แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่จริง ๆ สำหรับ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ ที่สร้างปรากฎการณ์โรงแตกในขณะนี้ และในขณะที่หลาย ๆ คนกำลังไฮป์กับเหล่าอีสเตอร์เอ้ก (Easter Egg) ฉบับมาร์เวลในหนังกันใหญ่โต ผมกลับสะดุดใจกับฉากแอ็กชันสุดโดดเด่นในซีนที่สเตรนจ์และคริสตินเดินทางสู่โลกคู่ขนานที่ทุกอย่างล่มสลายไปแล้ว และหลังจากได้รับข้อเสนอจากสเตรนจ์ในโลกคู่ขนานให้ยกคริสตินแลกกับคัมภีร์ดาร์กโฮล์ด พระเอกของเราจึงต้องทำศึกด้วยการร่ายคาถาเอาโน้ตเพลงมาเป็นอาวุธซัดฝั่งตรงข้าม ซึ่งตรงนี้เองที่เราจะได้ทำความรู้จักกับสองท่วงทำนองดนตรีคลาสสิกและมหาคีตกวีชั้นเอกอุของโลกสองท่านที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในซีนนี้
Bach vs. Beethoven
เห็นหัวข้อแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) กับ ลุดวิก ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) มีเรื่องราวกันแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วบาคถือเป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคบาโรค (Baroque) ซีึ่งเป็นช่วงเวลาบ่มเพาะท่วงทำนองสำคัญและถือเป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีดนตรีตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ โดยหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีซของบาคก็คือ ‘Toccata and Fugue in D Minor’ ซึ่งถูกนำมาใช้ในหนังนั่นเอง ส่วนบั้นปลายชีวิตของเขาก็ต้องทุกข์ทรมานจากอาการตาบอดในช่วงบั้นปลายของชีวิต
ส่วนบีโธเฟน เกิดหลังจากบาคเสียชีวิตไปร่วม 20 ปีและมีผลงานอันโดดเด่นในยุคคลาสสิกและอยู่ทันช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคโรแมนติก บีโธเฟนชื่นชมในผลงานของบาคระดับที่ยกเป็น ‘ปฐมบิดาแห่งฮาร์โมนี’ ท่ามกลางมหากวีในยุคบาโรค และเขาก็ถือเอาบาคเป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่การหยิบผลงาน พรีหลูด (Prelude) หรือทำนองประสานสองแนว และ ฟิวก์ส (Fugues) หรือทำนองประสานสี่แนว เพลง ‘Well-Tempered Clavier’ มาจัดแสดงอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งเขาก็มีผลงานมาสเตอร์พีซมากมายเป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ‘Symphony No. 5 in C Minor’ หรือทำนอง “ปั่ม ปั้ม ปัม ป่าม” ที่ถูกใช้ในหนังนั่นเอง ส่วนในช่วงท้ายของชีวิตก็อาภัพไม่ต่างกันเพราะบีโธเฟนได้กลายเป็นคนหูหนวกนั่นเอง
ทีนี้หากจะว่าถึงความหมายที่หนังแฝงไว้คงต้องอ้างอิงจากคาแรกเตอร์ของด็อกเตอร์สเตรนจ์ทั้ง 2 คนจากคนละเอกภพ ซึ่งตัวละครสเตรนจ์จากเอกภพ 616 หรือเอกภพหลักก็ไม่ต่างจากบีโธเฟนที่มีอาการหูหนวกเพราะไม่อาจรับรู้และช่วยเหลืออเมริกา ชาเวซที่อยู่อีกเอกภพได้ จนต้องมาชิงคัมภีร์ดาร์กโฮลด์จากสเตรนจ์ในโลกล่มสลายที่ไม่ต่่างจากบาคเพราะเหมือนคนตาบอดจากความรักจนทำให้เขาต้องพึ่งพาคัมภีร์มรณะสายดำ
ความหมายของขเบ็ด 1 ชั้นและบรรทัด 5 เส้น
และเมื่อสเตรนจ์จากเอิร์ธ 616 พระเอกของเราซัดตัวโน้ตโจมตี สเตรจ์ตัวร้ายก็ได้สร้างบรรทัด 5 เส้นขึ้นเพื่อป้องกันตัว ซึ่งในเชิงความหมายแล้ว บรรทัด 5 เส้นก็คือการจัดเรียงให้ตัวขเบ็ดกลายเป็นโน้ตตามเส้นที่มันเกาะอยู่และทำให้โน้ตกลายเป็นเพลง ทำให้เราได้ยินท่วงทำนองของ ‘Toccata and Fugue in D Minor’ ของบาคอันขึงขังซึ่งก็เป็นการตอกย้ำคาแรกเตอร์ “ความรักทำให้คนตาบอด” ผ่านเพลงของมหาคีตกวีได้เป็นอย่างดี ด้านสเตรนจ์พระเอกของเราก็ไม่ยอมน้อยหน้าสร้างบรรทัด 5 เส้นเพื่อให้เกิดทำนองของ ‘Symphony No. 5 in C Minor’ ซัดกลับเพื่อสื่อว่าคัมภีร์ดาร์กโฮล์ดกลายเป็นหนทางเดียวที่เขาจะช่วยอเมริกา ชาเวซได้ท่ามกลางภาวะหูหนวกแบบนี้
และเป็นสเตนจ์ตัวร้ายที่ซัดพลังทำให้ทำนองยุ่งเหยิงจนเริ่มไม่เป็นเพลงต่อไป แต่หลังจากตัวโน้ตหมดกระดาษสเตรนจ์สายพระเอกของเราก็ร่ายมนตร์ให้ฮาร์ป (Harp) ร่ายทำนองเป็นตัวเขบ็ดหนึ่งชั้นซัดกลับไปจนได้รับชัยชนะ ซึ่งหนังใช้โน้ตที่เป็นเขบ็ดหนึ่งชั้นนี้ในการสื่อความหมายของค่าพลังว่าแท้จริงแล้ว สเตรนจ์ทั้ง 2 มีค่าพลังที่เท่ากัน เพียงแต่เมื่อเขบ็ดหนึ่งชั้นรวมพลังกันก็สามารถเอาชนะอุปสรรคใหญ่หลวงได้ และสังเกตดี ๆ ตัวเขบ็ดที่เป็นพลังชุดสุดท้ายมี 4 ตัวพอดีซึ่งสื่อได้ถึงสเตรนจ์ คริสติน พาล์มเมอร์ในเอกภพ 838 อเมริกา ชาร์เวซ และหว่องนั่นเอง
ที่มา
หนังสือ “ทฤษฎีดนตรี” ผู้แต่ง : ศ.ดร. ณัชชา พันธ์ุเจริญ สำนักพิมพ์ เกศกะรัต.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส