ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนี้ สมาร์ตโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตคนเมือง ถ้าจะเปรียบได้กับอวัยวะชิ้นที่ 33 ก็ไม่น่าจะเป็นคำกล่าวที่เกินไปนัก พอ ๆ กับคุณสมบัติและประสิทธิภาพที่มากขึ้นในทุก ๆ วันจนเกินกว่าการเป็นโทรศัพท์ไปแล้ว เพราะเราต่างใช้เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ในการท่องโซเชียล เล่นเกม ถ่ายภาพ เข้าแอปต่าง ๆ ฟังเพลง ดูหนัง ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องบันเทิงอย่างเดียว เพราะประโยชน์ในการทำงานก็มากอยู่ เพราะวันนี้สมาร์ตโฟนก็ยังเข้าโปรแกรมต่าง ๆ ได้ เช็กอีเมลได้ จัดสรรตารางงานได้ด้วยเช่นกัน เราจึงมองเห็นผู้คนส่วนใหญ่ก้มหน้าอยู่กับสมาร์ตโฟนทั้งในรถโดยสาร ในลิฟต์ บนโต๊ะอาหาร หรือแทบทุกช่วงเวลาที่ว่าง
แม้ว่าในแต่ละวันเราจะใช้เวลาอยู่กับสมาร์ตโฟนมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น บางคนก็ยังมีความเข้าใจผิด ๆ ในการใช้งานหรือการดูแลรักษาที่ผิด ๆ อยู่บ้าง อาจจะได้ยินได้ฟังต่อ ๆ กันมา หรือจากโพสต์หลอกลวงที่แชร์ต่อ ๆ กันบนโลกโซเชียล ในบทความนี้จะหยิบยก 10 เรื่องเด่น ๆ ที่บางคนยังเข้าใจผิดกันอยู่ ว่าแท้จริงแล้วข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร เพื่อให้สมาร์ตโฟนของเรามีอายุการใช้งานมากขึ้น รวมไปถึงสุขภาพของตัวเราเองด้วย
10 ความเชื่อ อยากกระโดดไปอ่านข้อไหน จัดไป
- ความเชื่อ 1 : ปรับลดความสว่างหน้าจอ จะช่วยถนอมสายตา
- ความเชื่อ 2 : การชาร์จแบตเตอรีทิ้งไว้ข้ามคืนจะทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรีสั้นลง
- ความเชื่อ 3 : การปิดแอปที่ไม่ใช้จะช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี
- ความเชื่อ 4 : กล้องที่มีปริมาณเมกาพิกเซลสูง ๆ จะให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่า
- ความเชื่อ 5 : ถ้าโทรศัพท์ตกน้ำ ให้ยัดโทรศัพท์ลงถังข้าวสาร
- ยังมีอีก 5 ความเชื่อที่น่าสนใจในหน้า 2 ครับ
- ความเชื่อ 6 : ไม่ควรเก็บบัตรเครดิตไว้ใกล้กับสมาร์ตโฟน
- ความเชื่อ 7 : คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสมาร์ตโฟนจะทำให้เกิดมะเร็ง, ทารกคลอดก่อนกำหนด และปัญหาสุขภาพอีกหลายกรณี
- ความเชื่อ 8 : แผ่นเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ จะทำให้หน้าจอสมาร์ตโฟนเสียหาย
- ความเชื่อ 9 : คลื่นจากสมาร์ตโฟนสามารถทำให้ไข่สุกได้
- ความเชื่อ 10 : Wi-Fi ฟรีนั้นปลอดภัย
ความเชื่อ 1 : ปรับลดความสว่างหน้าจอ จะช่วยถนอมสายตา
บางคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาว่าการลดแสงสว่างจากหน้าจอด้วยการเปิด Night Mode บนสมาร์ตโฟน แม้จะเป็นช่วงเวลากลางวันก็ตาม จะช่วยให้สายตาไม่ทำงานหนัก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายตาออกมายืนยันแล้วว่า หลักการนี้เป็นความเชื่อที่ผิด การลดแสงสว่างหน้าจอลงจากปริมาณที่ปกตินั้น จะทำให้ระบบประสาทตาทำงานหนักและเกิดความตึงเครียด นั่นก็เพราะว่าเมื่อหน้าจอมีแสงสว่างน้อยลงกว่าปกติ ลูกตาเราก็จะต้องพยายามปรับโฟกัสภาพมากขึ้น ต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่า และอาจจะทำให้เรารู้สึกปวดหัวก็เป็นได้ ว่ากันตามทฤษฎีที่ถูกต้องแล้ว เราควรปรับแสงหน้าจอโทรศัพท์ให้มีปริมาณที่สว่างใกล้เคียงกับสภาพแสงโดยรอบ เมื่อ 2 จุดกำเนิดแสงเฉลี่ยเข้าหากันแล้ว จะให้สภาพแสงที่สมดุลเป็นธรรมชาติต่อดวงตาของเรา (สรุปสั้นๆ คือให้มือถือปรับอัตโนมัติ น่าจะดีที่สุดนะ)
ความเชื่อ 2 : การชาร์จแบตเตอรีทิ้งไว้ข้ามคืนจะทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรีสั้นลง
โทรศัพท์มือถือในทุกวันนี้ ยกระดับจากคำว่า “Mobile Phone” ไปเป็น “Smart Phone” กันแทบทั้งสิ้นแล้ว ซึ่งคำว่า Smart ก็แปลว่า “ฉลาด” “รอบรู้” ซึ่งความฉลาดหรืออัจฉริยะของมันนี่แหละ จึงทำให้เรารู้สึกสะดวกสบายกับการมีวันไว้ในมือเพื่อจัดการธุระและความบันเทิงในหลาย ๆ เรื่อง และหนึ่งในความฉลาดของมันก็คือ การที่ Smart Phone จะสามารถรู้ทันทีเมื่อถูกชาร์จไฟเต็ม 100% แล้ว ระบบภายในจะหยุดรับกระแสไฟเข้าเครื่อง โดยที่เราไม่ต้องคอยเฝ้าระวังแต่อย่างใด ระบบเดียวกันนี่แหละที่มันคอยทำหน้าที่ปิดเครื่องเมื่อพลังงานลดต่ำจนถึงขีดสุด แถมปัจจุบันมือถือหลายรุ่นอย่าง iPhone ก็มีระบบชาร์จอัจฉริยะด้วย คือเมื่อชาร์จตอนกลางคืนถึง 80% แล้ว ระบบจะเริ่มชาร์จช้าลง จนใกล้ถึงเวลาที่เรามักจะหยิบมือถือออกจากที่ชาร์จ ระบบก็จะกลับมาชาร์จต่อจนเต็ม 100% เพื่อลดความเสียหายกับแบตเตอรี่ครับ
ถ้าเจ้าของสมาร์ตโฟนอยากจะยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรีให้ยืนนยาวขึ้น ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่าให้ควรระวังอย่าให้แบตเตอรีลดต่ำจนเหลือ 0% บ่อยนัก จะเป็นการถนอมคุณภาพของแบตเตอรีที่ดีที่สุด
ความเชื่อ 3 : การปิดแอปที่ไม่ใช้จะช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี
ถ้าใครคอยระวังในเรื่องนี้อยู่เสมอ เปิดแอปอะไรขึ้นมาใช้ แล้วต้องคอยไล่ปิดทีละแอปเพราะคิดว่าจะช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี ขอให้หยุดทำได้แล้วครับ เพราะในเรื่องนี้ทั้ง Google และ Apple เจ้าของระบบปฏิบัติการบนสมาร์ตโฟนต่างก็ออกมายืนยันแล้วว่า การคอยปิดแอปต่าง ๆ ไม่ได้ช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีแต่อย่างใดเลย ในทางตรงกันข้ามมันกลับทำให้แย่ลงด้วยซ้ำ แล้วคนที่มาบอกเรื่องนี้เองก็คือ ฮิโรชิ ล็อกไฮเมอร์ เขาเป็นถึง รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Android เลยนะ
อธิบายเพิ่มเติมก็คือ ระบบอัลกอริธึมของทั้ง iOS และ Android ต่างทำหน้าที่บริหารจัดการการทำงานของแอปต่าง ๆ จำนวนมากที่รันบนระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว ถ้าเราไปบังคับปิดแต่ละแอป แล้วเมื่อเปิดแอปเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้ง การเปิดขึ้นมาใหม่แต่ละครั้งเนี่ยล่ะที่จะกินพลังงานมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าอย่าไปยุ่งกับมันจะดีกว่า ปล่อยให้ระบบปฏิบัติการบริหารจัดการไป ความอัจฉริยะของระบบจะรู้ว่าแอปไหนที่เราไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานานระบบก็จะปิดแอปนั้นซะ หรืออีกกรณีที่แอปนั้น ๆ เริ่มที่จะใช้พลังงานและเมโมรีของเครื่องเกินความจำเป็น ระบบก็จะปิดแอปเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ แอปที่รันอยู่ในหน่วยความจำของเครื่องอยู่ก่อนแล้ว จะถูกเรียกใช้งานได้ฉับไวกว่าการเปิดขึ้นมาใหม่ เปรียบเทียบก็เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปที่อยู่ใน Sleep Mode จะถูกเปิดใช้งานได้เร็วกว่าการเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่แบบนั้นแหละ
ความเชื่อ 4 : กล้องที่มีปริมาณเมกาพิกเซลสูง ๆ จะให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่า
ปัจจุบันผู้ผลิตสมาร์ตโฟนแทบจะไม่ได้โฆษณาในเรื่องคุณภาพการโทรด้วยเสียงอีกต่อไปแล้ว แต่กลับแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพของกล้องบนสมาร์ตโฟนเสียเป็นหลัก โดยจุดขายที่เน้นกันมากก็คือความละเอียดของภาพที่มีหน่วยเป็น MP(เมกาพิกเซล) ซึ่งจะว่าไปความละเอียดของกล้องบนสมาร์ตโฟนในปัจจุบันนี้ก็เกินความจำเป็นที่ผู้ใช้แต่ละคนต้องการแล้ว เพราะสุดท้ายเราก็นำภาพเหล่านั้นไปโพสต์ลงบนสื่อโซเชียลต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม ความละเอียดสูง ๆ ของภาพนั้นมีความจำเป็นต่อช่างภาพมืออาชีพเสียมากกว่า
เราจึงอยากให้พิจารณาไปที่จุดสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของภาพเสียมากกว่า นั่นก็คือขนาดของ Image Sensor ขออธิบายแบบง่าย ๆ สั้น ๆ ถ้ามีสมาร์ตโฟนให้เลือก 2 เครื่อง เครื่องแรกถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุดที่ 8MP อีกเครื่องที่ 12MP แน่นอนคนก็ต้องเลือก 12MP เพราะคิดว่าจะให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่าเพราะเมกาพิกเซลสูงกว่า แต่ก็ไม่เสมอไป ถ้าสมาร์ตโฟนที่ถ่ายภาพได้ 12MP มีขนาดของ Image Sensor เท่ากับอีกเครื่องที่ขนาด 8MP นั่นแปลว่าจำนวนพิกเซลของตัว 12MP จะต้องมีขนาดที่เล็กจิ๋วลงไปมากเพื่อบีบอัดให้อยู่บน Image Sensor ขนาดเดียวกันได้
ข้อเสียมันอยู่ตรงที่ว่า เมื่อพิกเซลมีขนาดเล็กมาก โอกาสที่จะเกิดนอยส์บนภาพก็สูงไปด้วย ลองนึกภาพตาม ถ้าในหนึ่งพิกเซลจะต้องบันทึก Noise ที่มีปริมาณเท่าเทียมกัน พิกเซลที่มีขนาดใหญ่กว่าก็จะมีเนื้อที่พอให้บันทึกข้อมูลภาพที่ดีได้มากกว่า ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ Samsung รุ่น Galaxy S5 และ Galaxy S6 มาพร้อมกล้องขนาด 16MP แต่พอพัฒนามาเป็นรุ่น S7, S8, S9 กลับลดขนาดความละเอียดของกล้องลงเหลือที่ 12MP นั่นก็เพราะ Samsung ให้ความสำคัญไปที่หัวใจหลักของภาพ นั่นก็คือขนาดของพิกเซล ในรุ่นที่ความละเอียดภาพ 16MP จะมีขนาดพิกเซลที่ 1.12µm ส่วนรุ่นที่ความละเอียดภาพ 12MP จะมีขนาดพิกเซลที่ 1.4µm
อีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่ได้ต้องการความละเอียดภาพที่มากขึ้นเสมอไป ก็เพราะขนาดของไฟล์ภาพ ยิ่งภาพมีความละเอียดสูง ขนาดของไฟล์ก็จะใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แล้วก็กินเนื้อที่จัดเก็บในเครื่องหรือในการ์ดหน่วยความจำไปโดยเกินความจำเป็น แล้วไฟล์ภาพที่ใหญ่ก็ยังใช้เวลาในการอัปโหลดไปยังสื่อโซเชียลต่าง ๆ นานขึ้นด้วย
แต่ปัจจุบันการที่กล้องมือถือก้าวไปสู่ความละเอียดสูงมากๆ เช่น 48 MP, 64 MP หรือแม้กระทั่ง 108 MP นั้นเป็นเหตุผลเรื่องการซูมครับ เพราะมือถือที่ความละเอียดสูงมากๆ ทำให้ผู้ใช้สามารถซูมภาพในระดับ 2-3 เท่าได้เหมือนไม่เสียรายละเอียดเลย แต่เมื่อถ่ายภาพปกติ กล้องก็จะกรุ๊ปพิกเซล เช่น 4 พิกเซลมารวมเป็น 1 เพื่อสร้างพิกเซลที่ใหญ่และมีคุณภาพออกมา ทำให้กล้อง 48 MP เวลาถ่ายปกติก็จะเหลือ 12 MP เท่านั้นเอง (เอา 4 หาร 48)
ความเชื่อ 5 : ถ้าโทรศัพท์ตกน้ำ ให้ยัดโทรศัพท์ลงถังข้าวสาร
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินได้ฟังวิธีการนี้กันมาบ่อยครั้งแล้วล่ะ ว่าถ้าพลาดทำสมาร์ตโฟนตกน้ำ ให้ถอดแบตเตอรีออกแล้วเอาตัวเครื่องยัดลงในถังข้าวสาร อย่าใช้ไดร์เป่าผมเป่าเด็ดขาด เพราะความร้อนจากไดร์จะทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์เสียหายหนัก ข้าวสารคือตัวดูดความชื้นที่ดีที่สุด ให้ทิ้งไว้ในถังข้าวสารนาน 24 – 36 ชั่วโมง
ฟังดูแล้วช่างเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือ สะดวก ง่าย และประหยัด เหมาะกับคนไทยที่มีข้าวสารกันอยู่ทุกบ้านเสียด้วย แต่หารู้ไม่ วิธีการนี้ถึงจะไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่มาก ก็ด้วยประสิทธิภาพของเมล็ดข้าวสารที่สามารถดูดความชื้นได้ดีนี่ล่ะ ถ้าเมล็ดไหนเกิดดูดซึมน้ำเข้าไปเต็มเปี่ยมมาก เราก็พอนึกภาพกันออกนะว่าจากข้าวสารก็จะกลายเป็นเมล็ดข้าวที่อวบน้ำและแฉะ แล้วข้าวนี่ก็มีคุณสมบัติความเหนียวพอดู โดยเฉพาะผิวนอกของเมล็ดข้าว แล้วถ้าเกิดมีชิ้นส่วนที่ยุ่ยหลุดเข้าไปเกาะโดนวงจรสำคัญภายในสมาร์ตโฟน ก็จะยิ่งทำให้อาการหนักกว่าเดิมเสียอีก ทางที่ดีแนะนำให้เอาโทรศัพท์ห่อด้วยกระดาษทิชชู่แบบหลวม ๆ เสียก่อนยัดลงไปในถังข้าวสาร หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็ใช้สารดูดความชื้นจำนวนมาก จะปลอดภัยกว่า เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพในการดูดความชื้นมากกว่าข้าวสารแน่ ๆ
ยังมีอีก 5 ความเชื่อที่น่าสนใจในหน้า 2 ครับ
ความเชื่อ 6 : ไม่ควรเก็บบัตรเครดิตไว้ใกล้กับสมาร์ตโฟน
หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า สนามแม่เหล็กจากสมาร์ตโฟนจะไปลบล้างสภาพแม่เหล็กบนแถบหลังเครดิตการ์ด ก็ยืนยันได้เลยว่ากรณีไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ตอบได้ว่าสมาร์ตโฟนนั้นสามารถส่งสนามแม่เหล็กออกมาได้จริง และชิ้นส่วนที่ส่งสนามแม่เหล็กออกมาก็มีเพียงชิ้นเดียวคือ แม่เหล็กตัวกระจิริดที่อยู่ในลำโพงของสมาร์ตโฟน ซึ่งมันไม่ได้มีความรุนแรงเพียงพอที่จะไปมีผลต่อเครดิตการ์ดในกระเป๋าตังค์ได้ ต่อให้เอาเครดิตการ์ดมาจ่อตรง ๆ กับสมาร์ตโฟนก็ตาม
ส่วนแม่เหล็กที่จะมีผลต่อเครดิตการ์ด ก็จะเป็นแม่เหล็กแบบที่ใช้ติดตู้เย็น หรือแม่เหล็กที่ใช้เป็นล็อกของกระเป๋าสะพายนั่นต่างหาก แต่ถ้าใครเคยเจอปัญหาว่าแถบแม่เหล็กด้านหลังเครดิตการ์ดนั้นสูญเสียข้อมูลไป นั้นก็เป็นไปได้จากการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เครดิตการ์ดถึงได้กำหนดวันหมดอายุไว้
ความเชื่อ 7 : คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสมาร์ตโฟนจะทำให้เกิดมะเร็ง, ทารกคลอดก่อนกำหนด และปัญหาสุขภาพอีกหลายกรณี
เรื่องอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องที่พูดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ยุค 90s แล้ว และปัจจุบันก็ยังคงมีหลาย ๆ หน่วยงานกังวลและศึกษาหาข้อยืนยันในเรื่องนี้กันอยู่ มีบทความพูดถึงเรื่องนี้มากกว่า 25,000 เรื่อง และหน่วยงานที่ลงมาเป็นธุระในการหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ก็คือ องค์การอนามัย หรือ WHO นั่นเอง
ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้แถลงข้อสรุปชัดเจนว่า นับจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานความเป็นไปได้ว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ไม่ว่าในแง่มุมใด ๆ เลย แต่ถ้าในกรณีที่มนุษย์ไปยืนใกล้ ๆ เรดาห์ หรือ เสาส่งสัญญาณแรงสูงเป็นเวลานาน ๆ กรณีนี้อัตราความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพก็เป็นไปได้มากขึ้น
ความเชื่อ 8 : แผ่นเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ จะทำให้หน้าจอสมาร์ตโฟนเสียหาย
มีหลาย ๆ บทความที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยได้เผยความจริงที่น่าตกตะลึงว่า จากความรู้สึกพื้นฐานของคนเราต่างคิดเหมือนกันว่าชักโครกเนี่ยน่าจะเป็นบริเวณที่สกปรกที่สุด แต่ได้มีการสำรวจแล้วว่า สมาร์ตโฟนของเราเนี่ยล่ะ สกปรกกว่าถึง 10 เท่า โอ้ว! บนโทรศัพท์เครื่องโปรดของเรายังเป็นแหล่งรวมแบคทีเรียมากมายอีกด้วย วิธีที่จะทำความสะอาดได้ดีที่สุดคือการใช้แผ่นเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ (Disinfectant wipe) ด้วยวิธีนี้จะช่วยตัวเราลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส และลดการเกิดสิวเวลาที่เอาสมาร์ตโฟนไปแนบผิวหน้าเวลาคุยโทรศัพท์อีกด้วย
สำหรับใครที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า เจ้าแผ่นเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อเนี่ย มันไม่ดีต่อหน้าจอสมาร์ตโฟนนะ ในเรื่องนี้ทางบริษัท Apple ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เราสามารถใช้แผ่นเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อกับสมาร์ตโฟนของเราได้อย่างปลอดภัยแน่นอน
ความเชื่อ 9 : คลื่นจากสมาร์ตโฟนสามารถทำให้ไข่สุกได้
ความเชื่อนี้ไม่น่าจะคุ้นกันในบ้านเรา แต่ในสหรัฐอเมริกามีหลายคนเชื่อเช่นนั้น เพราะมีคนที่นึกสนุกในการหลอกคน ด้วยการทำ “การทดลองปลอม ๆ” ขึ้นมาเป็นคลิปแสดงการใช้สมาร์ตโฟนมาจ่อที่ไข่ไก่ดิบ แล้วสักพักก็ปอกเปลือกไข่เผยให้ดูว่าไข่ไก่ในคลิปสามารถกลายเป็นไข่สุกได้เพราะคลื่นจากสมาร์ตโฟน คลิปนี้ถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่ต้นยุค 2000s ทำให้มีผู้คนจำนวนมากหลงเชื่อเช่นนั้น แล้วมองว่าคลื่นจากโทรศัพท์มือถือที่สามารถทำให้ไข่สุกได้ ก็น่าจะเป็นอัตรายต่อสมองมนุษย์ไปได้ แต่ความจริงแล้ว คลื่นจากโทรศัพท์ไม่สามารถทำให้ไข่ หรืออาหารประเภทใดสามารถปรุงสุกได้ เพราะคลื่นที่ส่งออกมาไม่ได้มีพลังงานที่มากพอในระดับนั้น
ความเชื่อ 10 : Wi-Fi ฟรีนั้นปลอดภัย
ข้อนี้เป็นข้อที่ควรระมัดระวังกันอย่างมาก แล้วเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ โดยเฉพาะคนที่ชอบไปนั่งเล่นตามร้านกาแฟ แล้วเอาสมาร์ตโฟนออกมาจิ้มเล่น หรือเอาแล็ปท็อปมานั่งทำงานในร้านที่มีจุดขายคือ Free Wi-Fi แน่นอนว่าเป็นจุดขายที่เชิญชวน เพราะสะดวกและประหยัด แต่ที่ต้องระวังกันไว้เพราะ “มันไม่ปลอดภัย”
ขออธิบายเพื่อความเข้าใจพื้นฐานกันไว้ก่อนว่า Wi-Fi สาธารณะนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ มีระบบป้องกัน และ ไม่มีระบบป้องกัน
- ไว-ไฟ ที่ไม่มีระบบป้องกัน คือไว-ไฟ สาธารณะที่อุปกรณ์ใด ๆ ที่อยู่ในระยะการส่งสัญญาณก็สามารถเชื่อต่อได้เลย โดยไม่ต้องใช้พาสเวิร์ดในการล็อกอิน
- ไว-ไฟ ที่มีระบบป้องกัน คือระบบเน็ตเวิร์กที่ผู้ใช้อาจจะต้องลงทะเบียนเพื่อสร้างแอกเคานต์ หรือต้องใช้พาสเวิร์ดในการล็อกอิน
แต่ ไว-ไฟ ทั้ง 2 ระบบอย่างที่กล่าวมาก็ล้วนเป็น ไว-ไฟ สาธารณะ ที่เราควรจะเชื่อมต่อด้วยความระมัดระวัง หรือพึงระลึกไว้เสมอว่าเรากำลังต่อเชื่อมกับระบบไว-ไฟ สาธารณะอยู่ในขณะนั้น และนี่คือข้อควรระวังเมื่อใช้บริการ ไว-ไฟ สาธารณะ
- อย่าทำธุรกรรมทางการเงินขณะที่เชื่อมต่อ ไว-ไฟ สาธารณะ แม้แต่ ไว-ไฟ สาธารณะแบบที่มีระบบป้องกันต้องล็อกอิน กรอกรหัสด้วยก็ตามแต่ ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี
- ขณะที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ อย่าวางสมาร์ตโฟน, โน้ตบุ๊ก หรือ แท็บเล็ต ไว้ห่างตัว เพราะอาจเปิดช่องให้มิจฉาชีพแอบมาเปิดดูข้อมูลสำคัญ แอบล็อกอิน เข้าบัญชีต่าง ๆ ของคุณ ซึ่งอาจสืบเนื่องไปถึงบัญชีธนาคารได้
- หลีกเลี่ยงการช้อปปิ้งออนไลน์ถ้าเชื่อมต่อ ไว-ไฟ สาธารณะ อยู่ การช้อปปิ้งออนไลน์ ฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนะครับ แต่บางเว็บไซต์นั้นเราก็ต้องล็อกอินเข้าไปแล้วกรอกข้อมูลส่วนตัว บางแห่งอาจต้องกรอกบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิตด้วย
- ปิดฟังก์ชันเชื่อมต่ออัตโนมัติจะเป็นการดี บางคนอาจจะตั้งค่าให้ สมาร์ตโฟน, โน้ตบุ๊ก หรือ แท็บเล็ต นั้นทำการเชื่อมต่อเครือข่าย ไว-ไฟ สาธารณะ โดยอัตโนมัติ ใช่ที่ว่ามันก็สะดวกดี แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะเชื่อมต่อเข้าระบบเน็ตเวิร์กออนไลน์ แต่อุปกรณ์ของเราก็เชื่อมต่อให้โดยที่เราไม่รู้ตัวไปแล้ว เรื่องนี้ให้ระมัดระวังโดยเฉพาะเวลาที่เดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย
- ให้ระมัดระวังการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธอยู่เสมอ การเชื่อมต่อผ่านบลูทูธนั้นสะดวกจริงเวลาที่ใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน แต่ถ้าออกนอกบ้านแล้วควรปิดการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธเสมอ การเปิดบลูทูธทิ้งไว้ อาจเป็นช่องทางให้บรรดาแฮกเกอร์ที่ใช้ช่องทางนี้หากิน ที่กำลังมองหาเหยื่อที่เผลอเปิดการเชื่อมต่อบลูทูธทิ้งไว้แล้วเชื่อมต่อเข้ามาดูข้อมูลสำคัญในอุปกรณ์ของเราก็เป็นได้
- การใช้ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network) ก็เป็นการป้องกันอุปกรณ์และข้อมูลส่วนตัวของเราได้ในขณะที่เชื่อมต่อ ไว-ไฟ สาธารณะ VPN จะช่วยในการเข้ารหัสข้อมูลส่วนตัวของเราเป็นการเพิ่มระดับความปลอดภัยจากผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อเครือข่าย ไว-ไฟ สาธารณะ เดียวกันกับเรา