นอกจากแพลตฟอร์ม e-commerce อย่าง Shopee หรือ Lazada ก็มีแพลตฟอร์มที่กำลังมาแรงไม่แพ้กันอย่าง ‘Facebook Marketplace’ หรือแม้แต่การซื้อขายในกลุ่ม Facebook เอง แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ค่อยสู้ดีนัก ทำให้มีมิจฉาชีพออกมาโกงกันทุกรูปแบบ และเท่าที่เคยสอดส่องมาก็เจอโกงกันทุกกลุ่มตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องดนตรี เกม ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชิ้นละ 300-500 บาทก็ยังโกงกัน แล้วทีนี้เราจะป้องกันยังไงได้บ้างล่ะ? มาดูกันครับ

ขอประวัติการขาย

ถ้าเป็นกรณีที่เราไม่ได้ซื้อขายแบบรับกับมือ การขอประวัติการขายเป็นหนึ่งวิธีเริ่มต้นเพื่อยืนยันว่าคนนี้ส่งของจริง แต่บอกเลยว่าอย่าใช้วิธีนี้ครับ จัดฉากกันเยอะมาก วิธีนี้ไม่ผ่าน

เช็กหน้าโพรไฟล์ให้ดี

หากคุณซื้อขายผ่าน Facebook หรือแพลตฟอร์มโซเชียล สิ่งที่ควรทำคือเช็กโพรไฟล์ให้ดีก่อนว่าบุคคลเหล่านั้น มีตัวตนจริงหรือไม่ และตรวจสอบข้อมูลอิ่ืน ๆ ในหน้าโพรไฟล์ เช่น

  • บัญชีเพิ่งสร้างรึเปล่า
  • รูปโพรไฟล์เป็นของจริงหรือไม่
  • หน้าโพรไฟล์มีความเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่
  • มีเพื่อนกี่คน แล้วเพื่อนที่ว่านั้นมีตัวตนจริงหรือ Fake Profile มาหลอกซ้อนกันอีกที

แต่อย่างที่บอกข้างต้นว่าประวัติการขายมันจัดฉากกันได้ โจรฝีมือดี ๆ ก็สร้างโพรไฟล์โดยลอกโพรไฟล์คนอื่นมาได้เหมือนกัน จริง ๆ วิธีนี้ก็ยังไม่รัดกุมสักเท่าไหร่นัก ถือว่ายังไม่ผ่าน

ค้นประวัติใน Google

ข้อมูลเบื้องต้นที่เราจะต้องได้จากผู้ขายแน่ ๆ คือ ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อ และเลขบัญชีของผู้ขาย หากเราได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้ว ให้ไปลง Google ก่อนเลยครับ แล้วหาเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Blacklistseller จะมีข้อมูลของผู้ที่เป็นมิจฉาชีพลงเอาไว้ด้วย สามารถใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้ หากเจอชื่อใครในนี้ก็ให้ยุติการค้าขายได้เลยครับ หรือหากใครโดนใครโกงก็ไปลงรายละเอียดที่เว็บนี้กันได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนต่อ ๆ ไปด้วยครับ

ขอภาพสินค้าแนบกับเอกสารยืนยันตัวตน

อีกหนึ่งวิธีที่ผู้ซื้อมักใช้กันบ่อย ๆ คือ ขอรูปสินค้าแนบกับเอกสารที่สามารถใช้ยืนยันตัวตนได้ เช่น ภาพสินค้าพร้อมบัตรประชาชน ให้ตรงกับสมุดบัญชีของผู้ขายเป็นต้น เผื่อว่าหากเราโดนโกงจะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ติดตามตัวคนร้ายได้ แต่หารู้ไม่ว่า เพราะเชื่อใจบัตรนี่เอง ผู้เขียนก็เห็นมาเยอะ รวมถึงมีคนใกล้ตัวที่เชื่อใจเพราะเห็นบัตรประชาชนพร้อมสมุดบัญชี มิจฉาชีพก็ยังกล้าโกง (ต้องเสียเวลาดำเนินคดีทีหลัง) ถือว่ายังไม่ผ่าน

ผ่านคนกลางในกลุ่ม

โดยปกติกลุ่มซื้อขายของมักจะมีแอดมินหรือคนที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางในกลุ่ม ซึ่งอยู่ที่เราจะใช้วิจารณญาณว่าจะผ่านคนกลางหรือไม่ (คือเราก็ไม่รู้ว่าคนกลางจะตุกติกอะไรรึเปล่า) แต่การบอกว่า ‘ขอผ่านคนกลางนะ’ ก็จะเป็นการพูดวัดใจได้ว่า เป็นคนดีหรือเป็นมิจฉาชีพ เพราะส่วนใหญ่ที่เจอ ถ้าเป็นมิจฉาชีพจะไม่ผ่านคนกลางอย่างแน่นอน

ผ่าน Shopee

เป็นวิธีที่เซฟ และคนหันมาใช้กันเยอะมาก คือจำหน่ายผ่าน Shopee โดยปกติแล้ว หากเราซื้อของผ่าน Shopee เงินจะไม่ถึงผู้ขายจนกว่าจะกดตกลงเมื่อรับของและตรวจสอบของเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงมีระบบเก็บเงินปลายทางด้วย หายห่วงหลายอย่างเลยทีเดียวครับ แน่นอนว่ามิจฉาชีพจะไม่ยอมใช้วิธีนี้แน่ เพราะยังไงก็โกงไม่ได้ ถือว่าเป็นวิธีที่ผ่านครับ

นัดรับ

เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว นอกจากเราจะได้เห็นสินค้ากับตาตัวเองแล้ว ยังได้ตรวจสอบสินค้าด้วยว่าตรงปกกับที่เราเห็นหรือไม่ มีตำหนิอะไรรึเปล่า แต่การนัดรับต้องเช็กดี ๆ เพราะผู้ขายก็อาจจะย้อมแมวมาอีกที หรือปิดบังบางมุมที่สายตาเราอาจมองพลาด ประมาณว่าหลอกขายนั่นเองครับ

ห้ามพลาดหากซื้อขายแบบส่งพัสดุ

ข้อเสียประการหนึ่งของการซื้อขายแบบพัสดุคือเราไม่เห็นว่าสินค้าที่มาระหว่างทางนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางคนได้ของมาไม่ตรงปก หรือตรงปกแต่มีตำหนิ การใช้งานบางอย่างไม่เหมือนกับที่บอกไว้ เช่น กรณีเป็นสมาร์ตโฟน ผู้ขายบอกใช้งานได้ปกติ แต่พอเราได้รับของ ดันใช้งานกล้องไม่ได้ เป็นต้น ทางทีดีคือ พอของมาถึง ให้เราตั้งกล้องวิดีโอ (จะจากสมาร์ตโฟนหรืออะไรก็ได้) ถ่ายตอนแกะกล่องรวมถึงตอนทดสอบไว้เลย เพราะช่วยเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าของไม่ได้เสียหายที่เราเองครับ

การซื้อของออนไลน์อาจจะยุ่งยากขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าไม่อยากเสียเงินฟรีก็ต้องป้องกันให้มากที่สุด ที่สำคัญคืออย่าเห็นแก่ของที่ราคาถูกจนน่ากลัวครับ อาจโดนฟันเลือดตกได้ง่าย ๆ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส