การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียครั้งแรกในรอบ 30 ปี ส่งผลให้หลังจากนี้คงจะมีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น โดยในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการค้ากับซาอุฯ รวม 7,301 ล้านดอลลาร์ (ราว 240,710 ล้านบาท) ส่วนใหญ่ไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและเคมีภัณฑ์สูงถึง 5,662 ล้านดอลลาร์ (ราว 186,670 ล้านบาท) ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าเพียง 1,638 ล้านดอลลาร์ (ราว 54,004 ล้านบาท) คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
ทางด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การกระชับความสัมพันธ์ครั้งนี้จะสร้างโอกาสใหม่แก่สินค้าและธุรกิจไทย ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาการการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าสินค้าไทยจะตอบโจทย์ความต้องการของซาอุฯ ได้โดดเด่นที่สุดในอาเซียน แต่ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าจากคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียหลายรายการก็เริ่มแข่งขันกับไทย อาทิ รถยนต์นั่ง, อาหารทะเลแปรรูป ขณะเดียวกันก็ต้องระวังสินค้าข้าวจากเวียดนามที่อาจแข่งกับข้าวไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การแข่งขันของไทยกับคู่แข่งในขณะนี้ยังอยู่ในสถานะเท่าเทียมกัน คือต้องเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่ 5.6% (MFN rate) ซึ่งการจะผลักดันการส่งออกของไทยไปซาอุฯ ให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันของภาครัฐ ซึ่งหากอาศัยจังหวะที่ไทยและซาอุฯ เริ่มสานสัมพันธ์ครั้งใหม่ต่อยอดเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) ระหว่างกันได้ก่อนชาติอื่น โดยอาจใช้รูปแบบเดียวกับสิงคโปร์ผ่านความตกลง GCC (Gulf Cooperation Council : กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ) ก็จะช่วยสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าทำตลาดได้มากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2565 ด้วยแรงฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะช่วยสร้างรายได้กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศซาอุฯ เป็นอานิสงส์โดยรวมต่อการส่งออกไทยไปซาอุฯ ให้กลับสู่ภาวะใกล้เคียงก่อนโควิด-19 โดยมีโอกาสเติบโต 15% มูลค่าส่งออกราว 1,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 62,640 ล้านบาท) และต่อไปสัญญาณบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์นี้ น่าจะทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและอาจทำให้การส่งออกไทยไปซาอุฯ เร่งตัวอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 32,970 ล้านบาท) ในเวลา 3 ปี และแตะมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 85,720 ล้านบาท) ในปี 2567 โดยได้รับแรงผลักดันสำคัญจากสินค้าอาหารฮาลาล ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ซาอุฯ เป็นตลาดอันดับ 2 ของไทยในตะวันออกกลาง มีรายได้ต่อหัวสูงที่ราว 20,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี (ราว 659,400 บาท) และมีประชากร 30 ล้านคน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส