รู้หรือไม่ว่าปลั้กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟไหม้ และอันตรายต่อชีวิตต่างๆ อีกมากมาย ซึ่ง สมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจึงได้ออกมาตรฐาน มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ชุดใหม่ออกมาและบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมคุณภาพปลั้กพ่วงที่ขายในประเทศไทยทั้งหมด จนในช่วงแรกที่มาตรฐานนี้บังคับใช้ก็มีดราม่าอยู่บ้าง เมื่อมีบางแบรนด์ต้องถอนตัวจากตลาดไปในตอนนี้ เพราะผลิตภัณฑ์ยังไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานใหม่ รวมถึงปลั้กรางที่จะเข้ามาตรฐานนี้ก็จะมีราคาสูงขึ้นด้วย ตามคุณภาพวัสดุที่ต้องสูงขึ้นเพื่อให้เข้าเงื่อนไข

อภิจิณ โชติกเสถียร เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

anitech ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลั้กพ่วงรายใหญ่ของไทยจึงจัดเสวนา “IOT กับมาตรฐาน มอก. และอนาคตปลั๊กไฟ โดย anitech” โดยได้รับเกียรติจากคุณอภิจิณ โชติกเสถียร เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนและผู้ค้าถึงมาตรฐานปลั้กไฟใหม่ พร้อมข้อบังคับทางกฎหมาย

มาตรฐานรางปลั้กไฟใหม่เป็นอย่างไร

(ซ้าย) พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์, โธมัส-พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด, พิชญ์สินี ประดับพลอย นิติกรชำนาญการ, สมชาย พันธ์ยา นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ

คุณสมชาย พันธ์ยา นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ ตัวแทนภาครัฐ เล่าให้ฟังถึงมาตรฐานปลั้กไฟใหม่หรือ มอก.2432-2555 ว่ามีเงื่อนไขการผลิตที่รัดกุมเพื่อหลายอย่างเพื่อความปลอดภัยคือ

  • ต้องใช้สายไฟที่มีพื้นที่หน้าตัดอย่างน้อย 0.75 mm² ขึ้นไปเท่านั้นสำหรับกระแสระดับ 10 A โดยกำหนดให้สายไฟยาวได้ 5 เมตรสำหรับข้อกำหนดต่ำสุด และถ้ามีพื้นที่หน้าตัดสายไฟ 1.0 mm² จะสามารถมีความยาวสายไฟได้สูงสุด 30 เมตร (ตามตารางด้านบน) ซึ่งปลั้กรางราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานเมื่อก่อนใช้กันแค่สายไฟที่มีหน้าตัดเล็กกว่านี้ (เพื่อประหยัดต้นทุน) ทำให้รับกระแสได้น้อย และอาจทำให้เกิดการลุกไหม้ได้
  • เต้าเสียบต้องมีม่านชัตเตอร์ เพื่อป้องกันนิ้วหรือของที่จะตกลงรางปลั้กจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
  • ถ้ามีปลั้กรางมีเกิน 3 เต้า ต้องมีตัวตัดกระแสไฟฟ้าแบบ Thermal cutoff เพื่อป้องกันกระแสเกินจนร้อนจัดแล้วลุกไหม้
  • ตัวเต้าเสียบต้องได้มาตรฐานปลั้กแบบใหม่ เสียบแล้วไม่หลวม
  • หัวปลั้กเสียบมีฉนวนที่โคนของปลั้ก เพื่อป้องกันสายไฟ ซึ่งตอนนี้ก็มีมาตรฐานปลั้กไฟใหม่ของไทยให้ทำตามแล้ว
  • ต้องติดสลากบอกให้ชัดเจนว่าปลั้กรางนี้สามารถรับกระแสได้เท่าไหร่
  • ตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องแสดงเครื่องหมายมอก. ให้ชัดเจนด้วย
  • ส่วนตัวสวิทซ์ที่รางปลั้ก อันนี้มาตรฐานใหม่ไม่ได้บังคับว่าต้องมี จะไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีสวิทซ์บนปลั้กราง ตัวสวิทซ์ก็ต้องได้มาตรฐานมอก. ด้วย

คุณสมชายย้ำว่ามาตรฐานมอก. รางปลั้กไฟใหม่นี้ไม่มีการยกเลิกแน่นอน ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะดราม่าว่ามาตรฐานใหม่ทำให้ราคาของปลั้กรางเพิ่มขึ้นแล้วทำให้คนไม่ซื้อ ก็มากดดันให้ยกเลิกมาตรฐาน เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามีผู้ผลิตที่สามารถทำตามมาตรฐานใหม่ของไทยได้ ในเมื่อมีผู้ทำได้แล้ว จะยกเลิกเพื่อยกประโยชน์ให้ผู้ผลิตที่ไม่ปรับตัวทำไม

ถ้าผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายปลั้กรางที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. ใหม่จะมีโทษอย่างไร

Play video

ประเด็นนี้คุณพิชญ์สินี ประดับพลอย นิติกรชำนาญการ อธิบายว่ากฎหมายบังคับกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายเท่านั้น คนซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานไปไม่มีโทษ แค่มีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน

โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมอก. ใหม่จะมีโทษปรับตามระดับอัตรา เช่นเจอครั้งแรกปรับ 5,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 10,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 30,000 บาท ซึ่งถึงเจอจนถึงครั้งที่ 5 จะถูกดำเนินคดีซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 1 เดือน แต่ทั้งหมดนี้ก็อาจเทียบไม่ได้กับชื่อเสียงของบริษัทห้างร้านที่จำหน่ายของตกมาตรฐาน เมื่อถูกจับก็เสียชื่อเสียงและความเชื่อมั่นจากลูกค้าไป

กรณีนี้มีข้อยกเว้นอยู่ตรงที่สินค้าที่ผลิตหรือนำเข้าก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่กฎหมายบังคับใช้ จะยังจำหน่ายได้อยู่จนกว่าสินค้าในสต็อกจะหมด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไปตรวจเจอ ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันว่าผลิตหรือนำเข้ามาก่อนวันที่ 24 ก.พ. จริงๆ

ซึ่งคุณพิชญ์สินีก็แนะนำผู้จำหน่ายว่าก่อนจะรับสินค้ามาขาย ก็ต้องขอดูใบอนุญาตก่อน รวมถึงมาตรฐานมอก. บนตัวสินค้า และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจก็ต้องขอดูบัตรเจ้าหน้าที่ก่อน หรือถ้าไม่แน่ใจก็สามารถโทรเช็คกับทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้

มุมมองของผู้ผลิตปลั้กราง มาตรฐานใหม่ผลิตยากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น แต่กัดฟันเพื่อความปลอดภัย

โธมัส – พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด

คุณโธมัส – พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ Anitech เล่าให้ฟังว่า มาตรฐานใหม่ก็ผลิตได้ยากขึ้น ตอนแรกที่ประกาศใช้มาตรฐานนี้มีการคำนวณราคาสินค้าออกมา ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากราคาเดิม แต่ทีม R&D ก็ใช้เวลาพัฒนาปรับปรุงการผลิตให้ได้มาตรฐานโดยที่ต้นทุนไม่สูงขึ้นมากนัก ทำให้ตั้งราคาได้ในระดับที่ตลาดน่าจะยอมรับอยู่ ก็ยอมรับว่าได้กำไรลดลง แต่ก็ทำตามเพราะมีกติกาที่ชัดเจน ทุกคนต้องทำเหมือนกัน

ซึ่ง anitech ตั้งเป้าเป็นแบรนด์ชั้นนำด้าน IoT ในไทย โดยคุณโธมัสวางแผนให้ผลิตภัณฑ์ 20% ของบริษัทเป็นสินค้า IoT ที่สามารถเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ (ตอนนี้ anitech มีสินค้ามากกว่า 1,000 SKU)

ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะเริ่มจำหน่ายรางปลั้กไฟ IoT รุ่นใหม่ที่สามารถควบคุมการทำงานผ่านแอปได้ พร้อมสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน eSIM ได้ ก็ถือเป็นปลั้กราง IoT รุ่นแรกของโลกที่ผ่านมาตรฐานมอก. ใหม่ และกำลังพัฒนาให้สั่งงานผ่าน Google Assistant และ Alexa ได้ด้วย

ที่ผ่านมายอดขายคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ ในปี 2560 อยู่ที่ 300 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนชิ้นอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านชิ้น เติบโตจากปี 2559 อยู่ที่ 25% งบประมาณการตลาดปีนี้ (2561) อยู่ที่ 45 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10% ของรายได้ประมาณการณ์ในปีนี้ โดยงบประมาณในส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นใน เรื่องของการพัฒนานวัตกรรมของสินค้าในครึ่งปีหลัง บุกตลาดปลั๊ก IOT หรือ Smart plug เป็น Product Highline และตั้งเป้ายอดขายปลายปี 2561 ไม่ต่ำกว่า 450 ล้านบาท ซึ่งสามารถผลักดันยอดขายขึ้นมากกว่าปี 2560 ถึง 150 ล้านบาท กินพื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดปลั๊กในประเทศไทยอยู่ที่ 30% นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการที่จะก้าวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอันดับ 1 ของไทย และช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ภายในปี 2563 อีกด้วยโธมัส - พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด