แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีมนต์เสน่ห์อยู่ในตัวเอง ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสามหมอก เนื่องจากเป็นเมืองในหุบเขา ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนทอดขนานไปกับทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาแดนลาว จึงถูกปกคลุมด้วยหมอกตลอดทั้งปี มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย หนาวนี้ลองแวะไปทักทายสายลม ไอหมอก และธรรมชาติแม่ฮ่องสอนกัน
วัดพระธาตุดอยกองมู
ที่อยู่ : อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอนวัดพระธาตุดอยกองมู ตั้งอยู่บนดอยกองมูทางทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดปลายดอย เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วยพระธาตุเจดีย์ที่สวยงาม 2 องค์ พระเจดีย์องค์ใหญ่สร้างโดย “จองต่องสู่” เมื่อ พ.ศ. 2403 เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ ซึ่งนำมาจากประเทศพม่า ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กสร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 โดย “พระยาสิงหนาทราชา” เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก
จากวัดพระธาตุดอยกองมูนี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศและสภาพตัวเมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจนและสวยงามมาก
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)
ที่อยู่ : อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอนศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ปางอุ๋ง เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดเกล้าให้พัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยมีพระราชประสงค์สร้างความมั่นคงแนวชายแดน พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน ปางอุ๋งมีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนยอดเขาสูง ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวสนที่ปลูกเรียงรายกัน
ภาพอันสวยงามของไอหมอกที่ลอยเหนือทะเลสาบ กับบรรยากาศอันหนาวเหน็บในยามเช้า ทำให้ ปางอุ๋ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาแรง ยอดฮิต สุดแสนโรแมนติกติดอันดับต้นๆ ของแม่ฮ่องสอน จนได้รับขนานนามว่าเป็น สวิตเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย ยิ่งยามพระอาทิตย์ขึ้นจะสะท้อนผืนน้ำผ่านทิวสนและไอหมอกบางๆ กลายเป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่ไปเยือน โดยโครงการแห่งนี้จะมีหมู่บ้านชาวเขา หมู่บ้านรวมไทย อยู่ภายในโครงการ
วัดก้ำก่อ
ที่อยู่ : ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระนอน ริมถนนผดุงม่วยต่อ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอนวัดก้ำก่อ ในภาษาไตแปลว่า ดอกบุนนาค ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระนอน เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2433 มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่งดงามไม่แพ้วัดอื่น โดยเฉพาะลักษณะพิเศษที่มีหลังคาคลุมทางเดิน ตั้งแต่ซุ้มทางเข้าไปสู่ศาลา นอกจากนี้ยังมีตำราภาษาไทยใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยใหญ่กับเจ้าอโนรธามังช่อ
สะพานซูตองเป้
ที่อยู่ : หมู่บ้านกุงไม้สัก ถ.แม่ฮ่องสอน-ปาย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนสะพานซูตองเป้ หรือสะพานบุญแห่งความสำเร็จ ซูตองเป้ เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่าอธิษฐานสำเร็จ หรือบางคนก็บอกว่าแปลว่า ความสำเร็จ เป็นสะพานที่เกิดจากความศรัทธาและการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านกุงไม้สักที่ต่างก็ช่วยกันลงแรงสานพื้นสะพานด้วยไม้ไผ่จนมีความยาวกว่า 500 เมตร ทอดตัวไปบนที่นาของชาวบ้านผู้อุทิศที่นาถวายเพื่อการสร้างสะพานนี้ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำสะงาได้ใช้สัญจรไป มาระหว่างหมู่บ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น เสาไม้แต่ละต้นได้มาจากการบริคจาคเสาบ้านเก่าของชาวบ้านที่ช่วยกันขนมาสร้างคนละต้นสองต้น จึงทำให้เสาของสะพานแห่งนี้สูงบ้าง เตี้ยบ้าง และยังมีร่องรอยของการใช้งาน ด้วยพลังแห่งศรัทธาและการรวมใจจึงทำให้สะพานซูตองเป้ใช้เวลาสร้างเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น
นอกจากจะมีประโยชน์ในการสัญจรไปมาแล้ว ความสวยงามของทัศนียภาพของทุ่งนา งานไม้ไผ่ที่แฝงความศรัทธาอันน่าชื่นชม ร่วมทำบุญ การตักบาตรในวันสำคัญต่าง ท่ามกลางอากาศที่สดชื่น ทำให้ปัจจุบันสะพานซูตองเป้ หรือ สะพานบุญแห่งความสำเร็จ นั้น ได้กลายเป็นอีกหนึ่งแห่ง ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมมากที่สุดอีกแห่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ขอบคุณภาพจาก เพจแม่ฮ่องสอนรักคุณ และ คุณเอวาซาตัง สมาชิกพันทิปดอทคอม
ภูโคลนคันทรีคลับ
ที่อยู่ : บ้านแม่สะงา ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอนภูโคลน คันทรีคลับ ณ โป่งเดือดแม่สะงา โคลนของที่นี่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นแหล่งโคลนสุขภาพของเมืองไทย และเป็นแหล่งโคลน 1 ใน 3 แหล่ง ของโลกที่มีแร่ธาตุหลักที่เหมือนกันรองจากทะเลสาบเดดซี และโคลนภูเขาไฟจากประเทศโรมาเนีย จากโครงการ Unseen in Thailand และ Spa in Paradise ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เป็นโคลนเดือดบริสุทธิ์สีดำที่มาจากสายน้ำแร่ใต้ดินที่สะอาด ไม่มีกลิ่นของกำมะถัน ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อผิวหนังและระบบไหลเวียนโลหิตของมนุษย์ สามารถดูดซับสารพิษตกค้าง ล้างความมันส่วนเกินบนใบหน้า สิ่งสกปรกที่อุดตันตามผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ดูแลความงามให้คุณเลือกไปประทินผิวของคุณได้ตามใจชอบ
ยังมีที่เที่ยวแม่ฮ่องสอน ที่น่าสนใจอีก อ่านต่อได้ที่นี่ ค่ะ
แต่ถ้าจะหาข้อมูล กิน ดื่ม เที่ยว ทั่วไทยแล้วล่ะก็ เชิญเลยค่ะ www.edtguide.com