เจ.เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) นักเขียนผู้เนรมิตโลกเวทมนตร์ผ่านตัวอักษรในหนังสือ ‘Harry Potter’ ถือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของโลก เรื่องราวการผจญภัยของพ่อมด แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเพื่อนสนิททั้ง 2 อย่าง รอน วีสลีย์ และ เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เธอเคยวาดฝันไว้
แต่กว่าโรว์ลิงจะเสกให้ Harry Potter กลายเป็นหนึ่งในนวนิยายที่ขายดีที่สุดตลอดกาลนั้น ย้อนกลับไปหลายปีก่อน โรว์ลิงเคยถูกปฏิเสธต้นฉบับ Harry Potter ถึง 12 ครั้ง ในระยะเวลา 2-3 ปี แถมชีวิตของเธอยังเคยตกอับสุด ๆ มาก่อนอีกด้วย
ก่อนจะขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดของยอดเขา ชีวิตช่วงหนึ่งของโรว์ลิงเคยต้องอยู่ในจุดต่ำสุดมาก่อน ย้อนกลับไปในปี 1990 อยู่ดี ๆ ชีวิตที่กำลังโบยบินของอดีตนักวิจัยและเลขานุการขององค์การนิรโทษกรรมสากลคนหนึ่ง ก็หล่นตุ้บลงมาจากฟ้าอย่างไม่ทันตั้งตัว เธอต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียแม่ หย่าร้างกับสามี การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตกงาน
ในตอนนั้นเธอไม่มีเงินถึงขั้นต้องรับเงินช่วยเหลือจากรัฐสัปดาห์ละ 3,000 บาท โรว์ลิงเล่าว่ามีหลายครั้งที่เธอเคยคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย แต่ด้วยกำลังใจจากลูกก็ทำให้เธอกลับมามีแรงฮึดสู้กับเรื่องราวที่ยากลำบากต่าง ๆ และสิ่งหนึ่งที่ช่วยเธอได้อย่างมาก ก็คือการเขียนหนังสือ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล
มีอยู่วันหนึ่งในระหว่างที่โรว์ลิงรอรถไฟดีเลย์ที่สถานีคิงส์ครอสอยู่ 4 ชั่วโมง จู่ ๆ ในหัวของเธอก็เกิดมีไอเดียเกี่ยวกับเรื่องราวของพ่อมดและโรงเรียนเวทมนต์คาถาเต็มไปหมด ซึ่งพอกลับถึงห้องเช่าเธอก็รีบบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นลงสมุดทันที และนั่นกลายเป็นที่มาของตัวละครที่นามว่า ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’
ต่อมาโรว์ลิ่งมักใช้เวลาเขียนเรื่องนี้ในคาเฟ่เล็ก ๆ ที่เมืองเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ เธอเคยเล่าว่าในตอนนั้นเธอจดทุกสิ่งที่แล่นเข้ามาในหัวสมองผ่านเครื่องพิมพ์ดีดตัวเล็ก ๆ ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เธอใช้เวลาเขียนอยู่เกือบ 5 ปี จนได้ออกมาเป็นต้นฉบับแรกของ ‘Harry Potter and the Philosopher’s Stone’ ในปี 1995
ว่ากันว่าเรื่องราวใน Harry Potter มากมายเกิดขึ้นจากชีวิตของโรว์ลิงในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด เช่น เรื่องการสูญเสียแม่จากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งก็เป็นแรงบันดาลใจให้เธอเขียนเรื่องราวการสูญเสียคนในครอบครัวของแฮร์รี่ อีกทั้งอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้โรว์ลิงสร้างสรรค์ตัวละครผู้คุมวิญญาณในเล่มที่ 3 ขึ้นมา
แม้เรื่องราวเหนือจินตนาการของโรว์ลิง จะเหมือนเป็นประตูสู่ความหวังที่โรว์ลิงอยากจะเดินผ่านเข้าไป แต่จากนั้นใช่ว่าชีวิตจะเป็นไปดังที่วาดฝันไว้ ต่อมาโรว์ลิงต้องเผชิญกับสิ่งที่นักเขียนทุกคงกลัว นั่นก็คือการโดนปฏิเสธต้นฉบับ แม้เธอจะเดินสายไปกี่สำนักพิมพ์ สุดท้ายเธอก็มักจะถูกปฏิเสธกลับมาอยู่เสมอ พร้อมกับเหตุผลเดิม ๆ ที่ว่า “เรื่องราวชวนเพ้อฝันแบบนี้ไม่มีใครเขาอ่านกันอีกแล้ว”
แต่ด้วยความเชื่อมั่นในเรื่องราวและตัวละครเหล่านี้ สุดท้ายหลังจากเผชิญกับการปฏิเสธอยู่ 12 ครั้ง ในท้ายที่สุดสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี ก็สนใจจะตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ของเธอ และว่ากันว่าเหตุผลที่หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ก็เพราะ อลิซ นิวตัน (Alice Newton) ลูกสาววัย 8 ขวบของประธานบริหารสำนักพิมพ์บลูมบิวส์รี ได้บังเอิญมาอ่านบทแรกของหนังสือและเกิดชอบมันอย่างมาก ถึงขั้นสะกิดผู้เป็นพ่อและพูดว่า “หนูรอที่จะอ่านบทต่อไปไม่ไหวแล้ว”
ทันที่ Harry Potter and the Philosopher’s Stone ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1997 ไม่นานหลังจากนั้นเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่มีแผลเป็นรูปสายฟ้าอยู่บนหน้าผากนามว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ได้เข้ามาครองใจผู้อ่านทั่วโลก
ปัจจุบันหนังสือ Harry Potter ทั้ง 7 เล่ม มียอดขายมากกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ จำนวน 80 ภาษา ใน 200 ประเทศ อีกทั้งเรื่องราวของ Harry Potter ยังถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นภาพยนตร์มากกว่า 11 เรื่อง
จากความสำเร็จของนวนิยายเรื่องนี้ทำให้ โรว์ลิง กลายมาเป็นนักเขียนที่รวยที่สุดในโลก โดยเธอมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ราว 1,000 ล้านเหรียญ หรือราว 32,000 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส