จากการรายงานของเว็บไซต์ Bloomberg ระบุว่าซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) ผู้ให้บริการด้านธนาคารยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกสัญชาติอเมริกันกำลังวางแผนเตรียมออกจากการทำธุรกิจ ‘Retail Banking’ ใน 13 ตลาดทั่วเอเชีย ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา
Retail Banking หรือธุรกิจลูกค้ารายย่อย โดยครอบคลุมบัญชีหลากหลายประเภท ซึ่งนอกเหนือจากบัญชีออมทรัพย์และการตรวจสอบมาตรฐานแล้ว ยังมีบริการบัตรเครดิต บริการด้านการลงทุน บัตรเงินฝากและบัญชีเกษียณอายุ รวมไปถึงบริการบัญชีเงินกู้เต็มรูปแบบ การจำนองสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อนักศึกษาส่วนตัวอีกด้วย
รายงานระบุว่าซิตี้กรุ๊ปจะออกจากธุรกิจการให้บริการลูกค้ารายย่อยทั้งสิ้น 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บาห์เรน, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, รัสเซีย, ไต้หวัน, เวียดนามและไทยด้วย แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจะเป็นอย่างไร และจะกินระยะเวลาเท่าไหร่
แต่ทางซิตี้จะยังคงให้บริการ Retail Banking ใน 4 ตลาดใหญ่ที่ถือเป็นศูนย์กลางแห่งความมั่งคั่งของโลก ได้แก่ สิงคโปร์, ฮ่องกง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และลอนดอน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทบทวนกลยุทธ์ของบริษัทโดยเจน เฟรเซอร์ (Jane Fraser) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิตี้กรุ๊ปที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว
ในส่วนของ private banking, บริการบริหารเงินสด, ธุรกิจวาณิชธนกิจและการแลกเปลี่ยนเงินตรากับกลุ่มลูกค้าสถาบัน ซิตี้ก็จะยังให้บริการในตลาดดังกล่าวต่อไป
โดยทางเจน เฟรเซอร์ได้กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (วันพฤหัสบดี) ถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ว่า “สิ่งนี้จะทําให้เรามีการเติบโตที่แข็งแกร่งและได้รับผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจจากข้อเสนอทางธุรกิจต่าง ๆ มากมายจากบริการการบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management)”
นอกจากนี้ทาง Bloomberg ยังรายงานอีกว่า สิงคโปร์ที่นอกจากจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลกแล้ว ซิตี้ยังได้สร้างศูนย์กลางที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่งอีกด้วยพื้นที่ 2,800 ตารางเมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับธนาคารในกลุ่มเดียวกันและมีผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าผู้ประกอบการ (Relationship Manager หรือ RM) และผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์มากกว่า 300 คน
เฟรเซอร์กล่าวว่า “ใน 13 ตลาดที่กล่าวไปนั้น แม้ว่าเราจะมีหลายธุรกิจที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เราไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่พอจะแข่งขันในจุดนั้นได้ เราเชื่อว่าเงินทุนดอลลาร์เพื่อการลงทุนและทรัพยากรอื่น ๆ ของเราจะถูกปรับใช้ได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับโอกาสในการคืนทุนที่สูงขึ้นในการบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจสถาบันของเราในเอเชีย”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส