‘Gangubai Kathiawadi’ หรือ ‘หญิงแกร่งแห่งมุมไบ’ กลายเป็นภาพยนตร์ที่ปลุกกระแสหนังอินเดียให้กลับมาคึกคักจนติดอันดับ Top 10 บน Netflix ประเทศไทยได้ในเวลานี้ ความน่าสนใจของภาพยนตร์อินเดียเรื่องนี้ก็คือ เป็นเรื่องราวที่เล่าถึง ‘คังคุไบ กฐิยาวาฑี’ (Gangubai Kathiawadi) อดีตแม่เล้าของซ่องโสเภณีในย่านที่มีชื่อว่า ‘กามธิปุระ’ (Kamathipura)
นี่คือเรื่องจริงของอดีตเด็กสาวผู้ถูกหลอกขายให้เป็นโสเภณี สู่การเป็นแม่เล้า และสั่งสมอิทธิพลจนกลายเป็น ‘ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ’ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ผู้ผลักดันสวัสดิภาพให้แก่เหล่าโสเภณีในอินเดียมาจนถึงปัจจุบันนี้

‘คังคุไบ กฐิยาวาฑี’ (Gangubai Kathiawadi) หรือชื่อเดิม ‘คงคา ฮาร์จีวันตัส กฐิยาวาฑี’ (Ganga Harjeevandas Kathiawadi) เกิดเมื่อปี 1939 เธอเป็นเด็กหญิงชาวเมืองกาเฐียวาร (Kathiawar) คาบสมุทรส่วนหนึ่งในรัฐคุชราต (Gujarat) ทางตะวันตกของประเทศอินเดียในปัจจุบัน เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวตระกูลทนายความและนักการศึกษา ที่มีสายสัมพันธ์กับผู้ปกครองเมืองกาเฐียวาร
ว่ากันว่าครอบครัวของคงคานั้นค่อนข้างเข้มงวด แต่เธอก็ยังได้รับการสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ เธอกลายเป็นเด็กหญิงชาวอินเดียน้อยรายที่ได้รับการศึกษา ต่างจากเด็กหญิงทั่วไปที่การเล่าเรียนนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปได้ยากในช่วงทศวรรษ 1940
ในวัย 16 ปี คงคามีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักแสดง และทำงานอยู่ในวงการภาพยนตร์ เนื่องจากเธอชื่นชอบดารานักแสดง และผู้กำกับชาวอินเดียในตำนานอย่าง ‘เทพ อนันต์’ (Dev Anand) ในเวลานั้น เธอคบหากับ ‘รามนิก ลัล’ (Ramnik Lal) ชายหนุ่มวัย 28 ปีผู้เป็นนักบัญชีที่ทำงานให้กับพ่อของเธอ

คงคาและรามนิก ตัดสินใจหนีออกจากบ้านด้วยรถไฟ เพื่อย้ายไปอยู่ด้วยกันเมืองบอมเบย์ (หรือเมืองมุมไบในปัจจุบัน) ตามคำชวนของผู้เป็นสามี แต่กลายเป็นว่า เมื่อคงคาเดินทางมาถึงเมือง ‘กามธิปุระ’ (Kamathipura) ย่านโคมแดงแห่งเมืองมุมไบ เธอถูกรามนิกหลอกไปขายให้กับซ่องโสเภณี เพื่อแลกกับเงินเพียง 1,000 รูปี
เธอถูกแม่เล้าจับขัง และบังคับให้เธอค้าประเวณี เธอเลือกที่จะอดอาหาร ในขณะที่เธอต้องเผชิญกับความรุนแรงของลูกค้าที่มาใช้บริการ เธอตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจากคงคา เป็น ‘คังคุ’ (Gangu) เพื่อหวังล้างตัวตนในอดีตของเธอออกไป และเริ่มต้นทำงานเป็นโสเภณี
วันหนึ่ง ‘ชอกัต ข่าน’ (Shaukat Khan) เดินทางไปใช้บริการกับเธอ แต่กลายเป็นว่า เธอถูกขืนใจและทำร้ายร่างกายอย่างสาหัส เธอทราบว่า ชอกัตเป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊งมาเฟียชาวปาทาน (ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในอินเดีย) ของ ‘การิม ลาลา’ (Karim Lala) มาเฟียผู้มีอิทธิพลในย่านกามธิปุระ

คังคุทราบว่าชอกัตเป็นลูกน้องของการิม เธอจึงเดินทางไปเจรจากับการิมเพื่อให้ช่วยคุ้มครองเธอจากชอกัต และกล่าวคำนับถือเขาเป็นดั่งพี่ชายของเธอ วันต่อมา การิมจึงเข้าไปจัดการและข่มขู่ชอกัตไม่ให้ทำร้ายคังคุได้อีก การิมและคังคุกลายมาเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน ทำให้คังคุเริ่มเข้าไปพัวพันกับวงการของผู้มีอิทธิพลใต้ดิน ยาเสพติต การฆาตกรรม และมีอิทธิพลอยู่เหนือเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ชนิดที่เรียกว่าทุกอย่างจบได้แค่จ่ายสินบน
ด้วยการสั่งสมอิทธิพล ทำให้เธอในวัยเริ่มสาว ได้รับฉายาว่าเป็น ‘มาดามแห่งกามธิปุระ’ (Madam of Kamathipura) และ ‘ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ’ (The Mafia Queen of Mumbai) เธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นแม่เล้าในซ่องที่เธอทำงานอยู่ และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘คังคุไบ’ (Gangubai)
แต่แม้เธอจะพัวพันกับอิทธิพลใต้ดิน แต่เธอก็เลือกที่จะไม่ใช้อำนาจของเธอเพื่อบังคับขืนใจให้ทำงานโสเภณีอย่างเอาเปรียบและกดขี่โดยที่ไม่ได้รับการยินยอม เธอเข้าไปกำหนดรูปแบบการทำงานของโสเภณีใหม่ ราวกับว่าเป็นอาชีพหนึ่ง คังคุไบเปรียบเสมือนแม่ที่เข้าใจความรู้สึกของพวกเธอเสียยิ่งกว่าครอบครัวจริง ๆ ของพวกเธอเสียอีก
นอกจากนี้ คังคุไบยังให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าอีกด้วย เธอสนับสนุนเงินทุนจากรายได้ในธุรกิจโสเภณีเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กกำพร้า และรับเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากเหล่าแม่ผู้เป็นโสเภณีมาเป็นลูกบุญธรรมของเธอด้วย

คังคุไบในวัย 21 ปี สั่งสมอิทธิพลและความสนิทสนมกับการิม ที่นับถือเธอเป็นน้องสาว ทำให้เธอได้รับการเลือกตั้งจากชาวเมืองกามธิปุระให้เป็นนายกผู้ดูแลเมือง เธอใช้โอกาสนี้เพื่อเรียกร้องสวัสดิภาพให้กับเหล่าโสเภณี ต่อต้านการค้าโสเภณีเด็ก และสนับสนุนแนวคิดการผลักดันให้อาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฏหมาย มีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากคนทั่ว ๆ ไป
ภาพจำของคังคุไบต่อชาวเมืองกามธิปุระก็คือ เธอมักจะแต่งกายด้วยชุดส่าหรีขลิบทอง และเสื้อที่ปักด้วยกระดุมสีทองราคาแพง แต้มด้วยบินดิ (Bindi) สีแดงกลางหน้าผาก นอกจากนั้น เธอยังเป็นแม่เล้าเพียงคนเดียวในกามธิปุระ ทีได้ครอบครองรถยนต์ยี่ห้อ ‘เบนต์ลีย์’ (Bentley) รถยนต์หรูราคาแพงระยับในช่วงทศวรรษ 1960 อีกต่างหาก

นอกจากการปกป้องสวัสดิภาพของเหล่าโสเภณีแล้ว เธอยังออกแรงเพื่อปกป้องเมืองด้วย เนื่องจากมีโรงเรียนคริสต์หญิงล้วนที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ เมืองกามธิปุระ ได้ร้องเรียนและรณรงค์ให้ชาวเมือง และเหล่าโสเภณีที่อยู่อาศัยในพื้นที่ย้ายออกไปจากเมือง โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อนักเรียนหญิงที่อาจเข้าสู่วงจรโสเภณี
จนกระทั่งเมื่อเธอได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานขององค์กรสิทธิสตรีแห่งอินเดีย ในงานนั้นเธอได้กล่าวถึงความสำคัญของอาชีพโสเภณี และความจำเป็นที่จะต้องผลักดันโสเภณีให้กลายเป็นอาชีพ ด้วยพลังของสุนทรพจน์ที่กินใจในครั้งนั้น ส่งผลให้เธอกลายเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และนักการเมืองของอินเดีย

และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เธอได้มีโอกาสเข้าพบ ‘ยาวะฮาร์ลาล เนห์รู’ (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้น เธอใช้โอกาสนั้นในการเรียกร้องสวัสดิภาพแก่ผู้ประกอบอาชีพโสเภณีในประเทศอินเดีย และเรียกร้องให้นายกออกคำสั่งปกป้องเมืองกามธิปุระ และระงับการขับไล่ชาวเมืองได้ในที่สุด

เรื่องราวของคังคุไบ ได้รับการบันทึกในรูปแบบนวนิยายแนวอาชญากรรมในชื่อว่า ‘Mafia Queen of Mumbai’ หนังสือรวม 13 เรื่องจริงของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมในเมืองมุมไบ ที่เขียนโดยนักข่าวสืบสวนสอบสวนชาวอินเดีย ‘ฮุสเซน ไซดี’ (Hussain Zaidi) ในปี 2011 และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ‘Gangubai Kathiawadi’ ที่ทำรายได้ในประเทศอินเดียอย่างถล่มทลาย

นับตั้งแต่ที่คังคุไบกลายมาเป็นราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ เธอไม่มีคู่ครองและไม่มีบุตรสืบสกุล จะมีก็เพียงแต่บุตรบุญธรรมที่เธออุปการะไว้หลายคน คังคุไบเสียชีวิตอย่างสงบด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นในปี 2008 ด้วยวัย 69 ปี

คังคุไบกลายมาเป็นวีรสตรี และสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของเหล่าโสเภณีของอินเดีย ในผนังของซ่องโสเภณีบางแห่งมีการประดับรูปภาพ และติดตั้งรูปปั้นเอาไว้เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญและวีรกรรมที่เธอเป็นผู้บุกเบิกเกี่ยวกับสวัสดิภาพของผู้ทำอาชีพโสเภณีมาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา: indian express, lifestyle asia, wikipedia, jagrantv, jagranjosh
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส