เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนาแบบออนไลน์ขึ้นในหัวข้อ “ดีล True-Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค” เพื่อเสวนา เกี่ยวกับ “การควบรวม” ของทั้งสองบริษัท โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานและองค์กรที่หลากหลายมาร่วมงาน ตั้งแต่คุณสารี อ๋องสมหวัง ผู้ขับเคลื่อนสิทธิผู้บริโภคมายาวนาน ซึ่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.), ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย), คุณหมอประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งมาเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้รับการมอบหมายจาก กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ), อาจารย์กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ ซึ่งนับว่าเป็นกูรูด้านกฎหมายคนหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายแข่งขันการค้า, คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และมีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ประเด็นสำคัญ
- คุณสารีชี้แจงว่า สอบ. มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการมาโดยตลอด
- ตัวแทนจากทรูประเมินการควบรวม ทรู ดีแทค ไม่ส่งผลต่อราคา เพราะมีเส้นเพดานกำกับอยู่แล้ว
- ดร. สมเกียรติให้มุมมองเรื่องผลกระทบการควบรวม
- คุณหมอประวิทย์อธิบายในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาของ กสทช.
- อาจารย์กมลวรรณ กับผลกระทบของการไม่มีการแข่งขัน
- ข้อเสนอจาก TDRI กรณีทรู-ดีแทค 3 ประการ
- คุณสฤณีกับลักษณะการควบรวม
- ทำไม NT ถึงไม่นับเป็นรายใหญ่ที่ 3
- ตัวแทนจากทรูให้ความเห็นว่าอย่ามองข้าม NT หลังควบรวม CAT+TOT พร้อมแข่งขันในยุคดิจิทัล
คุณสารีชี้แจงว่า สอบ. มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการมาโดยตลอด
เนื่องจากทางเลือกของผู้บริโภคจะลดลง และเมื่อทางเลือกลดลง ราคาย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคแน่นอน ดังเช่นงานวิจัยของประเทศอังกฤษที่มีความชัดเจนมาก โดยเมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ (major operator) จำนวน 4 ราย ลดลงเหลือ 3 ราย ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 20% เพราะฉะนั้น รูปธรรมที่ไทยมีตอนนี้ก็ชัดเจนไม่ต่างจากเคสตัวอย่างนี้ ทางสอบ. จึงได้ไปขอให้การดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปอย่างรอบคอบและควรจะดำเนินการโดย กสทช. ชุดใหม่ที่ได้ผ่านการคัดเลือกโดยวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขณะนี้ยังรอการแต่งตั้งอยู่
ตัวแทนจากทรูประเมินการควบรวม ทรู ดีแทค ไม่ส่งผลต่อราคา เพราะมีเส้นเพดานกำกับอยู่แล้ว
รายงาน กสทช. ชี้ชัด ค่าบริการโทรคมนาคมไทยยังต่ำกว่าอัตรากำกับ นักวิเคราะห์ชี้ค่าบริการของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ตลอด 5 ปี ราคาต่อนาทีถูกลงต่อเนื่อง ประเมินการควบรวม ทรู ดีแทค ไม่ส่งผลต่อราคา เพราะมีเส้นเพดานกำกับอยู่แล้ว
รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคม ล่าสุดประจำไตรมาสที่ 3/2564 (กรกฎาคม – กันยายน 2564) เผยแพร่เมื่อ 2 ก.พ. 2565 ระบุถึงทิศทางและแนวโน้มของอัตราค่าบริการโทรคมนาคมของประเทศไทย โดยเปิดเผยว่า ในภาพรวมของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราค่าบริการเฉลี่ยในแต่ละประเภทของผู้ให้บริการทุกรายมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยไม่เกินอัตราที่กำกับตามประกาศ กสทช. โดยค่าบริการเสียงอยู่ที่ 0.48 บาทต่อนาที บริการ SMS อยู่ที่ 0.67 บาทต่อข้อความ บริการ MMS อยู่ที่ 1.80 บาทต่อข้อความ และบริการ Mobile Internet อยู่ที่ 0.10 บาทต่อ MB และจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มค่าบริการลดลงต่อเนื่อง แต่มีการแข่งขันนำเสนอวริการอินเทอร์เน็ต 4G และ 5G มากขึ้น
รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในรายงานแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564 : ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการหลักในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีน้อยราย แต่การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง มีการใช้กลยุทธ์ด้านราคา รวมถึงเร่งลงทุนขยายสัญญาณเครือข่าย เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ ทำให้การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนเพิ่มจำนวนขึ้น
โดยรายงาน Mobility Report ระบุว่าปี 2559 จำนวนการใช้สมาร์ตโฟนในไทยมีระดับสูงกว่าจำนวนการใช้โทรศัพท์พื้นฐานและคาดว่าปี 2564 จำนวนสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าหรือ 80 ล้านเครื่องจาก 40 ล้านในปี 2558 ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และการใช้โมบายอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union: ITU) จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการด้าน ICT ก้าวหน้ารวดเร็วมากสุดในรอบห้าปี (Most dynamic improvement countries: ข้อมูลปี 2558)
ขณะที่ปี 2560 ดัชนีชี้วัดการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Development Index) ของไทยอยู่อันดับที่ 78 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ขยับดีขึ้นจากปี 2559 ด้านค่าใช้จ่าย ผลการศึกษาเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (รวมบริการเสียงและอินเตอร์เน็ต) ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่ำเป็นอันดับ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนประมาณ 38% สะท้อนว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เสียงและอินเตอร์เน็ต) เป็นผลจากราคาที่อยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนโดยเปรียบเทียบ
แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ทั้งเงินจากการประมูลคลื่นความถี่โดยตรงตั้งแต่ 3G, 4G และ 5G รวม 437,962 ล้านบาท และการประมูลทีวีดิจิทัลอีก 50,000 ล้านบาท รวมทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ และการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องลงทุนด้านใบอนุญาต ลงทุนด้านเครือข่าย อุปกรณ์ โดยมี กสทช. ควบคุมราคา ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมต้องแบกรับภาระต้นทุน ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาได้ เพราะเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับดูแล ดังนั้นในข้อเท็จจริงจึงไม่น่าวิตกกังวลในกรณีที่ทรู รวมกับดีแทคแล้ว จะราคาสูงขึ้นนั้น เนื่องจากยังมี กสทช.เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด
นักวิจัยของ Top Dollar ได้วิจัยผู้ใช้บริการสมาร์ตโฟนประมาณ 3.8 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งเท่ากับเกือบร้อยละ 50 ของประชากรโลก รายงานค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทย คือ ประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียมีค่าบริการต่อข้อมูลมือถือ จำนวน 10GB มีราคาต่ำกว่า 0.21 เหรียญสหรัฐฯต่อความเร็วในการดาวน์โหลด 1Mbps จำนวน 0.13 เหรียญสหรัฐฯ หรือโดยประมาณ 6.82 บาท หากเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในโลก จะพบว่า ประเทศไทยมีค่าบริการถูกที่สุด ติดอันดับ TOP 10 ของโลก
สิ่งที่คนไทยควรจะเป็นห่วงมากกว่าการกำกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่มีกฎหมาย กฎระเบียบครบถ้วน ก็คือ การที่กฎหมาย ในการกำกับดูแลตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีผู้ให้บริการ Over the top ที่แทบไม่มีกฎหมายควบคุม ยกตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งตลาดของคนใช้ไลน์ อาจสูงถึง 80% ของตลาด แต่ไม่มีใครพูดถึง หรือ การที่ส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% มีการใช้ facebook เป็นต้น ซึ่งหากจะควบคุมก็ทำได้ยาก เพราะบริษัทเหล่านี้อยู่ในต่างประเทศ และไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทย หากจะแก้กฎหมาย ก็ต้องใช้เวลา เนื่องจากกระบวนการในการแก้ไขมีหลายขั้นตอน ปัจจุบันกฎหมายที่ กสทช.เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 เป็นกฎหมายที่ใช้มานานมาก ส่วนใหญ่จึงบังคับใช้กับผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลัก
ดร. สมเกียรติให้มุมมองเรื่องผลกระทบการควบรวม
สำหรับคำถามสำคัญถึงผลกระทบของการควบรวมนั้นว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องตั้งคำถามถึงการควบรวมกัน ว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทอย่างไร ซึ่งทางดร.สมเกียรติได้อธิบายว่าเป็นไปได้ 2 ทาง คือ
- ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับผู้บริโภค
- เป็นการเพิ่มอำนาจการผูกขาด ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์
ในทางเศรษฐศาสตร์จึงต้องชั่งข้อดีข้อเสียเหล่านี้เข้าด้วยกัน แต่ทางการกำกับดูแลของหน่วยงานบางประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา จะมีเกณฑ์ชัดเจนคือ ดูผลต่อผู้บริโภคอย่างเดียวเท่านั้น ว่าการควบรวมเป็นผลดีหรือผลเสียต่อผู้บริโภค หากเป็นผลเสียจะทำ 2 อย่างตามระดับความร้ายแรง คือ หากเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคมาก ก็จะห้ามการควบรวมนั้น แต่หากเป็นผลเสียในบางส่วน ยังสามารถแก้ไขเยียวยาได้ ก็จะใช้วิธีอนุญาตให้ควบรวมแต่กำหนดเงื่อนไขเอาไว้
ซึ่งในกรณีของทรู-ดีแทคนี้ จะเป็นผลแบบใดนั้น ในทางวิชาเศรษฐศาสตร์ตำราได้เขียนไว้เลยว่า ให้ดูว่าผู้ประกอบการรายที่เหลือ (ซึ่งในที่นี้ก็คือ AIS) มีท่าทีอย่างไร หากผู้ประกอบการรายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวม หรือรายที่ไม่ได้ควบรวมด้วยคัดค้านการควบรวม หน่วยงานกำกับดูแลควรจะอนุญาตให้เกิดการควบรวม แต่หากผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง ไม่คัดค้านการควบรวม เผลอ ๆ อาจจะสนับสนุนด้วย ควรจะห้ามการควบรวม แม้อาจจะฟังดูแปลก ๆ แต่เรื่องนี้มีคำอธิบายอยู่
นั่นคือ หากการควบรวมทำให้บริษัทที่ควบรวมมีนวัตกรรมที่ดีขึ้น มีต้นทุนที่ถูกลง ก็จะส่งผลไปยังผู้บริโภคผ่านการลดราคา รายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอย่าง AIS ก็จะต้องตัดราคามาแข่งด้วย จะทำให้เสียประโยชน์ จึงมาคัดค้าน แสดงให้เห็นว่าการควบรวมนั้น เป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่กรณีนี้เห็นแล้วว่าไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะทุกคนเห็นชัดเจนว่าผลของการควบรวมนั้น จะทำให้อำนาจของผู้ประกอบการที่ควบรวมกัน ตลอดจนผู้ประกอบการที่เหลืออยู่อย่าง AIS จะทำให้ตลาดกระจุกตัวมากขึ้น โดยตลาดจะเหลืออยู่เพียง 2 ราย จาก 3 ราย เพราะฉะนั้น ในมุมของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมดจะได้ประโยชน์ และผู้บริโภคเสียประโยชน์ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังคมทั้งหมด ที่ต้องดีลกับผู้ประกอบการที่จะเหลืออยู่เพียง 2 ราย บรรดาผู้ที่ทำ start-up นวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะมีทางเลือกน้อยลงเช่นกัน
กรณีนี้จึงชัดเจนมาก ว่า การควบรวมนี้ไม่ควรเกิดขึ้น สมควรระงับ มิฉะนั้น การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจะพบกับการผูกขาดทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การผูกขาดบริการ เช่น อินเทอร์เน็ตจะเข้าถึงได้ยากขึ้น ราคาสามารถแพงขึ้นได้อย่างง่ายดาย ความเร็วลดลง ผู้ที่ใช้บริการก็จะมีต้นทุนสูงขึ้น และเมื่อก้าวเข้าสู่ดิจิทัลก็จะพบกับการผูกขาดจากต่างประเทศอีกชั้นหนึ่ง อย่างเหล่าแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ จากอเมริกาและจีน คนไทยจึงจะเจอการผูกขาดสองชั้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเข้าแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้ยาก และยิ่งหากเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง สู่ยุค Metaverse การใช้ข้อมูลปริมาณมากมายมหาศาลก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้น หากข้อมูลมีราคาแพง ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ประเทศไทยก็จะอยู่ในโลกดิจิทัลได้ยากขึ้น
ดร.สมเกียรติยังกล่าวอีกว่า หากไม่สามารถกำกับดูแลระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ ก็หมายความว่าระบบการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดในประเทศไทยทั้งระบบล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลรายสาขาโดย กสทช. และการกำกับดูแลการผูกขาดโดยทั่วไป โดยคณะกรรมการแข่งขันการค้า ก็ไม่มีประสิทธิผล ก็หมายความว่าแค่เรื่องง่ายดายเช่นนี้ยังไม่สามารถกำกับดูแลได้ ต่อไปจะกำกับดูแลเรื่องที่ยากขึ้นได้อย่างไร
ถ้าเรื่องง่าย ตรงไปตรงมาชัดเจนขนาดนี้ไม่สามารถกำกับดูแลได้ คำถามของสังคมที่คงจะถามก็คือ แล้วเรามีกสทช. และ กขค. ไว้ทำไมครับ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
คุณหมอประวิทย์อธิบายในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาของ กสทช.
การพิจารณานั้น ต้องใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ซึ่งทาง กสทช. ไม่สามารถมาบอก ณ ปัจจุบันโดยที่ข้อมูลยังไม่เสร็จสิ้น ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลำเอียงในการพิจารณาในภายหลัง ทำให้ฝ่ายยื่นเรื่องควบรวมขอค้านปกครอง ว่า กสทช. ไม่มีความเป็นกลาง ดังนั้นโดยหลักต้องยืนยันก่อนว่าในขณะนี้ทาง กสทช. ต้องรอขั้นตอนทั้งหลาย เพื่อนำข้อมูลการศึกษามาให้ครบถ้วน ซึ่งเรื่องที่ถกเถียงในส่วนของ ‘ผลดี’ หรือ ‘ผลเสีย’ จากการควบรวม ในทางปฏิบัตินั้น สิ่งเหล่านี้คือการพยากรณ์หรือการคาดการณ์ทั้งสิ้น เพราะการควบรวมยังไม่เกิด แต่ถ้ารอให้การควบรวมเกิด อาจจะสายเกินไปในการเตรียมรับมือ
ในปัจจุบันทาง กสทช. มีการประสานงานกับทางกขค. อยู่ในระดับหนึ่ง โดยได้ร่วมกันหารือว่าจะเตรียมรับมืออย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันทางสภาผู้แทนราษฎรมีคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้เชิญผู้แทนของทั้ง กสทช. และ กขค. เข้าร่วมชี้แจงทุกสัปดาห์ เป็นกรอบในการกำหนดการบ้านให้ทั้งสองหน่วยงานทำ และรายงานกลับไปที่กรรมาธิการ อย่างเช่นประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ ทางกรรมาธิการก็ตั้งประเด็นว่าอำนาจหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย มีบทบาทในเรื่องนี้แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร และประเด็นที่ 2 อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมีช่องโหว่ที่ทำให้การควบรวมครั้งนี้ไม่ผ่านการพิจารณาอย่างแท้จริงหรือไม่อย่างไร
ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งจากทางกรรมธิการ กสทช. และ กขค. ว่าในกรณีนี้รัฐต้องมีอำนาจในการกำกับดูแลกระบวนการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พูดง่าย ๆ คือเป็นเรื่องที่รัฐต้องดูแล ต้องหาว่ามีช่องโหว่ในกฎหมายหรือมี ถ้ามีจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ทันหรือไม่ และในการพิจารณาต้องรับฟังทั้งข้อดีและข้อเสียเพื่อจะพิจารณาว่าจะให้ควบรวมกิจการหรือไม่ให้ ในกรณีให้ควบรวมก็ต้องมีการศึกษาและกำหนดมาตรการลักษณะไหนอย่างไร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งมาตรการเชิงโครงสร้างและมาตรการเชิงพฤติกรรม
และในกรณีทรู-ดีแทคนี้ ปัญหาที่แท้จริงที่เอกชนยื่นเป็นเหตุผลในการขอควบรวมก็คือเรื่องการประหยัดทรัพยากร ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่อาจมีการลงทุนซ้ำซ้อน ทุกค่ายไปแข่งกันตั้งเสาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทั้งที่จริง ๆ สามารถแบ่งปันกันได้ ถ้าไม่ควบรวมจะมีทางอื่นไหม อย่างเช่นการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน หรือให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อย่าง NT เป็น network operator เพื่อช่วยให้เอกชนลดปัญหาเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซ้ำซ้อน
กรรมาธิการยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม ในเรื่องตลาดมือถือในสภาพปกติ ในอนาคตที่ต้องอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย virtual industry ที่ใช้ 5G ในการประกอบกิจการ สภาพตลาดก็จะเปลี่ยนไป ดังนั้น การควบรวมจะส่งผลอย่างไร แล้ว กสทช. จะมีมาตรการเชิงรุกในการสนับสนุนให้เทคโนโลยีสามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไร และเช่นเดียวกันนั้น ปัญหาสำคัญในการควบรวมก็คือเรื่องของการลดจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ ในทางกลับกัน สามารถเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ได้หรือไม่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือ MNO (Mobile Network Operator) ก็ตามแต่
นอกจากนี้สิ่งที่กรรมาธิการตั้งคำถามเพิ่มอีกก็คือ ไม่ควรวิเคราะห์เชิงธุรกิจทั่วไปที่อาจจจะมีข้อดีข้อเสียเท่านั้น แต่ควรวิเคราะห์ในเชิงลึก ว่าจริง ๆ แล้วมีประเด็นซ่อนเร้นอย่างอื่นหรือไม่ ที่เป็นแรงจูงใจให้เอกชนควบรวมกิจการกันนอกจากเรื่องประหยัดต้นทุนหรือทรัพยากร อย่างเช่นผลประโยชน์อื่น ๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่พอจะหาข้อมูลลักษณะนี้ ว่ามีมุมมองที่ภาครัฐคิดไม่ถึง แต่เอกชนรับรู้จึงเกิดแรงผลักดันให้ทำการควบรวมหรือไม่ และการควบรวมนี้จะทำอย่างไร ไม่ให้เป็นผลลบต่อการแข่งขัน หรือถ้าควบรวมไม่สำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น เป็นคำถามที่สำคัญยิ่ง ในทางกลับกัน คำถามที่สำคัญไม่แพ้กันคือหากไม่ควบรวมจะเกิดอะไรขึ้น อย่างเช่นอุตสาหกรรมจะไปได้มากน้อยเพียงใดหรือธุรกิจเสียหายหรือไม่อย่างไร เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ต้องใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ทั้งสิ้น
ทางกรรมธิการประสงค์ให้ทาง กสทช. และ กขค.ร่วมมือกันในการพิจารณาในเรื่องนี้ สนับสนุนการดำเนินการซึ่งกันและกัน แปลว่าอย่างไรเสีย กสทช. ก็ต้องชี้แจงในกรอบเหล่านี้ ซึ่งในเบื้องต้นนั้น ทาง กสทช.เองก็พยายามจะรวบรวมประเด็นวิเคราะห์พิจารณา แต่ข้อจำกัดก็คือ ในการควบรวมกิจการนั้นมีประกาศกำกับดูแลอยู่ และมีระยะเวลาจำกัดตามประกาศอยู่ว่าจะต้องควบรวมอย่างไร มีขั้นตอนไหนอย่างไร ใช้เวลาทั้งสิ้นเท่าไร
ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณามีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณหมอประวิทย์แสดงความเห็นว่า กสทช. ควรวิเคราะห์คู่ขนาน ไม่ใช่รอให้ทางที่ปรึกษาอิสระเอกชนทำรายงานเข้ามาประเมินสภาพตลาด เพราะสุดท้ายแล้วทาง กสทช. ต้องนำรายงานเหล่านั้นไปพิจารณาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วจะมีข้อเสนอหรือมาตรการอย่างไร
โดยสรุปคุณหมอประวิทย์ได้เรียนไว้ว่าทาง กสทช. ไม่ได้ตั้งท่าว่าจะฟันธงว่าจะไม่ให้ควบรวมหรือไม่ได้จะตั้งท่าเปิดประตูให้การควบรวมดำเนินการได้โดยสะดวก เพราะหน้าที่ของภาครัฐที่กรรมธิการได้สรุปความเห็นไว้นั้นคือต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ต้องคำนึงถึงมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปได้ ที่เป็นคำถามพื้นฐาน หากจะพิจารณาเรื่องนี้ คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์โครงสร้างตลาดที่เหมาะสมในประเทศไทย ขั้นต่ำควรมีผู้ประกอบการรายใหญ่กี่ราย จึงจะสามารถทำให้การแข่งขันและมีคุณภาพ เกิดผลดีต่อผู้บริโภคโดยรวม เช่น หากขั้นต่ำควรมี 4 ราย แปลว่าปัจจุบันที่มี 3 นั้นไม่พอ ต้องเร่งเพิ่มจำนวน 1 ราย หรือถ้าบอกว่าขั้นต่ำมี 3 แปลว่าการลดเหลือ 2 ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างตลาด
สำหรับบางประเทศจะไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ บางประเทศอนุญาต แต่ต้องเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งต้องใช้การกระจายทรัพยากร เช่น กระจายคลื่นที่ถืออยู่จากการควบรวม ไปสู่รายใหม่ หรือหากเพิ่ม MNO ไม่ได้ ก็ต้องเพิ่ม MVNO ขึ้นมา และสิ่งที่สำคัญมาก ๆ อีกเช่นกัน ก็คือ การติดตามศึกษาสภาพตลาดระยะยาวหลังการควบรวม เนื่องด้วยข้อกล่าวอ้างของเอกชนทั่วโลก มักเป็นเรื่อง ‘ราคา’ ว่าจะไม่เพิ่มขึ้น ราคาจะถูกลง
แต่ประเทศในยุโรป หรือแม้แต่ประเทศในกลุ่ม OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ก็มีรายงานการศึกษาว่าโดยปกติหลังการควบรวม ราคาเฉลี่ยในท้องตลาดจะเพิ่มขึ้น มากกว่าไม่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่รายงานยังตอบไม่ได้ก็คือรายละเอียดเพิ่มเติม ด้านการใช้ทรัพยากร การลงทุน ว่าเกิดการประหยัดทรัพยากรจริงหรือไม่ มีการลงทุนมากขึ้นหรือเปล่า แล้วคุณภาพดีขึ้นจริง ๆ ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่อย่างไร
และยังเป็นที่รู้โดยทั่วกัน ว่าที่เอกชนนั้นลงทุนในเบื้องต้น เกิดจากแข่งขันกันเพื่อคงสถานะผู้นำในตลาด และเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ถูกบังคับให้ต้องลงทุน ไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่าหลังการควบรวมปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้นั้นดำเนินไปในเส้นทางไหน เพราะตัวแปรปัจจัยไม่ได้ถูกควบคุมตั้งแต่ต้น
ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า หากอนุญาตให้เกิดการควบรวมแล้ว ก็จะต้องมีการศึกษาติดตามผลกระทบจากการควบรวมจริง ๆ ไม่เช่นนั้น ข้อกล่าวอ้างเหล่านี้จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการควบรวม คือ
- ราคาไม่แพงขึ้น
- คุณภาพจะดีขึ้น
จากที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าอันที่จริงแล้ว การประเมินข้อกล่าวอ้างของเอกชนนั้น สามารถประเมินได้เพียงข้อกล่าวอ้างแรก ส่วนข้อกล่าวอ้างถัดมาไม่สามารถประเมินได้ ทำให้การยับยั้งการควบรวมในอนาคตพบปัญหาวนไปไม่รู้จบ
ดังนั้น กสทช. ต้องวิเคราะห์ไปถึงสภาพตลาด มองไปถึงอนาคต ว่าหากไม่ให้ควบรวม จะสามารถลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อย่างไร ในกรณีที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้าง ว่าเกิดการลงทุนซ้ำซ้อน อย่างเช่น นโยบายการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร นโยบายการทำให้เกิดบริษัทโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติ, นโยบาย domestic roaming (การใช้โครงข่ายร่วมกัน) ในกรณีที่อีกค่ายนั้นสัญญาณไปไม่ถึงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงนโยบายการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ให้บริการ MVNO รายใหม่ เป็นเรื่องที่ กสทช. จะรับไปดำเนินการ แต่จะทันหรือไม่ทันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ซึ่ง ณ ปัจจุบัน รายชื่อกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ออกจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และลักษณะเช่นนี้เป็นไปได้ว่าจะมีการโปรเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ภายใน 1-2 สัปดาห์
กรรมการชุดปัจจุบันจึงไม่น่ามีอำนาจในการกำหนดกติกา กำหนดดูแลใด ๆ ทั้งสิ้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกรรมการชุดใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป
อาจารย์กมลวรรณ กับผลกระทบของการไม่มีการแข่งขัน
จากแง่มุมทางด้านเศรษฐศาสตร์ มี 4 ประการ ดังนี้
- The welfare effect สวัสดิการสังคม ทางเลือกของผู้ใช้น้อยลง ทำให้ความมั่งมี (wealth) ย้ายฝั่งไปหาฝั่งผู้ประกอบการ
- The allocation of resource effect อาจมีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า เพราะไม่มีการแข่งขัน
- Capital investment effect อาจไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น จากการขาดการแข่งขัน
- The innovation effect นวัตกรรมใหม่อาจเกิดได้ยาก เมื่อไม่มีการแข่งขัน อาจจะไม่จำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค อย่างไรเสีย ผู้บริโภคก็เลี่ยงผู้ประกอบการไม่ได้อยู่แล้ว
และยังให้ข้อสังเกตถึงการแก้ประกาศกทค. หมวด 1 ในปี 2553 มาสู่ประกาศ กสทช. ในปี 2561 หลังยุบรวมคณะกรรมการฝ่ายโทรทัศน์และโทรศัพท์เข้าด้วยกัน จาก ต้องขออนุญาตในการควบรวมกิจการ กลายเป็น รายงานการควบรวมกิจการ ทำให้ช่องโหว่เกิดขึ้น เพราะเอกชนไม่ต้องขออนุญาตจากทาง กสทช. ทำเพียงรายงานควบรวมเท่านั้น เป็นประกาศที่เอื้อต่อการควบรวมกิจการ
นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติยังกล่าวถึงการประเมินระดับความอันตรายในการควบรวมกิจการ โดยใช้ Horizontal merger guideline ในการช่วยประเมิน แบ่งออกเป็น 3 โซน
- โซนสีเขียว คือ อันตรายน้อย สามารถควบรวมกิจการได้
- โซนสีเหลือง คือ อันตรายปานกลาง สามารถควบรวมได้ แต่ต้องมีการกำหนดเงื่อนไข
- โซนสีแดง คือ อันตรายมาก ควรระงับการควบรวมอย่างยิ่ง
ซึ่งในกรณีทรู-ดีแทค ของประเทศไทย อยู่ในโซนสีแดง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะควบรวมกัน
ข้อเสนอจาก TDRI กรณีทรู-ดีแทค 3 ประการ
โดยพิจารณาจากประโยชน์ต่อผู้บริโภคตามลำดับ ‘มากไปน้อย’ ได้แก่
- ไม่ให้ควบรวมกิจการ และหากบริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่น dtac อยากจะออกจากตลาดไทย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ให้ขายดีแทคแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบรายรายใหญ่อย่าง AIS กับ True และเพื่อให้การแข่งขันในตลาดเป็นได้ง่ายขึ้น ต้นทุนต่ำลง ก็ควรลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน ให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน
- ให้ควบรวม แต่ต้องกำหนดเงื่อนไข เพื่อที่จะคงจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ให้มี 3 รายเช่นเดิม ซึ่งก็คือการนำเอาคลื่นคืนจากผู้ประกอบการที่มีการควบรวมกิจการกันมาบางส่วน เพราะถือครองคลื่นมาเกินไป เป็นการขัดเงื่อนไขการประมูล ไม่สามารถมีคลื่นไว้ในครองมากขนาดนั้น แล้วเอาคลื่นที่นำออกมามาประมูลให้กับรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด เพื่อให้ได้จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่เท่าเดิม
- ให้ควบรวม แล้วไปส่งเสริมให้เกิด MVNO ที่ไม่ต้องมีเครือข่ายของตัวเอง แต่เป็นข้อเสนอที่ทาง TDRI ก็ไม่คิดว่าเหมาะสม เพราะการเกิด MVNO ไม่ใช่เรื่องง่าย และการกำกับดูแลก็เป็นเรื่องยากด้วย
ดังนั้น ควรจะต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด ไม่ใช่ปล่อยให้มีการผูกขาด แล้วค่อยไปหาวิธีแก้ไข เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่จะนำกลับคืนมาได้
คุณสฤณีกับลักษณะการควบรวม
ทางด้านคุณสฤณีได้พูดถึงกรณีการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคว่าตั้งแต่วันแรกที่ทางดีแทคกับทรูประกาศค่อนข้างเป็นทางการ คือยื่นหนังสือต่อหลักทรัพย์ หลังจากที่มีข่าวลือว่ากำลังจะเริ่มเจรจากัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ตั้งแต่ในวันแรกที่ประกาศ ทาง 2 บริษัทนี้ก็ใช้คำว่า ‘amalgamation’ เลย แสดงว่าเป็นการเจรจาเพื่อควบรวมธุรกิจเข้าหากันในรูปแบบที่ลึกที่สุด เป็นการควบรวมกิจการทั้งหมดเข้าด้วยกัน เกิดเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา
ดังนั้น ตั้งแต่วันแรกที่แจ้งตลาดทรัพย์รูปแบบการควบรวมก็ชัดเจนว่าจะเป็น amalgamation มีการเขียนอัตราแลกหุ้นมาพร้อมสรรพ ถึงแม้จะบอกว่าอยู่ระหว่างหารือกัน แต่การคำนวณก็คงเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง และไม่ใช่เพียงการคำนาณลอย ๆ ในทางการเงินนั้นจะคำนวณจากมูลค่าของกิจการเบื้องต้น ต้องมีการพูดคุยกันในบางระดับ จึงต้องการเน้นเรื่องนี้ โดยที่ไม่ต้องดูสภาพตลาดเพิ่มเติมสมการก็ชัดเจนพอแล้ว ว่าการแข่งขันจะลดลงอย่างแน่นอน จากการลดจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 3 รายลงเหลือ 2 ราย หากปล่อยให้ทั้งสองบริษัทเดินหน้าไปโดยที่ไม่มีหน่วยงานใดคอยกำกับ ก็จะนำไปสู่ภาวะผูกขาด และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
และยังที่สะท้อนมุมมองไปถึง กสทช. โดยตรง คือ กสทช. ควรจะ take action ได้แล้ว จากอำนาจหน้าที่อันชัดเจนที่ กสทช.มีในกฎหมาย ที่ต้องกำหนดนโยบายเพื่อป้องกัน เพื่อมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
ทำให้คุณหมอประวิทย์ขออธิบายเพิ่มเติมถึงระยะเวลาควบรวมที่มีจำกัด ว่าหากมีการเตรียมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้มีเวลาในการกำหนดมาตรการมากขึ้น แต่ด้วยข้อเท็จจริง ตั้งแต่มีข่าวการควบรวม ทาง กสทช. ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง และประสานงานกับทาง กขค. บ้าง แต่ว่าไม่เคยเสนอเป็นวาระอย่างเป็นทางการในที่ประชุม กสทช. เลย ผ่านมา 3 เดือนนั้น เพิ่งจะมี 2 ครั้งหลังสุดที่มีการรายงานและเป็นเพียงด้วยวาจา ไม่มีเอกสารวาระก่อนปิดการประชุม กรรมการจึงไม่มีเวลาในการถกแถลงหารือถึงแนวทางในการไปต่อ จึงเป็นประเด็นปัญหาว่าตัวข้อเท็จจริงยังอยู่ในชั้นสำนักงานเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดการหารือกับกขค. ทางกรรมการก็ไม่ได้รับทราบเลย จะได้รับทราบในชั้นของที่ประชุมกรรมาธิการ จากการรายงานของทาง กสทช.
จะเห็นได้ว่าเป็นจุดอ่อนของระบบบริหารของ กสทช. ซึ่งในกฎหมายก็ได้บัญญัติไว้ว่าให้ไปขึ้นกับใครอย่างไร แต่ไม่ได้ขึ้นกับคณะกรรมการ ส่วนประเด็นปัญหาที่ 2 ในเรื่องตัวกฎหมาย ก็คือตัวประกาศที่แก้ไขเรื่องการควบรวมธุรกิจ ในปี 2561 โดย กสทช. เป็นผู้ร่าง
และโดยส่วนตัวตัวคุณหมอประวิทย์เองก็ไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศใหม่ในปี 2561 เพราะประกาศเก่าในปี 2553 มีสภาพที่เหมาะสมในการใช้งานมากกว่า หากจะแก้ประกาศเรื่องการแข่งขันโทรคมนาคม ควรเชิญ กขค. หรือ กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) มาหารือพิจารณาร่วมบ้าง ไม่ใช่ยกร่างโดยทาง กสทช. และผ่านที่ประชุมไปเลย ซึ่ง ณ ตอนนั้นอาจจะไม่ได้มีคนเอะใจว่าการแก้ประกาศนี้ จะเป็นการยกเว้นอำนาจพิจารณาไป เป็นเพียงการรายงานให้ทราบ อย่างที่อาจารย์กมลวรรณได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าประกาศนี้อำนวยความสะดวกในการรวมธุรกิจ ไม่ใช่ประกาศที่พิจารณผลกระทบจากการรวมธุรกิจ แล้วมาพิจารณาต่อว่าควรจะให้รวมหรือไม่ให้รวม
ณ จุดยืนปัจจุบัน ไม่ว่าจะมองออกว่าเกมจะเป็นอย่างไร แต่ ณ วันที่ข้อมูลยังมาไม่ถึง เช่น หากมีคดีในศาล แล้วผู้พิพากษาสามารถบอกได้เลยว่าใครจะแพ้ชนะ ก่อนที่จะไต่สวนเสร็จ ถามว่าคู่ความจะยอมไหมครับ? เขาก็จะก็จะขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา เพราะจะใช้หลักต่อสู้ว่า กระบวนการไต่สวนยังไม่เสร็จสิ้น การมีความเห็นก่อนเท่ากับมีความไม่เป็นกลาง
คุณหมอประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
ดังนั้น ณ เวลาปัจจุบัน คุณหมอประวิทย์จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุน แต่บอกได้ว่าจากประสบการณ์ในต่างประเทศ จะเกิดอะไรขึ้น และจากกระบวนการที่กำหนดในประกาศนั้น ต้องทำอะไรก่อนจึงจะให้ความเห็นชั้นสมบูรณ์ได้
คุณหมอประวิทย์ยังกล่าวอีกว่าตนไม่ได้คัดค้านข้อเสนอใด ๆ ทั้งสิ้นของอาจารย์สมเกียรติ และยังได้แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอสุดท้ายในเรื่อง MNO โดยจากประสบการณ์รายงานการศึกษาใน EU บอกชัดว่า MNO พอจะเป็นคำตอบในเรื่องการแข่งขันในตลาดได้ แต่มาตรการในการสนับสนุน MNO นั้น เป็นมาตรการที่กว่าจะเห็นผล ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี ในขณะที่ตลาดที่เป็นเคสตัวอย่างนั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘ตลาดที่พร้อมแล้ว’ ด้วยซ้ำ ดังนั้น ตลาดไทยที่ไม่ว่าจะมีการประมูลคลื่น 3G, 4G, 5G ก็ตาม แม้จะควรแบ่ง capacity อย่างน้อยร้อยละ 10 ให้ MNO แต่ผ่านมาเกือบ 10 ปี ยังไม่มี MNO ไทยรายไหน ได้ capacity จากการประมูลคลื่นเหล่านั้นเลย
แสดงให้เห็นว่าระบบเจรจาต่อรอง หรือระบบการอำนวยความสะดวกให้ MNO เกิดขึ้นในประเทศไทย ยังมีอุปสรรคอยู่ระดับหนึ่ง หากใช้มาตรการ MNO ในการรองรับปัญหาการควบรวม ระยะเวลาที่จะออกดอกออกผลจะนานยิ่งกว่ายุโรป ฝั่งยุโรปอย่างเร็วคือ 3 ปี และยังเป็นตลาดมือถือธรรมดา ซึ่งในปัจจุบันเป็นตลาด 5G เป็น virtual industry อีกทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต้องมาเกี่ยวข้อง MNO ยังไม่สามารถพัฒนารูปแบบใหม่ขึ้นมารองรับสถานการณ์ได้ทัน จึงอาจจะเกิดเป็นปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาได้
ทำไม NT ถึงไม่นับเป็นรายใหญ่ที่ 3
ส่วนในกรณี NT ที่หลาย ๆ คนสงสัยว่าไม่นับเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่หรือ คำตอบคือไม่นับ เพราะส่วนแบ่งตลาดไม่ถึงร้อยละ 5 หากจะให้ NT พอจะแข่งขันได้ จะต้องมีการบังคับขายคลื่นของการควบรวมให้ NT หรือมีการบังคับขายเสาของบริษัทควบรวมให้ทาง NT จึงจะทำให้ NT สามารถแข่งขันเป็นรายที่ 3 แทนที่บริษัทที่ควบรวมกันไปได้ แต่ถ้าไม่มีมาตรการบังคับขายคลื่นหรือเสาเหล่านี้ ก็จะเท่ากับว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย จะหายไป 1 รายจากการควบรวม ทำให้เหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 รายในตลาด
ดังนั้น ตอนนี้จึงต้องนำสถานการณ์ปัจจุบันมาวิเคราะห์ทั้งหมด เพื่อจะบอกว่าอะไรเป็นอะไร โดยสรุปในกระบวนการรวมธุรกิจอย่างที่ทางคุณสฤณีบอก ว่าเป็น amalgamation ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ซึ่งจริง ๆ ในหลายประเทศสามารถกำหนดได้ว่าจะสเกลการควบรวมไว้ที่ระดับไหน อย่างเช่นระดับ infrastructure เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์อีกทีหนึ่ง
โดยในต่างประเทศนั้น เหตุที่ไม่ยอมให้เกิดการควบรวมกิจการ เพราะมีฐานการคิดอย่างชัดเจนว่าประเทศนั้น ๆ ควรมีจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่กี่ราย หากควบรวมแล้วจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่น้อยกว่าที่กำหนดฐานไว้ ก็จะไม่อนุญาต แต่ถ้าไม่มีฐานกำหนดอย่างประเทศไทย ก็จะไม่มีหลักในการพิจารณา ทำให้การพิจารณาเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับที่คุณหมอประวิทย์ได้กล่าวไว้ในช่วงกลางบทความนั่นเอง
ตัวแทนจากทรูให้ความเห็นว่าอย่ามองข้าม NT หลังควบรวม CAT+TOT พร้อมแข่งขันในยุคดิจิทัล
จากการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์เมื่อต้นปี 2564 ระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เกิดเป็น NT หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ทำให้ NT กลายเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งการควบรวมนี้ทำให้ไทยมีรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมเทียบเคียงกับการบินไทยและปตท. โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทำให้ “NT” ในปัจจุบันกลายเป็นองค์กรที่ถือครองโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรที่สุดด้วย 7 จุดเด่นที่เหนือกว่ารายอื่นๆ ได้แก่
- เสาโทรคมนาคมกว่า 25,000 ต้น ทั่วประเทศ
- เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังทุกทวีป
- ถือครองคลื่นความถี่หลัก เพื่อให้บริการรวม 6 ย่าน มีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์
- ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร
- สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร
- Data Center 13 แห่งทั่วทุกภูมิภาค
- ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงจากทุกประเทศทั่วโลก ไร้ข้อจำกัดแบบเดิม เชื่อมโยงโลกการสื่อสารเข้าด้วยกัน
ก่อนจะจบเวทีสนทนาลงอาจารย์กมลวรรณยังได้ย้ำสิ่งสำคัญที่ต้องฝากองค์กรผู้กำกับดูแล ไม่ว่าจะทาง กสทช. หรือ กขค. ให้พิจารณาอย่างละเอียด เรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล ว่าได้นำมาซึ่งการไม่แข่งขันแล้วหรือไม่ด้วย เพราะจะส่งผลถึงการไม่แข่งขัน โดยอ้างอิงจาก พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า ปี 2560 ในมาตรา 55 ที่กล่าวไว้ว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทำการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดใดตลาดหนึ่ง…’
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส