Zweed n’ Roll เป็นวงดนตรีที่เติบโตจากแวดวงอินดี้มาสู่ค่ายใหญ่อย่าง Warner Music Thailand โดยมีท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์จากงานดนตรีที่มีความหม่นเศร้า ล่องลอย แต่งดงามในกลิ่นอายงานดนตรีแบบริตป๊อปและอัลเทอร์เนทีฟ น่าแปลกที่บทเพลงของพวกเขานั้นเศร้าแต่กลับเยียวยาความเศร้าของผู้ที่ได้สัมผัสบทเพลงเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
หลังจากที่ได้ปล่อยอัลบั้มชุดแรก “I’m 20” ไว้ในปี 2018 คราวนี้พวกเขากลับมาพร้อมงานเพลงในอัลบั้มชุดใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “Resurrection” ซึ่งพูดถึงการ “ฟื้นคืน” จากความบอบช้ำ ความเจ็บปวดที่ได้พบกับเรื่องราวแย่ ๆ หรือเรื่องราวที่ชวนท้อแท้ในชีวิตที่ผ่านมา โดยบทเพลงของพวกเขาจะกล่อมเกลาและพาเราฟื้นคืนกลับสู่ช่วงเวลาแห่งความงดงามของชีวิตอีกครั้ง
และที่พิเศษเลยคืองานนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ Zweed n’Roll ทั้งทีก็เลยชวนมาเดินทางไปในงานเพลงจากอัลบั้มชุดนี้กันเต็มที่แบบ Track by Track กันไปเลย
Zweed n’ Roll
พัด–สุทธิภัทร สุทธิวาณิช (ร้องนำ)
ปูน–ณัฐพัชร์ สมิตนุกูลกิจ (กีตาร์)
มิน–ณัฐกร ศิลวัฒน์ (กีตาร์)
นิว–นิติ นิติยารมย์ (เบส)
ทัน–ธรรม์ ดำรงรัตน์ (กลอง)
คอนเซ็ปต์ของ “Resurrection”
พัด : ก็โดยรวมจะเป็นการ “ฟื้น” ค่ะ ตามชื่อ Resurrection เลยคือ ‘การฟื้นคืนชีพ’ ซึ่งการฟื้นคืนชีพของเรามันน่าจะเริ่มมาจากโควิดที่เราต้องหยุดเล่นดนตรีไปค่ะ ก็เคว้งคว้างกันไปประมาณสัก 2 ปี จนเราตัดสินใจกันว่าเราจะเอายังไงต่อเราจะทำเพลงต่อไหม และเราก็ตัดสินใจทำต่อกันมันก็เลยเป็นการ ‘ฟื้น’ขึ้นมาของวงด้วย แล้วก็เป็นการเข้ามาทำงานภายใต้สังกัดค่าย (Warner Music Thailand) ครั้งแรกด้วย เลยเป็นการฟื้นขึ้นมาแบบที่พิเศษเหมือนกันค่ะ
การทำงานในภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง
นิว : ผมว่าเราทำงานกันง่ายขึ้นนะครับในเรื่องของการทำเพลง เพราะก่อนหน้าที่จะทำอัลบั้มนี้ก็ทำกันปีละเพลงสองเพลง แต่ว่าอัลบั้มนี้พอเราเริ่มคุยกันว่าจะทำอัลบั้ม พอเริ่มต้นทำก็ประมาณ 2-3 เดือนก็จบอัลบั้มได้เลยครับ แบบค่อนข้างจะเร็วมากกว่าปกติ น่าจะเพราะเรามีเดดไลน์ที่ชัดเจนมากครับ มีแผนที่วางกับค่ายด้วยแล้วก็การได้เจอกับโปรดิวเซอร์ด้วย (เชน เอ็ดเวิร์ดส์ (Shane Edwards)) ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับวงเรามาก ๆ แล้วก็ทำงานกัน เปิดรับกันแล้วทำให้รู้สึกว่าสนุกแล้วก็ง่ายขึ้นครับ แบบว่ามีคนมาช่วยในสิ่งที่เราอาจจะนึกไม่ถึงเลยหรือแบบบางทีเราอาจมีความมั่นใจในแต่ละเพลงก็มีคนมาช่วยทำให้มันชัดเจนขึ้นและช่วยเรามาก ๆ ในเรื่องของกำลังใจครับ
มีไอเดียในการเรียงแทร็กของอัลบั้มนี้ยังไงบ้าง
พัด : ตอนแรกวางไว้เพลงแรกกับเพลงสุดท้ายก่อนค่ะ เราวางไว้ว่าเพลงแรกอยากให้เป็นเพลง “ไม่มีอะไรเหมือนเดิม” แล้วก็เพลงสุดท้ายเป็น “Fighter” เพราะเรารู้สึกว่า “ไม่มีอะไรเหมือนเดิม”มันมีความเปิดการเดินทางค่ะ เหมือนมันเป็นการเดินทางครั้งใหม่ และพอมันเดินทางตามแทร็กไปเรื่อย ๆ เพลงสุดท้ายมันก็เป็น “Fighter” ใช่ไหมคะ มันก็เหมือนเป็นการที่เราไม่ย้อนกลับไป มันคือการเดินหน้าต่อค่ะ สมมติว่าฟังซีดีในรถ พอมันเป็น “Fighter” แล้ววนกลับไปเพลงแรกมันก็จะกลายเป็นเนื้อหาที่แบบเราจะเดินหน้าต่อไปอีกเราจะไม่ย้อนกลับไปอีกแล้ว
“Resurrection” Track by Track
ไม่มีอะไรเหมือนเดิม (Nothing Lasts Forever)
เพลงนี้ตอนทำตั้งใจจะให้เป็นแทร็กแรกเลยรึเปล่า
พัด : ไม่นะคะตอนนั้นยังไม่คิดด้วยซ้ำ คือตอนแรกที่ยังไม่มีเพลงอื่นเลยมีแค่ 3 เพลง ตอนนั้นพัดวางให้เพลง “อยู่ (You)” เป็นแทร็กแรกแต่ว่าพอมีเพลงอื่น ๆ ก็เลยรู้สึกว่า “ไม่มีอะไรเหมือนเดิม” นี่แหละเหมาะที่จะเอามาเปิดเป็นแทร็กแรก
นิว : นอกจากในเรื่องของเนื้อหาที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว ในแง่ของดนตรีเพลงนี้ก็เป็นสิ่งที่ Zweed n’Roll ไม่เคยทำมาก่อนเช่นมีเสียงของ e-bow การมี element ใหม่ ๆ อย่างการมีเพอร์คัชชันหรือการมีสแครชจากทันมันก็เป็นการบอกว่าเราจะก้าวต่อไปด้วยเหมือนกันครับ
การใส่สแครชเข้ามานี่ไอเดียมายังไง
ทัน : จริง ๆ ลึก ๆ แล้วก็อยากใส่เข้ามาสักเพลงเหมือนกันครับ แล้วพอดีวันนั้นเป็นวันที่เอาเครื่องไปเล่นเฉย ๆ แล้วเชนเค้าเห็นก็เลยบอกว่าลองใส่ดูไหม ก็เลยลองเล่นไปดูครับ โชคดีที่เพื่อนให้ใส่เข้าไปด้วยครับ
เพียง (Nightmare)
พอเริ่มออกเดินทางแล้วมาแทร็กที่ 2 ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความสว่าง ๆ ขึ้นมาแล้ว เพลงนี้มีไอเดียยังไงบ้าง
พัด : เพลงนี้ปูนขึ้นมาก่อนค่ะเอามาให้ฟังก่อนเป็นกีตาร์แล้วก็ทำเดโมขึ้นมา ก็รู้สึกว่าเออน่าสนใจมากเป็นอะไรที่เราไม่เคยทำกันมาก่อน พัดคิดถึงเมโลดี้ที่มีไดนามิกมาก ๆ ค่ะ เพราะก่อนนี้เมโลดี้ของ Zweed n’Roll จะเป็นแบบเรียบ ๆ พอได้ยินเมโลดี้แบบที่มีขึ้นมีลงมีไดนามิก เราก็คิดว่ามันจะต้องทำออกมาให้ดีได้ พอเอากลับมาแต่งพัดรู้สึกว่าพัดชอบนะ ไม่รู้ว่าคิดเอาเองรึเปล่านะคะ พัดคิดไปถึงตอนอยู่มัธยมแล้วก็ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน ๆ มันเป็นฟีลเหมือนร้องคาราโอเกะกับเพื่อน ๆ ยังไงไม่รู้ (หัวเราะ)
นิว : เพลงนี้ก็เป็นเพลงแรก ๆ ตอนยังไม่ออกอัลบั้มที่เราเอาไปเล่นสดเพราะมันเป็นเพลงที่มีจังหวะ ก่อนหน้านี้ออกจะเล่นร็อกกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่พอมาเป็นอย่างนี้มันก็ดีครับกลมกล่อมขึ้นเลย
อยู่ (You)
เหมือนจะเป็นเพลงที่อายุเก่าแก่สุดในอัลบั้ม
พัด : “อยู่” น่าจะแต่งหลังจากปล่อยอัลบั้ม “I’m 20” ไม่นานค่ะ เป็นช่วงที่รู้สึกว่าต้องทำเพลงกันแล้วก็มีเพลงนี้ขึ้นมา เล่นครั้งแรกน่าจะงานแคทปี 2018-2019 พอได้เพลงนี้มาพัดรู้สึกดีมากเลยค่ะ มันเป็นอะไรที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นสิ่งที่ตามหามาที่มันมีอยู่ใน Zweed n’Roll ค่ะ มีความกร้าว ๆ กร้าน ๆ หน่อย (หัวเราะ)
ปูน : ผมจำได้ว่าเล่นครั้งแรกตอนงานแคทครับ ตอนนั้นเราออกอัลบั้มพอดีและอยากเอาเพลงใหม่ ๆ ไปให้ผู้ฟังด้วยครับ ตอนนั้นยังไม่ได้อัดเพลงนี้แล้วมีคนอัดวิดีโอที่เราเล่นไว้ แล้ววันนั้นมันเหมือนเป็นการเล่นสด ๆ กึ่ง ๆ อิมโพรไวส์ พอมีคนอัดวิดีโอไว้ผมก็เลยไปนั่งแกะสิ่งที่เล่นไว้วันนั้นมาอัดจริง ๆ ก็เลยเหมือนได้มาสเตอร์มาจากการเล่นสดวันนั้นครับ
(ฟังการเล่นสดเพลง “อยู่” ครั้งแรกได้ตั้งแต่นาทีที่ 10.10 ของคลิปนี้)
โลกใบเก่า (Tired)
เพลงนี้เป็นซิงเกิลที่ 2 หลังจากมาอยู่วอร์นเนอร์ แนวคิดตอนที่ทำเป็นยังไง พอมาอยู่กับค่ายแล้วกระบวนการหรือแนวคิดในการทำเพลงเราเปลี่ยนไปไหม
นิว : ถูกต้องเลยครับ ตอนนั้นเราทำเดโมครบหมดแล้วแพ็คของกับโปรดิวเซอร์เรียบร้อยแล้ว เราก็เลยเอามาให้ที่ค่ายฟังซึ่งเค้าก็บอกว่ามันยังขาดเพลงที่มีมู้ดแบบที่อยู่ในเพลงนี้ไป ซึ่งเราก็เห็นด้วยว่ามันยังขาดเพลงที่มีกลิ่นแบบนี้ที่จะเติมเต็มทั้งอัลบั้มให้มันมีครบทุกรส พอได้คอมเมนต์นี้มาพัดก็เลยจัดการขึ้นคอร์ดขึ้นโครง พี่มินก็ช่วยดูเนื้อก็ใช้เวลาไม่นานครับเพลงนี้
พัด : เค้าพูดว่าอยากเห็นเพลงที่เป็นเหมือนกับเพลง “ไดอารี่” ที่มีความเป็นเพลง “ช่วงเวลา” (หัวเราะ) ซึ่งมันก็เหมือนกับเป็นมวลมหาชน เป็นเพลงที่มวลมหาชนร้องได้ค่ะ
นิว : ในเรื่องโครงสร้างเมโลดี้ โครงสร้างเพลงถ้ามองตรง ๆ มันจะมีความเก่าอยู่มากครับ ก็เลยมีการแก้เลี่ยนด้วยการใช้เบสขึ้นเป็นตัวลีด อันนั้นน่าจะแจมกันในห้องอัดเล่น ๆ และเชนเค้าเห็นว่ามันเวิร์กก็เลยเอาไอเดียนี้มาใช้ครับ ถือว่าเป็นเพลงที่สนุกดีครับที่มือเบสได้ลีดขึ้น
อยากมีความหมาย (Empty)
เป็นซิงเกิลแรกที่ทำงานกับวอร์นเนอร์ ตอนนั้นมีความรู้สึกพิเศษ ๆ แบบ ‘เฮ้ยมันเป็นซิงเกิลแรกกับวอร์นเนอร์’ อะไรแบบนี้ไหม
พัด : ตอนนั้นไม่คิดว่าจะเอาเพลงนี้เป็นซิงเกิลแรกด้วยซ้ำ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็เป็นเพลงนี้
นิว : ตอนแรกเราก็ดูว่าเพลงไหนจะเหมาะกับการเป็นเพลงเปิดของการที่เราได้มาทำงานกับค่าย ตอนแรกก็ไม่ใช่เพลงนี้ แต่ด้วย “อยากมีความหมาย” มันถูกเล่นครั้งแรกปี 2020 ในคอนเสิร์ต ก็รู้สึกว่าเราอยากจะเซอร์วิสแฟนเพลงที่ได้ฟังในวันนั้นด้วย เค้าจะได้ตามเรามาในเฟสนี้ด้วย แล้วเพลงช้า ๆ แบบนี้ก็น่าจะบอกความเป็น Zweed n’Roll ได้ดีแบบว่าไม่หนีจนเกินไปครับ ให้เห็นรอยต่อให้มันชัดเจนขึ้นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ครับ
พัด : ก่อนที่จะเข้าวอร์นเนอร์เราก็พยายามทำเพลงนี้เพื่อปล่อยกันเองก่อนค่ะ แต่ว่าไม่สำเร็จ มันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกันพอดี พอเราเข้ามาแล้วก็ได้เจอเชน เชนก็ช่วยแก้ปัญหาทำให้เพลงนี้มันสมูทขึ้นเยอะเลยค่ะ
ฟื้น (Resurrection)
ในฐานะที่เป็นไตเติลแทร็กเพลงนี้มีความสำคัญยังไงบ้าง ตอนแต่งตั้งใจที่จะให้เพลงนี้เป็นไตเติลแทร็กเลยรึเปล่า
พัด : เพลงฟื้นแต่งประมาณปี 2020 ตอนคอนเสิร์ตใหญ่ ตอนนั้นยังเล่นเป็นอะคูสติกอยู่ยังไม่มีชื่อเพลงด้วย มาได้ชื่อตอนที่เริ่มจะอัดเพลง ตอนที่ตั้งชื่อเพลงยังไม่คิดอัลบั้ม แต่พอได้ชื่อเพลงทั้งหมด เราก็มานั่งคิดกันว่าทั้งหมดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เราจะสื่อความหมายทั้งหมดนี้ยังไงในรูปแบบไหน ก็เลยมองเห็นเพลง “ฟื้น” ก็เลยมองว่ามันเป็นการฟื้นคืนของเราค่ะ
มีไอเดียในการทำอย่างไรบ้าง
พัด : ในเนื้อหาของเพลงพัดว่ามันสวยงามค่ะ เป็นการเจออะไรที่มันสวยงามและดนตรีก็จะเป็นบรรยากาศถ้าหลับตาใส่หูฟังก็จะเห็นดอกไม้ การฟื้น การบานของมัน มูฟเมนต์ที่มันค่อย ๆ ขยับจะเห็นความสวยงามของมัน ด้วยความที่มันเป็นเพลงช้าก็จะได้ยินรายละเอียดของมันค่ะ รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพลงนี้ได้เชนมาก็ช่วยได้เยอะมาก ๆ เลยค่ะ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมันเหมือนกัน ด้วยความที่เพลงมันเป็นอะคูสติกก็เลยไม่ได้ทำเป็นฟูลแบนด์เหมือนเพลงอื่น ๆ ค่ะ
ปูน : ในด้านดนตรีเพลงนี้ฟังเหมือนเรียบง่ายแต่จริง ๆ มีรายละเอียดเยอะครับ เพราะว่ามีสเปซเยอะ สิ่งที่จะใส่เข้าไปเลยต้องมีความหมายครับ ซึ่งเชนเค้าจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์เพลงมาก ๆ เค้าก็จะถามว่าท่อนนี้ร้องว่าอะไร แปลว่าอะไร ผมก็จะแปลให้เค้าฟัง เค้าก็จะบอกว่าโอเคให้ยูเล่นตามที่เค้าร้องสิลองแปลงมันออกมาให้เป็นโน้ตดู
Lightning In The Sky
เนื้อร้องภาษาอังกฤษ พอมาต่อกับ “ฟื้น” แล้วมันดู สว่างขึ้นมา เหมือนแสงส่องมาจากฟ้าจริง ๆ พอฟื้นแล้วมันก็ตื่นก็สว่างแล้ว พอเอามาต่อกันแล้วเข้ากันมากเลย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แต่งในช่วงเดียวกัน ตอนเอามาต่อกันตอนนั้นมีไอเดียอะไรบ้าง
พัด : พัดคิดว่า “Lightning In The Sky” มีความเพลิดเพลิน อารมณ์เหมือนถ้าฟื้นมันคือการกลับมามีชีวิต เพลงนี้ก็น่าจะเป็นการขยับแขนขยับขาขยับตัวได้ค่ะ ส่วนเนื้อหาก็จะคล้าย ๆ กันแต่ Lightning จะเป็นความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ และสบายใจที่ได้เจอกับใครบางคนที่เป็นเซฟโซนค่ะ
นิว : สำหรับผมเพลงนี้เป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้มครับ มันเป็นเพลงที่มีกลิ่นของบริตป๊อปในแบบที่ Zweed n’Roll ได้เติบโตมา ได้เล่นคัฟเวอร์ แล้วก็รู้สึกว่าเพลงมันเพราะ ลอย เพลิน ๆ ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่นครับ
ทุกวัน (Tookwan)
เพลงนี้มันดูสว่าง กระฉับกระเฉงกว่าทุก ๆ เพลงของ Zweed เลย พัดเปรียบเปรยว่าถ้าฟื้นมันคือการกลับมามีชีวิต เพลงนี้ก็น่าจะเป็นการขยับแขนขยับขาขยับตัวได้งั้น “ทุกวัน” นี่คือออกวิ่งเลยรึเปล่า
พัด : (หัวเราะ) ใช่ค่ะ ๆ เริ่มมีพลัง “ทุกวัน” เป็นเพลงที่แต่งหลังจากเพลง “อยู่” เป็นยุคที่ยังไม่ได้ทำงานกับเชน พัดหยิบเรื่องของเพื่อนมาแต่ง ลองแต่งเพลงจากคนอื่นดูบ้าง ตอนนั้นคุณตาเค้าเสียพอดี พัดก็เลยลองเป็นเค้าดูบ้างและคิดว่าตอนนั้นเค้าจะรู้สึกยังไง สวมวิญญาณเป็นเค้าแล้วก็เขียนขึ้นมา เขียนจากความรู้สึกของคนคนนึงเขียนจากความรู้สึกอบอุ่นที่มันเกิดขึ้นค่ะ และช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ฝุ่น pm2.5 กำลังระบาดมากก็เลยใส่เข้าไปในเพลงด้วย (หัวเราะ)
นิว : เพลงนี้เป็นเพลงที่มีเครื่องสายแบบเต็ม ๆ เพลงเดียวเลยในอัลบั้ม ตอนนั้นเราไปเล่นงาน Fungjai แล้วเราก็เจอ ‘ฟลุ๊ก’ (สมัชชา พ่อค้าเรือ) มือเชลโลวง Stoic ซึ่งเค้าจะมีทีมเครื่องสายของเค้า ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เราทำเพลง “ทุกวัน” พอดี ก็เลยอยากร่วมงานกับเครื่องสาย เพราะคิดว่ามันเข้ากับเพลงของ Zweed n’Roll ได้ดี มันมีความสะอื้นอะไรอย่างงี้ครับ
เรา (Us)
ซิงเกิลล่าสุด เหมือนจะเหงา ๆ เศร้า ๆ แต่เป็นเพลงที่อบอุ่นมากเลย
พัด : เพลงนี้แต่งปี 2021 ตอนที่แต่งเพลงนี้พัดมีความรู้สึกอยากได้เพลงไทยที่มันมีคอร์ด seventh ไปทางพวกอัลเทอร์เนทีฟหน่อย ก็เลยลองทำคอร์ดขึ้นมาแล้วก็ฮัมเป็นเมโลดี้กับเนื้อเพลงขึ้นมามันก็เลยได้พอดี ด้วยความที่มันออกมาเป็นเพลงรักซื่อ ๆ ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก เป็นเพลงรักที่จริงใจดีค่ะ
นิว : น่าจะเป็นเพลงแรกที่มีการเปลี่ยนคีย์ขึ้นนะครับสำหรับ Zweed n’Roll ก็เป็นไปตามยุคตามสมัยที่เพลงมันมีอะไรแบบนี้ ก็เป็นเพลงที่ท้าทายครับเพราะถ้าทำมันทื่อ ๆ มันก็จะดูเก่าไปเลยครับ
ปูน : ตอนบันทึกเสียงค่อนข้างมีปัญหาอยู่พอสมควรครับ เพราะรายละเอียดมันเยอะครับ แต่พอออกมาแล้วมันไม่ได้เยอะอย่างที่เป็นปัญหา ฟังสบาย ก็เลยเยี่ยมไปเลยครับ
พัด : เรื่องเปลี่ยนคีย์เนี่ยไอเดียมันมาตอนที่แจมกันในห้องซ้อมก่อน ตอนนั้นปูนน่าจะโซโล่อยู่แล้วพอเปลี่ยนคีย์มันก็ได้พอดี ก็เลยแบบว่า “เปลี่ยนคีย์เลย ๆ” รู้สึกว่ามันต้องมาทางนี้ ทรงมันมาทางนี้ (หัวเราะ)
อย่าไป (Still)
เพลงนี้ทำเพื่อประกอบงานศิลปะของ ‘SUNTUR’ (เต๋อ–ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล) ดูเท่ดี เพลงออกแนวมินิมอลและเนื้อเพลงก็เหมือนตั้งใจเล่นคำ มีไอเดียยังไงบ้าง
พัด : เพลงนี้ก็ทำตามภาพที่พี่ ‘SUNTUR’ ให้มาชื่อภาพว่า “Sorry” เค้าก็ให้เราทำอะไรก็ได้ มันจะเป็นภาพเหมือนผู้หญิงถือแขนผู้ชาย ผู้ชายถือเลื่อย และผู้หญิงถือแขนผู้ชาย ก็เลยนึกถึงความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างวนลูป ดูเชิงกัน เธอไม่กล้าไปหรอก ชั้นก็ไม่กล้าไปหรอก เราก็อยู่กันด้วยความ toxic นี่แหละ
ในตอนท้ายเพลงมีเสียงข่าวต่างประเทศด้วย
ปูน : อ๋อ มันเป็นเสียงที่ติดมาตอนบันทึกเสียงครับ บางทีมันจะมีเสียงวิทยุแทรกเข้ามาได้ครับ จำได้ว่าจะเป็นตอนอัดเบสหรือไม่ก็กีตาร์โปร่งตอนท้ายเพลง พี่เค้าอัดให้อยู่แล้วพอดีมันมีเสียงนี้แทรกเข้ามา และผมก็เป็นคนชอบอะไรแบบนี้มันบังเอิญ มันดูเป็นสตอรี่บางอย่างก็เลยบอกให้พี่เค้าเก็บไว้ให้ครับ ก็เลยเก็บเอาไว้ครับ
Stars
หลอน ๆ เหมือนบ้านผีสิง ดูจากชื่อเหมือนเพลงนี้จะสะท้อนเรื่องของชื่อเสียง ความลุ่มหลงในการชื่นชม หรือการได้รับความสนใจจากผู้อื่น ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ฉาบฉวยไม่จีรัง อะไรอย่างนั้นรึเปล่า
พัด : ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง “Stars” ของเจนิส เอียน (Janis Ian) ค่ะ มันเป็นเพลงที่เล่าว่าชีวิตของศิลปินนี่มันค่อนข้างจะหดหู่ ฉาบฉวย พวกชื่อเสียง ความดัง แบบคนผ่านไปผ่านมาขอลายเซ็น เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าเค้ารักเราจริงรึเปล่า ศิลปินที่เราชอบก็จะเป็นแบบนี้หลายคน แบบว่าเค้าตกอยู่ในห้วงภวังค์อะไรสักอย่าง แล้วไม่สามารถมีใครช่วยได้ จนบางคนก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายไป ก็เข้าใจความรู้สึกของเค้า ก็เลยหยิบขึ้นมาเขียนและจินตนาการว่าเป็นการเล่าเรื่องผ่านโชว์ มีเสียงชื่นชมเรา ทุกสายตาจดจ้องมาที่เรา มันเป็น exhibition นึงของเรา เหมือนเราอยู่ในกล่อง ๆ นึงหรือกรง ๆ นึงก็ได้ค่ะ มันก็คือชั่วโมงการเฉิดฉายของเราค่ะ ที่เราสามารถสั่งคนดูให้ทำอะไรก็ได้ แต่พอเวลานี้มันผ่านไปแล้ว มันร้างก็กลายเป็นว่าเราก็ต้องอยู่คนเดียว
เป็นอีกเพลงที่พัดสวมวิญญาณเป็นตัวละครในเพลง อยากรู้ว่าระหว่างแต่งเพลงนี้ไปเรากลัวไหมว่าในจุดหนึ่งของชีวิตนักดนตรีวันหนึ่งเราจะเจอกับความรู้สึกแบบนี้
พัด : กลัวค่ะ ความที่มันเป็นอนาคตด้วยค่ะ คิดแล้วมันน่ากลัว ไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะเกิดอะไร เพราะว่าระยะเวลาของศิลปินมันอยู่ได้ไม่เกิน 20 ปีค่ะ เคยดูสารคดี Boyz II Men แล้วมันมีวันนึงที่เค้า ไปทัวร์แล้วมันไม่มีคนมาดูแล้ว ทั้งที่เมื่อก่อนเค้าดังมาก ๆ คนแน่นเต็มไปหมด แล้ววันนึงยุคสมัยเค้ามันเปลี่ยนไปแล้ว เศร้ามาก
Fighter
เรามาถึงเพลงสุดท้าย “Fighter” เหมือนอย่างที่คุยกันไว้เมื่อตอนต้นเราเปิดด้วย “ไม่มีอะไรเหมือนเดิม” ที่มันบอกถึงการเปลี่ยนแปลง พอมา “Fighter” มันก็ยิ่งตอกย้ำชัดเข้าอย่างหนักแน่น มีความเข้มแข็ง เหมือนเป็นการประกาศอะไรบางอย่าง
พัด : “Fighter” นี่แต่งมาจากความรู้สึกตัวเองเลยค่ะ แต่งตอนช่วงที่โควิดมาแล้วก็เหมือนจะต้องหยุดงานไป และไม่รู้ว่าจะเอาไงต่อ วงจะทำต่อไหมเพราะไม่ค่อยได้เจอกันด้วย เหมือนทุกอย่างมันหยุดนิ่งหมดเลยค่ะ ก็เลยเขียน “Fighter” ขึ้นมาให้กำลังใจตัวเอง ให้สู้ต่อ ลุยต่อค่ะ (หัวเราะ)
นิว : เพลงนี้เป็นเพลงที่ต้องใส่มากกว่าปกติครับ การได้มีอารมณ์แบบนี้มันก็รู้สึกดีนะครับ อารมณ์แบบว่าเอาเว้ย ! เพลงนี้อารมณ์ก็เหมือนกับ “Linger” ก็เป็นการต่อยอดขึ้นมาครับ
ปูน : ส่วนนึงที่เพลงมันพีคขึ้นไปแบบนี้ก็ต้องให้เครดิตเชนด้วยครับเพราะว่าตอนแรกท่อนท้าย ๆ เหมือนเราจะไม่ได้ขึ้นไปแบบนี้ แบบว่าขึ้นแล้วก็ดรอปลงมา ผมว่ามันก็เพราะไปอีกแบบ แต่เชนเค้าก็มีภาพของเค้าว่าพอมันขึ้นแล้วก็ให้ขึ้นไปเลย เหมือนพุ่งทะยานไปเลยครับ ก็ทำให้เราได้ฮึด ๆ ตามเค้าด้วยครับ
ชอบท่อนที่ร้องว่า “This is the promise from me” ถ้าจะให้ Zweed n’ Roll แต่ละคนบอกว่าจะสัญญาอะไรกับแฟน ๆ คำสัญญาที่เราจะมีให้กับแฟน ๆ มันคือเรื่องอะไร และเราจะมอบอะไรให้กับแฟน ๆ บ้าง
พัด : ส่วนตัวพัดคิดว่าไม่น่าจะเลิกร้องเพลงค่ะ ยังไงก็จะร้องเพลงต่อไปค่ะ
ปูน : ผมให้ความจริงใจละกันครับ ให้ความจริงใจกับดนตรีและก็ผู้ฟังครับ
นิว : ส่วนผมก็จะยืนยันในสิ่งที่ทำต่อไปครับ หมายถึงว่าในชีวิตเราก็จะพิสูจน์ว่าจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนเป็นสัญญาที่สำหรับเราแล้วไม่ว่าจะทำอะไรก็จะเต็มที่กับมัน
มิน : ก็สัญญาว่าถ้าเราได้ทำอะไร ก็จะทำมันอย่างเต็มที่แน่นอน และนั่นมันก็คือตัวตนของเราแน่นอนรับประกันได้เลยครับ
ทัน : คิดว่าน่าจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองทำได้ครับ แล้วก็ผมเป็นคนพูดน้อยนะครับ ถ้าอยู่บนเวทีก็พูดด้วยเสียงกลองแทนครับ ก็รู้สึกแฮปปี้แล้วครับกับตรงนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส