ผ่านไปเรียบร้อยสำหรับงาน “Metaverse Unlimited” ที่จัดขึ้นในช่วง 15 – 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยภายในงานได้มีการนำเสนอทิศทางของ Metaverse ในอนาคต สำหรับใครที่พลาดไปแบไต๋ขอสรุปให้ว่า ภายในงาน “Metaverse Unlimited” มีความเป็นไปได้อะไรที่น่าสนใจบน Metaverse และนำไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ
Metaverse คือพื้นที่โลกเสมือนแบบ 3 มิติ ที่สามารถเข้าไปใช้งานร่วมกับคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเข้าไปทำงาน เล่นเกม ชอปปิง สร้างบ้าน เป็นเจ้าของทรัพย์สินดิจิทัล ผ่านเทคโนโลยี AR หรือ VR สำหรับประเทศไทยเรามีโลกเสมือนเป็นรายแรกแล้วชื่อว่า Translucia Metaverse ซึ่งเป็นของโครงการ ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้แก่คนทั่วไป ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทางบริษัทเพิ่งจัดงานรวมผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverse ทั้งนักวิจัย นักการตลาด ผู้นำเชิงกลยุทธ์ สถาปนิก นักออกแบบและกราฟิกดีไซเนอร์ระดับโลกนับ 10 ชีวิต มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกเสมือน รวมถึงนำเสนอทิศทางและโอกาสใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มออน์ไลน์
DAY 1
Metaverse กับการสร้างสรรค์แฟชั่นรูปแบบใหม่
งานฟอรั่มวันแรกเปิดตัวด้วย Ms. Cathy Hackl (เคธี่ แฮ็กเคิล) เจ้าของฉายา “Godmother of the Metaverse” ผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverse และที่ปรึกษาแบรนด์ธุรกิจและแบรนด์แฟชั่นระดับโลก พูดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในวงการบันเทิง โดยเปรียบเทียบกับยุคก่อนที่วงการภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้น คนยังไม่เข้าใจว่าภาพยนตร์คืออะไร เช่นเดียวกับคนยุคนี้ที่ยังไม่เข้าใจว่า Metaverse คืออะไร อย่างหนังเรื่องแรกที่มีการฉายเป็นฉากรถไฟพุ่งเข้ามาที่ผู้ชมก็ทำคนตื่นตาตื่นใจอย่างมาก
จึงได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อย่างคอนเสิร์ตของ Lil Nas X หรือ Airana Grande Fornite Rift Tour รวมถึงโลกของเกมที่ทำให้ Metaverse เติบโตไวมาก อย่างเกม Roblox มีสถิติบันทึกว่า ในหนึ่งวินาทีมีผู้คนสนทนาภายในเกมมากกว่า Whatapp เสียอีก
หรือวงการแฟชันเองก็เริ่มตระหนักขึ้นการมีอยู่ของ Metaverse แล้ว เช่น Nike ที่ออกรองเท้าผ้าใบเวอร์ชวลที่มีราคาสูงกว่า 5000 เหรียญ เธอยังมองไปถึงขั้นต่อไปของวงการแฟชั่น ที่การซื้อของในโลกจำลอง (Virtual Reality) จะถูกส่งมาสู่โลกความเป็นจริงด้วย คงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมิใช่น้อย
การสร้างรูปลักษณ์ใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
Mr. D. Fox Harrell (ดี.ฟ็อก แฮร์เรล ) Professor of Digital Media and Artificial Intelligence จากมหาวิทยาลัย MIT เจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับเกมส์ในอเมริกา พูดถึงโลกเสมือนว่ามีผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมอะไรบ้าง ปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่อง ‘อคติ’ มักแฝงอยู่ในการออกแบบเกมหลาย ๆ ประเภท สถิติในเกมบอกว่าตัวละครผู้ชายในเกมทั้งหมดคิดเป็น 86% ส่วนผู้หญิงมีเพียง 14% รวมถึงค่าพลัง รูปลักษณ์ของตัวละครในเกมหลาย ๆ เกม ล้วนแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น
ดังนั้นการสร้าง The Avatar Dream ใน Metaverse ทำให้เราลดข้อจำกัดเรื่องอคตินี้ลงไปได้ เราสามารถเป็นอะไรหรือเป็นใครก็ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและอคติด้วยเทคโนโลยี โดยการสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง
Metaverse คือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
หนึ่งในผู้บรรยายมีนักวิจัยชาวไทยอย่าง พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร ของ MIT Media Lab หนึ่งในห้องแล็บที่ทันสมัยที่สุดในโลกของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ระบุว่าทิศทางการพัฒนาของ Metaverse กำลังก้าวไปสู่จุดที่สามารถประมวลผล ระบุปัญหา หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนทำการผลิตสิ่งที่บริโภคได้จริงในโลกความเป็นจริงได้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว ในงานฟอรั่ม Metaverse Unlimited พีพี ยกตัวอย่างงานเทคโนโลยีชีวภาพของสถาบัน MIT Media Lab ที่อยู่ระหว่างการวิจัยขณะนี้ว่าเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะใช้สวมใส่เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างครบวงจร โดยอุปกรณ์นี้เรียกว่า wisdom device สามารถตรวจจับความเจ็บป่วย บ่งชี้การทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของผู้สวมอุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำ สามารถวินิจฉัยโรคพร้อมผลิตยาขึ้นมารักษาอาการดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง
พีพี ยังเสนอไอเดียอีกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถนำมาใช้ปฏิวัติระบบการศึกษาได้ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ AI สร้างคาแรคเตอร์ในโลกเสมือนเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ อย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือตัวละครดังอย่างแฮรี่ พ็อตเตอร์ เป็นครูสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ แทนที่การใช้ครูจริง “วิธีนี้จะช่วย “เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ออนไลน์” เพราะนักเรียนมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับคาแรคเตอร์เหล่านี้” พีพี กล่าว
Metaverse ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ถูกพัฒนาได้หลากหลาย
อัลเลน เชสไน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ข้อมูลและงานคอมพิวเตอร์กราฟิก ผู้อยู่เบื้องหลัง Maya 3D ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้สร้างฉากใน หนังดัง “Avatar” ระบุว่า Metaverse ไม่ใช่สิ่งใหม่ แท้จริงแล้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีนี้มานานกว่าห้าทศวรรษแล้ว แต่มาเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายจากการพัฒนาขึ้นเป็นเกมออนไลน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้เกมเมอร์สร้างอวตารของตนเองได้ในโลกเสมือนจริงจึงได้รับความนิยมอย่างสูง จนมีการพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงสร้างชุดอุปกรณ์ล้ำสมัยขึ้นมารองรับความต้องการ
อัลเลน เสริมว่า ทุกวันนี้ จักรวาลโลกเสมือนได้วิวัฒนาการมาถึงจุดที่ทุกคนต่างต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้เล่นรายใหญ่ ๆ ในวงการเทคโนโลยี จึงควรยอมรับมาตรฐานการจัดการคอนเทนต์และการใช้งานร่วมกัน
เทคโนโลยี AI ที่มั่นคงคือรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ Metaverse
ปิดท้ายวันแรกที่ Ms. Jeanne Lim (จีน ลิม) Co-Founder & CEO, Being AI พูดถึงเทคโนโลยี AI ที่มาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้มนุษย์อย่างไร Being AI สร้างบทบาทให้ AI แต่ละตัว เพื่อให้หรือรับคำแนะนำกับมนุษย์ โดยเธอกล่าวว่าการจะพัฒนา AI สักตัวต้องใช้คนทั้งโลกเข้ามาช่วย
AI สามารถเข้ามาช่วยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งการแปลงข้อมูล การคำนวนสภาพอากาศ และความสะดวกสบายต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น AI จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ แต่เธอมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ AI อย่างเดียว เพราะมันเรียนรู้จากพวกเรา ดังนั้นอย่าโทษ AI แต่ต้นเหตุจริง ๆ มาจากมนุษย์ จึงต้องเริ่มจากมนุษย์ก่อนที่จะวางรากฐานให้กับ AI และนำไปสู่ Metaverse และ Metaverse ไม่ใช่สิ่งที่เราเดินเข้าไปหา แต่เป็นสิ่งที่เราจะสร้างให้มนุษยชาติต่างหาก
DAY 2
เทคโนโลยี VR ข้าถึงสัมผัสเชิงลึกได้มากกว่า
สำหรับวันที่ 2 ของฟอรัมก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ Metaverse ให้พูดถึงอีกมาก ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยนักวิจัยระดับโลกอย่าง Mr. Jeremy Bailenson (เจเรมี ไบเลนซัน) จาก Stanford University เขามาพูดเรื่อง VR หรือประสบการณ์เสมือนจริงเปลี่ยนการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเอาใจใส่และสุขภาพอย่างไร โดยนำการศึกษาที่ Stanford มาเล่าให้ฟัง
การศึกษาในชั้นเรียนใหม่มีนักเรียนกว่า 263 คน ที่เข้ามาใช้งานกล้อง Oculus ซึ่งทำให้ระบบ VR เข้าถึงสัมผัสเชิงลึกได้มากกว่าการเรียนการสอนผ่าน Zoom โดยเฉพาะวิชาที่ให้นักเรียนเข้ามาเจอกันในโลก VR เป็นกลุ่มเล็ก ๆ 5-7 คน ประสบผลสำเร็จมาก นอกจากนี้เทคโนโลยี VR ยังช่วยยกระดับการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมและได้ปฏิบัติผ่านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถทำในชีวิตจริงได้ เช่น เรียนรู้การทำกระดาษตั้งแต่การตัดต้นไม้ หรือการสำรวจใต้ทะเลลึก
Metaverse ส่งเสริมสันติภาพและความเท่าเทียม
เดวิด เบร ผู้บริหารสูงสุด องค์กร LeadDoAdapt Ventures และผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบัน Stimson Center และ Atlantic Council ชี้ว่าเทคโนโลยี Metaverse สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสันติภาพและแก้ปัญหาสังคมโดยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอีกมุมโลกได้ออกเดินทางทำความรู้จักผู้คนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลกและสามารถมีส่วนร่วมกับพลเมืองท้องถิ่นนั้น ๆ ในโลกเสมือนจริงได้โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง
เดวิด ย้ำว่าประสบการณ์เสมือนจริงที่คนได้รับจากโลก Metaverse นี้จะช่วยให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาข้อขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำและอคติที่ผู้คนในประเทศเหล่านั้นกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น
โลก Metaverse ควรมีกฎเกณฑ์หรือกติการ่วมกัน
Ms.Ashley Casovan (แอสลีย์ คาโซแวน) ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ทำงานให้กับ World Economic Forum แน่นอนว่า Metaverse เป็นโลกที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตามพื้นที่ทุกพื้นที่ควรมีกฎเกณฑ์หรือกติการ่วมกัน ไม่เว้นแม้แต่ในโลกเสมือน ได้ยกตัวอย่างให้เห็นการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปรากฏทั้งในแง่ประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน อย่างในวงการแพทย์ หรือเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า ไปจนถึงระบบตอบรับโดย AI ที่มักจะสร้างปัญหาให้เห็นบ่อย ๆ การประเมินผลกระทบจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ว่าสิ่งใด ๆ ก็ตามให้คุณหรือโทษอะไรบ้าง ก่อนที่จะออกนโยบายอะไรออกมา เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ AI ในปัจจุบัน
เทคโนโลยี AR ในการสร้าง Metaverse
นักพูดชาวไทยอีกคนบนเวทีระดับโลกคือ น็อต-เศณวี ชาตะเมธีวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดีไซน์ ซินธีซิส จำกัด (DESIRE SYNTHESIS COMPANY LIMITED) สถาปนิกเกี่ยวกับการจำลองสถาปัตยกรรมใหม่ Metaverse และการออกแบบทางคอมพิวเตอร์ การออกแบบของดีไซน์ ซินธีซิส คือการใส่สิ่งที่ต้องการลงไป และปล่อยให้เทคโนโลยีจัดการให้ตามคำสั่ง แต่ใน Metaverse ต่างออกไป เช่น เงื่อนไขของเวลาที่ไม่จำกัด เมื่อเราสร้างอะไรสามารถเร่งเวลาไปข้างหน้าได้ไม่จำกัด ทำให้เราเห็นเงื่อนไขต่าง ๆ ในการออกแบบมากขึ้น หรือเห็นตัวอย่างงานออกแบบจริง ๆ แม้จะยังไม่ได้สร้างขึ้นก็ตาม
เทคโนโลยี AR จะเข้ามาช่วยได้ทั้งในระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน ช่วยให้เกิดความแม่นยำในการก่อสร้างได้ เขายกตัวอย่างงานออกแบบไม้ทรงโค้งที่หลายคนช่วยกันทำขึ้นมา หรือการจัดวางกำแพงด้วยอิฐบล็อกที่ออกมาเป็นลวดลายผ้าไทย เทคโนโลยีช่วยทลายข้อจำกัดระหว่างสกิลของมนุษย์และเครื่องจักร สุดท้ายทำให้คนและเครื่องจักรในโลกความเป็นจริงและโลกเวอชวลสามารถอยู่ร่วมกันได้ในที่สุด
การพัฒนาความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม
ปิดท้ายด้วยการนำ Metaverse มาใช้ในวิชาชีพสถาปนิกกับ Mr. Shajay Bhooshan (ชาเจย์ บูซาน) สถาปนิกจากบริษัทสถาปนิกระดับโลก Zaha Hadid Architects และ Co-Founder, ZHACODE ที่เน้นการออกแบบ เทคโนโลยีและประสบการณ์ผู้ใช้ในการติดตั้งระบบดิจิทัลที่ไม่เหมือนใคร เสริมว่าการใช้ Metaverse ในงานออกแบบจะแปลงสภาพเมืองใหญ่ที่แออัดด้วยรถราและเครื่องจักรให้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนได้ สร้างชุมชนเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และประชากรจำนวนมากสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ชาเจย์เสนอไอเดียว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ประโยชน์จากชุมชนเกมออนไลน์ที่มีคนอยู่ร่วม 3,000 ล้านคนให้เข้ามีส่วนร่วมแบ่งปันความคิดและมุมมองเกี่ยวเมืองที่น่าอยู่สำหรับผู้คนควรมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เขาย้ำว่าวิธีการนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างมีความรับผิดชอบอีกด้วย ถึงแม้การพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำจะนำมาซึ่งคุณประโยชน์มหาศาล ผู้ใช้งานควรใช้งานอย่างระมัดระวัง และอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ดีงามร่วมกัน มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อป้องกันระวังภัยคุกคามจากเทคโนโลยี
นอกจากนี้เขายังพูดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการออกแบบ ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีช่วยให้สามารถนำองค์ความรู้โบราณ มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีการออกแบบในปัจจุบันได้ นอกจากจะช่วยลดวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ อย่างเช่นเทคนิคการก่ออิฐสมัยก่อน ยังอาศัยเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยคำนวณได้ด้วย
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในงาน Metaverse Unlimited ในระหว่างวันที่ 15 – 16 ธันวาคมที่ผ่านมา คราวนี้เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตถูกปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของโลกทำให้เราต้องปรับตัวให้เท่าทัน ซึ่งในงานนี้รวบรวมความเป็นไปได้และแนวทางการต่อยอดในสาขาวิชาต่าง ๆ บนโลก Metaverse โดยโปรเจกต์ของ Translucia ทีมพัฒนาคนไทยที่มุ่งหวังสร้างโลก metaverse ระดับ global ได้รวมผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่าง ๆ มาไว้ในงานทั้งสองวันแบบจัดเต็ม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส