ปัจจุบัน LINE เป็นแอปแชตยอดนิยม เป็นแอปพื้นฐานประจำบ้านที่แทบทุกคนในไทยต้องใช้ แต่หลายคนก็คงไม่ได้ใช้ไลน์เป็นแอปแรก มาย้อนวันหวานกันหน่อยว่าใครเริ่มแชตกันตั้งแต่ยุคไหน! (ตัวเลขปีหลังชื่อคือปีที่เริ่มได้รับความนิยมในไทยนะ ไม่ใช่ปีที่เปิดตัว)

PIRCH98 – 1998

“ห้องสนทนากุ๊กกิ๊ก”

โปรแกรมแซตตัวแรก ๆ ที่นิยมกันในไทย แน่นอนว่าต้องเปิดตัวในปี 1998 โดยพื้นฐานแล้ว PIRCH98 คือโปรแกรมแซตในระบบ IRC ตัวหนึ่งที่สร้างห้องเพื่อคุยกัน หาเพื่อน หาแฟน หรือรวมตัวกันในประเด็นที่สนใจ แล้วสนทนาไปพร้อม ๆ กันทั้งห้อง ยุคสมัยแห่งการนัดเจอกันจากอินเทอร์เน็ตก็เริ่มต้นจาก PIRCH98 นี่แหละ คนยุค 98 โดนหลอกกันมาก่อนแล้ว

ICQ – 1999

“เสียงโอ๊ะโอ้วในตำนาน”

ในขณะที่ PIRCH98 ทำให้คนไทยรู้จักการคุยเป็นห้อง ICQ ก็ทำให้คนไทยเริ่มแชตแบบ 1-1 หรือที่เรียกว่า Instant Messaging ขึ้นมา ซึ่งแม้จะเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 1996 แต่มาฮิตในไทยจริงๆ ในช่วง ICQ99, ICQ2000 ที่นักเล่นอินเทอร์เน็ตไทยทุกคนในตอนนั้นจะต้องมีเลข UIN เพื่อติดต่อหากัน ซึ่งความนิยมของ ICQ ในไทยก็เสื่อมลงเมื่อคนไทยย้ายไปเล่น MSN Messenger ที่มีลูกเล่นมากกว่า แต่ปัจจุบัน ICQ ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ ส่วน MSN สลายร่างไปแล้ว

MSN Messenger/Windows Live Messenger – 2003

“เจอเธอออนเอ็มเมื่อไหร่ เราควรจะแซตเลยม่ะ หรือต้องแกล้ง ๆ ออฟไลน์”

ในช่วงแรก MSN Messenger เริ่มต้นอย่างธรรมดาในปี 1999 ส่งได้แค่ข้อความธรรมดา แต่ MSN Messenger มาเริ่มได้ความนิยมในไทยจริง ๆ ที่เวอร์ชัน 6 ในปี 2003 ยุคของ Windows XP ครับ เพราะเริ่มส่งข้อความพร้อมลูกเล่นอย่างอิโมจิได้ ปรับรูปแทนตัวได้ มาถึงเวอร์ชัน 7 ในปี 2005 ก็เริ่มส่ง Wink แอนิเมชันเล็ก ๆ ระหว่างแชตได้ ช่วงส่ง Snooze หน้าต่างสั่นได้ก็อยู่แถว ๆ นี้แหละ (อยากให้ไลน์ทำได้บ้างจัง)

ต่อมาในปี 2006 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Windows Live Messenger ตามการรีแบรนด์ MSN ใหม่ ซึ่งช่วงนี้เองที่ได้รับความนิยมสูงสุด ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสมาร์ตโฟน ซึ่งไมโครซอฟต์ปรับตัวไม่ทัน ทั้งการปรับตัวเข้ายุคมือถือช้า และระบบแชตที่ไม่สามารถคุยกันได้ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ออนไลน์ จนเลิกทำ Messenger ไปในปี 2012 หลังจากซื้อ Skype เข้ามาในบริษัท

BlackBerry Messenger – 2007

“แลก Pin กัน”

ในยุคเริ่มต้นของการแซตบนโทรศัพท์นั้นมี Blackberry Messenger กระโดดขึ้นเป็นผู้นำทัพได้ก่อน โดยหลังจากที่เปิดตัวในปี 2005 ก็ค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ BBM อยู่บนโทรศัพท์ที่ถูกต้องสำหรับการแชตคือ BlackBerry ที่มาพร้อมคีย์บอร์ด QWERTY เต็มรูปแบบ ทำให้สามารถสนทนาด้วยตัวอักษรได้ง่ายมาก แถมยังมีความ Exclusive คือสามารถใช้ได้เฉพาะคนใช้ BlackBerry ด้วยกันเท่านั้น ทำให้ BBM เหมือนเป็นสังคมเฉพาะตัว ต้องลงทุนกับโทรศัพท์ราคาหลักหมื่น และค่าบริการอีกถึงจะใช้ได้

WhatsApp – 2010

“แอปแซตครอบจักรวาลมือถือ”

WhatsApp นั้นเริ่มต้นจากการเป็นแอปแซตสำหรับโทรศัพท์เลยครับ ออกเวอร์ชันแรกในปี 2009 หลังผู้พัฒนาซื้อ iPhone มาแล้วคิดว่าน่าจะทำแอปแซตลงได้ (ตอนนั้น iPhone 3G เพิ่งจะมี App Store ให้โหลดแอปภายนอก) และขยี้จุดขายของ BBM ที่กลายเป็นจุดตายในเวลาต่อมา คือ WhatsApp ขยันออกไปทั่ว มีทั้งเวอร์ชันสำหรับ iPhone, Android, BlackBerry และ Nokia Symbian ทำให้ผู้ใช้สมาร์ตโฟนทุกคนในเวลานั้นสามารถคุยข้ามแพลตฟอร์มกันได้หมด แถมยังมีโนติแจ้งเตือนเมื่อข้อความเข้า ไม่ต้องคอยเปิดแอปตลอดเพื่อรับข้อความเหมือนโปรแกรมรุ่นเก่า ๆ อย่าง MSN ทำให้ WhatsApp ได้รับความนิยมมากจน Facebook เข้าซื้อกิจการในปี 2014 ด้วยดีลมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านเหรียญ และยังเป็นหนึ่งในแอปแชตยอดนิยมของโลกมาถึงปัจจุบัน

LINE – 2012

“เกิดเพราะความน่ารัก”

LINE เกิดเมื่อปี 2011 ในฐานะแอปแชตภายในของ Naver/NHN หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น และเปิดให้คนทั่วไปใช้ได้ด้วย เพราะในยุคนั้นการสื่อสารของชาวญี่ปุ่นด้วย SMS นั้นมีค่าใช้จ่าย และ KakaoTalk แอปแชตของเกาหลีเริ่มเข้ามาตีตลาดญี่ปุ่น ทำให้ทีมงาน LINE เร่งเครื่องพัฒนาให้ตรงใจชาวญี่ปุ่นด้วยการเติมระบบคุยด้วยเสียงแบบโทรศัพท์ซึ่งตอนนั้น KakaoTalk ยังไม่มี จนกลายเป็นแอปแชตประจำชาติญี่ปุ่นไป

ส่วนในไทยเราเริ่มใช้ไลน์กันในช่วงปี 2012 หลังจาก WhatsApp เพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในไทย แต่ด้วยความที่ WhatsApp เกิดจากวัฒนธรรมฝรั่ง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงใจผู้ใช้ไทยได้ดีเท่า LINE ที่เกิดในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องสติกเกอร์ที่เป็นเรื่องแปลกใหม่ในตอนนั้น แถมไลน์ยังมีสติกเกอร์น่ารักถูกใจคนไทยอีก ทำให้ยุค 2010s ที่คนไทยค่อย ๆ เริ่มใช้สมาร์ตโฟน ก็หันมายึดไลน์เป็นแอปสื่อสารหลัก และค่อยๆ ครองสัดส่วนผู้ใช้แอปแชตส่วนใหญ่ในปัจจุบันของไทยได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส