โบอิ้ง (Boeing) ได้ทำภารกิจ Orbital Flight Test-2 (OFT-2) ทดสอบการบินยานอวกาศ CST-100 Starliner ที่ไร้ลูกเรือไปตามแนววงโคจรมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติครั้งที่ 2 โดยขับเคลื่อนด้วยจรวด Atlas V ของ ULA จากสถานีกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ในวันพฤหัสบดี เวลา 6:54 p.m. EDT (05:54 น. วันศุกร์ของไทย) ซึ่งยานสามารถเข้าสู่วงโคจรออกไปอวกาศได้สำเร็จและกำลังเดินทางไปจอดเทียบท่าเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในเวลาอีกราว 24 ชั่วโมง
ยานอวกาศ Starliner จะจอดติดกับห้องปฏิบัติการโคจรเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นจะกลับมาสู่โลกโดยการลงจอดด้วยร่มชูชีพในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ หากภารกิจนี้จบลงอย่างสมบูรณ์ ครั้งต่อไปเราก็จะได้เห็นยาน Starliner ขนส่งนักบินอวกาศของนาซาเดินทางไปกลับสถานีอวกาศนานาชาติ
ภารกิจนี้ยานอวกาศ Starliner ได้แยกออกจากจรวด Atlas V แล้วเข้าสู่วงโคจรได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถแก้มือจากการทดสอบที่ล้มเหลวถึง 2 ครั้งก่อนหน้านี้เอาไว้ได้ โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2019 ในขณะที่ส่งยานไปยังสถานีอวกาศนานาชาติกลับพลาดใช้เชื้อเพลิงมากเกินไปจนต้องเดินทางกลับสู่โลกก่อนที่จะไปถึง และเดือนสิงหาคม 2021 โบอิงได้ประกาศเลื่อนการทำภารกิจ OFT-2 เนื่องจากตรวจสอบพบความผิดพลาดของวาล์วในระบบขับเคลื่อนก่อนปล่อยยาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภารกิจนี้จะสามารถปล่อยยานได้สำเร็จแต่ก็พบว่าก่อนที่เข้าสู่วงโคจรตัวขับดัน 2 ตัวไม่สามารถจุดระเบิด ต่อมาหนึ่งวินาทีตัวขับดันสำรองตัวที่ 2 สามารถจุดระเบิดขึ้นมาทำงานแทนได้ในทันที แต่ได้แค่ 25 วินาทีก็ทำงานล้มเหลวจนต้องใช้ตัวสำรองที่ 3 เข้ามาทำงานแทนจนสำเร็จลุล่วง ซึ่งถือว่าโชคดีที่ระบบได้ออกแบบมาให้มีการทำงานแทนที่กันได้
ล่าสุดยาน Starliner ได้เข้าจอดเทียบท่าของสถานีอวกาศนานาชาติเรียบร้อยแล้ว ในวันศุกร์ เวลา 8:28 p.m. EDT (วันเสาร์ 07:28 น. ของไทย) ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 22 ชั่วโมง หลังจากการปล่อยยานจากสถานีด้วยจรวด Atlas V
ที่มา : space.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส