AIS Digital Intelligent Nation คืองานสัมมนาที่ช่วยเสริมแกร่งให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภายภาคหน้าที่ซ้ำยังมีเซคชั่นครึ่งหลังของงานอย่าง ACADEMY for THAIS ซึ่งความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเพราะได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำระดับโลกทั้งไทยและเทศ มาร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ตรงถึงการก้าวผ่านวิกฤติ Digital Disrupt พร้อมเผยเคล็ดลับความคิด จนสามารถพลิกเกมชิงความได้เปรียบกลับมาเดินหน้าได้อย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จ

Welcome Speech โดย คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม

คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลของทาง AIS ได้กล่าวเปิดช่วง ACADEMY for THAIS พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าใน 2-3 ปีมานี้คนไทยมีการพูดถึง digital disruption หรือการถูกดิจิตัลแทรกแซงมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายบริษัทได้มองถึงการยกระดับคนไทยให้มีความเข้าใจและรับมือได้อย่างลึกซึ้ง

น้อมรับ ท้าทาย และมองหาโอกาสในยุค Digital Disruption

ดิจิทัลคือสังคมของการเปิด สังคมแห่งการแชร์

หลังจากนั้นในลำดับถัดมา คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม (IBM) ประเทศไทย จำกัด ก็ได้ขึ้นเวทีมาให้ความรู้แลกเปลี่ยนมุมคิดในหัวข้อ “Embracing Digital Disruption : Challenges and Opportunities” อันเป็นการนำเสนอกรณีศึกษาทั้ง 4 ที่ทาง IBM สรุปมาให้ ได้แก่

1) Dancing with Disruption เปลี่ยนแปลงการทำงานของตัวเอง หรือการยอมรับและอยู่กับมันด้วยการสร้างความสมดุลของสิ่งที่ตัวเองเป็นและกำลังจะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างจากบริษัท ปตท. จำกัด ที่ใช้ Watston ปัญญาประดิษฐ์จากทาง IBM ในการทำนายการซ่อมบำรุงล่วงหน้า (predictive maintenance) ว่าเครื่องยนต์ในโรงงานมีโอกาสเสียหายหรือต้องการซ่อมบำรุงมากน้อยเพียงใด

2) Trust in the journey รับฟังผลตอบรับจากผู้ใช้งานและนำมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง อาทิ DHL ได้เพิ่มการขนส่งด้วยโดรนให้กับผู้ใช้งานที่ห่างไกลจากเขตเมือง

3) Orchestrating the future ทำอย่างไรถึงจะคิดถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น Beam บริษัทผลิตแปรงสีฟันที่สร้างแอปในเก็บข้อมูลการแปรงฟันของลูกค้า เพื่อสร้างช่องทางให้กับทันตแพทย์และบริษัทประกันเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจของตน (เช่นหากแอปตรวจพบว่าสุขภาพฟันของผู้ใช้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีก็จะได้ส่วนลดค่าประกัน เป็นต้น)

4) Innovation in motion นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อให้ธุรกิจตอบรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น Woodside ได้นำความรู้และทักษะการขุดเจาะแท่นนำมั่นกลางทะเลของพนักงานไปใส่ใน Watson ปัญญาประดิษฐ์จากทาง IBM เพื่อให้มันเรียนรู้และช่วยเหลืองานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เหตุใด Netflix ถึงสะเทือนวงการบันเทิงโลกได้!?

วิทยากรท่านถัดมาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเขาคือ Mitch Lowe ผู้ร่วมก่อตั้ง Netflix ที่มาพร้อมหัวข้อ “How Netflix Disrupted the Entertainment World” และแม้จะไม่สามารถมาบรรยายได้กับตัว แต่เขาก็ได้ฝากบันทึกวิดีโอที่เป็นประโยชน์มาให้รับฟังกัน

บันทึกวิดีโอของ Lowe ได้อธิบายว่า Netflix คือแพลตฟอร์มที่พยายามแก้ปัญหาให้กับลูกค้า ที่ในแรกเริ่มพวกเขาถือกำเนิดมาจากบริษัทเปิดให้เช่าดีวีดีที่ส่งแผ่นไปให้ถึงบ้าน ก่อนที่ในภายหลังจะเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มบริการสตรีมมิ่งวิดีโอ ซึ่งความแตกต่างระหว่าง Netflix และเจ้าอื่นคือ ความเข้าใจผู้ชม ไม่ว่าจะการพยายามทำให้สามารถรับชมซีรีส์จากที่ไหนก็ได้ผ่านอุปกรณ์พกพา, มีฟีเจอร์ในการรับชมวิดีโอตอนต่อในทันที และเป็นผู้คิดค้นคอนเซปต์ของการยกซีรีส์ทั้งซีซั่นให้ผู้บริโภครับชมได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องตามติดแบบรายสัปดาห์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันคู่แข่งของทาง Netflix มีเพียงสิ่งเดียว คือ ”ความง่วง”

และในช่วงท้ายสุดนั้น Lowe ก็ได้จำแนกกุญแจสู่ความสำเร็จของ Netflix ออกมาเป็น 3 หลักด้วยกัน ได้แก่ People, Culture และ Leadership

People (บุคลากร) พวกเขาไม่ได้วัดความคุณภาพพนักงานจากความขยัน แต่ดูจากประสิทธิภาพของงานที่ออกมา, ต้องกระตือรือร้นตลอดเวลา หมั่นหาแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาฝีมือ และที่สำคัญต้องไม่ A***ole (แปลเอาเองละกันนะครับประโยคหลังสุด ฮ่าๆ)

Culture (วัฒนธรรมในหน่วยงาน) Netflix เป็นองค์กรที่มอบความยืดหยุ่นให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกเขาถือคติอย่างกรายๆ ว่างานที่ดีย่อมออกมาจากพนักงานที่สมบูรณ์พร้อม อาทิ การไม่จำกัดวันพักร้อนให้หยุดกี่วันก็ได้ตามใดที่งานสำเร็จ, พวกเขาไม่ได้สนใจว่าพนักงานทำงานที่ไหน หากสนแค่พวกเขาต้องทำงานจริงๆ

Leadership (สร้างความเป็นผู้นำ) ทัศนะคติคือสิ่งที่สำคัญ และองค์กรต่างๆ ควรจะปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามยุคสมัย เพราะไม่มีที่จะปลอดภัยในธุรกิจของตัวเองไปตลอดกาล (ยกตัวอย่างจาก ร้านเช่าวิดีโอ Blockbuster, แบรนด์ขายฟิล์มกล้อง Kodak ฯลฯ) ซึ่ง Netflix คำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง จะทำอย่างไรให้ประสบการณ์ของลูกค้าดีขึ้น

“เดินธุรกิจอย่างไรเมื่อโลกไร้พรมแดน”

หลังจากที่ฟังแนวทางวิธีการจากวิทยากรคนไทยในต่างแดนและ Netflix กันไปเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงคราวของหลากผู้บริหารองค์กรของไทยมาร่วมกันนำเสนอวิธีการรับมือปรับตัว และนำเทคโนโลยีไปใช้ได้อย่างไรในหัวข้อ “เดินธุรกิจอย่างไรเมื่อโลกไร้พรมแดน” ที่ได้รับเกียรติจาก คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลกรุ๊ป, ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), คุณมารุต ชุ่มขุนทด CEO & Founder Class café, คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค Head of Service Application & Network Development, AIS โดยที่มีผู้ประกาศข่าวเศรษฐกิจคนดังคุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ความคิดเห็นจากคุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลกรุ๊ป)

  • ทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งจะได้การยอมรับเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเพราะการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งวัฎจักรเทคโนโลยีพร้อมจะเข้ามาและออกในทุกอุตสาหกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้นักธุรกิจควรมีแนวคิด 3 X คือ
    Exponential การต้องเติบโตเรียนรู้ตลอดเวลา, Exclusive ควรมีสิ่งที่มีแค่เรา และ Execution การทำให้เกิดขึ้นจริง
  • ธุรกิจต้องปรับตัวและทำความเข้าใจมากที่สุดในเรื่อง Data
  • กลุ่มคนวัย Baby boomers น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะรูปแบบและวิธีการทำงานในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปจากแบบเดิมที่พวกเขาเคยเจออย่างชัดเจน เลยอาจจะปรับตัวและเรียนรู้ได้ยาก ซึ่งอาจเกิดกรณีร้ายแรงคือถูกแทนที่ได้หากไม่ธุรกรรมต่างๆ งานพวกนี้เครื่องจะเข้ามาแทนได้ นักวิเคราะห์ก็จะสู้เครื่องไม่ได้ (Machine Learning) ซึ่งไม่มีความแอบแฝงในข้อมูลด้วย และข้อมูลสะอาดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ฯลฯ

ความคิดเห็นจากผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ (ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล: Depa)

  • ความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัลนั้นสำคัญมาก, ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือพนักงานหลายองค์ยังตามไม่ทัน
  • ควรมีบริษัทตั้งบริษัทเอกชนเข้ามาดูแล Data ให้กับทางภาครัฐ​ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (แต่น่าเสียดายที่มีคนไม่เห็นด้วย)
  • ตอนนี้ภาครัฐบาลกำลังจัดทำ Cyber Security Law (กฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์) แต่ไทยยังขาดมาตรฐานความปลอดภัยของ Smart Device ต่างๆ ที่อุปกรณ์ IoT เก็บข้อมูลออกไป
  • ประชาชนคาดหวังกับรัฐว่าจะทำเร็วเหมือนเอกสาร ซึ่ง depa ก็ทำงานบน cloud, paperless แล้ว ต้องปรับตัวให้เร็ว

ความคิดเห็นจากคุณมารุต ชุ่มขุนทด (CEO & Founder Class café)

  • Startup มีอาวุธเป็นเทคโนโลยีและความกล้าที่จะแหวกแนวคิด แต่สิ่งที่กีดกั้นเรามากที่สุดคือแนวคิดจากคนสมัยก่อน
  • SME เป็นองค์กรที่สามารถใช้งาน Big Data ได้ดีกว่าองค์กรใหญ่ โดยยกตัวอย่างด้วย Class Cafe เอง ที่ใช้ AI Recognition (เทคโนโลยีจดจำใบหน้าด้วยปัญญาประดิษฐ์) เพื่อให้พนักงานจดจำลูกค้าได้ดีขึ้น ระบบแนะนำได้ว่าชอบกินอะไร ให้บาริสต้าเอาไปนำเสนอได้

ความคิดเห็นจากคุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค (Head of Service Application & Network Development, AIS)

  • องค์การโทรคมนาคมต้องปรับตัวให้ทันผู้ใช้งาน เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่ก่อนลูกค้าจะเดินเข้ามาหาหรือพาร์ทเนอร์จะเข้ามาที่ AIS เอง แต่กลายเป็นว่าในปัจจุบันได้ติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ตแทน และระบบ Cloud เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้และมันรวดเร็วมาก มันทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน อาทิ
    บริการของ LINE ที่เปลี่ยนรูปแบบโปรแกรมแชท,  facebook ก็เปลี่ยนโซเชี่ยล, Grab ก็เปลี่ยนรูปแบบการใช้แท็กซี่ ฯลฯ
  • องค์กรใหญ่ๆ ต้องเรียนรู้จากการล้ม และปรับตัวให้ทัน ไม่ควรหยิ่งทะนงในจุดยืน

จริงอยู่ที่ Digital Disruption เป็นยุคอันใกล้ที่อาจจะดูน่ากลัว แต่หากเราสามารถปรับตัวและเรียนรู้ได้ทันท่วงที พวกเราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากวิกฤตนี้ในการส่งเสริมให้แบรนด์หรือองค์กรของตนเติบใหญ่และไปในทิศทางทีดีขึ้นได้ ซึ่งทาง AIS ก็พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในผู้ช่วยเหลือให้พวกเราอยู่รอดในยุคสมัยนี้ครับ