หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ในช่วงเดือนพฤษจิกายน 2558 นี้ กสทช. ก็จะประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz หรือที่เราพูดกันติดปากว่าการประมูลคลื่น 4G กันแล้ว เราจึงขอเล่าความเป็นมาเป็นไปของคลื่น 1800 MHz นี้ให้ฟังกัน

ในอดีตคลื่นย่าน 1800 MHz นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของ กสท โทรคมนาคม ซึ่งได้มีการให้สัมปทานกับเอกชน 3 รายเพื่อนำคลื่นย่านนี้มาใช้ประโยชน์ คือ

dtac หรือบริษัท Total Access Communication เป็นรายแรกที่เซนต์สัญญากับกสท. ในปี 2534 ได้คลื่นมา 2 ช่วง ช่วงละ 25 MHz โดยในสัญญาระบุให้คลื่นช่วงที่สองเป็นคลื่นสำรอง จะใช้ได้เมื่อคลื่นช่วงแรกเต็มและได้รับความยินยอมจาก กสท. เท่านั้นจึงทำให้ปัจจุบัน dtac ใช้คลื่นได้ 25 MHz จากที่ถือครองไว้ 50 MHz โดยสัมปทานฉบับนี้จะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2561

DPC หรือบริษัท Digital Phone จำกัด บริษัทลูกในเครือ AIS และ True Move ได้สัมปทานจากกสท. เพื่อใช้คลื่นบริษัทละ 12.7 MHz มาเมื่อปี 2544 และสัมปทานฉบับนี้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 กสทช. จึงมีประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณ๊สิ้นสุดการสัมปทานออกมาเพื่อต่ออายุให้ผู้ให้บริการทั้งสองได้ย้ายลูกค้าออกจากคลื่น 1800 MHz จนแล้วเสร็จ โดย DPC ได้ย้ายลูกค้ามาใช้ AIS 3G บนคลื่น 900/2100 MHz และ True Move ก็ได้ย้ายลูกค้ามาใช้ True Move H บนคลื่น 850/2100 MHz เรียบร้อยแล้ว

ภาพโดย SCB - ECONOMIC INTELLIGENCE CENTER

ภาพโดย SCB – ECONOMIC INTELLIGENCE CENTER

คลื่น 1800 MHz นั้นเป็นคลื่นที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำมาใช้งานกับเทคโนโลยี LTE หรือ Long Term Evolution เพื่อรองรับกับความต้องการส่งถ่ายข้อมูลที่ประชาชนมีความต้องการสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเทคโนโลยี LTE ที่พัฒนาจนถึง LTE Advanced นั้นมีจุดเด่นในแง่ของความเร็วที่สูงกว่าเทคโนโลยี 3G เดิมมาก สามารถทำความเร็วดาวน์โหลดได้สูงสุดถึง 1000 Mbps หรือ 1 Gbps และให้อัตราการอัปโหลดสูงสุด 500 Mbps โดยอาศัยเทคโนโลยีในการรวมคลื่นหลายๆ ความถี่ที่ให้บริการมาใช้งานพร้อมกัน เพื่อให้ได้ความเร็วสูงสุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี 3G – HSPA เดิมที่ให้ความเร็วดาวน์โหลด 7.2 Mbps และอัปโหลดที่ 2 Mbps ก็ถือว่า LTE Advanced ให้ความเร็วได้สูงมากกว่าหนึ่งร้อยเท่าตัว

จากความเร็วที่สูงมากขึ้นของเทคโนโลยี LTE นั้นสามารถนำไปต่อยอดใช้กับงานได้ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งในแง่ของการใช้งานทั่วไปที่ผู้ใช้สามารถเปิดเนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น รองรับจำนวนผู้ใช้งานในเครือข่ายพร้อมกันได้มากขึ้น รวมถึงสร้างความเป็นไปได้ในการเปิดเนื้อหาคุณภาพสูงอย่างวิดีโอ 4K ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งต้องแน่ใจนะว่ามีจำนวนข้อมูลมากพอให้เผา) หรือในแง่ของการใช้ระดับมืออาชีพที่ความเร็วในการอัปโหลดที่สูงขึ้นของ LTE ยังทำให้สื่อสารมวลชนสามารถส่งวิดีโอความละเอียดสูงจากพื้นที่เกิดเหตุมารายงานได้อย่างคมชัดกว่ายุคสมัยของ 3G

R0066731

นอกจากนี้ LTE ยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ได้อีกหลายตัวเช่น VoLTE หรือ Voice Over LTE ที่ dtac กำลังจะเปิดให้ทดลองใช้ในไทย ก็เป็นการคุยด้วยเสียงแบบคุณภาพสูงโดยผ่านเครือข่าย LTE ซึ่งนอกจากเสียงพูดคุยจะชัดขึ้น เมื่อกดโทรออก อีกฝ่ายจะได้ยินเสียงเรียกเข้าทันทีจากเทคนิคการเชื่อมต่อแบบใหม่ที่เริ่มใช้ใน 4G

การประมูลคลื่น 1800 MHz ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้จึงเป็นการประมูลคลื่นจำนวน 25 MHz ที่หมดสัมปทานจาก DPC และ AIS หลังจากต่ออายุการให้บริการมาถึงปัจจุบัน โดยเบื้องต้นถ้าหากกระบวนการคืนคลื่นความถี่จาก กสท หรือ dtac เพิ่มเติมจำนวน 5 MHz ล่าช้า ก็จะแบ่งคลื่นเพื่อประมูลออกเป็น 12.5 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต (แต่ถ้าสามารถเรียกคืนคลื่นมาทัน ก็จะประมูล 15 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต) เพื่อเริ่มต้นประมูลที่ 15,912 ล้านบาทต่อใบอนุญาต โดยใบอนุญาตชุดนี้จะมีอายุ 18 ปี หรือสิ้นสุดลงในปี 2576

โดยกสทช. ได้วางกฎเกณฑ์ในการประมูลครั้งนี้เพื่อเอื้อประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้หลายประการ ตั้งแต่การระบุให้เอกชนต้องขยายเครือข่ายในการให้บริการไม่น้อยกว่า 40% ของประเทศภายใน 4 ปีหลังจากประมูล พร้อมทั้งออกกฎให้คุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าการให้บริการ 3G บนคลื่น 2100 MHz ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือกสทช. บังคับให้เมื่อเปิดให้บริการบนคลื่น 1800 MHz แล้ว ค่าบริการจะต้องถูกกว่าค่าบริการ 3G บนคลื่น 2100 MHz ด้วย และต้องมีแพ็กเกจพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงการสื่อสาร