เป็นที่น่าตื่นเต้นและสร้างความตื่นเต้นไปทั่วทั้งแวดวงดาราศาสตร์ เมื่อในที่สุด จีนก็สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากการเดินทางอันยาวนานนับ 10 เดือน ทั้งยังเป็นครั้งแรกของโลก ที่สามารถส่งยานขึ้นไปโคจรและลงจอดบนดาวอังคารเสร็จสมบูรณ์ในภารกิจปล่อยยานอวกาศเพียงครั้งเดียว ซึ่งนั่นส่งผลให้จีนก้าวสู่ตำแหน่งแนวหน้าในวงการสำรวจดาวอังคารของโลกทันที

วินาทีชวนลุ้น กับความสำเร็จที่น่ายินดี

เมื่อ 15 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า แคปซูลที่บรรจุยานสำรวจได้แยกออกจากยานโคจรเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ตามเวลาปักกิ่ง เมื่อผ่านไปหลายชั่วโมง แคปซูลก็เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่ระดับความสูง 125 กิโลเมตร

จากนั้น จึงพุ่งเข้าหาผิวน้ำด้วยความเร็ว 4.8 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อยานเข้าใกล้พื้นผิวดาวอังคาร ก็ปล่อยร่มชูชีพขนาดใหญ่เพื่อชะลอความเร็ว และในระดับ 100 เมตรเหนือพื้นผิวดาวอังคาร ก็ใช้ระบบเลเซอร์นำทางประเมินพื้นที่ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางก่อนลงจอด

วิดีโอแสดงภาพจำลองการแยกตัวและลงจอดของยานสำรวจอวกาศยานแรกของจีน

Credit : Xinhua

การลงจอดนี้ดำเนินไปโดยอัตโนมัติ เกิงหยาน เจ้าหน้าที่ศูนย์โครงการสำรวจและอวกาศดวงจันทร์ขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) กล่าวว่า “ทุกขั้นตอนมีโอกาสเพียงครั้งเดียว และทุกขั้นตอนนั้นเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง หากมีข้อบกพร่องเพียงจุดใดจุดหนึ่งการลงจอดก็จะล้มเหลว”

หลังจากการลงจอดเป็นไปด้วยดี ไม่กี่วันต่อมา จีนก็เผยแพร่ภาพแรกบนดาวอังคารที่ถ่ายโดยกล้องที่ติดตั้งกับยานสำรวจ โดยรูปแรกนั้นเป็นภาพขาวดำรูป บันทึกภาพโดยกล้องหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่ติดตั้งหน้ายานสำรวจพื้นผิว เผยให้เห็นบันไดทางลาดที่ยืดขยายลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร เผยให้เห็นลักษณะภูมิประเทศหน้ายานสำรวจพื้นผิวอย่างชัดเจน

Credit : Xinhua

สำหรับภาพที่ 2 เป็นภาพสี ถ่ายโดยกล้องนำทางที่ติดตั้งหลังยานสำรวจพื้นผิว เผยให้เห็นแผงโซลาร์เซลล์และเสาอากาศของยานสำรวจพื้นผิวที่ถูกกางออก รวมถึงดินและหินสีแดงบนพื้นผิวดาวอังคาร

Credit : Xinhua

นอกจากภาพนิ่งแล้ว ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ยังส่งวิดีโอจำนวน 2 รายการที่บันทึกโดยกล้องบนยานโคจร เผยเหตุการณ์ขณะยานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิวแยกตัวออกจากยานโคจรระหว่างลงจอดด้วย

Credit : Xinhua

ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ออกเดินทางจากโลกมุ่งหน้าไปสู่ดาวอังคารตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2020 ยานประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว ถือเป็นภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของจีน โดยมีจุดมุ่งหมายโคจร ลงจอด และวิ่งสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในภารกิจเดียว

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

นี่คือ ‘Big leap for China’ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของจีน

ทันทีที่ยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนผู้ดูแลภารกิจนี้ต่างโห่ร้องแสดงความใจ

Credit : Xinhua

ขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลก โทมัส ซูร์บูเชน (Thomas Zurbuchen) รองผู้บริหารกรมภารกิจวิทยาศาสตร์ (Science Mission Directorate) องค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จในภารกิจลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารของยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ของจีนผ่านทวิตเตอร์ด้วย

จากภาพซูร์บูเชนโพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ใจความว่า “ขอแสดงความยินดีกับทีม #เทียนเวิ่น1 ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน กับความสำเร็จในภารกิจลงจอดของ #จู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน ผมและชุมชนวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างตั้งตารอผลการดำเนินงานที่สำคัญของภารกิจนี้ที่จะช่วยเหลือมนุษยชาติในการทำความเข้าใจดาวเคราะห์สีแดง (ดาวอังคาร)” 

ไม่เพียงแต่บุคลากรจากหน่วยงานนาซา โรแบร์โต โอโรซี (Roberto Orosei) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากสถาบันกัมมันตภาพรังสีโบโลญญา (Institute of Radioastronomy of Bologna) ในอิตาลี ยังกล่าวว่า ภารกิจนี้ ‘ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่สำหรับจีน’ เพราะพวกเขาทำสิ่งที่นาซาใช้เวลาหลายสิบปีทำ และประสบความสำเร็จด้วยการทำเพียงครั้งเดียวและความสำเร็จนี้ยังส่งผลให้จีนเป็นชาติที่ 3 ถัดจากรัสเซียและสหรัฐอเมริกาที่นำยานลงจอดบนดาวเคราะห์ดังกล่าวได้

เพียงแค่การลงจอดได้สำเร็จนั้น นั่นยังไม่นับเป็นก้าวทั้งหมดที่ว่ายิ่งใหญ่ หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในภารกิจต่อไปต่างหาก ซึ่งนั่นก็คือ การที่ยานพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนจะได้โลดแล่นสร้างตำนาน เก็บข้อมูลต่าง ๆ ตามเป้าหมายที่วางไว้นั่นเอง 

สำหรับยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีนนั้น ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้ให้ประชาชนร่วมเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกชื่อที่เหมาะสม จนเหลือ 3 รายชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันอวกาศ (Space Day) ของจีนพอดี (จีนกำหนดให้วันที่ 24 เม.ย. เป็นวันอวกาศของจีน ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อรำลึกถึงการส่ง ‘ตงฟางหง-1’ (Dongfanghong-1) ดาวเทียมดวงแรกของประเทศขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 1970) จีนก็ได้ประกาศว่ายานสำรวจนี้มีชื่อว่า ‘จู้หรง’ (Zhurong) 

เทพแห่งไฟกับภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์แห่งไฟ

‘จู้หรง’ (Zhurong) คือชื่อเทพแห่งไฟในตำนานจีนโบราณ ซึ่งพ้องกับ ‘หั่วซิง’ (Huoxing) ชื่อดาวอังคารในภาษาจีนที่แปลว่า ‘ดาวเคราะห์แห่งไฟ’ พอดี ด้วยชื่อนี้จึงฟังดูเหมาะสมจนประชาชนพากันร่วมโหวตให้เป็นชื่อของยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของประเทศ

อู๋เหยี่ยนหัว รองผู้อำนวยการองค์การฯ ระบุว่า ไฟนำพาความอบอุ่นและความสว่างมาสู่บรรพบุรุษของมนุษยชาติ และไฟเป็นสิ่งที่จุดประกายอารยธรรมมนุษย์ ดังนั้น การตั้งชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนตามเทพเจ้าแห่งไฟ จึงหมายถึงการจุดไฟแห่งการสำรวจดาวเคราะห์ของจีน

ทั้งนี้ ‘จู้’ แปลว่าความปรารถนาในภาษาจีน หมายถึงความปรารถนาดีต่อการสำรวจจักรวาลของมวลมนุษยชาติ ส่วน ‘หรง’ ซึ่งแปลว่าการบูรณาการและความร่วมมือในภาษาจีน สะท้อนวิสัยทัศน์ของจีนในการใช้อวกาศอย่างสันติและการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน

Credit : Xinhua

‘ยานสำรวจจู้หรง’ ติดตั้งเรดาร์เจาะพื้น เลเซอร์ รวมถึงเซนเซอร์ตรวจวัดบรรยากาศและสนามแม่เหล็ก พร้อมอุปกรณ์อีกหลายอย่าง เพื่อเก็บข้อมูลจากดาวเคราะห์สีแดง โดย หลี่ชุนไหล รองหัวหน้าผู้ออกแบบภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน กล่าวว่า ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งตรวจสอบว่ามีหรือเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ แต่ยังเปิดเผยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการและกระแสการพัฒนาของโลกในอนาคต ตลอดจนตรวจสอบความเป็นไปได้ในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ด้วย

ขณะนี้ ยานสำรวจจู้หรงเข้าร่วมภารกิจกับยานสำรวจอื่น ๆ บนดาวอังคาร ทั้งยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) และ คิวริออซิตี (Curiosity) ของนาซา ยานโคจรโฮป (Hope) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “และนั่นทำให้ทำให้ตอนนี้ดาวอังคารเต็มยิ่งไปด้วยความเริงร่าครับ” เดวิด แฟลนเนอรี (David Flannery) นักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (Queensland University of Technology) ในบริสเบน ประเทศออสเตรเลียกล่าว

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

นอกจากความสำเร็จทางวิศวกรรมในการเดินทางไปที่นั่นแล้ว ภารกิจนี้ยังเป็นที่คาดหวังว่า จะช่วยเปิดเผยข้อมูลทางธรณีวิทยาใหม่ ๆ ด้วย เนื่องจากพื้นที่ลงจอดของยานสำรวจจู้หรงคือ ‘ยูโทเปีย แพลนนิเทีย (Utopia Planitia)’ อันเป็นพื้นที่ในซีกโลกเหนือของดาวอังคาร ที่เกิดจากการพุ่งชนของวัตถุเมื่อหลายพันล้านปีก่อน จนก่อเกิดเป็นพื้นที่กว้างและแบนราบเป็นแอ่งขนาดใหญ่

ภาพหลุมอุกกาบาตบนดาวอังคารถ่ายโดยยานโคจรเทียนเวิ่น-1 ของจีน

พื้นผิวของแอ่งส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยวัสดุที่เกิดจากภูเขาไฟ และหล่อหลอมด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การแช่แข็งและการละลายของน้ำแข็งซ้ำ ๆ ทั้งนี้ การศึกษาพื้นที่จากวงโคจรของดาวอังคารชี้ให้เห็นว่า ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือ Permafrost (เป็นชั้นดินที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง แต่ไม่ได้คงตัวเหมือนอย่างชื่อ) อาจซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นผิวดาว

อันที่จริงการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก ในปี 1976 ยานสำรวจไวกิ้ง 2 (Viking 2) ของนาซาได้ลงจอดบนพื้นที่นี้เช่นกัน แต่ไปยังตำแหน่งที่อยู่เหนือกว่าที่จู้หรงลงจอด

“เป็นสถานที่ที่ดีในการลองลงจอดครั้งแรก” แฟลนเนอรีกล่าว ระดับความสูงของพื้นผิวที่ต่ำ ภูมิประเทศที่ไร้สิ่งกีดขวาง และรวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำแข็งในใต้พื้นผิวบริเวณนั้น ซึ่งนั่นหมายความว่ายานสำรวจอาจสามารถเก็บตัวอย่างที่ดีได้

ขนาบทั้งฟากฟ้าและผืนดิน ภารกิจเทียนเวิ่น-1 และยานสำรวจจู้หรง

ด้านเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ของยานเทียนเวิ่น-1 ประกอบด้วยการทำแผนที่สัณฐานวิทยาและโครงสร้างทางธรณีวิทยา การตรวจสอบลักษณะของดินบนพื้นผิวและการกระจายตัวของน้ำ-น้ำแข็ง การวิเคราะห์องค์ประกอบทางวัตถุของพื้นผิว การวัดชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์และลักษณะของสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคารและสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นผิว ตลอดจนการทำความเข้าใจพื้นที่ทางกายภาพและโครงสร้างภายในของดาวอังคาร

โดยยานโคจรมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ติดตั้ง 7 ชนิด ได้แก่ กล้องสำรวจระยะไกล 2 ตัว เรดาร์สำรวจชั้นดินจากวงโคจรดาวอังคาร สเปกโตรมิเตอร์วัดแร่ธาตุดาวอังคาร เครื่องวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร เครื่องวัดอนุภาคที่เป็นกลางและไอออนของดาวอังคาร และเครื่องวัดอนุภาคพลังงานของดาวอังคาร

ขณะที่ยานเทียนเวิ่น-1 ทำการสำรวจจากฟากฟ้า ยานสำรวจจู้หรงก็จะดำเนินการสำรวจพื้นแผ่นดิน โดยเริ่มที่ ‘การวัดดาวอังคาร’

ยานสำรวจจู้หรงมีชุดเครื่องมือสำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อมของดาวอังคาร ได้แก่ กล้อง 2 ตัวติดตั้งบนเสาของยาน เพื่อถ่ายภาพโขดหินในบริเวณใกล้เคียงในขณะที่รถสำรวจอยู่กับที่ใช้ในการวางแผนการเดินทาง นอกจากนี้ ยังมีกล้องหลายสเปกตรัม ที่ตั้งอยู่ระหว่างกล้องถ่ายภาพเพื่อนำทางทั้งสองซึ่งจะช่วยเปิดเผยและแสดงให้เห็นว่า หินหน้ากล้องมีแร่ใดเป็นองค์ประกอบบ้าง

สำหรับเรดาร์เจาะพื้นของยานสำรวจนั้น จะช่วยเปิดเผยข้อมูลทางธรณีวิทยาในพื้นที่ที่รถสำรวจเคลื่อนผ่านไป หากโชคดียานสำรวจจู้หรงอาจตรวจพบเส้นคั่นบาง ๆ ที่บ่งบอกถึงชั้นดินเยือกแข็งคงตัวด้วย ซึ่งการรู้ว่า ชั้นดินนี้อยู่ลึกเพียงใด และลักษณะทั่วไปของมัน สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคารได้ และยังอาจเผยให้เห็นชะตากรรมของน้ำที่เคยมีอยู่ในอดีตอันไกลโพ้นได้ด้วย

Credit : Xinhua
Credit : Nature

โจเซฟ มิชาลสกี้ (Joseph Michalski) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ยังสำทับด้วยว่า หากโชคดียิ่งไปกว่านั้น ยานอาจจะพบหินโบราณบางก้อนซึ่งสามารถเปิดหน้าต่างสู่ประวัติศาสตร์ของโลกของเราเองได้ด้วย เนื่องจากหลักฐานต่าง ๆ บนโลกของเราได้ถูกทำลายไปแล้วด้วยการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค หรือการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (Plate tectonics)

นอกจากนี้ สเปกโตรมิเตอร์ของยานสำรวจจู้หรง ยังมีเทคโนโลยีเลเซอร์ที่สามารถทะลวงหินเพื่อศึกษาถึงที่มาของมันได้ด้วย ยานสำรวจจู้หรงยังเป็นรถสำรวจคันแรกที่ติดตั้งแมกนีโตมิเตอร์เพื่อวัดสนามแม่เหล็กในบริเวณใกล้เคียง ช่วยให้เก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสูญเสียสนามแม่เหล็กอันแข็งแกร่งของดาวอังคาร อันเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนดาวให้กลายเป็นสถานที่ที่เย็นและแห้งแล้ง ไร้ซึ่งสิ่งชีวิตใด ๆ ด้วย

ข้อมูลเชิงลึกจากดาวอังคาร สู่วงโคจร สู่โลก และสู่เรา

เมื่อยานสำรวจจู้หรงได้ข้อมูลต่าง ๆ มันจะส่งข้อมูลไปยังยานโคจรเทียนเวิ่น-1 จากนั้นยานเทียนเวิ่น-1 จะรวบรวมข้อมูลทั้งจากยานของมันเอง และส่งข้อมูลกลับมายังโลกอีกที และเมื่อนักวิจัยรวมข้อมูลเหล่านี้กับ

ข้อมูลจากยานอวกาศอื่น ๆ ของชาติต่าง ๆ ความรู้นี้ก็จะช่วยให้นักวิจัยเห็นภาพที่ชัดเจนกว่าเดิม ว่ามีสิ่งใดบ้างเกิดขึ้นรอบดาวอังคาร

แล้วความรู้ที่ว่านี้จะมีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง สำหรับจีนเอง การลงจอดบนดาวอังคารที่ประสบความสำเร็จนี้จะนำไปสู่ภารกิจขั้นสูงอื่น ๆ ของจีนต่อไป รวมถึงนำตัวอย่างหินจากดาวอังคารกลับมายังโลก ซึ่งมีกำหนดการว่าจะเกิดขึ้นในปี 2030 ด้วย

และเมื่อข้อมูลทั้งจากที่ส่งสัญญาณกลับมา และนำตัวอย่างกลับมา ถึงคราวนั้น เราก็จะรู้ถึงพัฒนาการของอังคาร รวมถึงองค์ประกอบธาตุของต่าง ๆ มากขึ้น เราอาจจะมีแผนที่ดาวอังคารที่สามารถนำมาใช้ช่วยวางแผนการเดินทาง เพื่อนำมนุษย์ไปยังดาวอังคาร เราอาจค้นพบว่าดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิต หรือ มีศักยภาพเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัยในอนาคตก็ได้ เรียกได้ว่า เป็นการปูทางความเป็นไปได้อันหลากหลายที่จะเกิดตามมาอีกหลายอย่างทีเดียว 

และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้ความสำเร็จของจีนในครั้งนี้ เป็นทั้งการก้าวขึ้นสู่หนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านอวกาศชั้นนำของโลก และทำให้เห็นว่า อวกาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของมวลมนุษยชาติเข้าไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว

อ้างอิง

Xinhua1/ Xinhua2/ Xinhua3 / Xinhua4

Nature

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส