เชื่อว่าหลายต่อหลายท่านใช้เวลาที่ว่างจากการทำงาน หรือการเรียนการศึกษา ใช้ไปกับการไถฟีดบนเฟซบุ๊ก ต่างก็ใช้งานไปตามปกติและไม่ได้ตั้งค่าอะไรเพิ่มเติม แต่การไม่ได้ตั้งค่านี่แหละ ที่อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นมาโดยที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ หรือแม้แต่การสูญเปล่าของอินเทอร์เน็ตโดยไม่รู้ตัว อย่างการเปิดฟีเจอร์ “เล่นวิดีโออัตโนมัติ” ซึ่งเป็นฟีเจอร์มาตรฐานที่ตัวแอปเฟซบุ๊กได้เปิดใช้งานมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ที่ติดตั้งแอปลงบนสมาร์ตโฟนของคุณ
โดยส่วนตัว ผู้เขียนเคยเจอเหตุการณ์ไถหน้าฟีดบนแอป แล้วไปหยุดที่วิดีโอตัวหนึ่งเข้า ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่ในคลิปดังกล่าวดันเป็นคลิปแนวแกล้ง (Prank) โดยนำเสียงจากภาพยนตร์ผู้ใหญ่มาใส่แทน ยังโชคดีที่อยู่ในพื้นที่แคบ ไม่ได้มีผู้คนพลุกพล่าน และรีบปิดลงอย่างทันท่วงที คุณผู้อ่านลองนึกภาพตามครับว่า ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวไปเกิดขึ้นในสถานที่ ๆ มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้คนรอบข้างจะหันมามองคุณในรูปแบบไหน และจะรู้สึกกับตัวคุณอย่างไร ถึงแม้มันเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม
หรือในกรณีที่บางท่านใช้งานอินเทอร์เน็ตนอกบ้าน มีการรับส่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากเจอคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ การไถผ่านและเล่นโดยอัตโนมัติก็อาจทำให้จำนวนอินเทอร์เน็ตในแพ็กเกจที่ใช้อยู่ลดลงไป
สำหรับการตั้งค่าให้ปิดการเล่นวิดีโออัตโนมัตินั้นทำได้ไม่ยาก ให้ไปที่หน้าตั้งค่าของเฟซบุ๊ก เลื่อนลงมาที่คำว่าสื่อ แล้วเลือกเข้าไป
หลังจากนั้น ให้สังเกตตรงที่คำว่า “เล่นอัตโนมัติ” โดยค่าพื้นฐานที่แอปได้ตั้งไว้ คือใช้อินเทอร์เน็ตมือถือและ Wi-Fi คือไม่ว่าจะใช้งานอินเทอร์เน็ตในรูปแบบใด วิดีโอที่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าฟีดจะเล่นอัตโนมัติทันทีพร้อมเสียง ต่อให้คุณไม่ต้องการรับชมก็ตาม ตรงจุดนี้ ให้เปลี่ยนเป็น “ไม่ต้องเล่นวิดีโออัตโนมัติ” เพื่อป้องกันการเกิดเหตุสุดวิสัยอย่างที่ได้เกริ่นไว้ในช่วงแรก รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการประหยัดอินเทอร์เน็ตมือถือไปเ้วยในตัว แต่ถ้าท่านใดยังอยากให้วิดีโอเล่นอัตโนมัติเหมือนเดิม แต่ขอให้เล่นเฉพาะช่วงที่ใช้งานผ่าน Wi-Fi ก็เลือก “ใช้ Wi-Fi เท่านั้น” ได้เช่นกัน
นอกเหนือจากนี้ สำหรับคุณผู้อ่านท่านใดที่ต้องการประหยัดอินเทอร์เน็ตมือถือให้มากกว่าเดิม ก็ลองปรับตั้งค่าคุณภาพความคมชัดของของวิดีโอได้ โดยเลือก “โหมดประหยัดอินเทอร์เน็ต” จะเป็นการปรับลดคุณภาพของวิดีโอลงมา และช่วยในการประหยัดอินเทอร์เน็ตได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งจำนวนเปอร์เซ็นต์ดังกล่าว เฟซบุ๊กเป็นผู้กล่าวไว้…)
เพียงเท่านี้ คุณผู้อ่านก็ไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป ถ้าหากไถฟีดไปเรื่อยๆ แล้วไปสะดุดที่วิดีโอตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมาแล้วกลัวว่าเสียงจะดังลั่นในที่ชุมชนหรือในออฟฟิศ นอกจากเสียงของคลิปวิดีโอที่จะไม่ลั่นเสียงดังออกไป ยังช่วยให้ประหยัดอินเทอร์เน็ตมือถือได้อีกด้วย ส่วนท่านใดจะลองปรับการตั้งต่าตามวิธีดังกล่าวนี้ หรือจะยังคงใช้งานเฟซบุ๊กในการตั้งค่ารูปแบบเดิมต่อไป ถือเป็นสิทธิ์ของคุณผู้อ่านในการตัดสินใจครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส