วันพุธที่ 23 สิงหาคม เป็นหนึ่งในวันประวัติศาสตร์ด้านอวกาศของอินเดีย ที่ยานอวกาศจันทรายาน 3 (Chandrayaan-3) สามารถลงจอดอย่างนิ่มนวลลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นประเทศที่ 4 ของโลก และเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถนำยานลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งไม่กี่วันก่อนหน้านี้รัสเซียได้พยายามนำยาน Luna-25 ลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์เพื่อหวังตัดหน้าอินเดีย แต่แล้วยานกลับขาดการติดต่อและพุ่งชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนแดนภารตะ ต่างพากันดีใจออกมาเฉลิมฉลอง จุดประทัดและกระโดดโลดเต้นไปตามถนน ที่อินเดียสามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ หลังจากภารกิจการลงจอดของ Chandrayaan-2 ขาดการติดต่อและพุ่งชนกับพื้นผิวของดวงจันทร์เมื่อปี 2019
ยาน Chandrayaan-3 จะยังคงทำงานบนดวงจันทร์ 2 สัปดาห์ เพื่อทำการทดลองหลายอย่าง เช่น การวิเคราะห์สเปกโตรมิเตอร์ขององค์ประกอบแร่ของพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งรถสำรวจจะออกมาจากยาน 2 – 3 ชั่วโมง หรือ 1 วัน เพื่อทำการสำรวจ
การลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ทำได้ยาก เนื่องจากมีภูมิประเทศที่ขรุขระ แต่อินเดียก็สามารถทำได้สำเร็จเป็นประเทศแรก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นน้ำแข็งขนาดใหญ่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิง ออกซิเจน และน้ำดื่มสำหรับภารกิจในอนาคตได้
ยาน Chandrayaan-3 ใช้งบประมาณราว 6,150 ล้านรูปี (2,604 ล้านบาท) ซึ่งน้อยกว่างบสร้างภาพยนตร์อวกาศระทึกขวัญ “Gravity” ของฮอลลีวูดในปี 2013 ที่ใช้ราว ๆ 100 ล้านเหรียญหรือราว 3,500 ล้านบาท
เดือนเมษายน ispace บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นประกาศว่ายานลงจอด Hakuto-R ไม่สามารถลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้ เนื่องจากขาดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ก่อนที่ยานจะลงไปแตะพื้นบนดวงจันทร์ สรุปง่าย ๆ ว่าญี่ปุ่นก็พยายามจะนำยานลงจอดบนดวงจันทร์เช่นกันแต่ยังไม่สำเร็จ
อินเดียมีแผนจะเริ่มการทำภารกิจศึกษาเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ยังได้วางแผนเที่ยวบินที่มีนักบินอวกาศ ซึ่งคาดว่าจะเตรียมความพร้อมภายในปี 2024
ที่มา : reuters.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส