งาน Thailand Zocial Awards 2017 นั้นมีเหล่าผู้บริหารและผู้ให้บริการโซเซียลเน็ตเวิร์คชื่อดังของไทยขึ้นให้ความรู้ รวมถึงวิสัยทัศน์ของธุรกิจมากมายนะครับ เว็บแบไต๋จึงขอสรุปข้อมูลเหล่านี้มาให้อ่านกันครับ

สรุปตัวเลขเครือข่ายสังคมออนไลน์ในไทย

คุณพเนิน อัคววิภาส จาก OBVOC ได้ขึ้นมาให้ภาพรวมตัวเลขที่น่าสนใจของเครือข่ายสังคมออนไลน์ในประเทศไทยครับ

facebook มีผู้ใช้ 47 ล้านคนในไทย โตขึ้นจากปีก่อน 15% ครองผู้ใช้ในไทยไป 71% ของผู้ใช้ในประเทศ โดยผู้ใช้ในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งเวลาที่คนไทยใช้มากที่สุดคือ 18.00 – 23.00 และใช้วันเสาร์มากกว่าวันอาทิตย์

ส่วนคนใช้ facebook messenger มี 26 ล้านคนในไทย เป็นอันดับที่ 5 ของโลก (โลกใช้ 724 ล้านคน)

Instagram คนไทยใช้ 11 ล้านคน โต 41% จากปีที่ผ่านมา คนโพสต์ช่วงวันเสาร์อาทิตย์เยอะ เพราะพ่อค้าแม่ค้าจะใช้หนักวันเสาร์-อาทิตย์ แต่คนไทยโพสต์วิดีโอแค่ 4% ที่เหลือเป็นรูปทั้งหมด

Twitter ผู้ใช้ 10.1 ล้านคนในไทย (จาก 5.3 ล้าน เพิ่มขึ้น 70% ในปีเดียว) เป็น active user 3 ล้านคน กลุ่มใหญ่คือวัยรุ่น อาจเพราะพ่อแม่เริ่มเล่นเฟซบุ๊กเยอะ ทำให้วัยรุ่นหลบมาเล่นทวิตเตอร์ และศิลปิน-ดาราจำนวนมาก โดยเฉพาะดาราเกาหลีกันใช้ โดยคนไทยใช้มากที่สุดวันพฤหัส-ศุกร์-เสาร์ เพราะว่ามีไลฟ์ของเกาหลี และให้โพวตผ่านทวิตเตอร์

คนให้ reaction กับเนื้อหาของโพสต์มากกว่า เช่น โพสต์นั้นเป็นเรื่องเศร้าก็จะได้หน้า sad ไม่ใช่คนกดเศร้าเพราะภาพลักษณ์ของแบรนด์

พูดคุยกับตัวแทนสื่อโซเซียล LINE, Google, Twitter และ Pantip

ตัวแทนจากโซเซียลเน็ตเวิร์คชั้นนำของไทย

LINE โดยคุณอริยะ พนมยงค์

แน่นอนว่าตอนนี้ LINE บริการอันดับ 1 ของไลน์คือแซท แต่ไลน์ก็รุกบริการด้านเนื้อหามากขึ้น บริการอย่าง LINE TV หรือ LINE Today ก็เริ่มได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่าง LINE Today มีคนเข้าใช้บริการอยู่ 27 ล้านคน เพจวิวพันล้านต่อเดือน

ที่น่าสนใจคือ 80% ของผู้สร้างเนื้อหาใน LINE TV มาจากทีวี เนื้อหาที่ไม่เหมาะบน TV ก็มานำเสนอบน LINE TV เช่นซีรีส์ I hate you, I love you ตอนแรกแบรนด์ไม่ชอบ เพราะมันดาร์กไป แต่พอกระแสดีขึ้น แบรนด์ก็สนใจลงโฆษณากับเนื้อหาลักษณะนี้

สติกเกอร์ แบรนด์ลงทุนเท่ากัน แต่ผลตอบรับไม่เท่ากัน เพราะความใสใจเรื่องดีไซน์

นอกจากนี้ LINE ยังมีบริการ Business Connect ที่เปิดช่องทางใหม่ๆ ให้แบรนด์สามารถสร้างบริการบนไลน์เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ใช้ได้ เช่นบริการธนาคารบนมือถือ SCB Connect หรือการเรียก Uber ผ่านไลน์ได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปเพิ่ม

และอนาคตของ LINE คือ Chat bot และ beacon เพื่อกระตุ้นโฆษณาในฝั่งออฟไลน์ เชื่อมมาสู่โลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น

Google โดยคุณไมเคิล จิตติวาณิชย์

ยูทูปประเทศไทยเพิ่งครบ 3 ขวบ ตอนนี้ผู้สร้างที่มีคนตามมากกว่าล้านหรือที่เรียกว่า Gold Button มี 55 ช่องในไทยแล้ว สอดคล้องกับเทรนด์การเติบโตตอนนี้กลับกลายเป็นสมาร์ททีวีเติบโตเยอะขึ้นแทนมือถือ

ส่วนภาพในอนาคตของกูเกิ้ลตอนนี้คือ AI First ทำให้ผู้โฆษณาสามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น

Twitter โดยคุณดวงพร พรหมอ่อน จาก AdParlor พาร์ทเนอร์ของทวิตเตอร์

ผู้ใช้ Twitter ในไทย 65% มีอายุต่ำกว่า 34 ปี โดยกลุ่ม 16-24 ปี มีอยู่มากที่สุดในทวิตเตอร์ ซึ่งติดตามศิลปินเป็นหลัก ตอนแรกเป็นดาราเกาหลี และตอนนี้ดาราไทยเริ่มเข้ามาเยอะขึ้นแล้ว เช่นเป็ก-ผลิตโชค แต่ทวิตเตอร์ยังลงโฆษณาเองในไทยไม่ได้ ต้องลงผ่านตัวแทน

Pantip โดยคุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์

Pantip เปิดห้องใหม่คือ The Old Siam เจาะกลุ่มเนื้อหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การเติบโตอาจจะไม่ได้หวือหวา แต่ก็มีเนื้อหาที่ดี สมาชิกอายุสูงสุด 87 ปี

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเนื้อหาแบบ Advertorial โดยพันทิปเอง ให้ทีมพันทิปไปจัดทำเนื้อหาให้แบรนด์ เช่นการรีวิวร้านอาหาร มีรูปแบบที่ร้านอาหารไม่ต้องซื้อรีวิว แค่สนับสนุนอาหาร แล้วพันทิปจะนัดสมาชิกไปกินกันเพื่อสัมภาษณ์มาลงเว็บ และพันทิปกำลังจะลงโฆษณาได้ด้วยตัวเองผ่านทาง OPPA Ad network ที่เป็นเครือข่ายของเว็บไทย ซึ่งจะเป็นโฆษณาที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ในเครือข่ายได้

แผนการณ์ในอนาคตของพันทิปคือจะมี Expert Account บัญชีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เช่นหมอ วิศวกร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้คำตอบ รวมถึง Expert brand ก็ทำได้ นอกจากนี้ยังเตรียมส่งแอป Pantip ฉบับ official ลงมือถือ และมีแพลทเปิดเว็บใหม่เป็นบล็อค และสร้าง Chat bot ในไลน์เพื่อคุยกับน้องเพี้ยน