นาทีนี้ หากใครเก็งกำไรสกุลเงินดิจิตอลโดยเฉพาะบิตคอยน์ ต้องรู้จักชายนามว่า ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เป็นอย่างดี เพราะเมื่อใดที่ชายเจ้าของบริษัท Tesla และ SpaceX ทวีตว่า “เขากำลังคิดอะไรอยู่” ก็มักจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก และเมื่อไม่นานนี้ เขาออกมาทวีตว่า “ตอนนี้ Tesla จะไม่รับชำระค่าซื้อรถยนต์ด้วยบิตคอยน์แล้ว เพราะกังวลเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมหาศาลในการขุดบิตคอยน์”
นอกจากบิตคอยน์ที่ตอนนี้มูลค่าก็ร่วงลงเหลือราว 1 ล้านบาทเศษ / บิตคอยน์ (ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564) จากที่เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดกว่า 2 ล้านบาท / บิตคอยน์ เมื่อประมาณหนึ่งเดือนแล้ว พวกเหรียญดิจิตอลอื่น ๆ ก็พากันร่วงตามลงมาเป็นแถวเลยทีเดียว
แม้ตอนนี้จะยังหน้ามืดเมาหมัดกันอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น หลายต่อหลายคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมมันถึงกลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงแบบนี้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าการขุดบิตคอยน์นั้นไม่ใช่การขุดเหมืองหรือขุดแร่ที่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมแบบเดิมที่เราคุ้นเคยกัน มันสร้างผลกระทบแบบนั้นจริง ๆ เหรอ? ที่เป็นแบบนี้เพราะเรายังไม่เข้าใจว่าบิตคอยน์มันคืออะไรและมันมาจากไหน และการที่บิตคอยน์ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้มันยิ่งส่งผลให้การ “ขุด” เหรียญดิจิทัลนี้สร้างผลกระทบขึ้นมาได้จริง ๆ และถ้าไล่ไปเรื่อย ๆ มันก็เชื่อมโยงกับการขุดเหมืองโลหะต่าง ๆ ที่ทำร้ายโลกเราซะด้วย
สรุปแบบให้เข้าใจง่ายที่สุด มันมีสองวิธีที่เราจะได้บิตคอยน์มาครอบครอง
- ซื้อมา
- ขุดเอา
ซึ่งอย่างหลังมันคือวิธีที่บิตคอยน์ใหม่ ๆ จะถูกนำเข้ามาสู่ในระบบผ่านสูตรทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน อารมณ์เหมือนเป็นการเล่นเกมทายตัวเลข “ฉันกำลังคิดเลขอะไรอยู่เหรอ?” ที่เปลี่ยนไปทุกสิบนาที แต่มันเป็นตัวเลขแบบ 64 หลัก ซึ่งนักขุดก็จะแข่งกันว่าใครจะคำนวณตัวเลขตัวนี้ได้ก่อนกัน ใครเจอก่อนก็ได้บิตคอยน์ไปเป็นรางวัล (เย้!) คนอื่นก็ไปแข่งกันใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องที่ชาญฉลาดเพราะว่าพวกคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายหลายล้านเครื่องนั้นจะมีการเก็บข้อมูลทางธุรกรรมทั้งหมดตั้งแต่ธุรกรรมแรกจนถึงธุรกรรมสุดท้าย และมีการตรวจสอบให้ข้อมูลตรงกันอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นการโกงจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
จากเมื่อก่อนที่นักขุดยังมีไม่เยอะ ใช้แล็ปท็อปก็สามารถขุดบิตคอยน์ได้แล้ว แต่เมื่อมันได้รับความสนใจมากขึ้น มูลค่าของมันก็สูงขึ้นตาม ซึ่งก็นำมาด้วยจำนวนของนักขุดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับยุคตื่นทองยังไงยังงั้น โดยเจ้าปริศนาหรือสูตรทางคณิตศาสตร์ก็มีการปรับความยากขึ้นด้วยตามจำนวนคนที่เข้ามาขุด เลยกลายเป็นว่าตอนนี้แล็ปท็อปธรรมดาแทบไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์เหล่านี้ได้แล้ว และนั่นก็นำมาสู่ปัญหา
การคาดเดาตัวเลขหรือสิ่งที่เราเรียกมันว่าการขุดนั้นใช้พลังงานประมวลผลของคอมพิวเตอร์เพื่อเดาตัวเลขออกมา ซึ่งจำนวนของตัวเลขที่คอมพิวเตอร์สามารถเดาออกมาได้ขึ้นอยู่กับพลังการประมวลผลที่รู้จักกันว่า ‘แฮชเรต’ (Hashrate) ของแต่ละเครื่อง ยิ่งเครื่องที่มีแฮชเรตสูง ก็ยิ่งมีโอกาสเดาตัวเลขได้ถูกมากขึ้น
เมื่อมีนักขุดมากขึ้นในระบบ ตอนนี้การแข่งขันก็สูงตามมาด้วย ก็เลยมีการนำ GPU ที่เป็นหน่วยประมวลผลของกราฟิกการ์ดของคอมพิวเตอร์มาขุดบิตคอยน์ เพราะเจ้า GPU สามารถทำแฮชเรตได้มากกว่า CPU ในคอมพิวเตอร์ทั่วไปหลายสิบเท่า ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าเราจะเห็นคอมพิวเตอร์ที่มีกราฟิกการ์ดแบบคุณภาพสูงอัดเต็มเครื่อง 5-10 อัน เพื่อช่วยกันเดาตัวเลขดังกล่าว ทำให้บางทีเราเห็นข่าวว่ากราฟิกการ์ดนั้นขาดตลาดหรือที่มีขายก็ราคาสูงมาก ซึ่งกราฟิกการ์ดในตอนแรกนั้นมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เหล่าเกมเมอร์ใช้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว มันถูกนำมาใช้เพื่อขุดบิตคอยน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเรื่องของพลังงานที่ใช้อย่างสิ้นเปลือง กราฟิกการ์ดเหล่านี้กินกระแสไฟเหมือนขนม ใช้พลังงานเยอะมากในการหล่อเลี้ยง การประมวลผลอย่างหนักทำให้เกิดความร้อนบนการ์ดซึ่งต้องใช้พัดลมเฉพาะเพื่อระบายความร้อน ซึ่งถ้าใครขุดบิตคอยน์จะรู้ว่ามันต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด จากรายงานของเว็บไซต์ Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index ระบุว่าเมื่อรวมกันแล้วคอมพิวเตอร์ที่ขุดกันอยู่ทั่วโลกตอนนี้ใช้พลังงานราว ๆ 130 เทราวัตต์ต่อปี (Terawatt-Hours Per Year) สูงขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีก่อนประมาณ 66 เท่า สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint – ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ) ประมาณ 22-29 ล้านตัน
เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกนิด การขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 67% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เฉลี่ยในประเทศไทยปี 2562 (ราว ๆ 192.96 เทราวัตต์) ถ้าจัดอันดับการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขุดบิตคอยน์กับประเทศอื่นทั่วโลก ก็อยู่ที่อันดับ 28 รองจากประเทศไทยเพียง 5 อันดับ และสูงกว่าประเทศอย่างนอร์เวย์และเนเธอร์แลนด์ด้วยซ้ำ เปรียบเป็นประมาณ 0.55% ของพลังงานที่ใช้ทั้งโลก และยิ่งมันได้รับความนิยมมากขึ้นเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าตัวเลขนี้จะยิ่งเติบโตมากขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่ทำให้มันซับซ้อนมากขึ้นไปอีกก็คือ ตอนนี้คือการขุดบิตคอยน์ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมแบบจริงจัง มีโรงงานที่ขุดบิตคอยน์ขนาดใหญ่มากมาย โดยเฉพาะที่ประเทศจีน เพราะว่าราคาของฮาร์ดแวร์ที่ถูกและอัตราค่าไฟฟ้าก็ไม่แพง ซึ่งก็นำมาถึงต้นตอของปัญหาที่ว่า “ไฟฟ้าที่ประเทศจีนผลิตยังไงล่ะ?” ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์บอกว่าพลังงานไฟฟ้า 2 ใน 3 ของจีนมาจากถ่านหินซึ่งสร้างมลภาวะให้กับโลกเราเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม แถมจีนยังไม่มีหน่วยงานควบคุมการขุดบิตคอยน์ จึงตรวจสอบไม่ได้ว่าการขุดบิตคอยน์นั้นใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานถ่านหินกันแน่
ตอนนี้สมการคือ พลังงานไฟฟ้า = บิตคอยน์ เพราะฉะนั้นยิ่งมีความต้องการบิตคอยน์มากเท่าไหร่ ความต้องการของไฟฟ้าก็สูงมากขึ้นเท่านั้น
อีกด้านหนึ่ง แคธี วูด (Cathie Wood) จาก บริษัทจัดการการลงทุน ARK Investment Management ก็ออกมาบอกว่าเมื่อเทียบกันแลัว บิตคอยน์ทั้งระบบนั้นใช้พลังงานน้อยกว่า 10% ของระบบธนาคารแบบดั้งเดิมที่ใช้กันอยู่ทุกวันซะอีก แต่อีกเรื่องที่สำคัญก็คือว่าระบบธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นถูกใช้งานโดยประชากรหลายล้านล้านคน ซึ่งก็ต่างจากบิตคอยน์ ที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ Forbes บอกว่าตอนนี้มีคนถือบิตคอยน์อยู่ราว ๆ 100 ล้านคนเท่านั้น กระนั้นก็ตาม อย่าลืมว่าบิตคอยน์นั้นมีส่วนทำให้ชีวิตของหลายล้านคนบนโลกใบนี้สะดวกขึ้น ดูตัวอย่างจากประเทศไนจีเรียที่มีการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์เป็นมูลค่า 400 ล้านเหรียญ เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียเท่านั้น เพราะมันเป็นทางเลือกในการส่งเงินให้กับครอบครัวโดยเสียค่าธรรมเนียมที่น้อยกว่ามาก
โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าบิตคอยน์มีมูลค่าของมันอยู่ แม้จะยังเชื่อในเงินที่จับต้องได้แบบดั้งเดิม แต่สกุลเงินดิจิทัลได้ทำให้โลกของความเป็นไปได้และโอกาสมีมากยิ่งขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ต้องลองย้อนกลับมาดูว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นมันสร้างผลกระทบต่อโลกเรามากขนาดไหน ยิ่งมีการทำในวงกว้างมากเท่าไหร่ ปัญหาก็เยอะตามมาด้วย มันอาจจะไม่ได้สร้างผลกระทบทางระบบนิเวศน์เหมือนอย่างการวางแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางมหาสมุทร แต่ก็อย่าลืมว่ามันก็ไม่ใช่พลังงานสะอาดที่ขุดบิตคอยน์เข้าสู่ระบบ แถมเมื่อบิตคอยน์ได้รับความนิยม สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ก็จะได้รับความนิยมตามมาด้วย และคาร์บอนฟุตพรินต์ก็ตามมาอีก
เหมือนอย่างที่อีลอน มัสก์ ทิ้งท้ายไว้ในทวีตว่า Tesla ไม่ได้จะขายผ่านบิตคอยน์ และพร้อมจะรับมันอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ตามที่การขุดบิตคอยน์มาจากพลังงานสะอาดที่ไม่ทำร้ายโลกใบนี้ ประเด็นเรื่อง Green Bitcoin ก็มีการพูดถึงกันเยอะขึ้น ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่มองเช่นเดียวกันว่า ยิ่งมันได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะถูกขุดด้วยพลังงานสะอาดก็มีมากขึ้นไปด้วย และสำหรับคนที่ถือบิตคอยน์ไว้ตอนนี้ก็คงหวังว่ามันจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9 อ้างอิง 10 อ้างอิง 11 อ้างอิง 12
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส