จากความสำเร็จของการปล่อยและเชื่อมต่อยาน Crew Dragon เข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station; ISS) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า แล้วในอดีตที่ผ่านมา นาซาเคยใช้ยานของตนลำใดส่งคนขึ้นไปในอวกาศกัน และเพราะล้มเหลวหรือจึงเลิกไป มาไขคำตอบด้วยบทความนี้กันครับ

การขนส่ง ‘คนและของ’ ของสหรัฐฯ ด้วยยานของนาซา ก่อนหน้า SpaceX

ในอดีตหากพูดถึงกระสวยอวกาศของสหรัฐอเมริกา จะหมายถึงเครื่องบินอวกาศที่สร้างขึ้นโดยองค์การนาซา (NASA) ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบการขนส่งอวกาศ (Space Transportation System; STS) กระสวยอวกาศลำแรกนำมนุษย์ทะยานจากฐานขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อปี ค.ศ. 1981 และดำเนินการขนส่งมนุษย์อวกาศและพัสดุเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 30 ปี 

ภารกิจการนำส่งนี้มีทั้งการนำชิ้นส่วนของสถานีอวกาศนานาชาติ ขึ้นไปประกอบการซ่อมแซมและดูแลกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (Chandra X-Ray Observatory) อีกทั้งยังมีส่วนช่วยซ่อมและส่งดาวเทียมกลับคืนสู่วงโคจร รวมถึงส่งยานสำรวจไปยังดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์ ตลอดจนภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กระสวยอวกาศของสหรัฐฯ มีทั้งหมด 5 ลำด้วยกัน ได้แก่

  1. โคลัมเบีย (Columbia) – ระเบิดระหว่างกลับสู่พื้นโลกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2003
  2. ชาเลนเจอร์ (Challenger) – ระเบิดระหว่างการขึ้นสู่อวกาศ 28 มกราคม 1986
  3. ดิสคัฟเวอรี (Discovery)
  4. แอตแลนติส (Atlantis)
  5. เอนเดฟเวอร์ (Endeavour)

รวมใช้ในภารกิจทั้งสิ้น 135 ภารกิจ โดยขนส่งมนุษย์เป็นจำนวน 355 คน เดินทางรวมเป็นระยะทางกว่า 804,670,000 กิโลเมตร (หรือประมาณ 500 ล้านไมล์) และใช้เวลามากกว่า 1,300 วัน ในวงโคจร เทียบท่า ณ สถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย (Russia’s Mir space station) 9 ครั้ง และเทียบท่า ณ สถานีอวกาศนานาชาติมากกว่า 35 ครั้ง

เครื่องบินบรรทุกพิเศษ 747 กำลังบรรทุก กระสวยอวกาศ Columbia จาก Palmdale รัฐแคลิฟอร์เนียไปยัง Kennedy Space Center รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2001
เครื่องบินบรรทุกพิเศษ 747 กำลังบรรทุก กระสวยอวกาศ Columbia จาก Palmdale รัฐแคลิฟอร์เนียไปยัง Kennedy Space Center รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2001
กระสวยอวกาศ Discovery กำลังลงจอดหลังเสร็จสิ้นภารกิจ  STS-124
กระสวยอวกาศ Discovery กำลังลงจอดหลังเสร็จสิ้นภารกิจ STS-124
ยาน Atlantis ขณะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเมียร์ ในภารกิจ STS-79
ยาน Atlantis ขณะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเมียร์ ในภารกิจ STS-79

กระสวยอวกาศประกอบด้วยหลายส่วน ส่วนที่คนเรียกว่า ‘กระสวย’ (Shuttle) แท้จริงคือ ยานอวกาศ หรือยานโคจร (Orbiter) ที่เป็นส่วนบรรทุกคนหรือพัสดุ มีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘เพย์โหลด’ (Payloads) โดยมีเครื่องยนต์หลักเป็นส่วนหนึ่งของยาน นอกจากตัวยานแล้ว แต่ละกระสวยยังมี แสตก (Stack) หรือส่วนที่ใช้ช่วยขับเคลื่อนอีกสองส่วนคือ แทงค์ด้านนอก (External Tank) หรือแทงค์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ สีส้ม และจรวดผลักดัน (Solid rocket boosters) อีกสองอัน ซึ่งเป็นแทงค์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่ส่งแรงผลักดันในกระสวยทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากฐาน  องค์ประกอบทั้งหมดนี้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือแทงค์ด้านนอก ซึ่งถูกออกแบบให้เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศก่อนตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในการปล่อยยานแต่ละครั้ง

กระสวยอวกาศ Endeavour ที่ฐานปล่อย ซึ่งจะถูกวางตั้งยึดติดกับแทงค์ด้านนอก (สีส้ม) และจรวดผลักดัน (สีขาวขนาบข้าง)
กระสวยอวกาศ Endeavour ที่ฐานปล่อย ซึ่งจะถูกวางตั้งยึดติดกับแทงค์ด้านนอก (สีส้ม) และจรวดผลักดัน (สีขาวขนาบข้าง)

‘Endeavour’ ยานขนส่งประวัติศาสตร์ มากกว่า ‘ความพยายาม’ ก็คือ ‘ความ (มุ่งหวังให้) สำเร็จ’ 

เพื่อแทนที่กระสวยอวกาศ Challenger ที่ประสบกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งระเบิดออกหลังทะยานสู่ท้องฟ้าเพียง 73 วินาทีหลังออกจากฐาน Endeavour จึงถูกสร้างขึ้น และนับเป็นกระสวยอวกาศลำสุดท้ายที่นาซาส่งขึ้นไปในอวกาศ ในยานมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ หลายอย่างที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปในระหว่างการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นกลไกการบังคับเลี้ยวที่ทันสมัยขึ้น การอัปเกรดระบบประปาและไฟฟ้าภายใน ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น และรางลากที่ช่วยลดการสึกหรอของเบรกและยางของกระสวย และยังมีอีกหลายนวัตกรรมที่ถูกเพิ่มเข้าไปในยานระหว่างช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติหน้าที่

Challenger ขณะออกจากฐานในวันเกิดเหตุหายนะ
Challenger ขณะออกจากฐานในวันเกิดเหตุหายนะ
Challenger ระเบิดหลังจากขึ้นสู่ท้องฟ้าเพียง 73 วินาที
Challenger ระเบิดหลังจากขึ้นสู่ท้องฟ้าเพียง 73 วินาที

เพื่อตั้งชื่อให้กระสวยลำใหม่สุดไฮเทคนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงจัดการประกวดชื่อกระสวยอวกาศขึ้น และนับเป็นครั้งแรกที่ให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันนี้ด้วย โดยเด็ก ๆ เหล่านี้ ได้รับคำแนะนำให้ลองนำเสนอชื่อที่มีรากฐานมาจากยานหรือเรือสำรวจในอดีต จากนั้น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 ประธานาธิบดีจอร์จ บุชก็ได้ประกาศชื่อที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งชื่อนั้นก็คือ ‘Endeavour’ ที่มีความหมายว่า ‘ความพยายาม’ นั่นเอง

นอกจากความหมายตรงตัวที่ดีเยี่ยม Endeavour ยังตั้งตามชื่อเรือที่กัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้ชำนาญการเดินเรือและนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ใช้สำรวจดินแดนตามคำมอบหมายของกองทัพเรืออังกฤษและราชสมาคมด้วย โดย 98 ชีวิตบนเรือนั้น มีนักวิทยาศาสตร์และศิลปินจำนวน 11 คน นำเอาความรู้มหาศาลกลับสู่เกาะอังกฤษ

ภาพวาดเรือ Endeavour
ภาพวาดเรือ Endeavour
โดย แซมูเอล แอคกินส์ (Samuel Atkins)

เป้าหมายหลักของการสำรวจนี้คือ การสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) ที่เกาะตาฮิติ ข้อมูลนี้ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณระยะห่างจากโลกไปยังดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น 

ความสำเร็จของการสำรวจในครั้งนี้ ยังครอบคลุมไปถึงการจัดทำแผนที่ของนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย การนำทางในแถบ Great Barrier Reef นอกจากนี้ ยังค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่จำนวนมาก ทำให้ได้ข้อมูลจดบันทึกเพิ่มเติม ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์มากมายตามมา จึงไม่แปลกเลยที่ชื่อนี้จะเหมาะสมอย่างที่สุด ที่จะฟื้นคืนกำลังใจในการไป (อวกาศ) ต่อของชาวอเมริกาไว้ได้ และคว้าชัยเป็นชื่อของกระสวยอวกาศลำใหม่ (ในตอนนั้น) ที่เป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในที่สุด

นานาภารกิจแห่งความสำเร็จของ ‘Endeavour’

จากความพยายามในการสร้างยานและปรับปรุงระบบภายในอยู่หลายปี ในที่สุด กระสวยอวกาศ Endeavour ก็ทะยานออกจากฐานครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1992  ในภารกิจ STS-49 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อซ่อมแซมและปล่อยดาวเทียมสื่อสาร นามว่า INTELSAT VI กลับคืนสู่วงโคจร

ลูกเรือสามคนของ Endeavour ได้บันทึกภาพ INTELSAT VI ด้วยมือในภารกิจแรกนี้
ลูกเรือสามคนของ Endeavour ได้บันทึกภาพ INTELSAT VI ด้วยมือในภารกิจแรกนี้

แม้ว่าการจับสัญญาณดาวเทียมในภารกิจนี้ไม่ราบรื่นอย่างที่คาดหวังไว้ แต่ลูกเรือก็สามารถทำให้ภารกิจลุล่วงไปได้ผ่านการเดินในอวกาศ (Spacewalks) หรือการปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ อย่างต่อเนื่อง 4 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในห้วงเวลานั้น เพราะการเดินในอวกาศหนึ่งครั้งในนั้นถือเป็นการเดินที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่ได้รับการบันทึกมาก่อนหน้า และปัจจุบันถือเป็นความยาวอันดับ 2 ของโลก โดยเวลาที่ว่ายาวนานถึง 8 ชั่วโมงกว่า! (อันดับที่ 1 ณ ปัจจุบัน เป็นการเดินในอวกาศในภารกิจ STS-102 ที่ใช้เวลายาว 8 ชั่วโมง 56 นาที มากกว่าในภารกิจ STS-49 เพียง 17 นาที)

แค่เพียงภารกิจแรก Endeavour ก็ฉายภาพของความรุ่งเรืองอย่างเจิดจรัสแล้ว และนั่นก็นำมาซึ่งภารกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามอีก 25 ภารกิจที่ตามมา

หนึ่งในภารกิจหลักของ Endeavour ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ STS-61 ภารกิจแรกที่เดินทางไปยังกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 ภารกิจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงานของกระจกหลักของกล้อง ระหว่างดำเนินภารกิจ มีการติดตั้งองค์ประกอบหลายอย่างเพื่อแก้ไข ‘การมองเห็น’ หรือ ‘ทัศนวิสัย’ ของกล้อง ซึ่งเป็นส่วนที่มักถูกบรรยายว่าเป็น คอนแทคเลนส์หรือแว่นตาของกล้อง และหากขาดส่วนนี้ไปกล้องฮับเบิลก็จะไม่สามารถบันทึกภาพสวย ๆ ให้เราได้ชมกันอย่างทุกวันนี้ 

นักบินอวกาศกำลังซ่อมแซมระบบทัศนวิสัยของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในภารกิจ STS-61
นักบินอวกาศกำลังซ่อมแซมระบบทัศนวิสัยของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในภารกิจ STS-61

นอกจากนี้ Endeavour ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องเดินทางไปยังสถานีอวกาศอยู่หลายครั้ง อย่างภารกิจ STS-88 ที่ลูกเรือได้นำชิ้นส่วนสัญชาติอเมริกาชิ้นส่วนแรกที่ชื่อว่า Unity Module เข้าไปประกอบกับสถานีอวกาศนานาชาติ หรือภารกิจ STS-100 ที่ขนส่งแขนและมือของหุ่นยนต์ Canadarm2 หรือ STS-123 ที่ได้นำชิ้นส่วนแรกของ Kibo Module ของญี่ปุ่น และแขนของหุ่นยนต์ Dextre ขึ้นไป

สำหรับภารกิจสุดท้ายของ Endeavour เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 เป็นภารกิจขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงชิ้นส่วนแขนหุ่นยนต์ Dextre ที่เคยนำขึ้นไปติดตั้งในภารกิจก่อนหน้า ถือเป็นการปิดฉากตำนานการขนส่งด้วยกระสวยอวกาศสัญชาติสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จและสวยงามสมกับความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในครั้งสุดท้าย Endeavour ก็ได้เวลาปลดเกษียณ มีการลำเลียงยานใหญ่ยักษ์ขนส่งไปตามท้องถนน เพื่อเดินทางไปยัง ศูนย์วิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Science Center) อันเป็นที่พักพิงสุดท้าย ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่และความน่าภาคภูมิใจของมวลมนุษยชาติได้ในระยะประชิด

ภาพในนิทรรศการที่ California Science Center แสดงให้เห็นถึงความใหญ่ยักษ์ของ Endeavour ขณะขนส่งไปตามท้องถนน
ภาพในนิทรรศการที่ California Science Center แสดงให้เห็นถึงความใหญ่ยักษ์ของ Endeavour ขณะขนส่งไปตามท้องถนน
Endeavour ที่จัดแสดงอยู่ ณ  California Science Center แต่ขณะนี้ปิดไม่ให้เข้าชมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด
Endeavour ที่จัดแสดงอยู่ ณ California Science Center แต่ขณะนี้ปิดไม่ให้เข้าชมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด

จาก Endeavour สู่ Crew Dragon และการเดินทางสู่อวกาศในอนาคต

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการขนส่ง ก็ใช่ว่ากระสวยอวกาศในรูปแบบเดิม ๆ จะอยู่ยั่งยืนยงตลอดไป การสร้างและปรับปรุงกระสวยอวกาศให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอนั้นใช้งบประมาณมหาศาล รัฐบาลอเมริกาซึ่งนำโดยประธานาบดี จอร์จ บุช ที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น จึงประกาศหยุดและยกเลิกภารกิจกระสวยอวกาศไป และได้แถลงว่าจะกลับไปอวกาศอีกครั้งเมื่อมีการจัดสรรหางบประมาณในส่วนนี้ได้ในอนาคต

งบประมาณที่จำกัดนี้เองที่นำมาสู่ทิศทางการใช้ ‘สิ่งที่มีอยู่’ นาซาจึงหันไปพึ่งการขนส่งในอวกาศด้วยยาน Soyuz ของรัสเซีย และด้วยการตัดสินใจร่วมกันกับรัฐบาลชุดใหม่จึงได้เปิดโครงการนำส่งนักบินอวกาศโดยภาคเอกชน (Commercial Crew Program) ขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในสร้างยานมูลค่ามหาศาลแทน เป็นที่มาของการพัฒนายานอวกาศของสองบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Boeing และ SpaceX ซึ่งนำมาสู่การกำเนิดของยาน Crew Dragon ของ SpaceX ในที่สุด

แม้เราจะยังไม่รู้ว่ายานลำน้อยอย่าง Crew Dragon จะสร้างความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้อย่างที่ Endeavour เคยทำได้หรือไม่ แต่เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ระบบการควบคุมและการเชื่อมต่อที่นิ่งนิ่มสุดเพอร์เฟกต์ที่เราได้เห็นจากการถ่ายทอดสดการปล่อยและเชื่อมต่อของยาน Crew Dragon เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ทำให้ภาพความสำเร็จในอนาคตเริ่มฉายชัดขึ้นเรื่อย ๆ 

การเชื่อมต่อยาน Crew Dragon เข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อปลายเดทอนพฤษภาคมที่ผ่านมา

การขนส่งมนุษย์ไปยังอวกาศโดยภาคเอกชนนี้ ถือเป็นสัญญาณชี้ว่า พลเรือนและประชาชนทั่วไปได้เข้าใกล้การผจญภัยในอวกาศอย่างในภาพยนตร์ขึ้นมาอีกนิดแล้ว 

ก็ขอเอาใจช่วยให้ภารกิจของยาน Crew Dragon ที่กำลังดำเนินอยู่ ประสบความสำเร็จและนำสองนักบินอวกาศกลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัยด้วยนะครับ หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่แน่ว่า เราอาจจะได้เห็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอวกาศอีกหลายอย่าง รวมทั้งเป็นประจักษ์พยานการขนส่งมนุษย์ไปยังอวกาศโดยภาคเอกชนอีกหลายสิบหลายร้อยเที่ยว มากกว่าที่เคยมีมาก็ได้….ใครจะรู้

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส