ปี 2019 นี้กำลังจะกลายเป็นความทรงจำของทุกคนแล้วนะคะ แล้วในความทรงจำของแบไต๋ล่ะ เราคิดว่า 5 ข่าวสำคัญที่ส่งผลกระทบกับเรามีอะไรบ้าง มาเริ่มกันที่อันดับ 5 เลย
5. จุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต (ที่ดี) จากดาวเทียม
แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โทรศัพท์ผ่านดาวเทียมอย่าง Iridium แต่เรายังไม่เคยมีอินเทอร์เน็ตที่ดีผ่านดาวเทียมค่ะ เพราะข้อจำกัดของเทคโนโลยี แต่ในปีนี้ก็เริ่มเห็นการแข่งขันที่ชัดเจนในธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร เมื่อบริษัท SpaceX ของ Elon Musk ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นโครงการ Starlink อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่เริ่มยิงดาวจิ๋วสำเร็จ 2 ครั้งในปี 2019 คือเมื่อเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้เรามีดาวเทียมในโครงการ Starlink มากกว่า 100 ดวงอยู่บนท้องฟ้าแล้ว
เป้าหมายของโครงการ Starlink คือมีดาวเทียมสื่อสารมากกว่าหมื่นดวงอยู่บนท้องฟ้าในวงโคจรระดับต่ำเพื่อให้รับ-ส่งข้อมูลได้เร็วไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ตบนพื้นโลก และเมื่อโครงการสำเร็จ มีดาวเทียมกระจายไปอยู่ทั่วท้องฟ้า ทุกพื้นที่บนโลก ไม่ว่าจะกลางป่าเขาหรือกลางทะเลก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ค่ะ คือนี้เรื่องในอนาคตที่กำลังจะเกิดในทศวรรษต่อไป แต่เริ่มต้นแล้วในปี 2019 นี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่ StarLink โครงการเดียว ยังมีโครงการอย่าง OneWeb หรือโครงการ Hongwan จากจีนด้วยค่ะ
4. ความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนไทยและคนทั่วโลก
เรื่องนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนัก แต่เกี่ยวข้องกับแบไต๋โดยตรงเลย คือ หนุ่ย พงศ์สุข บอสของพวกเราจริงจังกับเรื่องนี้มาก ขนาดที่พนักงานต้องเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง กินน้ำก็เลิกใช้หลอดกันแล้ว เราจึงยินดีที่ปี 2019 เป็นปีที่คนไทยและคนทั่วโลกหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
ถ้ามองในระดับโลกคงต้องบอกว่า How Dare You จากน้อง Greta Thunberg นี่ก็ทำให้ผู้นำทั่วโลกหน้าสั่นเรื่องสิ่งแวดล้อมกันไปเป็นแถว ส่วนถ้ามองในประเทศไทย ความสูญเสียพะยูนน้อย น้องมาเรียม ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เร่งให้กระแสรักษาธรรมชาติ ลดโลกร้อนของไทยเราร้อนแรงกว่าทุกปี
ในปี 2019 ห้างร้านต่าง ๆ ในไทยเริ่มแจกถุงพลาสติกน้อยลง เริ่มมีช่องจับจ่ายซื้อของโดยไม่แจกถุงพลาสติกมากขึ้น และในวันที่ 1 มกราคม 2020 นี้ร้านค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทยก็จะเลิกแจกถุงพลาสติกแล้ว เพื่อผลักดันให้ผู้ซื้อเตรียมถุงผ้ามาจับจ่ายซื้อสินค้ากัน ประเทศไทยในปี 2020 ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปค่ะ
3. YouTube ยุคปฏิรูป
YouTube เป็นบริการที่ใกล้ชิดกับคนไทยหลายคนยิ่งกว่าช่องทีวีในโทรทัศน์อีกนะคะ เมื่อยูทูบมีความเปลี่ยนแปลง มันก็เลยจะสะเทือนคนไทยอยู่หน่อย ๆ ประเด็นใหญ่ของ YouTube ในปี 2019 คือการปรับนโยบายวิดีโอที่เกี่ยวกับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีตามกฎหมาย COPPA (Children’s Online Privacy Protection Act) ของอเมริกา ที่ผู้สร้างวิดีโอต้องระบุให้ชัดเจนว่าคลิปไหนเป็นคลิปสำหรับเด็ก เพื่อควบคุมรูปแบบโฆษณา การคอมเมนต์ และเนื้อหาให้เหมาะสม ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ YouTube ตกลงกับหน่วยงานการค้าของสหรัฐ (FTC) หลังจากเสียค่าปรับกว่า 5,200 ล้านบาทไปแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านักแสดงเด็กจะไม่สามารถแสดงในคลิป Youtube ได้ หรือช่องยูทูบเด็กจะต้องถูกปิดนะคะ Youtube แค่ทำให้ถูกต้องตามกฏหมายเพื่อปกป้องเด็กมากขึ้นนั่นเอง
และอีกเรื่องใหญ่ในปี 2019 ที่น่าจะถูกใจพ่อยก-แม่ยกของยูทูป คือการเปิดให้บริการ Youtube Premium และ Youtube Music ในไทยอย่างเป็นทางการ เปิดโอกาสให้พวกเราเสียเงินเพื่อหลบโฆษณามหาศาลในระบบของยูทูบได้อย่างถูกต้อง แถมเล่นคลิปต่อเนื่องแม้ออกจากแอปก็ทำได้ และยังใช้งานบริการดนตรีของ Youtube ได้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้พวกเราก็พร้อมเพย์อยู่แล้วใช่ไหม
2. ปีแห่งบาดแผลของ Facebook
Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของโลก เมื่อยิ่งอยู่สูง ก็ยิ่งหนาว ยิ่งเก็บข้อมูลผู้ใช้ทั่วโลก ก็ยิ่งต้องรับผิดชอบเยอะ ปีนี้ Facebook ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากความมั่นใจในเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่พังทลายจากคดีของ Cambridge Analytica ในปี 2018 และในช่วงเดือนกรกฎาคมคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐ (Federal Trade Commission หรือย่อว่า FTC) เจ้าเดียวกับที่ปรับ Youtube ในข่าวใหญ่อันดับ 3 ของเรา ก็สั่งปรับเฟซบุ๊กกว่า 155,000 ล้านบาทจากกรณีที่ไม่สามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้ในกรณี Cambridge Analytica (นี่แค่ Youtube กับ Facebook รัฐบาลสหรัฐก็ได้เงินไปมากกว่า 160,000 ล้านบาทแล้วนะเนี่ย ไม่เห็นแบ่งให้คนไทยที่เป็นผู้ใช้บ้างเลย)
ซึ่งในกรกฎาคม 2019 เดือนเดียวกันนี้เฟซบุ๊กก็ได้เปิดตัว Libra ความทะเยอทะยานครั้งใหญ่ของบริษัทที่หวังคุมโลกการเงินดิจิทัลของโลก ด้วยสกุลเงินคลิปโตใหม่ที่ไม่อิงกับรัฐบาลไหน ๆ ในโลก แน่นอนว่า Libra กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงการเมืองและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่ประเทศใหญ่-น้อยก็คงไม่ยอมให้ Libra เข้ามามีเอี่ยวในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ง่าย ๆ จนพันธมิตรที่เริ่มก่อตั้งอย่าง PayPal, eBay, Mastercard, Visa พากันถอนตัวออกไป ก็เรียกว่าเป็นงานเหนื่อยของเฟซบุ๊กที่จะพลักดัน Libra ต่อไปจริง ๆ
ถัดมาในช่วงเดือนสิงหาคม 2019 เฟซบุ๊กก็เจอประเด็นปัญหาความเป็นส่วนตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อถูกจับได้ว่าให้พนักงานถอดเสียงสนทนาของผู้ใช้ที่ใช้งานผ่าน Facebook Messenger เพื่อฝึก AI แม้ว่าจะมีเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมอย่าง Google หรือ Apple ที่โดนประเด็นนี้ไปด้วยเหมือนกัน แต่จากบาดแผลเรื่องความเป็นส่วนตัวเดิมของเฟซบุ๊ก ก็ทำให้ผลกระทบรุนแรงกว่าเจ้าอื่น ๆ เอ๊ะ หรือจะเรียกว่าเจ็บจนชินดีนะ
1. สงครามการค้าอเมริกา-จีน ตัวเร่งของจุดเปลี่ยนโลก
ข่าวใหญ่ในโลกเทคโนโลยีที่ยืดเยื้อยาวนานมาเกินครึ่งปี นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Donald Trump ของอเมริกาประกาศคำสั่งฉุกเฉินต้านการคุกคามเทคโนโลยีจากจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้า อเมริกา-จีนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 จนส่งผลกระทบกับบริษัทจีนที่ใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาอยู่โดยเฉพาะ Huawei ที่โดนเรื่องนี้เข้าไปเต็ม ๆ ซึ่ง ผลิตภัณฑ์อย่าง Huawei Mate 30 Pro ก็เป็นตัวแทนของสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะสมาร์ตโฟนรุ่นนี้กลายเป็นสมาร์ตโฟนที่ไม่มีเทคโนโลยีจากอเมริกาเลย แสดงให้เห็นศักยภาพของจีนและพาร์ตเนอร์นอกอเมริกาที่สามารถสร้างสมาร์ตโฟนระดับนี้ออกมาได้ แต่การขาดบริการจาก Google ภายในเครื่อง ก็เป็นจุดตายที่ทำให้ผู้ซื้อลังเลในตัวสมาร์ตโฟนรุ่นนี้เช่นกัน
สงครามการค้าของ 2 ประเทศมหาอำนาจนี้น่าจะผ่านจุดต่ำสุดกันมาแล้ว หลังจากผู้นำของทั้ง 2 ชาติได้เปิดโต๊ะเจรจากัน และค่อย ๆ ผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างกันลง แต่สงครามครั้งนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าสหรัฐอเมริกานั้นยังมีเขี้ยวเล็บจัดการกับชาติอื่น ๆ มากขนาดไหน แม้ไม่ได้เปิดสงครามกันด้วยอาวุธ แต่ใช้มาตรการทางการค้าก็ส่งผลไปทั่วโลกแล้ว และในขณะเดียวกัน เราก็เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน ที่กลายเป็นช่วงโชว์ของว่าจีนสามารถพัฒนาอะไรขึ้นมาได้บ้างในประเทศของตน โดยเฉพาะเรื่อง 5G ที่จีนเป็นผู้นำโลกในตอนนี้
แต่เรื่องนี้ยังไม่จบนะคะ ในปี 2020 เรายังจะได้เห็นกระบวนการถอดถอน Donald Trump ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี และจีนก็ประกาศว่าจะเลิกใช้เทคโนโลยีต่างชาติในหน่วยงานของรัฐภายใน 3 ปี ซึ่งก็เป็นหนึ่งในแผน Made in China 2025 ที่รัฐบาลวางแผนให้จีนก้าวพ้นสถานะโรงงานของโลก ให้กลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำสมัยของโลกแทน
เราจึงอาจมองว่าสงครามการค้าครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้จีนก้าวขึ้นสู่พี่ใหญ่ของโลก และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทั้งโลกหลังจากนี้ไปจริง ๆ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส