90% แล้ว

ต้องยอมรับความจริงว่าถ้าสู้กันไปแบบนี้ Bing ก็ไม่มีทางขึ้นมาตีตื้น Google ได้ ไม่ว่าไมโครซอฟท์จะใช้กลวิธีมากมายแค่ไหน อย่างการผลักดันเบราว์เซอร์ Edge ที่ใช้ Bing เป็นมาตรฐาน ซึ่งแม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของ Edge จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดอยู่ที่ราว ๆ 11% แต่สุดท้ายผู้ใช้ก็เปลี่ยนเครื่องมือค้นหาจาก Bing เป็น Google ใน Edge อยู่ดี เพราะแบรนด์ Google ด้านการค้นหานั้นแข็งแรงกว่ามาก ถึงหลัง ๆ ผลการค้นหาจาก Bing จะดีขึ้นมากแล้วก็เถอะ

Microsoft แพ้ 2 สงครามใหญ่ให้ Google มาแล้วคือสงครามเบราว์เซอร์ที่ IE แพ้ Chrome และสงครามระบบปฏิบัติการสมาร์ตโฟนที่ Windows Phone แพ้ Android ตอนนี้ไมโครซอฟท์พร้อมสู้ไม่ถอยแล้ว

เข้าสู่ยุค AI

จนเมื่อเข้าสู่ยุค AI ไมโครซอฟท์ก็มองการณ์ไกล ว่านี่แหละคือเทคโนโลยีสำคัญในอนาคต จึงวางแผนลงทุนกับ OpenAI องค์กรวิจัยเพื่อสร้าง friendly AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สนับสนุนชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2015 ก็มีผลงานน่าสนใจ ในปี 2018 ก็พัฒนา GPT เวอร์ชันแรกสำเร็จแล้ว

ตรงนี้ขอขยายความนิดครับ คำว่า GPT นั้นมาจาก Generative Pre-trained Transformer หมายถึงข้อมูลภาษาที่ถูกเทรนจากข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสร้างข้อความที่เหมือนมนุษย์ ซึ่งเราคงเห็นความสามารถของ ChatGPT จาก OpenAI ที่เลื่องชื่อระบือนาม ถามอะไรก็ตอบได้ ให้แพลนทริป ช่วยเขียนโปรแกรม สรุปเนื้อหายาว ๆ ให้อ่านสั้น ๆ ก็ได้

ในปี 2019 ไมโครซอฟท์จึงลงทุนกับ OpenAI เป็นเงิน 1 พันล้านเหรียญหรือราว 34,000 ล้านบาท ซึ่งปีเดียวกันนี้ OpenAI ได้เปิดตัว GPT-2 ด้วย และเมื่อต้นปี 2023 ไมโครซอฟท์ก็ลงลงทุนกับ OpenAI เพิ่มอีกหมื่นล้านเหรียญ หรือราว 340,000 ล้านบาทครับ

เห็นลงทุนเยอะ ๆ แบบนี้ ไมโครซอฟท์ใช้เทคโนโลยีของ OpenAI อย่างคุ้มครับ โดยเฉพาะ GPT-4 รุ่นปัจจุบันที่เปิดตัวเมื่อปี 2023 ซึ่งเพิ่มความสามารถให้ตอบได้รู้เรื่องแม่นยำกว่าเดิม ไมโครซอฟท์ก็เป็นเจ้าแรกที่เอามาใช้

Bing Chat
Bing Chat

แรงกระเพื่อมชัด ๆ หลังจากไมโครซอฟท์นำเทคโนโลยีของ OpenAI มาใช้ คือ Bing Chat ที่เปิดตัวเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งไมโครซอฟท์นำ GPT-4 มาใช้สร้างเป็นระบบแชตตอบคำถามเหมือนกับ ChatGPT แต่สามารถอ้างอิงข้อมูลจากเว็บได้ ทำให้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อค้นหาข้อมูลในปัจจุบันได้ด้วย พร้อมกันนี้ยังนำ Bing Chat ไปใส่ใน Microsoft Edge และแอป Bing ในมือถือ รวมไปถึง Bot ในห้องแชตของ Skype เพื่อเร่งให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับเทคโนโลยี AI เร็วขึ้น

ผลก็คือการใช้งาน Bing เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครับ โดยรายงานจาก Reuter ที่อ้างอิงข้อมูลถึงวันที่ 20 มีนาคม 2023 จาก Similarweb ระบุว่า จำนวนผู้เข้าใช้ Bing เพิ่มขึ้น 15.8% นับตั้งแต่เปิด Bing Chat เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ ในขณะที่ผู้ใช้ Google ลดลงประมาณ 1% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งเมื่อดูกราฟจะเห็นว่าผู้ใช้ Google มากขึ้นในช่วงวันทำงาน และลดลงเมื่อถึงสุดสัปดาห์ วนไปแบบนี้ด้วยอัตราเดียวกัน เทียบกับกราฟผู้ใช้งานของ Bing ที่เติบโตขึ้นไปสูงกว่า

นอกจากนี้ยอดดาวน์โหลดแอป Bing ยังพุ่งสูงขึ้นมาก จาก 1 แสนครั้งในช่วง 1 ม.ค. – 4 ก.พ. กลายเป็น 810,000 ครั้งในช่วง 5 ก.พ. – 11 มี.ค. 2023 แม้ว่าจะเทียบไม่ได้กับยอดโหลดแอป Google เกือบ 3 ล้านครั้งในช่วงเดียวกัน แต่ยอดดาวน์โหลดแอป Google นั้นลดลง สวนทางกับแอปของไมโครซอฟท์ที่เพิ่มขึ้นครับ

ในฝั่งโปรแกรมสำนักงาน ก็มีการเปิดตัว Microsoft 365 CoPilot เมื่อ 16 มีนาคม ที่ Words จะสามารถช่วยร่างเอกสาร หรือปรับประโยคในเนื้อหาได้, PowerPoint สามารถสร้างสไลด์จากข้อความที่พิมพ์เข้าไปได้, Outlook ช่วยสรุปเมลได้ และอื่น ๆ อีกเพียบ

นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังนำเทคโนโลยี DALL-E มาใช้สร้าง Bing Image Creator ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2023 ซึ่งเป็น AI ที่ใช้วาดรูปจาก Prompt ภาษาอังกฤษเหมือน MidJourney ที่โด่งดัง

ความเคลื่อนไหวฝั่ง Google

แน่นอนว่ากูเกิ้ลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จริง ๆ แล้วเราเริ่มเห็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของกูเกิ้ลมาตั้งแต่ปี 2020 ในชื่อ Meena ซึ่งในช่วงที่พัฒนา Meena นี้เอง ทีมพัฒนาก็ให้ผู้บริหารกูเกิ้ลอนุญาตเปิดเดโมให้บุคคลภายนอกได้ทดลองใช้ แต่ก็ถูกปฏิเสธเพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหาก AI ตัวนี้ให้คำตอบผิดพลาด เพราะเป็น Google ไม่ควรจะให้ข้อมูลผิดพลาด

Meena คือข้อความสีม่วงทางซ้าย
Meena คือข้อความสีม่วงทางซ้าย

ต่อมา Meena ก็พัฒนาเป็น LaMDA (Language Model for Dialogue Applications) ซึ่งเปิดตัวในงาน Google I/O 2021 แล้วพัฒนาต่อมาเป็น LaMDA 2 ใน Google I/O 2022 เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างที่พัฒนา LaMDA ทีมพัฒนาก็ขอให้ผู้บริหารอนุญาตให้บุคคลภายนอกได้ทดลองใช้เช่นเดิม แล้วก็ถูกปฏิเสธกลับมาเช่นเดิม ทำให้ 2 นักวิจัยหลักของทีมขอลาออกดีกว่า

และในช่วงกลางปี 2022 นี้เองที่ LaMDA ตกเป็นข่าวครึกโครม เมื่อ Blake Lemoine วิศวกรของกูเกิ้ลอ้างว่า LaMDA นั้นตื่นรู้เหมือนมนุษย์ มีจิตเหมือนเด็ก 7-8 ขวบ ซึ่งก็ถูกกูเกิ้ลสั่งพักงานและไล่ออก เพราะเผยแพร่ความลับของบริษัท

จน ChatGPT เปิดให้คนทั่วไปใช้เมื่อ 30 พ.ย. 2022 และสร้างกระแสอย่างแรง มีผู้ใช้ 100 ล้านคนหลังจากผ่านไปแค่ 2 เดือน แถมตามด้วยคอมโบ AI จากไมโครซอฟท์รัว ๆ กูเกิ้ลจึงรู้ตัวว่าท่าจะไม่ดีแล้ว
ด้วยแรงกดดัน Sundar Pichai CEO ของกูเกิ้ลจึงรีบพัฒนา AI ที่มีอยู่แบบเร่งด่วนในระดับ “Code Red” มีการย้ายทีมงานไปช่วยทีมพัฒนา AI มากขึ้น เรื่องนี้ใหญ่จน Larry Page และ Sergey Brin 2 ผู้ก่อตั้งกูเกิ้ลที่วางมือด้านงานบริหารไปแล้ว ต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อหาทางตอบโต้ ChatGPT

Google Bard จึงถูกเปิดตัวแบบด่วนจี๋ไปรษณีย์จ๋าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2023 แต่จำได้ไหมครับ Bing Chat เปิดตัววันที่ 7 ก.พ. 2023 คือจังหวะนั้น Google กำลังเปิดตัว Bard เป็นคู่แข่งกับ ChatGPT แล้ววันรุ่งขึ้นไมโครซอฟท์ประกาศว่า Bing Chat ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับ ChatGPT ออกมา

แล้ววันรุ่งขึ้นคือ 8 ก.พ. กูเกิ้ลก็จัดงานไลฟ์โชว์ความสามารถของ Bard แต่ด้วยความที่ Bard เร่งพัฒนา ทำให้มีความผิดพลาด เมื่อ Bard ดันโชว์ตอบคำถามว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb เป็นกล้องแรกที่ถ่ายดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ ซึ่งมันผิด เมื่อจบไลฟ์กระแสตอบรับโดยรวมจึงไม่ดี ทำให้หุ้นของ Google ตกลงลงไป 8% หรือมูลค่าตลาดหายไป 100,000 ล้านเหรียญ

หลังจากเหตุการณ์นี้ Sundar Pichai ก็ถูกพนักงานวิจารณ์ว่าเร่งรัด และทำงานลวกเกินไป พนักงานก็คงเซ็งที่ก่อนหน้านี้เห็นใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์เรื่อง AI มาตลอด แล้วอยู่ ๆ พอ ChatGPT ดังขึ้นมา ก็เร่งทุกอย่างจนวุ่นวายไปหมด ทำให้การเปิดตัว Bard ให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ทดลองต้องเลื่อนออกไปจากช่วงปลายเดือนก.พ. เพื่อให้พนักงานกว่า 80,000 คนของกูเกิ้ลได้ทดสอบกันภายในแบบหนัก ๆ ก่อน

สุดท้าย Google Bard จึงได้เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปในอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้เริ่มทดสอบในวันที่ 21 มี.ค. ซึ่งเราก็ได้มุดไปทดลอง Bard ในช่วงแรกตั้งแต่ยังไม่เปิดให้คนไทยใช้ ก็ได้คำตอบเกี่ยวกับแบไต๋ที่น่าสนใจ แต่ CEO ของแบไต๋คือใครนะ 555

คำตอบจาก Google Bard ในช่วงแรกที่เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้
คำตอบจาก Google Bard ในช่วงแรกที่เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้
เอ๊ะ ใครเป็น CEO ของแบไต๋นะ ไม่ใช่หนุ่ย-พงศ์สุขเหรอ
เอ๊ะ ใครเป็น CEO ของแบไต๋นะ ไม่ใช่หนุ่ย-พงศ์สุขเหรอ

นึ่จึงเป็นเหมือนสงครามที่ Google เสียเปรียบในช่วงเริ่มต้น เพราะไมโครซอฟท์ ในฐานะมวยรอง ก็ทุ่มสุดตัวเพื่อดึงผู้ใช้จากกูเกิ้ลให้ได้ หลังจากแพ้ในสงคราม Search Engine และระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ตโฟนให้กับ Google Android รอบนี้จ่ายเป็นหมื่นล้านเหรียญก็ยอมเพื่อให้ตามคู่แข่งได้ ซึ่ง AI ก็มีศักยภาพมากพอที่จะพลิกเกมได้เช่นกัน

แต่ฝั่ง Google ก็ไม่ยอมงอมืองอเท้า แม้ที่ผ่านมาจะชิว ๆ ไปหน่อย แต่ตอนนี้เรียกว่างัดเทคโนโลยีทั้งบริษัทมาสู้ พร้อมทุ่มงบจำนวนมากเพื่อให้บริการ AI

เอ๊ะ ทั้ง Microsoft และ Google ก็ลงทุนจำนวนมากเพื่อ AI แล้วใครได้เงิน คำตอบคือ nvidia ครับ ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยี GPU ที่ใช้ประมวลผล AI เป็นหลักตอนนี้ ที่ทุกบริษัท ไม่ว่าจะ OpenAI, Microsoft, Google ต่างต้องใช้ Nvidia A100 ตัวละกว่า 3 แสนบาทเป็นเบื้องหลังกันทั้งนั้น ซึ่งแต่ละบริษัทถือ A100 กันเป็นหมื่นตัว เงินทุนหลักพันล้านเหรียญ ก็ลงมาซื้อ GPU จาก nvidia นี่แหละ