เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา #beartai ได้เดินทางไปงาน TECNO Mobile Global Summit 2019 ที่ New Delhi เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ก็ได้สัมผัสกับประสบการณ์การใช้ชีวิตของคนที่นี่ในระดับหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าแตกต่างกับประเทศไทยในหลาย ๆ ด้านทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ สภาพการจราจร วิถีชีวิต “อินเทอร์เน็ต” ตลอดจน “ตลาดโทรศัพท์มือถือ”
ซึ่งในบทความนี้ #beartai ได้วิเคราะห์เพื่อหาดูว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ “อินเดียกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของมือถือสบายกระเป๋า” ผ่านปัจจัย 5 ข้อ ดังนี้
1) ระหว่างการเดินทางไปที่สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของอินเดีย “Red Fort” ผมสังเกตเห็นว่า วิถีชีวิติส่วนใหญ่ของที่นี้ที่ถึงแม้จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ แต่คนยังคงเข้าไม่ถึง “เทคโนโลยี” สักเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่แทบไม่ได้ใช้มือถือ หรือถ้าใช้ก็ไม่ได้เน้นเรื่องของแบรนด์กันเท่าไรนัก ผมสังเกตเห็นว่ามีมือถือหน้าตาแปลก ๆ และมีแบรนด์ที่เราไม่รู้จักเต็มไปหมด ซึ่งน้อยมากที่จะเห็นมือถือแบรนด์คุ้นเคยในไทย
โดยเฉพาะยานพาหนะหรือ “รถยนต์” ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่รถเก่า ๆ สภาพผ่านการเจิมมาอย่างน้อย 1 ครั้ง แทบจะหารถใหม่ ๆ ไม่ได้เลย แถมการขับขี่ก็แย่สุด ๆ พร้อมจะบีบแตรใส่กันตลอดเวลา ขับแทรก เลี้ยวตัดหน้า สลับเลนไปมา คือเรื่องธรรมดาที่เห็นได้ตลอดทาง (Tesla หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติน่าจะคิดหนัก หากจะเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศนี้)
และในด้านสินค้าต่าง ๆ ก็มีราคาที่แบ่งเกรดอย่างชัดเจนระหว่างสินค้าข้างทางกับสินค้าในห้างฯ และเราแทบจะไม่เห็นคนอินเดียมาเดินห้างเท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวซะมากกว่า
ระหว่างการเดินชม Red Fort นั้น ผมจะเห็นพวกเขาใช้มือถือถ่ายรูปเพื่อน ถ่ายเซลฟีตนเอง ถ่ายวิดีโอ แต่แทบจะไม่เห็นการใช้งานโซเชียลมีเดียหรือเล่นเกมเลย หรือพูดง่าย ๆ คือไม่เห็น “สังคมก้มหน้า” ใน “อินเดีย” เลยก็ว่าได้ อาจเนื่องมาจากด้านอินเทอร์เน็ตไร้สาย 4G ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างที่ควรจะเป็น
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้ทีมงานปวดหัวหนักมาก – มากที่สุด เพราะระหว่างการเดินทาง อินเทอร์เน็ตแทบใช้งานไม่ได้เลยแม้จะอยู่กลางเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยวก็ตาม หรือถ้าใช้งานได้ก็ได้ความเร็วไม่เกิน 100 Kbps ซึ่งถือว่าช้ามาก ๆ รวมไปถึงอินเทอร์เน็ตที่โรงแรมก็ยังไม่เสถียรนัก มีความหน่วงอยู่บ้าง (แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้) ซึ่งบอกเลยว่า อินเทอร์เน็ต 4.5G หรือ LTE ที่ไทยเสถียรกว่าเยอะมาก ๆ แบบเทียบกันไม่ติด แถมใช้งานได้ครอบคลุมทั้งประเทศอีกด้วย (ใครบ่นว่าอินเทอร์เน็ตบ้านเราห่วย ลองเดินทางออกนอกประเทศดูครับ คุณจะเปลี่ยนความคิดไปตลอดกาล)
ซึ่งในงานเปิดตัว Phantom 9 นั้น โดยปกติถ้าเป็นในประเทศไทย จะสนใจเรื่องของสเปก กล้อง และแบรนด์ เป็นหลัก แต่ที่อินเดียนั้น สิ่งที่คนว้าวที่สุดกลับเป็น “กล้องหน้า” และ “ราคา” เท่านั้น แทบไม่สนใจอย่างอื่นเลย ขนาดตอนที่ MC เชิญให้ขึ้นไปถ่ายรูปบนเวที ยังเอามือถือตัวเองออกมาถ่ายเซลฟี ตัวเองบนเวทีอ่ะ คิดดู!
จากผลสำรวจของ Hootsuite เผยว่า ตัวเลขของผู้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านมือถือเพียง 21% เท่านั้น แต่ประเทศอินเดียมีประชากรอยู่ถึง 1.3 พันล้านคนทำให้หลายแบรนด์เล็งเห็นช่องทางที่จะเข้ามาทำตลาด โดยเฉพาะสินค้าด้านมือถือ ซึ่งสามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ง่าย โดยเฉพาะมือถือระบบ Android ที่ปัจจุบันรองรับภาษาอินเดียแบบ 100% และด้วยราคาที่ “จับต้องง่าย” และ “ถ่ายรูปสวย” แค่นี้คนก็พร้อมที่จะซื้อมาลองใช้งานแล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์ผ่านมุมมองจากการเดินทางมาประเทศอินเดียของผม ณ เมืองหลวง “New Delhi” เท่านั้นนะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส