แม้จะดูเป็นเรื่องเพ้อเจ้อและมองไม่เห็นความจำเป็น แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงสนใจและศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่เห็ดรา ที่เรามักคิดว่าไม่น่าจะต้องพึ่งพาการสื่อสาร ล่าสุดนักวิจัยของประเทศอังกฤษได้ค้นพบว่า เห็ดราบางชนิดนั้นมีสัญญาณไฟฟ้า และมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับภาษาพูดของมนุษย์ และคาดว่าเห็ดอาจใช้สัญญาณไฟฟ้านี้แปลงเป็นคำศัพท์ในการสื่อสารได้ด้วย
ผลงานการวิจัยนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของวารสาร Royal Society Open Science เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา โดย ‘ศาสตราจารย์แอนดรูว์ อนามัตสกี’ (Andrew Adamatzky) และทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ (University of the West of England) ประเทศอังกฤษ ได้ทำการวิเคราะห์แบบแผนทางคณิตศาสตร์ ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์สัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากเห็ดราบางชนิด
นักวิจัยค้นพบว่า เห็ดเหล่านั้นสามารถใช้สัญญาณไฟฟ้า ส่ง “ข้อความ” สื่อสารกับเหล่าเห็ดในบริเวณใกล้เคียง เมื่อมันถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ และเมื่อทำการวิเคราะห์สัญญาณไฟฟ้าออกมาแล้ว พบว่ามีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างภาษาพูดของมนุษย์ ราวกับว่ามันมี “คลังคำ” เป็นของตัวเองด้วยอีกต่างหาก
ก่อนจะลงลึกเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ ต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่า เห็ดราตามธรรมชาติที่ดูเหมือนว่าอยู่กันอย่างโดดเดี่ยวนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้อยู่ตามลำพัง แต่เห็ดที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน จะมีการแผ่เครือข่ายเส้นใย (hyphae) ที่คล้ายรากอยู่ใต้ดิน และเชื่อมโยงกันไปทั่วทั้งป่า ทั้งเกาะเกี่ยวกับเห็ดราด้วยกันเอง และยึดเกาะกับรากของต้นไม้ เพื่อใช้รับส่งอาหารและโอบอุ้มหน้าดิน โดยโครงข่ายนี้มีชื่อเรียกว่า ‘โครงข่ายไมซีเลียม’ (Mycelium) ดินในป่า 1 ลูกบาศก์นิ้ว อาจพบโครงข่ายไมซีเลียมเชื่อมโยงไปมาได้มากถึง 13 กิโลเมตร (ข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว)
ที่ผ่านมา นักวิจัยต่างก็หาข้อพิสูจน์ว่า โครงข่ายไมซีเลียม นอกจากจะประโยชน์ในเชิงนิเวศวิทยาแล้ว การโยงใยของเห็ดราเหล่านั้นอาจส่งสัญญาณไฟฟ้าถึงกัน และที่เหนือไปกว่านั้นคือ เห็ดราเหล่านั้นอาจใช้สัญญาณไฟฟ้าเหล่านั้นในการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ได้อีกด้วย
โดยในการศึกษานี้ ผู้วิจัยได้ใช้เครื่องมือวัดสัญญาณไฟฟ้า หรือไมโครอิเล็กโทรด (Microelectrode) เสียบเพื่อวัดสัญญาณไฟฟ้าในเห็ด 4 ประเภท ได้แก่ เห็ดเข็มทอง (Enoki) เห็ดแครง (Splitgill) เห็ดเรืองแสง (Ghost fungus) และเชื้อราในเห็ดถังเช่าสีทอง (Cordyceps Militaris) เพื่อวัดกิจกรรมของสัญญาณไฟฟ้าในเห็ดแต่ละชนิด
ผลจากการวิเคราะห์ด้วยคณิตศาสตร์ และภาษาศาสตร์พบว่า เมื่อเห็ดราทั้ง 4 ชนิดได้รับการกระตุ้นเร้า เช่นแสง การสัมผัส การค้นพบอาหาร สารพิษ สิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อเห็ดรา และการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสภาพแวดล้อม เห็ดเหล่านั้นจะตอบสนองด้วยสัญญาณไฟฟ้าที่มีจังหวะที่ถี่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยนัยสำคัญที่ว่านั้นก็คือ สัญญาณที่เห็ดราปล่อยออกมานั้น จะมีรูปแบบที่ต่างออกไปถึง 50 แบบ ซึ่งอาจหมายถึงว่า เห็ดราเหล่านั้นอาจมี ‘คลังคำ’ เป็นของตัวเองเพื่อใช้สื่อสารข้อความตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
หากเทียบกันในด้านภาษาศาสตร์ สัญญาณไฟฟ้าของเห็ดเหล่านั้นจะมีความยาวของคำ (Word length) โดยเฉลี่ยที่ 5.97 คำ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความยาวคำของภาษาต่าง เช่น 4.45 คำในภาษากรีก 4.8 ในภาษาอังกฤษ และ 6.00 คำในภาษารัสเซีย อีกทั้งยังค้นพบว่า เห็ดเหล่านั้นใช้เวลาในการสื่อสารติดต่อกันตั้งแต่ 1 – 21 ชั่วโมง และค้นพบว่า เห็ดแครงนั้นมีรูปแบบการใช้คำศัพท์ที่ซับซ้อน คล้ายกับการสื่อสารด้วยรูปประโยคมากที่สุด
แม้ผู้วิจัยจะสรุปผลออกมา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ไม่อาจสรุปได้แบบฟันธงว่า เห็ดนั้นจะสื่อสารและมีคลังคำได้เหมือนกับมนุษย์จริง ๆ เพราะผู้วิจัยได้กล่าวเน้นย้ำว่า ปรากฏการณ์ส่งสัญญาณไฟฟ้าในเห็ดรา อาจเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการใช้ภาษาเลยก็ได้ การที่สัญญาณไฟฟ้าส่งสัญญาณถี่ขึ้น อาจเกิดจากความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ปลายของเส้นใยของโครงข่ายของเห็ดราก็อาจเป็นไปได้
โดย ‘ศาสตราจารย์แอนดรูว์ อนามัตสกี’ ได้กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่่า “เราไม่อาจรู้ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงความถี่สัญญาณไฟฟ้าเหล่านี้ จะมีความสัมพันธ์กับการพูดของมนุษย์หรือไม่อย่างไร ว่ากันตามตรงก็คือ มันอาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ แต่สัญญาณไฟฟ้าที่เราศึกษานั้นไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม สิ่งที่เราต้องทำหลังจากนี้ก็คือ ต้องติดตามและศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป”
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส