เหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลกนั้น เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่นาน ๆ ทีจะเกิดขึ้น ยิ่งกับในยุคปัจจุบันที่โลกมีวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์มากมายที่จะสำรวจและคาดการณ์ได้ว่า อุกกาบาตจะเข้าสู่วิถีวงโคจรของโลกจนตกมายังโลกหรือไม่ แต่ในอดีตร้อยปีที่แล้วการคาดการณ์อุกกาบาตตกมายังโลกยังคงเป็นเรื่องยากและเป็นไปไม่ได้ ย้อนกลับไปเมื่อ 30 มิถุนายน ปี 1908 ในไซบีเรียของประเทศรัสเซีย ชาวเมืองพบลูกไฟพุ่งลงมาจากฟ้า ก่อนที่จะเกิดเสียงดังสนั่น ต้นไม้กว่า 80 ล้านต้นในพื้นที่ 2,150 ตารางกิโลเมตร ต้องราพณาสูรลงจากการตกกระทบของลูกไฟยักษ์นั้น
ต่อมาทุกคนเรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “การระเบิดที่ตุงกุสคา (Tunguska)” กลายเป็นเหตุระเบิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งหนึ่งและกลายเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า ตกลงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่? นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า น่าจะเป็นกรณีอุกกาบาตพุ่งชนโลกที่มีกำลังแรงขนาดเทียบเท่ากับขนาดของระเบิด TNT ความแรงระดับ 30 เมกะตัน อุกกาบาตชิ้นนี้ประกอบไปด้วยแร่เหล็ก หิน และน้ำแข็ง แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบเศษอุกกาบาตในพื้นที่แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นและไม่พบหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์เลย จึงนำมาสู่ความสงสัยว่าเหตุระเบิดอาจเกิดจากกรณีอื่นได้ อ้างอิงจากการศึกษาของ Daniil Khrennikov จากมหาวิทยาลัย The Siberian Federal
ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่เหตุการณ์นี้ผ่านไป 112 ปี เมื่อวิทยาการต่าง ๆ พัฒนาขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป อ้างอิงจากงานวิจัยในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการระเบิดที่ตุงกุสคาว่า ในเวลานั้นน่าจะมีอุกกาบาตพุ่งเข้ามาใส่โลกจริง ๆ
และนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งออกมาตั้งสมมติฐานใหม่เพิ่มเติมที่ชวนทึ่ง เกี่ยวกับปริศนาของการระเบิดครั้งนั้นว่า เหตุผลที่พบเศษอุกกาบาตในพื้นที่เพียงเล็กน้อยก็เพราะว่าความจริงแล้ว ในตอนที่เกิดการระเบิดนั้น อุกกาบาตได้ปลิวกลับไปในอวกาศแล้วนั่นเอง หักล้างกับทฤษฎีเดิมว่า อุกกาบาตได้ระเบิดจนหายไปหมด หรือว่าถูกละลายหายไปกับชั้นน้ำแข็งจนทำให้สำรวจไม่พบ
แทนที่อุกกาบาตจะตกลงมาใส่โลกจนทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ยักษ์ อุกกาบาตลูกนี้กลับเฉียดพื้นโลกไปด้วยความเร็วระดับความสูงในระดับชั้นบรรยากาศที่ค่อนข้างต่ำแทนที่จะเข้าชนกับโลก ความร้อนที่เกิดขึ้นมากพอที่จะทำให้อุกกาบาตระเบิดจนทำลายต้นไม้ในพื้นที่แถบนั้นของไซบีเรีย และผลักเส้นการโคจรของอุกกาบาตลูกนี้ปลิวกลับออกไปนอกโลก จึงเหลือแค่เศษอุกกาบาตจำนวนเล็กน้อย (ที่โดนเผาไหม้ไปจนเกือบหมดด้วย) ให้ผู้คนและนักวิทยาศาสตร์สำรวจพบเพียงเท่านั้น
แม้ว่าคำอธิบายนี้จะดูเหนือจริงไปสักหน่อย แต่ไม่เคยมีกรณีที่อุกกาบาตปลิวกลับขึ้นไปยังอวกาศมาก่อน เท่าที่มนุษย์สำรวจย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ แต่ด้วยทฤษฎีใหม่นี้ก็ดูเป็นเหตุเป็นผลที่จะอธิบายเพราะอะไรถึงไม่เห็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ปรากฎขึ้นที่ผิวโลกในพื้นที่แถบนั้น และอุกกาบาตต้นเหตุการระเบิดหายไปไหน
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยทีมนี้ก็ได้ระบุไว้ว่า ข้อจำกัดในงานวิจัยของเขานั้น ยังขาดการวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นแรงกระแทกที่น่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ ทำให้ไม่อาจยืนยันได้ว่า การล้มของต้นไม้ในพื้นที่เป็นไปตามแรงกระแทกจริงหรือไม่ ทีมนักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปในการสำรวจเพิ่มเติมเพื่ออุดช่องว่างของสมมติฐานใหม่ที่เขาตั้งขึ้นเกี่ยวกับการระเบิดที่ตุงกุสคา และก็หวังว่าวิทยาการสมัยใหม่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ตอบปริศนาของเรื่องนี้ได้เร็ว ๆ นี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส