ถ้าพูดถึงอาหารอิตาเลียน เมนูแรกที่แว้บขึ้นมาในหัวของหลายคนคงคิดถึงพิซซา เพราะทั้งสะดวก กินง่ายและกินได้หลายโอกาส แต่รู้รึป่าวว่า จริง ๆ แล้ว พิซซาไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากอิตาลี อ้าว….แล้วมาจากที่ไหน บทความนี้มีคำตอบ
จริงอยู่ที่พิซซาที่เราคุ้นตาในปัจจุบันมีต้นกำเนิดจากอิตาลี แต่ถ้าพูดถึงคอนเซ็ปต์ของแผ่นแป้งอบใส่ชีสและท็อปปิ้งต่าง ๆ นั้นต้องย้อนกันไปไกลถึงชาวเปอร์เซียโบราณสมัยศตวรรษที่ 6 กับมื้ออาหารแสนง่ายในกองทัพ ที่ต้องเน้นความสะดวกและอิ่มท้องไว้ก่อน ทหารเหล่านี้เลยนำแผ่นแป้งดิบโรยด้วยชีสและอินทผาลัม มาอบในเตาที่ดัดแปลงมาจากโล่เหล็กอาวุธประจำกาย จนเกิดเป็นเมนูฟาสต์ฟู้ด หล่อเลี้ยงกองทัพในการทำศึก
พอเวลาผ่านไป เมนูแผ่นแป้งอบนี้ ก็แพร่ไปถึงกรีซและอิตาลี และถูกอัปเกรดมาเรื่อย ๆ ใช้เวลานานถึง 10 ศตวรรษ กว่าจะมีหน้าตาเหมือนกับพิซซาในปัจจุบันก็กินเวลาไปถึงศตวรรษที่ 16 แล้ว ตอนนั้นมีการนำเข้ามะเขือเทศจากอเมริกามายังอิตาลี ช่วงแรกคนยุโรปยังไม่ค่อยกล้ากินมะเขือเทศเท่าไร เพราะคิดว่ามันมีพิษ แต่ด้วยความปลูกง่ายและราคาถูก มะเขือเทศเลยกลายเป็นวัตถุดิบคุ้นเคยของชาวบ้านในเมืองเนเปิลส์
และกระจายความปอปปูลาร์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กับเหล่าผู้อพยพชาวอิตาเลียนที่ไปตั้งรกรากตามที่ต่าง ๆ ว่ากันว่าเฉพาะในสหรัฐฯ อย่างเดียว มีการบริโภคพิซซากันมากถึง 3,000 ล้านชิ้นต่อปี
พิซซา เป็นที่รู้จักในฐานะอาหารของชนชั้นล่าง
ตอนนั้น เมืองเนเปิลส์เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ของคาบสมุทรอิตาลีที่มีประชากรหนาแน่น และเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจของเมืองที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้ทุกคนมีอันจะกิน คนยากจนก็เพิ่มสูงขึ้นทุกวันอาหารดี ๆ ก็มีรับประทานน้อย ใครอยากอยู่รอดต้องทนกินขนมปังเปล่า ๆ ประทังชีวิต ชาวเนเปิลส์จึงผุดไอเดียนำมะเขือเทศกับสมุนไพรราคาถูกมาใส่ขนมปังแล้วอบในเตาฟืน เป็นจุดเริ่มต้นของพิซซาแห่งเมืองเนเปิลส์
พอเริ่มกินกันเยอะ ก็กลายเป็นเมนูยอดนิยม เพราะวัถุดิบในการทำพิซซามีราคาถูก และหาง่าย ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน กระเทียม เกลือ รวมถึงแป้งขนมปัง ร้านพิซซ่าจึงผุดขึ้นมาเกือบทุกซอกทุกมุมของเมือง เหมือนกับร้านสะดวกซื้อเพื่อรองรับความต้องการของผู้คนที่หิวโหยเหล่านี้ เรียกว่า “ไม่อดตายแน่นอน พลาดร้านนี้เดินไปอีกไม่กี่ก้าวก็มีร้านใหม่” พิซซาในยุคนั้นจึงเป็นอาหารของชนชั้นล่างอย่างแท้จริง จนเคยถูกดูแคลนว่าเป็น “ขนมปังจากท่อน้ำทิ้ง”
พิซซาถูกอัปเกรดให้เป็นเมนูของชนชั้นสูง
จุดเปลี่ยนของพิซซา เกิดขึ้นอีกครั้งช่วงปลาย ค.ศ.1889 โดยถูกอัพเกรดให้กลายเป็นเมนูสำหรับชนชั้นสูง หลังจากเชฟอิตาเลียนที่มีชื่อว่า ราฟาเอล เอสโปชิโต (Raffaele Esposito) ทำพิซซาซึ่งเป็นอาหารของชนชั้นล่างไปเสิร์ฟให้กับ ราชินีมาร์เกอริตา (Queen Margherita) และกษัตริย์อัมแบร์โตที่ 1 (King Umberto I) แห่งอิตาลีเสวย ระหว่างเสด็จเยือนเมืองเนเปิลส์ และอยากลองชิมอาหารพื้นเมืองดูบ้าง
ในบรรดาพิซซ่าทั้ง 3 หน้าที่เอสโปชิโตนำไปเสิร์ฟ ราชินีมาร์เกอริตาทรงพอโปรดพิซซาหน้ามะเขือเทศ ผสมมอสซาเรลลาชีส และใบโหระพามากที่สุด พิซซาหน้านี้จึงถูกเรียกว่า “พิซซามาร์เกอริต้า” (Pizza Margherita) เพื่อเป็นเกียรติแก่พระนาง ถือเป็นรูปลักษณ์ของพิซซาอิตาเลียนในเวลาต่อมา
โกอินเตอร์สู่อเมริกา
พิซซาเริ่มเป็นที่รู้ในวงกว้างมากขึ้นอีกครั้งช่วงทศวรรษ 1930 เมื่อแรงงานชาวเนเปิลส์อพยพไปหางานทำในเมืองใหญ่ทางภาคเหนือของอิตาลีและพกเอา “เนเปิลส์ พิซซา” (Neapolitan Pizza) หรือพิซซาสูตรดั้งเดิมติดตัวไปด้วย ยิ่งเป็นการขยายฐานให้เนเปิลส์ พิซซา และพิซซามาเกอริต้า โด่งดังเป็นพลุแตกมากขึ้นไปอีก จนเกิดการมิกซ์สูตรพิซซาที่ใช้วัตถุดิบได้มากขึ้น มีเนื้อสัตว์หรือเครื่องเทศ สมุนไพรหลากชนิดมากขึ้น
ส่วนอเมริกันพิซซา น่าจะมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนอเมริกันเริ่มหัดทำพิซซาและดัดแปลงไปเรื่อย ๆ จนได้สูตรอเมริกันมา จากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนามช่วง ค.ศ. 1960 บรรดาทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพในไทยก็นำพาวัฒนธรรมการกินพิซซาเข้ามาด้วย แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะหากินได้ตามโรงแรม หรือห้องอาหารอิตาเลียนเท่านั้น กระทั่งพิซซาฮัทมาเปิดตลาดไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 ทำให้คนไทยมีโอกาสได้กินพิซซากันได้ง่ายขึ้น จนเดี๋ยวนี้พิซซากลายเป็นฟาสต์ฟู้ด ที่มีหลากหลายแบรนด์ มีทั้งแป้งหนานุ่มและบางกรอบ แถมทำกินเองได้แบบโฮมเมดจากเตาอบที่บ้าน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส