ต้องบอกเลยว่า Chatbot หรือแชต AI ที่ตอบกลับมาให้เราได้แบบอัตโนมัติผ่าน Language Model หรือโมเดลภาษานั้นเกิดขึ้นมากันอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย แล้วใครจะดีกว่ากัน วันนี้ beartai ชวนทุกคนมาประชัน AI Chatbot แต่ละเจ้า ตั้งแต่ ChatGPT, Bing AI, Google Bard และ Alisa กัน ว่าเจ้าไหนทำอะไรได้บ้าง ?
![](https://assets.beartai.com/uploads/2023/05/แก้ไข4_INFO_BT_AI_Chatbot-819x1024.jpg)
เริ่มจาก ChatGPT ซึ่งเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง AI Chatbot เลยก็ว่าได้ ความสามารถหลาย ๆ อย่างของ ChatGPT นั้นสามารถพบเห็นได้ใน Chatbot ตัวอื่น ๆ เช่น การตอบคำถามต่อเนื่อง, สรุปสิ่งที่เราเขียน หรือการชวนคุยเล่นต่าง ๆ แถมยังรองรับภาษาไทยด้วย แต่เนื่องจาก ChatGPT เป็นการใช้ Language Model ล้วน ๆ ไม่ได้ต่ออินเทอร์เน็ต ทำให้ ChatGPT มีข้อมูลที่จำกัดอยู่ที่เดือนกันยายน ปี 2021 ที่ผ่านมาเท่านั้น โดยปัจจุบัน GPT (Generative Pre-trained Transformer) ใน ChatGPT นั้นเป็นเวอร์ชัน 3.5 ซึ่งถ้าใครอยากใช้เวอร์ชันใหม่อย่างเวอร์ชัน 4 ก็สามารถใช้ได้เฉพาะแบบสมัครสมาชิกรายเดือนเท่านั้น นอกจากนั้น ผู้ที่สมัครสมาชิกรายเดือน ยังสามารถเชื่อมต่อปลั๊กอินภายนอก ให้ ChatGPT ทรงพลังกว่าเดิมได้ด้วย
![](https://assets.beartai.com/uploads/2022/12/ChatGPT-Prompt-5-1024x718.png)
ต่อด้วย Bing AI ของไมโครซอฟท์ ผู้ที่ร่วมลงทุนใน OpenAI บริษัทที่เป็นผู้สร้าง ChatGPT ขึ้นมา ที่ได้นำเอาแกนหลักของ ChatGPT ซึ่งก็คือ GPT เข้ามาประกอบกับการค้นหาในแบบของ Bing ทำให้ Bing AI นั้นสามารถตอบคำถามได้ในรูปแบบเดียวกันกับ ChatGPT แต่สามารถต่ออินเทอร์เน็ต ค้นหาใน Bing เพื่อนำเอาข้อมูลที่ใหม่กว่ามาตอบเราได้ แถมยังใช้ GPT เวอร์ชัน 4 ที่ ChatGPT ต้องเสียเงินเพื่อจะใช้งานได้อีกด้วย ! แต่จะมีข้อสังเกตตรงที่ Bing AI นั้นจำกัดการถามตอบอยู่ที่ 200 คำถามต่อวัน โดยสามารถถามได้ 20 คำถามต่อ 1 การสนทนา ถ้าครบแล้วต้องล้างการสนทนาทั้งหมดออก เนื่องจากยังเป็นโปรเจกต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และต้องใช้งานผ่าน Microsoft Edge เท่านั้น (เพราะ Bing เป็นของไมโครซอฟท์นั่นเอง)
![](https://assets.beartai.com/uploads/2023/05/Bing-AI-Example-1024x506.png)
อีก 1 Chatbot ที่คนจับตามอง และกำลังค่อย ๆ กลับมาช้า ๆ อย่าง Google Bard ที่เป็นความพยายามสร้าง Chatbot ของ Google เอง จึงได้ออก Google Bard ออกมาในเวอร์ชันทดลอง แต่ก็มีความสามารถที่ไม่แพ้รุ่นพี่เจ้าอื่น ๆ เลย แถมล่าสุดในงาน Google I/O 2023 ก็ได้มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมเพียบเลย ! เช่น การสร้างภาพจากคำที่กำหนดผ่าน Adobe Firefly, เชื่อมต่อปลั๊กอินภายนอก, หรืออย่างตอนนี้ที่เริ่มจะรองรับภาษาญี่ปุ่น และเกาหลีแล้ว แถมยังประกาศว่าจะรองรับภาษาไทยในอนาคตด้วย แต่ด้วยความที่ Google Bard ยังค่อนข้างใหม่ และใช้โมเดลภาษาของ Google เองอย่าง PaLM 2 ทำให้ยังรองรับการถามคำถามที่ซับซ้อนแบบรุ่นพี่ทั้ง 2 ยังไม่ได้ ต้องรอดูกันต่อไปว่า Google bard จะพัฒนาไปในทางไหน และจะสู้คนอื่นได้หรือไม่ เพราะหลาย ๆ ฟีเจอร์เด็ดที่เพิ่มเข้ามา ตอนนี้ยังใช้งานไม่ได้นะ !
![](https://assets.beartai.com/uploads/2023/05/Screenshot-2566-05-11-at-16.15.10-1024x640.png)
และสุดท้าย Alisa (อลิสา) ‘ผู้ช่วยส่วนตัว’ ที่เป็นผลงานของคนไทย ซึ่งจากหน้าเว็บไซต์นั้น อลิสาเองก็เป็น AI Chatbot ที่อยู่บนพื้นฐานของ GPT เหมือนกับทั้ง 3 เจ้าก่อนหน้านี้ แต่มีการรองรับภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติมากกว่า, สามารถตอบคำถามแบบต่อเนื่องได้, ใช้งานได้ฟรีแบบจำกัดจำนวนพรอมต์ (Prompt) ที่ส่งไปได้ต่อเดือน และใช้ง่าย ๆ ผ่าน Line@ แถมสร้างภาพจากคำที่เราใส่ไปได้ด้วย ! แม้จะทำได้จำกัดที่ 50 Credit ถ้าใช้แบบฟรีก็ตาม แต่ว่า Alisa ยังมีข้อสังเกตที่การใช้งาน ยังมีความลำบากอยู่บ้าง เช่นต้องใช้ /Q เพื่อถามคำถามต่อเนื่อง และข้อมูลที่ทางผู้พัฒนาบอกว่าอัปเดตถึงปี 2023 นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ทุกอย่าง เป็นต้น
![](https://assets.beartai.com/uploads/2023/04/Alisa_AI_Simple_04-1024x576.jpg)
สุดท้ายแล้ว แต่ละ Chatbot ทั้ง ChatGPT, Bing AI, Google Bard และ Alisa ต่างก็มีจุดเด่น และข้อสังเกตของตัวเอง ดังนั้นใครที่กำลังเลือกใช้อยู่ ต้องเข้าใจถึงจุดเด่น และข้อจำกัดของแต่ละตัวก่อนจะเลือกใช้กันด้วยนะ ! ทั้งนี้ใครที่สนใจอยากลองไปคุยกับ Chatbot AI เหล่านี้ก็ตามแต่ละเจ้ากันไปได้เลย !
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส