สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตรวจสอบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในปลาจากแหล่งน้ำใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งเริ่มมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยผลการตรวจสอบไม่พบทริเทียมในปลาดังกล่าว
ข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมประมงญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างปลาชุดแรกจากแหล่งน้ำในรัศมี 5 กิโลเมตร บริเวณรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เพื่อตรวจสอบหาทริเทียมในปลาดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีนั้น จะสามารถกำจัดกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นทริเทียมที่ยังหลงเหลืออยู่
ดังนั้น น้ำที่ผ่านการกำจัดกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่แล้วจะถูกนำมาเจือจางให้เหลือ 1 ใน 40 ของความเข้มข้น ซึ่งอยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่น ก่อนที่จะปล่อยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกผ่านอุโมงค์ใต้น้ำ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 1 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กรมประมงญี่ปุ่นจะทำการเก็บตัวอย่างปลาและทดสอบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อน
อย่างไรก็ตาม การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้สร้างความกังวลใจให้กับชาวญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียง แม้ว่าหน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติจะระบุว่าขั้นตอนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกก็ตาม
สำหรับประเทศไทย กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการร่วมกันเพื่อออกมาตรการสุ่มตรวจสอบเฝ้าระวังใน 5 ด่านอาหารและยา ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น ซึ่งเป็นด่านนำเข้าอาหารทะเล ทั้งทางอากาศและทางเรือสินค้า
นายยุทธนา ตุ้มน้อย รองโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ผลการสุ่มตรวจอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นล็อตแรก ไม่พบการปนเปื้อนกัมมันตรังสี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ตรวจพบการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเกินค่ามาตรฐาน จะมีการสั่งทำลายอาหารในล็อตนั้น ๆ ทั้งหมด และระงับการนำเข้าอาหารทะเลมาขายในประเทศไทยทันที
ที่มา : Nikkei Asia, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส