ไม่ว่าจะอยู่ในวงการเทคโนโลยีหรือไม่ ‘ปัญหาชิปขาดแคลน’ เหมือนจะเป็นเรื่องที่สำคัญและสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างหนักหน่วงมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ราคาสินค้าเทคโนโลยีต่างพากันปรับตัวสูงขึ้นอย่างหนัก แต่ว่าเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครได้ประโยชน์ แล้วเมื่อไหร่เรื่องทั้งหมดนี้มันจะจบลงกันได้นะ
ปัญหาชิปขาดแคลนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุหลักของวิกฤตการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนทั่วโลกเกิดจากการรวมกันของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเกิดผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นแบบสโนว์บอล (snowball effect) ซึ่งเหตุการณ์หลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาชิปขาดแคลนคือ
การระบาดของโควิด-19
ตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ทำให้ผู้คนต้องเริ่มทำงานที่บ้าน (Work From Home) เมื่อการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เรียน หรือทำงานก็ต้องอัปเกรดไปด้วย คนก็เลยซื้อคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ตเพิ่มขึ้น เกิดเป็นอุปสงค์ที่สูงมากในเวลาอันสั้น จากข้อมูลแล้ว ยอดขายชิปที่ต้องใช้สารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จากที่เคยลดลงในปี 2561 – 2562 กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2564 ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 26% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563 แล้ว แม้แต่บริษัทผู้ผลิตเองก็ต้องเจอกับล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน การผลิตชิปเหล่านี้ก็ช้าลงไปด้วย
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน
ในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ (United States Department of Commerce) ได้กำหนดข้อจำกัดสำหรับผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corporation – SMIC) ซึ่งทำให้การค้าขายระหว่างบริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของจีนกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในสหรัฐ ซื้อขายกันยากขึ้นมาก จนเหมือนบังคับให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ต้องซื้อขายกับบริษัทอื่นนอกจีน อย่างบริษัทผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) และซัมซุง (Samsung) เท่านั้น ทำให้บริษัทผลิตไม่ทัน
นอกจากนี้สงครามการค้านี้ยังทำให้เกิดภาวะไม่แน่นอนของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จีน ที่กังวลว่าจะถูกแบนแบบหัวเว่ย จึงมีการกักตุนสต็อกชิปที่ต้องใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ
ปัญหาแวดล้อมอื่น ๆ
ในขณะที่ปัญหา 2 อย่างก่อนหน้าที่รุนแรงอย่างมากเกิดขึ้น ก็ได้มีปัญหาอย่างอื่นอีก เช่น ไต้หวันเกิดภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบกับ TSMC ซึ่งโรงงานผลิตชิปเหล่านี้จำเป็นต้องใช้น้ำในการผลิตมาก เลยทำให้กำลังการผลิตในช่วงนี้น้อยลงอย่างมากอีกด้วย
Asahi Kasei บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์กว่า 30% สำหรับรถยนต์เกิดไฟไหม้ขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ ต่างพากันไปสั่งผลิตชิปกับบริษัทอื่นเช่น TSMC หรือซัมซุง เพิ่มภาระงานให้กับบริษัทเดิมอีกต่างหาก
หรืออย่างล่าสุด ที่ ASML บริษัทที่ผลิตเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเยอรมัน เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานในเมืองเบอร์ลินเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ถึงแม้ทางบริษัทจะยังไม่เปิดเผยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะทำให้ปัญหาชิปขาดตลาดนี้รุนแรงขึ้นไปได้อีกแน่นอน
ทำไมปัญหาชิปขาดแคลนถึงรุนแรงมากขนาดนี้
ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าจะอุปกรณ์ประเภทไหนก็ตาม ต่างต้องใช้เจ้าชิปเซมิคอนดักเตอร์เหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือกระทั่งรถยนต์ก็ด้วย และบริษัทที่ผลิตชิปเหล่านี้ได้ในโลกนี้ มีผู้ผลิตรายใหญ่เหลืออยู่เพียงแค่ 2 เจ้าเท่านั้น ก็คือ TSMC และซัมซุง เมื่อบริษัทเหล่านี้เจอความต้องการใช้ชิปที่มากขึ้นมาก ๆ เข้า ก็ทำให้ยิ่งผลิตไม่ทันเข้าไปใหญ่เลย
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเกิดคำถามว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ทำไมตอนนี้ที่เวลาผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว ชิปถึงยังขาดแคลนอยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่าบริษัทผู้ผลิตนั้นมีน้อยจนน่าใจหายเลย อย่างที่บอกไปว่าบริษัทผู้ผลิตหลัก ๆ ในโลกนี้มีอยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น และโรงงานเหล่านี้อยู่ในซีกโลกตะวันออกเท่านั้นอีกด้วย (ไต้หวันและเกาหลีใต้) ประกอบกับการที่ผู้ผลิตใหม่จะเข้าสู่วงการผลิตชิปก็ทำได้ยากมาก เพราะว่าการผลิตชิปเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และใช้เวลาในการวิจัยนาน และต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจนี้ก็สูงมากถึง 10 ล้านเหรียญ (ประมาณ 336 ล้านบาท) เลย ขนาดเอเอ็มดี (AMD) หรือแอปเปิล (Apple) ยังต้องจ้าง TSMC ในการผลิตชิป CPU ให้เลย ทำให้ปัจจุบัน คิวการผลิตชิปของทุกบริษัทแน่นมาก และผลิตได้ไม่ทันความต้องการของลูกค้านั่นเอง
ปัญหาชิปขาดแคลนส่งผลกับอุตสาหกรรมไหนบ้าง
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า เจ้าชิปเซมิคอนดักเตอร์นี้จำเป็นกับคอมพิวเตอร์ทุก ๆ เครื่อง ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก หรือแม้กระทั่งระบบที่ต้องมีการคำนวณในรถยนต์ ดังนั้นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต CPU อย่างอินเทล (Intel) หรือเอเอ็มดี รวมถึงแอปเปิลด้วยนะ ผู้ผลิตการ์ดจออย่างเอ็นวิเดีย (Nvidia) ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษเนื่องจากความต้องการใช้งานที่หลากหลายกว่า ทั้งใช้ในคอมพิวเตอร์ และเหมืองสำหรับขุดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies)
ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงอุตสาหกรรมเกมคอนโซลเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะต่างก็เป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาไปแล้วทั้งคู่ ต้องใช้ CPU เหมือนกัน และก็ผลิตในที่เดียวกันด้วย
อย่างสุดท้ายก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ ความต้องการชิปนี้ไม่ใช่แค่จะเกิดขึ้นในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้นนะ แต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทผลิตรถยนต์ต่างมีความต้องการชิปเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพื่อพัฒนาระบบภายในรถยนต์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ระบบช่วยจอดรถ ระวังการถูกชนด้านข้าง ระบบล็อกความเร็วคงที่ตามความต้องการของผู้ขับขี่และสัมพันธ์กับรถยนต์ด้านหน้า (Adaptive Cruise Control) เป็นต้น ไปจนถึงระบบใหม่ล่าสุดอย่างระบบขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Driving) ทำให้ชิปเหล่านี้ขาดตลาดยิ่งกว่าเดิม
ซึ่งปัญหาชิปขาดแคลนนี้ทำให้รถบางรุ่นต้องพักสายการผลิต เพราะไม่สามารถหาชิปมาผลิตรถได้ เมื่อผลิตรถยนต์ที่มีระบบใหม่ ๆ เหล่านี้ได้น้อย ก็จะได้ยอดขายที่น้อยไปด้วย และพัฒนาช้าลงไปอีก
แล้วเรื่องนี้ ใครกันล่ะที่ได้ประโยชน์ ?
ปัญหาชิปขาดแคลนนี้ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเท่านั้นนะ เพราะว่าบริษัทผลิตชิปทั้ง 2 เจ้าใหญ่ ต่างได้รับประโยชน์กันทั้งคู่ สามารถขยายตัวได้อย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างเช่นที่ TSMC กำลังจะขยายฐานการผลิตไปที่ญี่ปุ่นด้วย
ในขณะเดียวกัน ก็เกิดการแข่งขันในวงการผู้ผลิตชิปมากขึ้น จนทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่มากขึ้นอีกด้วย เช่นเทคโนโลยี CPU ขนาด 5nm หรือ 3nm ในอนาคต ซึ่งทั้ง TSMC และซัมซุงก็ต่างต้องแย่งลูกค้ากันไปมาอย่างหนัก อย่างเช่นกรณีที่ เอเอ็มดี อาจจะย้ายไปจ้างให้ซัมซุงผลิตชิปให้แทนเพราะว่าซัมซุงให้ราคาค่าผลิตที่ดีกว่า เป็นต้น
อีกเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ทางรัฐบาลที่เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ต่างก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบริษัทผลิตชิปเหล่านี้ เพื่อให้ปัญหาชิปขาดแคลนนี้ค่อย ๆ ลดลงทีละน้อยไปด้วย อย่างเช่นรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ร่วมลงทุนในธุรกิจชิปนี้มากถึง 451 ล้านเหรียญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของซัมซุงให้มากขึ้นด้วย
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็พยายามเข้ามาช่วยเหลือเช่นเดียวกัน โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปผ่านการทบทวนเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน โดยการทบทวนในระยะยาว จะทำให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานโดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ไปใช้อย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาชิปขาดแคลนได้ แม้ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ จะเป็นสัดส่วนแค่ 12.5% ของทั้งหมดก็ตาม
เมื่อไหร่ปัญหาชิปขาดแคลนจะจบลง ?
มัลคอล์ม เพนน์ (Malcolm Penn) ซีอีโอของบริษัทวิจัยด้านอุตสาหกรรม ฟิเจอร์ ฮอไรซอนส์ (Future Horizons) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “แม้ว่าอุปทานเซมิคอนดักเตอร์นั้นคาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในสิ้นปี 2564 แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าปัญหาการขาดชิปทั่วโลกอาจยืดเยื้อตลอดปี 2565 และอาจยาวไปถึงปี 2566 เลย การขาดแคลนของชิปนั้นเป็นเพราะค่าใช้จ่ายด้านกำลังการผลิตในปัจจุบันยังมีผลอยู่”
ทางด้านซีอีโอของบริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ก็ออกมาบอกเป็นเสียงคล้าย ๆ กันว่าปัญหานี้อาจจะยังคงอยู่ไปอีกสักพัก เช่น แพท เกลซิงเกอร์ (Pat Gelsinger) ซีอีโอของอินเทล คาดว่าปัญหาชิปขาดแคลนนี้จะคงอยู่ไปจนถึงประมาณปี 2567 เลย ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกับอาร์วินด์ กฤษณะ (Arvind Krishna) ซีอีโอของไอบีเอ็ม (IBM) ในขณะที่ซีอีโอของเอ็นวิเดีย เจนเซ่น หวง (Jensen Huang) ซีอีโอของเอเอ็มดี ลิซา ซู (Lisa Su) รวมถึง คริสเตียโน อามอน (Cristiano Amon) ซีอีโอของ Qualcomm ก็ได้คาดการณ์ว่าปัญหาชิปขาดแคลนนี้จะยังคงอยู่จนถึงประมาณสิ้นปี 2565 นี้
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไขในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าปัญหาด้านชิ้นส่วนอื่น ๆ ขาดแคลนจะเกิดขึ้นต่อมาได้ เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าปัญหานี้จะสร้างความลำบากให้กับคนในหลาย ๆ ภาคส่วน แต่ดูท่าแล้วเรื่องปัญหาชิปขาดแคลนนี้ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าได้มากขึ้นก็ได้ ไม่มากก็น้อย
แต่ระหว่างที่ปัญหานี้ยังไม่หมดไป ก็คงต้องกอดคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือสมาร์ตโฟนของเราไว้ให้แน่นก่อนล่ะนะ
อ้างอิง
Techwire
The Verge
Analytics India Magazine
CNBC
Datacenter Dynamics
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส