ตลอดชีวิตของมนุษย์ คงมีบ่อยครั้งที่เรามักจะลืม ภาพยนตร์ที่เคยดู ดนตรีที่เคยฟัง หรือหนังสือที่เคยอ่าน ท่ามกลางภาพยนตร์ ดนตรีหรือหนังสือหลายหมื่นชื่อที่ผ่านหูผ่านตาเรามาทั้งชีวิต คงมีไม่บ่อยนักที่ชื่อสักชื่อจะติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเราจน “ลืมไม่ลง” และสำหรับผมหนึ่งในชื่อนั้นมี ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ รวมอยู่ด้วย
ภาพยนตร์ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ออกฉายครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นผลงานการกำกับของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่พูดถึงความ ‘ไทย ๆ’ ได้อย่างเฉียบคมที่สุดเรื่องหนึ่ง ไม่เพียงแต่ภาพยนตร์เท่านั้น ในส่วนที่เป็นวรรณกรรมไทยฝีมือของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนจากเมืองลพบุรี ก็นับเป็นผลงานที่ได้กรีดเฉือนหัวใจคนอ่านไม่แพ้กัน
เมื่อหยิบ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ มาดูอีกครั้งในวันนี้ สายตาของคุณที่มองเห็นปัญหาภาพใหญ่ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น เรื่องช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและชนบท จะถูกตัวหนังอธิบายได้อย่างแยบคายว่าทำไมในช่วงกลางเดือนเมษายน ถนนทุกสายจาก กทม. มีคนนับล้านมุ่งหน้ากลับไปหาไออุ่นที่บ้านในช่วงเวลาสั้น ๆ และในรอบสัปดาห์นั่นเอง ถนนสายเดียวกันก็พาพวกเขาบ่ายหน้ากลับมายังกรุงเทพเมืองฟ้าอมร เพราะว่าตลอดหลายสิบปีด้วยกันที่กรุงเทพฯ เป็นภาพใหญ่ที่ครอบคนไทยว่า ‘ที่มีคือความเจริญ’ รออยู่
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของ ‘แผน’ รับบทโดย ต๊อก-ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ หนุ่มบ้านนอกชอบร้องเพลงตามงานวัด ที่ได้พบรักกับ ‘สะเดา’ รับบทโดย อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส
ในความสัมพันธ์ช่วงแรกของทั้งคู่ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ของขวัญแต่งงานที่แผนมอบให้กับเมียรัก ถูกหยิบยกมาเป็นตัวแทนของความปรารถนาที่จะครอบครองในสิ่งที่ตนไม่เคยสัมผัส สำหรับแผน เสียงเพลงจากทรานซิสเตอร์ คือเครื่องเตือนใจถึงความฝันที่เขามี ส่วนในมุมของสะเดาวิทยุเครื่องนี้ไม่ต่างกับความรักอันงดงามที่เธอถวิลหามาตลอดชีวิต
นับตั้งแต่สมัยโบราณ มีชายไทยจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตพลิกผันเพราะการเกณฑ์ทหาร หลายคนต้องทิ้งชีวิตที่กำลังลงหลักปักฐานได้ หรือทิ้งโอกาสสำคัญต่าง ๆ เพื่อเดินหน้ารับใช้ชาติตามหน้าที่ แผนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาต้องจำใจยอมทิ้งเมียที่กำลังตั้งท้องได้ 5 เดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ณ จุดนี้ คงไม่มีใครคิดหรอกว่า เรื่องธรรมดาทั่ว ๆ ไปอย่างการเกณฑ์ทหาร จะสามารถพลิกชีวิตของชายคนหนึ่ง ให้เผชิญกับเรื่องราวที่ไม่ต่างกับการนั่งบนรถไฟเหาะ
ช่วงหนึ่งของภาพยนตร์ ตอนที่แผนตัดสินใจหนีทหารเข้ากรุง เพื่อไปฝึกเป็นนักร้องอาชีพดังที่ฝันไว้ ท่ามกลางชื่อเสียงเงินทองที่ประดังเข้ามาหาแผน ทำให้สะเดาตั้งคำถามว่า ทำไมแผนถึงเงียบหายและเปลี่ยนไปเช่นนี้ มิหนำซ้ำวิทยุทรานซิสเตอร์ที่เคยใช้งานได้ดีกลับเริ่มรวนอย่างหาสาเหตุไม่ได้
ในวันที่วิทยุเริ่มเก่า ก็เป็นธรรมดาที่คนมักจะมองหาเครื่องใหม่มาทดแทน แม้วิทยุเก่า ๆ เครื่องนั้นจะเคยมอบความทรงจำดี ๆ ไว้ให้ แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะเลือกเดินไปหาสิ่งที่ดีกว่าเพื่อตัวเองเสมอ ก็เหมือนกับแผนที่นับตั้งแต่กลายเป็นศิลปินดัง เขาก็ไม่หันมาแลมองวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเดิมอีกเลย จนกระทั่งวันที่ตัวเองได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ เขาถึงรู้ว่าวิทยุเครื่องเดิมเครื่องนี้สำคัญเพียงใด
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ เล่าเรื่องบทเรียนชีวิตของแผน ไปพร้อม ๆ กับการเสียดสีสังคมไทยได้อย่างคมคาย อีกทั้งยังสะท้อนห้วงอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวละคร ผ่านเสียงเพลงจากวิทยุทรานซิสเตอร์เล็ก ๆ เครื่องหนึ่ง
วิทยุทรานซิสเตอร์ ครั้งหนึ่งเคยกระจายเสียงจากส่วนกลางของประเทศ ตอกย้ำว่าที่นี่คือเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางของความฝัน คนหนุ่มสาวจำนวนมากจากต่างจังหวัดทิ้งความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งในบ้านเกิดมาพบกับความแร้นแค้น เร่งรีบ แข่งขันของคนเมือง มาเรียน มาทำงาน มาอุดอู้ที่นี่เพื่อจะมีความฝันอันสวยงาม เรื่องนี้ผ่ากลางตีแสกหน้าสังคมไทยหลาย ๆ ประเด็น
เป็นเอก รัตนเรือง กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ในปีที่เขาอายุ 39 ตัวผลงานมีความเป็นเมโลดราม่าอย่างถึงที่สุด มีบทเพลงที่แสนไพเราะอย่าง “ลืมไม่ลง” ของสุรพล สมบัติเจริญ มีภาพการดิ้นรนที่ดูแล้วสะท้อนสะเทือนใจในชะตากรรมของ ‘ไอ้แผน’ ตลอด 128 นาที ยั่วยวนให้คิดถึงความลักลั่นสารพัดรูปแบบที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ถูกนำกลับมาฉายอีกครั้งแล้ววันนี้บน Netflix
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส