จากกระทู้หนึ่งจากเว็บพันทิป เจ้าของกระทู้เปิดประเด็นว่า “โดนพักงานเพียงเพราะไม่ตอบ LINE กลุ่ม มันสมควรไหม” ซึ่งก็จุดประกายว่ามีหลายเรื่องที่น่าคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม LINE ของไทยที่น่าเอามาพูดคุยครับ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ LINE เพื่อติดต่อในการทำงาน
เรื่องราวของเจ้าของกระทู้มีอยู่ว่า เขาเป็นพนักงานชงเครื่องดื่มของร้านหนึ่ง ที่หัวหน้าจะสั่งงาน กระจายงานผ่านไลน์กลุ่ม ซึ่งก็บังคับให้ลูกน้องทุกคนที่เข้าไปอ่านแล้วต้องตอบว่า “รับทราบ” แต่เรื่องมันก็เกิดเพราะเจ้าของกระทู้ไม่ตอบไลน์กลุ่ม ทำให้หัวหน้าคิดว่าติดต่อไม่ได้ จึงตัดชื่อออกจากตารางงานประจำสัปดาห์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าถูกพักงานนั้นแหละ จึงมาถามความเห็นกับชาวพันทิปว่ามันสมควรแล้วเหรอ
ซึ่งความเห็นของชาวพันทิปก็มีทั้งเห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้ และไม่เห็นด้วยโดยบอกว่าเจ้าของกระทู้ไม่ปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานเอง
แล้วทำไมการทำงานในปัจจุบันถึงนิยมสื่อสารกันทาง LINE จนเกิดวลีว่า “ถ้ารีบให้โทร ส่งไลน์คือรอได้”
ปัจจัยแรกคือความพิเศษของ LINE ที่ไม่เหมือนบริการไฮเทคอื่นๆ คือ LINE นั้นสามารถเจาะกลุ่มประชากรไทยได้ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ คือในไทยมีประชากรราว 67 ล้านคน และ LINE ก็มีผู้ใช้มากกว่า 33 ล้านคน แถมยังกระจายไปอยู่ทุกกลุ่มอายุ ก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าถ้าต้องการสื่อสารกับคนไทยให้ง่ายที่สุด ก็มีการโทรหาและการไลน์ไปหานี่แหละ ที่เชื่อได้ว่าคนส่วนใหญ่จะต้องใช้
ปัจจัยที่ 2 คือการส่งไลน์นั้นสามารถสื่อสารถึงคนจำนวนมากๆ ได้พร้อมกัน อย่างกรณีในกระทู้คือเจ้าของร้านสามารถสื่อสารครั้งเดียวถึงลูกจ้างทั้งหมดได้ ซึ่งประหยัดเวลากว่าการยกหูโทรหามาก และยังมีข้อความเก็บไว้ดูย้ำเตือนไม่ให้ลืมด้วย
เมื่อ LINE สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มในไทยได้ง่ายกว่าช่องทางสื่อสารไฮเทคอื่นๆ (เราคิดภาพคนกลุ่มแม่บ้าน เปิดเมล นั่งเช็คเมลไม่ออกใช่ไหมครับ แต่เรานึกภาพแม่บ้านตอบไลน์ออก) และมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงคนจำนวนมากๆ ได้พร้อมกันผ่าน Group Chat จึงไม่แปลกใจเลยที่เราเห็นการใช้ LINE แพร่หลายในการทำงาน จนบางทีเราก็ลืมจุดอ่อนของบริการนี้ไป
ใช้ LINE เพื่อทำงานได้ แต่อย่าลืมจุดอ่อนของไลน์
จุดอ่อนที่หนักมากของการแซตผ่าน LINE คือมันไม่เก็บบันทึกการสนทนาในเซิร์ฟเวอร์ หมายความว่าถ้าเราเปลี่ยนเครื่อง เครื่องหาย บันทึกการสนทนาทั้งหมดก็จะหายไปด้วย LINE จึงไม่สามารถใช้แทนอีเมลในบันทึกหลักฐานการสนทนาที่สำคัญได้ คิดง่ายๆ ว่าคุยผ่านไป 2-3 เดือน ก็ค้นหาข้อความเก่าไม่ได้แล้ว
นอกจากนี้ LINE ยังมีปัญหาเรื่องการแจ้งเตือนที่หลายคนอาจจะเจอว่าข้อความเข้าแล้ว แต่มือถือไม่เด้งเตือน เราจึงคาดหวังไม่ได้ 100% ว่าข้อความที่เราส่งไป ผู้รับจะได้อ่านทันเวลาที่ต้องการ เพราะฉะนั้นสเต็ปในการทำงานกับ LINE จึงควรส่งข้อความหรือเมลไปก่อน ถ้ารีบและไม่มีฟีคแบ็กก็ต้องโทรตามทันที อย่าไปมัวดราม่าว่าทำไมไม่อ่านไลน์กันอยู่
สรุปแล้ว LINE จะเหมาะสำหรับการสื่อสารในการทำงานหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทในขณะนั้น ซึ่งเราควรเรียนรู้ว่าไลน์ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกสถานการณ์ครับ
แล้วถ้าต้องการเครื่องมือสำหรับคุยงานจริงจัง มีอะไรแนะนำไหม
สำหรับใครที่ต้องการเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสมในการทำงานมากกว่าไลน์ (ไม่นับ email นะ) เราก็ขอแนะนำ slack และ Skype ครับ ซึ่งปัญหาต่อมาของการใช้เครื่องมือเหล่านี้คือจะดึงผู้ร่วมงานมาใช้ได้อย่างไร บอกเลยว่าถ้า power ไม่มากพอ ทำไม่ได้นะ