บทความที่แล้วผมได้พาไปทำความรู้จักแผนสำรองก่อนเกิดปัญหาและ DR Siteกันไปแล้ว ที่หลายท่านคงนึกภาพตามออกว่าก่อนที่จะเกิดปัญหาเราต้องรับมืออย่างไรบ้าง แต่ก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและเกี่ยวกับความมั่นคงของข้อมูลด้วยนั่นคือ Internet Data Center หรือ IDC ครับ
มาตรฐานของ Data Center
การสร้างศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตหรือ Data Center นั้นไม่ใช่สร้างกันดื้อๆ ไม่มีแนวทางอะไรนะครับ แต่มีมาตรฐานที่เรียกว่า ANSI/TIA-942 กำหนดระดับคุณภาพของ Data Center ออกเป็น 4 ระดับ หรือที่เรียกในวงการว่า Tier ซึ่งแค่ Tier 1 มาตรฐานขั้นต่ำสุดสำหรับการเป็น IDC ก็กำหนดว่าระบบต้องทำงานได้อย่างน้อย 99.671% หรือในหนึ่งปีระบบล่มได้ไม่เกิน 28.83 ชั่วโมงแล้ว ส่วน Tier 4 ที่เป็นมาตรฐานสูงสุดกำหนดให้ระบบต้องทำงานได้ 99.995% หรือปีหนึ่งล่มได้ไม่เกิน 26.28 นาที และต้องมีระบบสำรองพร้อมทำงานเสมอ
โดยมาตรฐานทั้ง 4 มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
- Tier 1 ระบบต้องทำงานได้อย่างน้อย 99.671% หรือในหนึ่งปีระบบล่มได้ไม่เกิน 28.8 ชั่วโมง แต่ไม่มีระบบทำงานสำรอง
- Tier 2 ระบบต้องทำงานได้อย่างน้อย 99.741% หรือในหนึ่งปีระบบล่มได้ไม่เกิน 22 ชั่วโมง ต้องมีระบบทำงานสำรองด้วย
- Tier 3 ระบบต้องทำงานได้อย่างน้อย 99.982% หรือในหนึ่งปีระบบล่มได้ไม่เกิน 1.6 ชั่วโมง ต้องมีระบบทำงานสำรอง มีไฟฟ้าสำรอง และช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำรอง
- Tier 4 ระบบต้องทำงานได้อย่างน้อย 99.995% หรือในหนึ่งปีระบบล่มได้ไม่เกิน 24 นาที ต้องมีระบบทำงานสำรอง มีไฟฟ้าสำรอง ช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำรอง และทุกอย่างที่เกี่ยวกับระบบใน IDC ก็ต้องมีตัวสำรอง เช่นระบบแอร์ ระบบดับเพลิง ฯลฯ
การออกแบบเฉพาะของ Data Center
การสร้างศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์จะมี 2 แนวทางหลักๆ ในปัจจุบันคือสร้างในอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว และปรับปรุงขึ้นเป็น Data Center หรือสร้างเป็นอาคารใหม่ที่ออกแบบเป็น Data Center โดยเฉพาะครับ ซึ่งอาคารที่ออกแบบมาเฉพาะก็จะมีข้อได้เปรียบในการออกแบบที่สามารถสร้างตามลักษณะเฉพาะของอาคาร Data Center ได้หลายอย่าง เช่นสร้างให้พื้นรับน้ำหนักได้มากกว่าอาคารปกติ หรือสร้างให้เครื่องปั่นไฟอยู่แยกกันคนละอาคารเพื่อลดความสั่นสะเทือนเวลาเครื่องทำงาน ซึ่งการออกแบบเฉพาะที่ใช้ใน IDC นั้นมีหลายอย่าง เราจะขอเล่าให้ฟังกันดังนี้
เรื่องวุ่นวายของการทำความเย็นแต่ต้องประหยัดพลังงาน
Data Center นั้นต้องใช้พลังงานเยอะมากนะครับ ซึ่งการใช้ไฟ 2 ส่วนหลักๆ คือสำหรับจ่ายให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงาน พวกเครื่องเซิร์ฟเวอร์ทั้งหลายที่วางเป็นร้อยๆ พันๆ ตู้นั้นแหละ อีกส่วนหนึ่งก็คือไฟฟ้าสำหรับระบบทำความเย็น ก็ที่เรารู้ๆ กันว่าพวกคอมพิวเตอร์นั้นมันไม่ถูกกับความร้อน แต่ตัวเองดันสร้างความร้อนมามากมาย และเมืองไทยเป็นเมืองที่ร้อนมว้าก อาคารของ Data Center จึงต้องป้องกันความร้อนจากภายนอกได้ดีพอสมควร อาจจะด้วยฉนวนกันความร้อน หรือเทคนิคอย่าง Solar Slab
Data Center หลายแห่ง ก็มีการยกพื้นขึ้นเพื่อเดินระบบปรับอากาศไว้ใต้พื้น โดยจะเป็นระบบ Precision Air-Conditioner หรือการทำความเย็นที่ให้ลมเย็นจากพื้นสู่เพดาน คือลมเย็นจะพุ่งออกมาจากพื้นหน้า Server ที่กำลังทำงาน ดูดลมเย็นเข้าไประบายความร้อนในเครื่องจนกลายเป็นลมร้อนดูดออกทางเพดานของห้องครับ ซึ่งระบบที่ดีก็สามารถควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศแบบนี้เป็นรายแถว แถวไหนยังไม่มีเครื่องก็ปิดไปก่อน เพื่อประหยัดไฟได้ด้วย
และตัวพื้นของห้องเซิร์ฟเวอร์นี้ นอกจากจะยกพื้นเพื่อให้มีระบบทำความเย็นซ่อนอยู่ใต้พื้นแล้ว ยังทำให้พื้นรองรับน้ำหนักได้มากขึ้นด้วย เป็นการกระจายน้ำหนักจากจุดเดียวออกไปยังพื้นอาคารหลายๆ จุด หรือที่เรียกว่า Share Load เพื่อรองรับน้ำหนักเซิร์ฟเวอร์ UPS หรืออุปกรณ์อื่นๆ โดยอย่างน้อยพื้นของห้องเซิร์ฟเวอร์ใน IDC ก็ควรรองรับน้ำหนักได้ 800 กิโลกรัม/ตารางเมตร
การรักษาความปลอดภัยและเสถียรภาพของอาคาร
ในอาคารสมัยใหม่ก็ต้องมีระบบดับเพลิงอยู่แล้วจริงไหมครับ แต่สำหรับอาคารศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากอยู่ระบบดับเพลิงก็ต้องดีกว่าการใช้น้ำธรรมดามาดับไฟครับ
สารดับเพลิงที่ใช้กันหลักๆ ใน Data Center จะมี 2 ตัวคือ Pyrogen ที่เป็นสารไม่นำไฟฟ้า ไม่ทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอยู่ในรูปของแข็งจึงไม่ต้องเก็บไว้ในถังแรงดัน และอีกตัวหนึ่งคือ Novec 1230 ที่พัฒนาขึ้นโดย 3M สารนี้ไม่ทำอันตรายกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน และมีอายุในชั้นบรรยากาศสั้น ไม่กี่วันก็สลายตัวหายไปหมด จึงไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ ซึ่งระบบดับเพลิงของ IDC จะได้รับการตรวจเช็คตลอดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดจากอัคคีภัย
จุดสำคัญอย่างหนึ่งของ Data Center คือต้องมีการรักษาความปลอดภัยผู้ผ่านเข้าออกอย่างเข้มงวดด้วย เพราะเซิร์ฟเวอร์และข้อมูลที่อยู่ภายในนั้นมีมูลค่ามาก คงไม่มีใครที่อยากให้ข้อมูลหลุดหรือถูกทำลายไป มาตรการพื้นฐานของ Data Center คือทุกคนที่ผ่านเข้าออกจะต้องสแกนบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลงบันทึกเวลาทั้งหมดเอาไว้ ส่วนแขกก็ต้องติดต่อขออนุญาตก่อนที่จะมาถึง แล้วเมื่อมาถึงก็ต้องแลกบัตร พร้อมถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชนเก็บไว้ในฐานข้อมูลอีกด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อรับประกันความปลอดภัย และความมั่นคงของข้อมูลและระบบงานทั้งหมดที่อยู่ภายในอาคารครับ
และสุดท้ายคือเครื่องปั่นไฟที่มีความสำคัญมาก ถึงแม้ว่าในระบบของ Data Center จะมี UPS ช่วยควบคุมกระแสไฟและจ่ายไฟชดเชยยามเกิดปัญหา แต่ในกรณีที่ไฟดับเป็นเวลานานก็ยังต้องมีเครื่องปั่นไฟที่เติมน้ำมันพร้อมใช้งานได้เสมอ ซึ่ง Data Center ส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 1 เครื่องเพื่อทำงานแทนกันได้ยามเกิดปัญหา
Data Center ของ CAT
ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตของกสท โทรคมนาคมมี 3 แห่งหลักในประเทศไทยนะครับ เริ่มตั้งแต่ตึก CAT ที่บางรัก ที่เราจะคุ้นเคยกันมากที่สุด มีพื้นที่ให้บริการ 1,000 ตารางเมตร ได้มาตรฐานระดับ Tier 4 คือมีระบบสำรองทั้งหมด พร้อมเครื่องปั่นไฟที่พร้อมทำงานตลอด
แห่งที่ 2 อยู่ในจังหวัดนนทบุรีครับ มีพื้นที่ให้บริการวางเซิร์ฟเวอร์ 500 ตารางเมตร ได้มาตรฐานระดับ Tier 3 แต่ยังมีระบบสำรองไฟพร้อมเครื่องปั่นไฟที่เตรียมพร้อมตลอด และแห่งสุดท้ายน้องเล็กนั้นอยู่ที่ศรีราชา มีพื้นที่ให้บริการ 300 ตารางเมตร แต่ก็พร้อมขยายได้ในอนาคต ได้มาตรฐานระดับ Tier 4 เหมือนพี่ใหญ่
ขอบคุณทาง CAT สำหรับข้อมูลดีๆ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังให้แฟนๆ เว็บแบไต๋ทุกคนครับ ก็ติดตามความเคลื่อนไหวหรือสอบถามบริการได้จากหน้าเว็บของ CAT IDC ครับ