ต้อนรับวันสตรีสากล (8 มีนาคม) กันด้วยบทความพลังหญิงที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจกันบ้าง เชื่อว่า หลายคนคงเคยมีความฝันอยากจะใช้ชีวิตเป็นนักผจญภัย หรือนักสำรวจกันมาบ้าง แค่จะเป็นให้ได้ก็ยังต้องฝ่าเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย อาทิ เงินสนับสนุน ความรู้ ความสามารถ ความแข็งแกร่งของร่างกาย ซึ่งอย่างหลังนี่ก็เกี่ยวพันกับ ’เพศ’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแล้วในอดีตที่ผ่านมา จึงมีผู้หญิงน้อยรายที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้
แต่แม้จะมีอยู่น้อย แต่แต่ละคนก็ล้วนน่าทึ่ง โดยเฉพาะคนที่เราจะมาพูดถึงกันในบทความนี้ เธอคือนักบินอวกาศหญิง แถมยังพ่วงด้วยตำแหน่งผู้หญิงคนแรกที่ดำดิ่งลงไปในส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทรที่เรารู้จักกันในขณะนี้ด้วย
เคธี ซัลลิแวน คือชื่อของเธอคนนั้น
เคธี ซิลลิแวน (Kathy Sullivan) เป็นหญิงชาวสหรัฐฯ คนแรกที่ได้เดินในอวกาศเมื่อปี 1984 ซึ่งเป็นยุคที่มีผู้หญิงเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเอง แต่ยังมีเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงยังคงเป็นช้างเท้าหลังในโลกของการทำงานอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ความน่าทึ่งของเธอไม่ได้อยู่ที่การเป็นหญิงแกร่งแห่งยุคเท่านั้น ผ่านไปอีกหลายปีให้หลัง ด้วยวัย 68 ปี เธอยังคงออกเดินทางไปสู่ดินแดนที่มนุษย์น้อยคนจะได้ไปเยือน นั่นคือ ใต้ท้องทะเลในระดับความลึก 7 ไมล์ หรือประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นจุดลึกที่สุดในท้องทะเลที่เรารู้จักในขณะนี้
ช่างเป็น 2 ภารกิจที่ดูแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวก็จริง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันซึ่งสะท้อนตัวตนของผู้หญิงคนนี้ นั่นคือ จิตใจที่รักในการใฝ่รู้ผจญภัย และความปรารถนาที่จะเข้าใจโลกรอบตัวให้มากขึ้น
วัยเด็กจุดเริ่มต้นของการผจญภัย
ซัลลิแวนเกิดที่เมืองนิวเจอร์ซี (New Jersey) เมื่อปี 1951 พ่อของเธอเป็นวิศวกรการบินอวกาศ เธอเติบโตที่แคลิฟอร์เนีย ผ่านสภาพการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ให้อิสระทางความคิด และมักกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม หรือการถกเถียงกันอยู่เสมอ
“พ่อกับแม่คอยช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ฉันสงสัยเสมอ เป็นเพื่อนที่ดีที่ช่วยให้ฉันสำรวจลึกลงไปในสิ่งที่สนใจ และฉันเองก็เป็นเด็กที่รักการผจญภัย มีความสงสัยใคร่รู้ และความสนใจที่หลากหลายกว่าเด็กผู้หญิงทั่วไปในวัยเดียวกัน” ซัลลิแวนให้สัมภาษณ์แก่บีบีซี
ในขณะที่พี่น้องของเธออยากจะเป็นนักบิน ซัลลิแวนกลับสนใจในแผนที่และสิ่งที่อยู่ในนั้นมากกว่า เธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการค้นพบใหม่ ๆ ในยุคนั้น เช่น การที่ ฌาคส์ กุสโต (Jacques Cousteau) บุกเบิกการค้นพบใต้ทะเล หรือ กลุ่มนักบินอวกาศโครงการเมอร์คิวรีเจ็ดคน (Mercury Seven) ซึ่งเป็นกลุ่มนักบินอวกาศกลุ่มแรกในยุคนั้น
“พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชายแต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ฉันเสียกำลังใจ ฉันมองว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่อยากรู้อยากเห็นและชอบผจญภัยอย่างต่อเนื่อง พวกเขามุ่งหน้าที่จะไปกำลังจะไปยังสถานที่ที่ไม่มีใครอยู่และกำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ฉันเองไม่เคยคิดหรอกนะว่าอยากจะมีอาชีพแบบนั้น แต่สิ่งที่ฉันรู้ได้ชัดเจนในตอนนั้นคือ ฉันต้องการให้ชีวิตของฉันเป็นแบบนั้น ฉันอยากให้มันเต็มไปด้วยการแสวงหาความรู้ การผจญภัยและการใช้ความสามารถ”
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)
เดินตามความใฝ่ฝัน
เพื่อไปให้ถึงจุดนั้นเธอจึงเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ และวิทยาศาสตร์โลก หรือ โลกศาสตร์ (Earth sciences) ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นสาขาที่มีแต่ผู้ชายเรียนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว เธอจึงไม่เคยถูกคุกคามหรือรังแกเรื่องเพศ
“อันที่จริง ฉันโชคดีที่มีอาจารย์และเพื่อนร่วมงานที่ให้การสนับสนุนและคอยอยู่เคียงข้างฉัน พวกเขามองว่าฉันเป็นคนที่มีความสามารถ และเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่ทัดเทียม”
ในช่วงเวลานั้น ซัลลิแวนมองเห็นทะยานอยากของเธอเองในตัวอาจารย์ภาควิชาสมุทรศาสตร์ เธอจึงเริ่มศึกษาต่อในสาขานี้ ส่วนสาเหตุที่เธอเข้าร่วมโครงการกับนาซา ก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับโลกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น “แรงจูงใจหลักที่ทำให้ฉันสมัครเป็นนักบินอวกาศของนาซา นั่นก็เพราะหากฉันได้รับเลือก ฉันก็จะได้เห็นโลกจากวงโคจรด้วยตาของฉันเอง”
สู่ห้วงอวกาศ
ซัลลิแวนเข้าเรียนในชั้นเรียนของนาซา เมื่อปี 1978 ซึ่งนับเป็นการรับสมัครผู้หญิงเข้าสู่ตำแหน่งนักบินอวกาศเป็นครั้งแรก ภารกิจแรกของซัลลิแวนคือ STS-41-G ที่ออกเดินทางไปอวกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1984 และเป็นเที่ยวบินที่ 13 ในโครงการกระสวยอวกาศของนาซาและเที่ยวบินเที่ยวที่ 6 ของกระสวยอวกาศชาแลนเจอร์ อันโด่งดัง
และในวันที่ 11 ตุลาคม 1984 ซัลลิแวนก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหญิงชาวสหรัฐ ฯ คนแรกที่ออกมาอยู่นอกยานอวกาศ เธอและเพื่อนร่วมงาน เดวิด ลีซท์มา (David Leestma) ได้เดินในอวกาศ (Spacewalk) เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติมเชื้อเพลิงในวงโคจรเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ถัดจากนั้น เธอยังเข้าร่วมในอีก 2 ภารกิจ รวมถึงการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ขึ้นไปโคจรเมื่อปี 1990 เธอใช้เวลาในอวกาศรวมทั้งสิ้น 532 ชั่วโมงและได้รับการบรรจุชื่อใน หอเกียรติยศนักบินอวกาศ (Astronaut Hall of Fame) เมื่อปี 2004
“ฉันดีใจมากที่ได้เห็นผู้หญิงอีกหลายคน เข้ามาอยู่ในวงการนี้ตามฉัน และรู้ไหม ยิ่งเรามีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ การเดินในอวกาศก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นนั้น”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซัลลิแวนคือตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า ผู้หญิงมีส่วนร่วมในระดับอาวุโสมากขึ้น รวมถึงบทบาทในการบังคับบัญชาและการจัดการภารกิจจากภาคพื้นดิน
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ฉันคิดว่า มันช่วยแสดงให้เด็กสาวได้เห็นว่า เธอสามารถเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ได้….ไม่มีใครสัญญาได้ว่า คุณจะได้เดินทางไปถึงจุดหมายนั้น คุณยังต้องต่อสู้อยู่บ้าง แต่ยังน้อยมันก็มีประตูเปิดแง้มอยู่นะ คุณสามารถเปิดมันออกกว้าง แผ้วทางให้ผ่านไปได้”
(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)
และเมื่อ 2 ปีก่อนนี่เอง ในที่สุด ก็มีภารกิจการเดินในอวกาศที่มีผู้ปฏิบัติภารกิจเป็นหญิงล้วนเป็นครั้งแรก มันเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการปิดฉากการเป็นนักบินอวกาศของซัลลิแวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคริสตินา คอช (Christina Koch) หนึ่งในนักบินอวกาศในภารกิจนั้น สวมระบบช่วยชีวิตแบบเดิม แบบเดียวที่ซัลลิแวนสวมใส่ในปี 1984
แม้จะออกจากนาซาเมื่อปี 1993 ซัลลิแวนยังดำรงตำแหน่งหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และต่อมา เป็นผู้ดูแลและประสานงานหน่วยงานนั้นในยุคประธานาธิบดีบารัก โอบามา ระหว่างอยู่ในตำแหน่งนั้น เธอใช้เวลาหลายปี ในฐานะประธานและซีอีโอของศูนย์วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม (COSI) และเมื่อตำแหน่งที่โดดเด่นที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (Ohio State University)
การผจญภัยครั้งใหม่
สำหรับการเดินทางครั้งล่าสุดนั้น เกิดจากคำเชิญสุดเซอร์ไพรส์ของวิคเตอร์ เวสโคโว (Victor Vescovo) อดีตทหารเรือและนักลงทุนที่ใช้เวลาหลายปีและหลายล้านดอลลาร์ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพาผู้คนลงไปยังส่วนลึกที่อยู่ในมหาสมุทรของโลก
‘Challenger Deep’ คือส่วนที่ลึกที่สุดของก้นทะเล มันเป็นส่วนหนึ่งของร่องลึกมาเรียนาอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรเกือบ 7 ไมล์ (11 กิโลเมตร) ห่างจากเกาะกวมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 200 ไมล์ (322 กิโลเมตร) ในมหาสมุทรแปซิฟิก
ก่อนหน้านี้ มีชาย 2 คนได้ลงไปยังส่วนลึกที่สุดนี้เป็นครั้งแรกในปี 1960 นั่นคือ ดอน วอลช์ (Don Walsh) นักมหาสมุทรศาสตร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และนักสมุทรศาสตร์ชาวสวิส ฌาค ปีการ์ด (Jacques Piccard) หลังจากนั้นก็มีคนที่ลงไปที่นั่นอีกไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับ Titanic นั่นเอง
เวสโคโว กล่าวว่า แรงจูงใจของเขาคือ การกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ในท้องทะเลและวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2019 เขากลายบุคคลแรกที่ไปเยี่ยมชมจุดที่ลึกที่สุดในทุกมหาสมุทร โดยใช้ยาน Deep Sea Vehicle (DSV) ขนาด 2 ตัน ซึ่งหย่อนลงจากเรือที่สร้างมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
ส่วนเหตุผลที่ซัลลิแวนได้รับคำเชิญในครั้งนี้ เธอบอกว่า เขาให้เหตุผลในอีเมลเชิญเธอเอาไว้ว่า เพราะเขาคิดว่ามันเป็น ‘เวลา’ ที่ผู้หญิงจะต้องลงไปที่นั่น และเธอก็ตอบตกลงด้วยความตื่นเต้น
(อ่านต่อหน้า 4 คลิกด้านล่างเลย)
หญิงคนแรกใต้ท้องทะเลลึก
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2020 ซัลลิแวนและเวสโคโวได้ร่วมกันเดินทางลงไปลึกกว่า 35,800 ฟุต (10,900 เมตร) นั่นทำให้เธอกลายเป็นมนุษย์คนที่ 8 และผู้หญิงคนแรกเดินทางไปพิชิตจุดลึกสุดของโลก
เธออธิบายว่า การเดินทางนี้เหมือนอยู่ในวงแหวนเวทมนตร์ การได้เห็นยานยนต์ไร้คนขับ ลดระดับลงสู่พื้นทะเลใกล้กันกับพวกเขาในระดับความลึกนั้น มันเหมือนกับการเจอเข้ากับ ‘ยานสำรวจอวกาศของมนุษย์ต่างดาว’ อย่างไรอย่างนั้น
“มันน่าทึ่งที่เราสามารถไปยังสถานที่เหล่านี้ได้ ด้วยสติปัญญาและความสามารถทางวิศวกรรมของมนุษย์ และเราสามารถพาร่างกายของเราไปยังสถานที่ที่จริง ๆ แล้วไม่สามารถไปได้ และก็ไม่มีสิ่งใดที่ต้องไปทำยังที่นั่น”
การเดินทางในครั้งนี้ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบองค์กรของเวสโคโว กับ SpaceX ทั้งคู่เป็นบริษัทเอกชนที่แสดงให้เห็นถึง ‘ศักยภาพที่น่าตื่นเต้น’ ทำให้เห็นว่าภาคเอกชนทั่วโลกสามารถมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้
แรงใจสู่อนาคต
ซัลลิแวนเชื่อว่า มนุษย์เราควรผลักดันขอบเขตความรู้ของเราเกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่ต่อไปไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด จะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนก็ตาม และยังแสดงความหวังว่า จะมีการพัฒนาด้านความหลากหลายและมีพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงในโลกแห่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (Stem) มากขึ้น
“คนทั่ว ๆ ไป ในชุดแล็บที่รู้ตัวเลขและหลักการคือคนที่น่าเบื่อมาก ที่จริงแล้วในหลาย ๆ สาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวใจหลักของมันคือความคิดสร้างสรรค์ต่างหาก”
เมื่อถามว่า เธอมีแผนสำหรับการผจญภัยครั้งต่อไปหรือไม่ ซัลลิแวนกล่าวว่า การผจญภัยอาจจะไม่ต้องล้ำลึกเหนือชั้นเหมือนการไปท่องอวกาศหรือผจญภัยในใต้ทะเลลึกก็ได้
“ฉันคิดว่าการสำรวจสามารถทำได้หลายรูปแบบ มันยังมีหัวข้อและมิติในการสำรวจอีกมากมายรออยู่ …ฉันคิดว่าฉันจะสำรวจจนกว่าจะถึงเวลาที่ร่างของฉันจะถูกบรรจุไว้ในกล่องไม้อย่างสงบในอนาคตนั่นแหละ”
ช่างน่าทึ่งกับความมุ่งมั่นและตั้งใจของเธอจริง ๆ แต่ไม่ใช่แค่ซัลลิแวนเท่านั้นนะที่ทำได้ หากมีความฝัน หมั่นมองหาหนทางอยู่เสมอ ไม่แน่ว่าคุณคนที่อ่านบทความอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ก็อาจเป็นนักผจญภัย หรือนักสำรวจในขอบข่ายที่ตัวเองสนใจในสักวันก็ได้
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส