ทุกวันนี้เราสามารถจดโดเมนชื่อเว็บภาษาไทยได้ ยกตัวอย่างเช่น นอกจากเราจะจดโดเมน www. Example .com ก็ยังสามารถจดโดเมน www. ชื่อไทย .com ได้เช่นกัน เพราะมีการให้บริการโดเมนแบบ Internationalized Domain Name (IDN) หรือถ้าไม่มีการจดชื่อไทย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถพิมพ์สิ่งที่ต้องการและจะไปค้นหา Google ให้ทันทีเลยก็ได้เช่นกัน ซึ่งรองรับทั้งคำภาษาไทยและอังกฤษแบบไม่มีดอทอยู่แล้ว
แต่ไม่ทราบว่ายังมีใครพอจำได้หรือไม่ เมื่อย้อนไป 15-20 กว่าปีก่อน เรามีสิ่งที่เรียกว่า “นิภา ชื่อไทยไม่มีดอท”
ยุคนั้นยังไม่สามารถจดโดมเมนเว็บภาษาไทยดังที่กล่าวมาได้ และช่อง Address bar ที่ไว้พิมพ์ชื่อเว็บที่ต้องการ ยังไม่รองรับภาษาไทย และยังไม่ผนวกบริการค้นหาหรือ Search Engine อย่าง Google มาด้วย แม้จะพิมพ์อังกฤษก็ยังต้องมีดอท

Address bar พิมพ์ได้แค่ URL โดเมนภาษาอังกฤษมีดอท และใช้เป็นช่องค้นหาไม่ได้ พิมพ์ไทย/อังกฤษไม่มีดอทไม่ได้นะ

จะค้นหาด้วย Google ก็ต้องเข้า www.google.co.th หรือ google.com กันเอง หรือกดปุ่ม Search ใช้ MSN Search กันไป ค่อยใส่คำค้นภาษาไทย/อังกฤษ ตามต้องการ
ก็เลยมีบริการจากบริษัทที่ชื่อว่า “นิภา เทคโนโลยี” ใช้ชื่อในการประชาสัมพันธ์ว่า “นิภา ชื่อไทย ไม่มีดอท” ซึ่งเขาก็มีการให้จดโดเมนชื่อภาษาไทย โดยไม่ต้องมีดอทนั่นเอง


แล้วต่างจากโดเมนปกติหรือการค้นหาจาก Google ด้วยคำค้นอย่างไร? อย่างที่บอกไว้ว่าสมัยนั้นยังไม่รองรับชื่อภาษาไทย และช่อง Address bar ยังไม่รวมกับ Search Engine จะพิมพ์อะไรกระทั่งชื่ออังกฤษก็ต้องมีดอท ทำให้ทาง Nipa ได้ใช้วิธีการไปจับมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกือบทุกรายในไทย ทำงานในระดับ DNS Server คือ เพิ่มฐานข้อมูล “ชื่อไทย ไม่มีดอท” หรือ “ชื่ออังกฤษ ไม่มีดอท” ลงไป เมื่อผู้ใช้พิมพ์คำเหล่านี้ ซึ่งตอนนั้นความจริงไม่รองรับ แต่เมื่อ DNS Server ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พบว่ามีการขอเข้าถึงสิ่งเหล่านั้น ก็จะไปเทียบกับฐานข้อมูลของ Nipa และฐานข้อมูล Nipa ก็จะไปเชื่อมกับชื่อเว็บภาษาอังกฤษมีดอทนั่นเอง จึงแสดงผลหน้าเว็บมาให้เรา แต่ถ้าเราพิมพ์ผิดหรือว่าไม่มีการจดชื่อไม่มีดอทนั้น ๆ ก็จะส่งต่อไปหน้าเว็บแสดงถึง “สิ่งที่คุณคาดว่าจะค้นหา เช่นมีอะไรที่ขึ้นต้นด้วยคำเดียวนี้หรืออาจจะเกี่ยวข้องกันบ้าง” (คุ้น ๆ ไหมครับ มีความใกล้เคียงกับที่ Search Engine อย่าง Google ทำได้ในตอนนี้เลย)

ซึ่งต่างจากสมัยปัจจุบัน ถ้าเราพิมพ์ชื่อเว็บภาษาไทยมีดอท ตัว Browser ก็จะวิ่งผ่าน DNS Server ตามความเป็นจริงคือชี้ไปที่ IP Server ของโดเมนนั้นเหมือนกับชื่อภาษาอังกฤษมีดอทเลย แล้วแสดงผลเว็บให้เราได้เห็น แต่ถ้าเราพิมพ์ชื่อภาษาไทยหรืออังกฤษแบบไม่มีดอท ก็จะไปค้นหาให้ใน Search Engine อย่าง Google ให้โดยเราไม่จำเป็นต้องเข้าเว็บ Google ก่อนนั่นเอง
ดังนั้นระบบของ Nipa จึงไม่สามารถใช้งานได้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้ร่วมมือ หรือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศ ทาง Nipa จึงออก Toolbar ให้ไปติดตั้งลงใน Browser สำหรับคนที่อยากใช้แต่ไม่สามารถใช้ได้จากข้อจำกัดข้างต้นด้วย (จริง ๆ ตอนหลัง Google, Yahoo! ก็ออก Toolbar ของตัวเองเพื่อให้ค้นหาจาก Google, Yahoo! ได้โดยไม่ต้องเข้าเว็บของทาง Google, Yahoo! ก่อนเช่นกัน)


โดยเทคโนโลยีของ Nipa นั้นแม้จะเป็นบริษัทคนไทย แต่ก็ได้ใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับ Netpair ที่ใช้บริการแนวเดียวกันนี้ในประเทศญี่ปุ่น (ชื่อญี่ปุ่นไม่มีดอท)
ทำไมปัจจุบันถึงหายไป และ Nipa ตอนนี้ไปทำอะไร?

เพราะการมาของ Internationalized Domain Name (IDN) หรือ โดเมนเนมอักขระท้องถิ่น ได้กำเนิดขึ้น เช่น สมชาย.com หรือกระทั่ง สมศรี.ไทย และมีหลายผู้ให้บริการที่รองรับการจดแบบนี้ แต่สมัยก่อนการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมถูกจำกัดให้ จดด้วยตัวอักขระ ASCII เท่านั้น จึงเป็นที่มาว่าทำไมเมื่อก่อนถึงทำไม่ได้จนต้องใช้เทคนิคแบบ Nipa นั่นเอง
แต่เอาจริง ๆ สิ่งนี้ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากว่าตั้งแต่ Google ออก Google Chrome เป็น Browser ของทางบริษัทเองครั้งแรก ได้รวมช่อง Address bar ไปกับช่องค้นหา ทำให้เมื่อพิมพ์อะไรภาษาอะไรโดยไม่มีดอท ก็จะเปิด Google ค้นหาให้ทันที โดยไม่ต้องเข้าเว็บ Google เอง ถ้าสะกดผิดก็มักจะแก้ให้เราด้วย


และต่อมาทาง Browser อื่น ๆ ก็เริ่มทำแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะ Browser บนคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน นั่นก็เป็นที่มาทำให้เทคโนโลยีอย่าง “นิภา ชื่อไทย ไม่มีดอท” ของทาง Nipa ได้หายไปตามกาลเวลา แต่ตัวบริษัทเขายังอยู่ ปัจจุบันไปเป็น Digital Agency แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และผู้ให้บริการ Cloud Service อย่างเต็มตัว

โดยมีการระบุถึง “นิภา ชื่อไทย ไม่มีดอท” ในหน้าประวัติของบริษัทฯ

ที่มา: Nipa.co.th, jirayu.in.th, กึ่งยิงกึ่งผ่าน ที่ Bloggang, เว็บ nipa.co.th เก่าที่ archive.org เก็บไว้, thnic.or.th
และ